xs
xsm
sm
md
lg

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีพัฒนา Soft Skills นักศึกษาด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ผลิตนักนวัตกรเพื่อสร้างนวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักศึกษาวิศวกรสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงาน “วิศวกรสังคมพัฒนาชุมชนดีเด่น” ประจำปี 2567 ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้จัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ
สำหรับผลการดำเนินงาน “วิศวกรสังคมพัฒนาชุมชนดีเด่น” ประจำปี 2567 โดยนักศึกษาวิศวกรสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้นำเสนอฐานการเรียนรู้ทุนชุมชนบ้านโป่งสลอดด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ที่ริเริ่มจากการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วิศวกรสังคม (เกษตรพอเพียง) ขึ้น ในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี วิทยาเขตโป่งสลอด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี มีการนำเครื่องมือวิศวกรสังคมมาใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ และศูนย์ดังกล่าวยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นสถานที่ในการศึกษาดูงานของนักเรียนและผู้สนใจ ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ในโอกาสเดียวกันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ยังได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นวิทยากรการเสวนา เรื่อง “สุดยอดผู้นำวิศวกรสังคมกับพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษา” ภายใต้หัวข้อ “ภูมิใจ คนไทยถวายงานในหลวง” เป็นการแลกเปลี่ยนการดำเนินงานวิศวกรสังคมระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ได้น้อมนำยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นมาใช้ในการสร้างและพัฒนานักศึกษาด้วยเครื่องมือและกระบวนการวิศวกรสังคม 5 เครื่องมือ ได้แก่ เครื่องมือฟ้าประทาน เครื่องมือนาฬิกาชีวิต เครื่องมือ Timeline พัฒนาการ เครื่องมือ Timeline กระบวนการ และเครื่องมือ M.I.C. Model ส่งผลให้นักศึกษาวิศวกรสังคมเกิดทักษะ 4 ประการ คือ นักคิด นักสื่อสาร นักประสานและเป็นนักนวัตกรสร้างนวัตกรรม

นอกจากนี้ นักศึกษาวิศวกรสังคมได้มีโอกาสร่วมจัดนิทรรศการในการเสนอผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่น (จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ประจำปี 2567 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนม์ 72 พรรษา ภายใต้กิจกรรมครบรอบ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี “เฉลิมพระเกียรติจอมกษัตริย์ ฉลอง 100 ปี ราชภัฏเพชรบุรี” ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ลงพื้นที่ไปร่วมเรียนรู้และปฏิบัติร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบ้านโป่งสลอดมาจัดแสดงและจำหน่ายภายในงานด้วย เช่น ไข่เป็ดอารมณ์ดี ดินปลูกพืชแบบอินทรีย์ ทองม้วนน้ำตาลโตนด รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งสินค้าที่นักศึกษานำมาจำหน่ายได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี ส่งผลให้เกิดผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการศึกษาต่อตัวนักศึกษาและชุมชน ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ณ ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เพชรบุรี


อีกหนึ่งกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักศึกษาวิศวกรสังคมมีพื้นที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ กองพัฒนานักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาในฐานะ Coaching ของนักศึกษา จึงได้ประสานการทำงานร่วมกันกับชุมชน ใช้พื้นที่ชุมชนหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นสถานที่ให้นักศึกษาได้จัดกิจกรรมเรียนรู้ประวัติชุมชนด้วยเครื่องมือวิศวกรสังคม ส่งเสริมการท่องเที่ยว “ตลาดเก่า เล่าขาน บ้านหนองจอก” ที่กำหนดจัดขึ้นทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือน บริเวณลานวัฒนธรรม ชุมชนหนองจอก เป็นการนำเครื่องมือวิศวกรสังคมทั้ง 5 เครื่องมือมาใช้ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของชุมชนหนองจอก เป็นการฝึกให้นักศึกษาเป็นนักคิด นักสื่อสาร นักประสานและนักนวัตกรเพื่อสร้างนวัตกรรม ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำให้นักศึกษาทราบว่าชุมชนหนองจอกมีเรื่องราวและประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ เห็นถึงเรื่องราวอดีตสู่ปัจจุบัน และยังได้ทราบว่าคนในชุมชนต้องการให้ตลาดเก่าของชุมชนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า นักศึกษาวิศวกรสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นอกจากจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีภายในห้องเรียนแล้ว ยังมีพื้นที่จริงให้นักศึกษาได้ทดลองและปฏิบัติ โดยเฉพาะในพื้นที่วิทยาเขตโป่งสลอด ที่เปรียบเสมือนห้องเรียนมีชีวิตให้แก่นักศึกษา มีฐานการเรียนรู้ที่เกิดจากการพัฒนาของนักศึกษา และต้องขอขอบคุณคนในชุมชนบ้านโป่งสลอด หมู่ที่ 6 ที่ได้ร่วมกันเป็นคุณครูถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษา ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ในการจัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ จำนวน 3 ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย ฐานการเรียนรู้การผลิตน้ำตาลโตนด ฐานการเรียนรู้การผลิตและจัดจำหน่ายขนมทองม้วนน้ำตาลโตนด และฐานการเรียนรู้การบ่มดิน สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยทุนทางชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการได้รับผลประโยชน์

อาจารย์ ดร.เมธาวิน สาระยาน ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ด้านการพัฒนานักศึกษาและการสื่อสารองค์กร กล่าวว่า “การพัฒนา Soft Skills นักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม เป็นการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาขับเคลื่อนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทำให้นักศึกษามีคุณลักษณะของนักศึกษาที่พึงประสงค์และเป็นบัณฑิตที่พร้อมมีงานทำ เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศชาติต่อไป”

นายกิตติภพ รักษาราษฎร์ รักษาการผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “กองพัฒนานักศึกษามีหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในทุกๆ ด้าน ทำให้นักศึกษามีทักษะ มีประสบการณ์และสามารถนำประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยไปต่อยอดและปรับประยุกต์ใช้ในการทำงานของตนเองในอนาคตได้ เครื่องมือวิศวกรสังคมเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่กองพัฒนานักศึกษานำมาใช้ในการจัดกิจกรรมพัฒนาของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี”

ผู้แทนนักศึกษาวิศวกรสังคมกล่าวว่า “หนูสามารถนำเครื่องมือวิศวกรสังคมไปใช้ในการจัดกิจกรรมให้ประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำเครื่องมือไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การใช้เครื่องมือฟ้าประทานที่ทำให้หนูสามารถคิด วิเคราะห์และตัดสินบนฐานข้อมูลมากกว่าความรู้สึก เครื่องมือนาฬิกาชีวิต ทำให้หนูรู้ช่วงเวลาในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาจัดหมวดหมู่ และนำไปปรับใช้ได้ เครื่องมือ Timeline พัฒนาการ ทำให้หนูเห็นคุณค่าของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เข้าใจปัจจุบัน และสามารถนำมาวางแผนที่จะพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้ เป็นต้น”
















กำลังโหลดความคิดเห็น