xs
xsm
sm
md
lg

ต้องตามหา หรือ ต้องทวงคืน “ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“เป็นที่รู้กันดีว่าที่ อ.แม่สาย ไม่มีระบบเตือนภัย เพราะจุดที่ฝนตกและเป็นต้นน้ำที่ไหลหลากลงมาที่แม่สาย อยู่ในอาณาเขตของรัฐฉาน สหภาพเมียนมา จึงยังไม่มีสถานวัดระดับน้ำฝนไปติดตั้งไว้ ... แต่การที่ อ.แม่สาย ยังไม่มีแค่เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน ก็ไม่ได้ความว่า นักวิเคราะห์มากมายประเทศไทยจะไม่มีความสามารถวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อเตือนภัยได้ เพียงแต่เมื่อวิเคราะห์ไปแล้ว มันไม่ถูกนำไปเตือนภัย”

การเกิดน้ำท่วมเป็นครั้งที่ 8 ในรอบปี 2567 ของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยเฉพาะครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10-11 กันยายน 2567 ซึ่งน้ำป่าไหลหลากลงมาอย่างรุนแรงและรวดเร็วจนทำให้มีประชาชนจำนวนมากต้องติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูง ต้องอพยพขึ้นไปอยู่บนหลังคา บางคนติดอยู่กับสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินเสียหาย ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ เพราะแม้แต่หน่วยกู้ภัยก็ไม่สามารถฝ่ายกระแสน้ำเข้าไปถึงตัวผู้ประสบภัยได้

จนมีคำถามตามมาว่า ทำไมไม่มีการเตือนภัยขึ้นที่ อ.แม่สาย

ถ้าตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยราชการต่างๆที่มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ของพายุ “ยางิ” จะพบว่า หลายหน่วยงานประชุมเตรียมการกันมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว มีทั้งข้อมูลความรุนแรงของพายุและการคาดการณ์ฝนที่แม่นยำจากกรมอุตนิยมวิทยา มีทั้งข้อมูลพยากรณ์เส้นทางน้ำจากหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ สทนช. ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ไม่ใด้มีเฉพาะแค่ที่ อ.แม่สาย แต่มีข้อมูลทั้งหมดของพื้นที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากพายุ คือ ภาคเหนือตอนบนทั้งหมด เลยไปถึงข้อมูลฝนและน้ำจากประเทศเมียนมาและประเทศลาว

ขาดอย่างเดียว คือ “การเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ” ซึ่งต้องไม่ใช่แค่ “การเขียนประกาศยาวๆ ลงในเพจเฟซบุ๊ก”


เมื่อเข้าไปดูความเคลื่อนไหวในเพจ Facebook ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในช่วงที่พื้นที่ภาคเหนือตอนบนกำลังได้รับอิทธิพลจากพายุ “ยางิ” ไล่ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุน้ำท่วมที่ อ.แม่สาย


- วันที่ 9 กันยายน 2567 ได้ลงประกาศที่มีภาพและตัวหนังสือขนาดเล็กมากๆ มีข้อความว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงราย (รวมทั้ง อ.แม่สาย) จ.พะเยา จ.น่าน มีภาวะเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ข้อควรปฎิบัติ คือ เฝ้าระวังติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ ระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะบริเวณน้ำท่วม ระวังการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านทาง ควรงดการท่องเที่ยวในพื้นที่ถ้ำและน้ำตก ... มีผลตอบรับคือ มีผู้กด Like 2 แอคเค้าท์


- วันที่ 10 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่น้ำไหลลงมาท่วม อ.แม่สาย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ลงข้อความที่ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มมากขึ้นไปถึง จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน หรืออาจบอกได้ว่า “เสี่ยงทุกที่ที่มีฝนตก” ส่วนข้อควรปฏิบัติ เขียนด้วยข้อความเดิมทั้งหมด มีส่วนที่เพิ่มมาคือระบุว่า ที่ อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เป็นพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ประชาชนควรหลีกเลี่ยงบริเวณพื้นที่เชิงเขา และควรวางแผนอพยพไปให้ไกลจากแนวการไหลของดิน ... ผลตอบรับคือ มีผู้ share 2 ครั้ง

- จากนั้นเพจศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีความเคลื่อนไหว ในวันที่ชาวแม่สายกำลังเผชิญชะตากรรมอย่างหนักจากเหตุน้ำท่วมรุนแรง ด้วยการ share โพสต์จากหน่วยงานที่เป็นผู้บังบัญชา คือ “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” ซึ่งระบุว่า ศูนย์ ปภ.เขต 15 เชียงราย “เสริมกำลังทีม” ปฏิบัติการเข้าช่วยเหลือพี่น้องแม่สาย ด้วยการส่ง เจ้าหน้าที่ 12 นาย ,รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย 3 คัน ,รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว 1 คัน ,รถลากเรือ 1 คัน และรถบรรทุกเล็ก 1 คัน ต่อมาได้ส่งอุปกรณ์ไปเพิ่ม คือ เสื้อชูชีพ 10 ตัว ,ถุงเชือกช่วยชีวิต 6 ชุด พร้อมลงรูปเจ้าหน้าที่ยืนถืออุปกรณ์อยู่ที่สำนักงาน


- 11 กันยายน 2567 ซึ่งมีประชาชนชาวแม่สายจำนวนมากรอความช่วยเหลือเพราะออกมาจากบ้านไม่ทัน เพจศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังคงลงประกาศที่เขียนด้วยตัวหนังสือขนาดเล็กเช่นเคย แต่เพิ่มภาวะคุกคามเปลี่ยนจากสัญลักษณ์สีฟ้าเป็นสีเหลือง ระบุพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน คือ อ.แม่อาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ส่วนพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง เพิ่มที่ อ.เมือง อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.แม่สาย จ.เชียงรายขึ้นมา ... ส่วนข้อควรปฏิบัติที่ให้ตำแนะนำกับประชาชนไว้คือ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยราชการ (แนะนำว่าอะไร) เตรียมพร้อมอพยพกลุ่มเปราะบางออกจากพื้นที่น้ำท่วม (ไม่ทันแล้ว) และขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง (ไม่ทันแล้ว) เตรียมถุงฉุกเฉิน อุปกรณ์ส่องสว่างและกระสอบทราย (ไม่ทันแล้ว) งดกิจกรรมและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีน้ำท่วมสูง (เหลือแต่หลังคาบ้าน) ... โพสต์นี้ มีผู้กด Like 2 ครั้ง มีผู้กด share 1 ครั้ง ทั้งที่อยู่ในช่วงวิกฤต

- โพสต์อื่นๆ ในวันที่ 11 กันยายน 2567 ผ่านเพจ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่มีหน้าที่เตือนภัยอย่างเร่งด่วนและจริงจัง คือ โพสต์ที่ share ต่อมาจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นภาพการประชุมของผู้หลักผู้ใหญ่ ภาพรถและอุปกรณ์ของกรมป้องกันที่เพิ่งถูกส่งออกไปทำงาน ในระหว่างที่อาสาสมัครกู้ภัยอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานรัฐต่างอยู่ในพื้นที่ที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือ

**********








ข้อมูลนี้ กลายเป็นคำถามถึงประสิทธิภาพ 2 ประเด็น คือ ทั้งประสิทธิในการเตือนภัยของศูนย์เตือนภับพิบัติแห่งชาติ ซึ่งถูกโอนไปสังกัดอยู่ภายใต้การดูแลของ “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” และทั้งประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของหน่วยงานที่ใช้ข้อความนี้เป็นชื่อหน่วยงาน

และยิ่งมาบวกกับสถานการณ์น้ำท่วมอีกหนึ่งจุด คือ แม่น้ำกก ซึ่งไหลลงมาจากเมียนมา เข้าท่วมที่ อ.ท่าตอน อ.แม่อาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และไหลเข้าท่วมต่อเนื่องที่ อ.เมือง เชียงราย ซึ่งก็พบว่า ใช้รูปแบบการเตือนภัยเป็นเอกสารลงข้อความตัวหนังสือขนาดเล็กมากๆ ซึ่งแม้ว่า ต้นแม่น้ำกก จะอยู่ในอาณาเขตของเมียนมาจึงไม่ได้ติดตตั้งสถานมีวัดปริมาณฝนและไม่มีสถานีวัดระดับน้ำเช่นกัน แต่ก็สามารถประเมินและคาดการณ์จากเรดาห์ฝนและระดับน้ำในส่วนที่อยู่ในประเทศไทยได้ไม่ยาก เพราะเส้นทางน้ำกว่าจะไปถึงตัวเมืองเชียงรายต้องใช้เวลานาน แต่ก็ยังคงพบการแจ้งเตือนสถานการณ์ที่ล่าช้า คือ ป้องกันภัยไม่ทันแล้วหรือมารู้หลังเกิดความเสียหายไปแล้วเช่นกัน ดังนั้น จึงมีคำถามซ้อนตามมาอีกมากมาย เช่น

1. ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รับข้อมูล หรือ ยึดถือข้อมูลจากหน่วยงานใดบ้าง เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะเตือนภัยหรือไม่

2. ในช่วงที่พายุ “ยางิ” พัดผ่าน มีทั้งข้อมูลพยากรณ์ฝนล่วงหน้า 3 วันจากกรมอุตุนิยมวิทยา และมีข้อมูลสถานการณ์น้ำถูกวิเคราะห์มาประกอบกันแล้ว ทาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้จัดประชุมเพื่อสรุปข้อมูลเหล่านี้ร่วมกับทางหน่วยงานในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือไม่ ... ถ้ามีการประชุมแล้ว (ไม่แน่ใจ) ทำไมจึงเกิดเหตุรุนแรงที่ อ.แม่สาย ... ถ้าไม่มีการประชุม ใช้วิธีการใดในการนำข้อมูลมาเตือนภัย (ศูนย์ปฏิบัติการของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติตั้งอยู่ที่เดียวกับกรมอุตุนิยมวิทยา)

3. “ใคร” เป็นผู้ที่ถูกกำหนดให้มีอำนาจตามกฎหมายให้ตัดสินใจว่าจะ “เตือน” หรือ “ไม่เตือน” หรือ ต้องเตือนอย่างไร

4. รูปแบบการเตือนภัยที่ทำอยู่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ เคยประเมินหรือไม่ว่าช่องทางและวิธีการสื่อสารที่ใช้อยู่ ช่วยให้ข้อมูลไปถึงประชาชนได้แค่ไหน

5. เป้าหมายของการทำงาน “เตือนภัย” และงาน “ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” คืออะไร มีตัวชี้วัดผลการทำงานอย่างไร ... ประชาชนติดอยู่กลางถนน ติดอยู่ในบ้าน ติดอยู่บนหลังคาบ้านที่ถูกน้ำท่วม เชี่ยว ไหลแรง แบบข้ามวันข้ามคืน ทั้งที่รู้ล่วงหน้าหลายวันว่าจะมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำป่าไหลหลาก ... ต้องวัดผลงานของหน่วยงานจากเหตุการณ์นี้อย่างไร

6. ระบบเตือนภัย มีไว้เพื่อเป็นหลักประกันลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติใช่หรือไม่ … หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ในปัจจุบันยังสามารถทำหน้าที่นี้ได้อยู่จริงๆ ใช่หรือไม่ ??


ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เกิดขึ้นหลังประเทศไทยได้รับความสูญเสียอย่างมหาศาลจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิพัดเข้าถล่มชายหาด 6 จังหวัดริมทะเลอันดามันเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 .... มีจุดเริ่มต้นที่เป็นความหวังของระบบเตือนภัยล้ำสมัยของไทย ก่อนจะค่อยๆ ถูกลดระดับความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

2548 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นพร้อมๆกับการตั้งกลไกการเตือนภัยที่เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” หรือ กภช โดยจะมีรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน มีกรรมการเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และมี “ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” เป็น กรรมการและเลขานุการ

2548 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี มีสำนักงานเป็นของตัวเอง มีเครื่องมือที่ทันสมัย ลงทุนสร้างด้วยงบประมาณสูงมาก ตั้งอยู่ที่ถนนรัตนาธิเบศร์ ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี

2550 มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัด สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

2552 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ย้ายไปสังกัด สำนักปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปรับโครงสร้างแยกออกเป็น 4 กลุ่มงาน 1 ศูนย์ และ 1 ฝ่าย ย้ายจากสำนักงานที่ลงทุนสร้างด้วยงบประมาณสูงที่ถนนรัตนาธิเบศร์ มาอยู่ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ส่วนศูนย์ปฏิบัติการไปใช้สถานที่เดียวกับกรมอุตุนิยมวิทยา ที่บางนา


2559 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ถูกโอนย้ายมาเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มีสำนักงานอยู่ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนศูนยฺปฏิบัติการยังอยู่กับกรมอุตุนิยมวิทยาที่บางนา มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง

(ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)

จะเห็นได้ว่า จากหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีสำนักงานพร้อมเครื่องมือเป็นของตัวเอง ค่อยๆถูกลดระดับลงมาสังกัดสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงเทคโนโลยีฯ ก่อนจะย้ายมาขึ้นตรงกับฝ่ายราชการที่สำนักปลัดกระทรวงเทคโนโลยีฯ .... จากนั้น จึงถูกย้ายมาเป็นหน่วยงานในสังกัดหน่วยงานอื่นในระดับ “กรม” ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ตามเส้นทางเช่นนี้ ดูเหมือนว่าจาก “ศูนย์เตือนภัย” ที่เคยเป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นมาอย่างใหญ่โตหลังสึนามิ ปี 2547 จะกลายมาเป็นหน่วยงานในระดับที่เล็กกว่า “กรม” มาตั้งแต่ปี 2559


“แต่ในเมื่ออำนาจในการประกาศเตือนภัย เป็นอำนาจที่ต้องอาศัยการตัดสินใจเฉียบคมผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ” ดังนั้น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งมีชื่อที่ถูกคาดหวังว่าต้องทำหน้าที่เตือนภัยให้คนไทย อาจยังต้องถามตัวเองใน พ.ศ. 2567 ด้วยซ้ำ"


“พวกเขามีอำนาจเตือนภัยจริงๆ หรือ?”
กำลังโหลดความคิดเห็น