ลายเส้นโดดเด่นเป็นเอกลักษ์ ตัดกับนานาสีสันอันสดสวย อวลด้วยบรรยากาศอบอุ่นในรอยจำ ปรากฏโฉมเรียงรายอยู่บนโต๊ะทำงานริมหน้าต่าง สมุดสเก็ตช์เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมดเกือบ 30 เล่ม ที่ชายหนุ่มผู้นี้ ใช้บันทึกห้วงขณะแห่งความทรงจำที่เขามีต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
ไม่ว่าตึกรามบ้านช่อง อาคารร้านค้า ย่านชุมชน ตรอกซอกซอย เขาล้วนเคยเดินสำรวจพร้อมด้วยสมุดในมือ เพื่อบันทึกสถาปัตยกรรมและบรรยากาศในเมืองเก่าผ่านภาพสเก็ตช์หลายต่อหลายภาพ
หากถามว่า อะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้ชอบหรือหลงใหลการวาดภาพเมืองเก่า
เขาตอบอย่างชัดเจนว่า “…การวาดในสถานที่จริงคือการที่เราเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นในระยะเวลาหนึ่ง…”
“ทำให้ผมรู้สึกว่าผมจดจำ Moments ในตอนที่ได้วาดเกือบทุกรูปที่วาดในสถานที่จริง ว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนนั้นเรารู้สึกยังไง เพราะเหตุนี้ ผมจึงตั้งชื่อหนังสือว่า Moments in… “
“ทุกๆ ลายเส้นที่เราเขียนไป ขณะที่เราวาดสถานที่นั้นๆ นอกจากผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นภาพวาดแล้ว ยังสลักความทรงจำเข้าไปในลายเส้นเหล่านั้นด้วย…”
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘หลุยส์-ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา’ หรือ ‘Louis Sketcher’
นักวาดภาพเมือง เจ้าของผลงานบันทึกภาพสเก็ตช์สีสวยอย่าง
Moments in Bangkok บันทึกของช่วงเวลา ณ ขณะหนึ่งในกรุงเทพฯ ผ่านการเดินทางของลายเส้นและสีน้ำ
‘Bangkok Shophouses – ตึกแถวกรุงเทพฯ และชีวิตชาวย่าน’
กระทั่งเล่มล่าสุด Moments in Chiang Mai บันทึกช่วงเวลาในเชียงใหม่ ผ่านการเดินทางของลายเส้นและสีน้ำ
หนังสือเหล่านี้ไม่เพียงให้ความงาม มอบความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน ทว่า ในอีกแง่มุม ภาพที่ปรากฏก็อาจเปรียบได้กับการบันทึกห้วงประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องด้วยบางสถานที่ บางชุมชนอาจไม่มีอยู่อีกแล้วในปัจจุบัน
เหนืออื่นใด คือการถ่ายทอดสถาปัตยกรรมที่ผูกโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนได้อย่างน่ารื่นรมย์
สถาปัตยกรรมไทยและ ‘Bangkok Sketchers’ หนึ่งในแรงบันดาลใจ
ถามว่า อะไรคือที่มา แรงบันดาลใจในการวาดภาพเมืองของคุณ สนใจวาดภาพเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่
หลุยส์ตอบว่า แรงบันดาลใจของการวาดภาพเมือง เริ่มต้นมาจากการที่เขาเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากการเรียนที่นี่ ทำให้เขาต้องไปเรียนติว ต้องฝึกวาดภาพวิว คน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งตัวเขาก็สนใจการวาดภาพมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
กอปรกับเมื่อได้มาเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทำให้ได้เห็น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในยุคต่างๆ มากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ทำให้ได้เห็นบ้านเมืองในศิลปะแบบต่างๆ
“ประกอบกับผมเรียนสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งมีการออกไปทัศนศึกษาข้างนอก ได้ออกไปเห็นศิลปกรรมของไทยในเขตเมืองเก่า ได้ไปวัดเก่าๆ มากมายในเขตเมืองเก่าของกรุงเทพฯ”
กระทั่งเมื่อหลุยส์เรียนอยู่ปี 4 อาจารย์ที่ปรึกษาได้เชิญหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘Bangkok Sketchers’
คือ ‘อาจารย์อัสนี ทัศนเรืองรอง’ มาบรรยายที่คณะ
“ผมไปฟังแล้วรู้สึกว่า เราก็ชอบวาดรูป เราอยากทำได้อย่างอาจารย์บ้าง
ที่มีสมุดสเก็ตช์แล้วก็ไปวาดรูปตามที่ต่างๆ วันนั้นอาจารย์อัสนี เอาสมุดสเก็ตช์มาให้ดูเยอะมาก เป็นกองๆ เลยครับ เรารู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและเราน่าจะทำได้ดี”
“ผมก็ไปลองวาด ซึ่งช่วงแรกๆ ก็ทำได้ไม่ดีอย่างที่คิดครับ ( หัวเราะ ) เพราะมันยากกว่าการนั่งวาดอยู่ที่บ้าน คือช่วงนั้น หากผมอยากไปเที่ยวไหนผมก็จะเปิดกูเกิล แล้ววาดตามรูป เช่น เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เมืองจีน แต่เมื่อได้ออกไปวาดข้างนอก ไปวาดในสถานที่จริงแล้วเป็นอีกเรื่องเลย เป็นอีก Skill นึงเลยครับ”
Journey Sketch กับประสบการณ์ที่หล่อหลอม เทคนิคและมุมมองที่กว้างขึ้น
หลุยส์เล่าว่า “ผมก็ฝึกและวาดมาเรื่อยๆ เมื่อผมได้เข้าร่วมกลุ่ม Bangkok Sketchers เขาก็จะมีกิจกรรมที่นัดกันไปวาด เดือนละ 1 ครั้ง ที่ไหนก็ได้ ดังนั้น นอกจากเราจะได้วาดในสถานที่ที่เรานัดหมายกันแล้ว เราก็ยังเดินไปหาร้านอาหารอร่อยๆ แถวๆนั้น เดินไปเรื่อยๆ แล้วก็ดูว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง เช่น วัดที่เรานัดเจอกัน มีร้านอาหารอะไรอร่อยอยู่ใกล้ๆ บ้าง”
“การได้วาดแบบนี้เรื่อยๆ ทำให้เรามีนิสัยที่มองไปรอบๆ ตัวเยอะขึ้น เช่น จากปกติเราอาจจะเดินไปที่จุดหมาย A โดยพุ่งตรงไปอย่างเดียว แต่เมื่อเรารู้จักการวาดนอกสถานที่ เราจะรู้จักมองซ้าย มองขวา หันไปมองกลับหลัง เพื่อดูว่าตรงนี้มีมุมอะไรที่น่าสนใจน่าวาดอีกหรือเปล่า นอกจากสถานที่หลัก มันอาจจะยังมีมุมอื่นๆ ที่น่าสนใจ นั่นทำให้ผมรู้สึกว่า เมืองที่เราอยู่ยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกเยอะที่อาจจะยังไม่ได้ผ่านการนำเสนอในรูปแบบที่เป็นภาพวาด”
ถามว่า ยังมีอะไรอีกบ้างที่ทำให้คุณประทับใจกิจกรรมการวาดรูปในสถานที่จริง
หลุยส์ตอบว่า ในช่วงแรกๆ ที่เขาได้ไปวาดกับ Bangkok Sketchers อยู่บ่อยครั้งนั้น สิ่งที่ทำให้เขาประทับใจและ Enjoy คือกลุ่มเพื่อนที่ทำให้รู้สึกสนุก เพราะทำให้เขาได้เห็นสไตล์การวาดของหลายๆ คน ด้วยไม่มีกำหนดว่าต้องวาดแบบไหน
ใครอยากวาดอย่างไรก็วาดได้เต็มที่
“ไม่ใช่แค่ได้เห็นสไตล์ของแต่ละคน แต่ยังได้เห็นมุมมองของเขาด้วย เช่น พี่คนนี้เขาชอบลงรายละเอียดแบบนี้ พี่คนนี้เก่งในด้านการวาดอาหาร พี่คนนี้เก่งสีน้ำ ผมก็เลยสนุกไปกับเทคนิคและมุมมองที่เราได้เห็นหลากหลายมากขึ้น”
กว่าจะเป็นภาพ ตึก-ย่าน-บ้านร้านในเมืองเก่า
สอบถามถึงความเป็นมาในการทำหนังสือทั้งสามเล่ม ที่ราวกับเป็นการบันทึกภาพตึก-ย่าน-บ้านร้านในเมืองเก่าไว้ด้วยลายเส้นที่มีชีวิตชีวาและสีสันอันสดสวย
ผลงานเหล่านั้น คือ
Moments in Bangkok
Bangkok Shophouses – ตึกแถวกรุงเทพฯ และชีวิตชาวย่าน
กระทั่งเล่มล่าสุด
Moments in Chiang Mai
หลุยส์เริ่มบอกเล่าถึงผลงานภาพสเก็ตช์ที่ปรากฏใน Moments in Bangkokว่าเป็นช่วงที่เขาเรียนจบแล้วและทำงานได้ประมาณ 2 ปี
“แต่ว่าความอยากทำหนังสือมันติดค้างอยู่ในตัวผมมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เริ่มวาดรูปช่วงแรกๆ เพราะว่าช่วงนั้นจะมีสถานที่ที่ผมชอบไปมาก เป็นร้านหนังสือ ชื่อ ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ อยู่ในเขตเมืองเก่า"
“การที่เราได้ไปร้านหนังสือบ่อยๆ ก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากมีหนังสือของตัวเองบ้างเหมือนกัน ซึ่งผมมี Content หลักคือการวาดรูป ผมอยากรวบรวมภาพที่วาดเกี่ยวกับกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯ ก็เปรียบเสมือนสำนักงานใหญ่ของเราที่เราตะลอนไปค่อนข้างทั่วแล้ว ในตอนนั้นจึงคิดว่าจะทำเป็นหนังสือภาพสีน้ำเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ขึ้นมา แต่ก็ไม่ใช่ภาพสีน้ำ Painting เนี้ยบๆ เพราะผมก็ทำแบบนั้นไม่ได้ครับ แต่สิ่งที่ทำได้คือ เป็นการรวมภาพที่วาดมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ เลยครับ แล้วก็จะเน้นแค่ภาพที่วาดจากสถานที่จริง เน้นแค่นั้น"
"คือเป็นภาพที่เราไปนั่งวาดตรงนั้นเลย ในที่สุดก็เกิดเป็น Moments in Bangkok ขึ้นมา โดยเก็บรวบรวมจากผลงานที่วาดมา 5 ปีครับ” หลุยส์บอกเล่าอย่างเห็นภาพ
ความแตกต่างใน Bangkok Shophouses
ถามว่า ผลงานเล่มต่อมา คือ Bangkok Shophouses มีอะไรที่แตกต่างไปจาก Moments in Bangkok
หลุยส์ตอบว่า “ค่อนข้างต่างครับ เพราะ Moments in Bangkok เป็นการรวบรวมผลงานเก่าๆ ซึ่งมีการแทรกคำบรรยายความรู้สึกที่ผมได้สัมผัสใน ขณะที่วาดหรือเรื่องราวที่ได้ยินมาในขณะที่วาด เพราะฉะนั้น รูปแบบการนำเสนอจะเป็น Journey Sketch เป็นรูปจากการเดินทาง”
ขณะที่ Bangkok Shophouses มีความเป็นภาพประกอบ หรือ Illustration และเล่าไปทีละย่าน
“การนำเสนอจึงต่างจาก Moments in Bangkok ที่เป็นภาพรวม เป็นเหมือนวิวที่เราไปเจอ แต่ว่า Bangkok Shophouses จะเจาะไปที่ตึกแถวของแต่ละย่านว่ามีหน้าตา ลักษณะเป็นอย่างไร รวมไปถึงวิถีชีวิตของคนแถวๆ นั้น ย่านนั้นว่าเขาเด่นกันในเรื่องอะไร เป็นการไปเก็บข้อมูล Survey เพิ่มเติม แล้วกลับมาวาดที่บ้าน ไม่ได้ไปนั่งวาดนอกสถานที่ ”
“รวมทั้งยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสไตล์ของตึกแถว ที่สังเกตเห็นได้ในกรุงเทพฯ เป็นเหมือนสาระความรู้เล็กน้อยที่ช่วยให้เราดูตึกแถวในกรุงเทพฯ ได้สนุกยิ่งขึ้น” หลุยส์ระบุถึงความแตกต่างของผลงานสองเล่มแรก
ความรุ่มรวยเปี่ยมเสน่ห์ของย่านประทับใจ
หากถามว่าวาดภาพเมืองเก่ามามากมาย แล้วมีย่านไหนที่ชอบเป็นพิเศษหรือไม่
หลุยส์ตอบว่า “จริงๆ แล้วในย่านเมืองเก่าของเกาะรัตนโกสินทร์ผมชอบหมดเลยครับ เหมือนเป็นย่านที่คุ้นเคยไปแล้วครับ รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ไปตึกนี้จะเจออย่างนี้ ไปตึกนั้น จะเจอร้านนนั้น ก็เลยค่อนข้างชอบ แต่ถ้าให้เจาะจงมากขึ้นอีก ก็คงจะเป็นย่านตลาดน้อย”
“ตลาดน้อย, ถนนทรงวาด และเยาวราช ในย่านนั้นสำหรับผมเป็นย่านที่ค่อนข้างคึกคัก มีวัฒนธรรมที่รุ่มรวย มีร้านอาหารมากมาย เราสามารถพบเจออะไรได้มากมายที่นั่นและตัวตึกก็เป็นสไตล์ที่ผมชอบ รวมๆ แล้ว อาจเรียกว่าเป็นสไตล์ Colonial ก็ได้เพราะว่าได้รับอิทธิพลมาจากยุโรป”
กว่าจะเป็น Moments in Chiang Mai
ช่วยเล่าถึงผลงานเล่มล่าสุด Moments in Chiang Mai บ้าง
ใช้เวลาในการวาด รวบรวมข้อมูล นานแค่ไหน
หลุยส์กล่าวว่าที่มาของเล่ม Moments in Chiang Mai มีแรงบันดาลใจที่ย้อนกลับไปนับแต่เมื่อครั้งที่เขาได้ไปเชียงใหม่ครั้งแรกในชีวิต คือเมื่อครั้งที่ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ขณะเป็นนักศึกษาปี 1
“ช่วงนั้นไปออกค่ายอาสาฯ แล้วก็แวะเที่ยวเชียงใหม่ ผมก็รู้สึกชอบเมืองนี้เลย เพราะว่าอากาศดี วัดสวย ตึกสวย บ้านสวย อาหารอร่อย รู้สึกชอบเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ตอนนั้นเลยครับ จากนั้น ผมก็ไปเชียงใหม่อยู่เรื่อยๆ ปีละครั้งบ้าง ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ แต่แก่นเดิมที่เป็นความชอบของเราก็ยังไม่เปลี่ยน วัดก็ยังสวยเหมือนเดิม บ้านเรือนก็ยังสวยเหมือนเดิม
เพิ่มเติมคืออาจจะมีร้านกาแฟ มีร้านอาหารที่อาจจะดูทันสมัย ดูดีขึ้น น่ากิน เพิ่มมากขึ้น แต่เราก็ยังคงชอบบรรยากาศของเมืองในแบบนี้อยู่ จึงเก็บความชอบนี้ไว้”
“ผมรู้สึกว่าเมื่อทำ Moments in Bangkok แล้ว ถ้าเป็นเล่มต่อไปที่ยังอยากให้รู้สึกถึง Moments ถึงความประทับใจที่เราได้พบเห็น ผมก็อยากทำเชียงใหม่ จึงเลือกเมืองนี้เป็นเมืองแรกที่นำมาทำเป็นเล่ม Moments ต่อจากกรุงเทพฯ”
หลุยส์เล่าว่า เมืองที่เขาเลือกมาทำหนังสือ ต้องเป็นเมืองที่เขารัก เนื่องจากในกระบวนการทำงาน เขาต้องใช้ชีวิตอยู่กับหนังสือเล่มนี้นานมาก
“ต้องเป็น Content ที่เราไม่เบื่อ ผมก็เลยเลือกเชียงใหม่ครับ การเก็บข้อมูลก็มีไป Survey เพิ่มเติมด้วย และเมื่อเป็นคอนเซ็ปต์ของเล่ม Moments ผมจึงอยากจะวาดในสถานที่จริงด้วย เพื่อให้เราได้บรรยากาศตรงนั้นมา แต่ว่าอาจไม่ใช่ทุกรูปที่เราวาดในสถานที่จริง เพราะบางแห่งก็ไม่สะดวกที่จะไปนั่งวาดแล้ว รวมถึงสังขารผมด้วย (หัวเราะ) จึงเป็นการผสมระหว่างถ่ายรูปกลับมากับวาดในสถานที่จริงเลย ตรงนี้ต่างจาก Moments in Bangkok ที่วาดในสถานที่จริงทุกภาพ”
“รวมๆ แล้ว ใช้เวลาในการทำหนังสือเล่มนี้ประมาณ 2 ปี ทั้งไป Survey กลับมาวาด และผมจัด Layout จัดรูปเล่มเองทั้งหมด เขียนเนื้อหาเองด้วย ระหว่างนั้นก็มีงานอื่นด้วย ก็เลยใช้เวลาค่อนข้างนานครับ สำหรับหนังสือนี้ก็มีเพื่อนที่มีความรู้ช่วยเป็นบรรณาธิการให้”
ถามว่าสถาปัตยกรรมในเมืองเชียงใหม่ที่คุณบอกเล่า ถ่ายทอดผ่าน Moments in Chiang Mai มีอะไรบ้าง
หลุยส์ตอบว่า เท่าที่พอจะจำแนกได้โดยที่อาจไม่ได้ไปดูทุกตรอกซอกซอย จำแนกแบบกว้างๆ ได้ว่าสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในเมืองเชียงใหม่ มีประเภทล้านนาดั้งเดิม ที่ใช้ไม้ เข้าลิ่ม อย่างพวกเรือนกาแล บ้านไม้เก่าๆ แล้วก็มีสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ เช่น จากจีน พม่า หรือยุโรป รูปแบบนี้จะพบเห็นได้เยอะที่ถนนท่าแพ
แล้วอะไรคือความประทับใจในการทำหนังสือ Moments in Chiang Mai
หลุยส์ตอบว่า คือกระบวนการ ขั้นตอนในการ Survey เนื่องจากเชียงใหม่มีร้านรวงมาเปิดใหม่อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะร้านอาหารและร้านกาแฟ
“ผมก็ได้ลองกินอาหารค่อนข้างเยอะ (หัวเราะ) เมื่อวาดไปเรื่อยๆ ตอนแรกผมคิดว่า บทที่สนุกที่สุดน่าจะเป็นบทที่เกี่ยวกับเมืองเก่า แต่ว่า สุดท้ายแล้วบทที่สนุกที่สุดคือบทที่เกี่ยวกับอาหารครับ เพราะว่าเป็นความสนุกที่เราไปเชื่อมโยงตั้งแต่ตอน Survey แล้วว่าร้านนี้อาหารอร่อยมากเลยนะ เมื่อกลับมาวาด เราก็รู้สึกว่า คิดถึงอาหารร้านนี้จัง เมื่อไหร่จะได้กลับไปกินอีกนะ (หัวเราะ) เมื่อหนังสือออกมา ผมก็กลับไปเชียงใหม่อีกรอบ แล้วก็ไปตามกินร้านที่เราเคยวาดมาเกือบทั้งหมด รวมถึงร้านใหม่ๆ ด้วย ที่รู้สึกว่าเสียดายจังถ้าเจอกันเร็วกว่านี้เราน่าจะได้วาดร้านเขา” หลุยส์บอกเล่าอย่างอารมณ์ดีถึงความทรงจำสนุกๆ ระหว่างการเดินทางสเก็ตช์ภาพ
สไตล์ในลายเส้น
อดถามไม่ได้ว่าอะไรคือเอกลักษณ์ในงานวาดของคุณ
หนุ่มนักสเก็ตช์ภาพเมืองคนนี้ตอบว่า “น่าจะเป็นลายเส้นและการใช้สีครับ เพราะว่างานผม ส่วนใหญ่จะมีลายเส้นเป็นโครงสร้างหลักของภาพอยู่แล้ว คนเห็นอาจจะรู้สึกว่ามีลายละเอียดชัดเจน ก็ต้องขอบคุณพื้นฐานงานวาดที่ได้มาจากการเรียนสถาปัตย์ฯ”
“ผมไม่แน่ใจว่าคนที่ดูงานผม เขาอาจจะชอบภาพอาคาร ชอบรายละเอียดอาคาร ซึ่งในปัจจุบัน เราก็ไม่ได้วาดแค่ตึกอย่างเดียวแล้ว หลังๆ ผมจะ Enjoy กับการวาดอาหารมาก คนก็อาจจะชอบตรงนี้ แต่ถ้าเป็นสไตล์ ผมก็จะเน้นลายเส้นเป็นหลักและลงรายละเอียดด้วยสีน้ำ”
ถามว่ามีเมืองไหนอีกบ้างที่คุณอยากทำเป็น Moments in…
คำตอบของหลุยส์คือ หากเป็นเมืองในต่างประเทศก็มีหลายเมืองที่อยากไป แต่ต้องใช้ทุนทรัพย์เยอะ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และหลายเมืองในยุโรป ไว้ต้องรอดูว่าจะมีเมืองไหนที่นำมาทำเป็นหนังสือได้บ้าง
“ผมต้องคิดเรื่องกระบวนการทำงาน เพราะเล่ม Moments in Chiang Mai ผมก็ไปเชียงใหม่หลายรอบกว่าจะเก็บข้อมูลมาได้ หากเป็นเมืองในต่างประเทศ คงไปหลายรอบไม่ได้ ต้องเก็บข้อมูลมาภายในรอบเดียว
ถ้าหากเป็นในไทย เล่มต่อไปอาจยังไม่มี Moments in… ครับ แต่อาจจะเป็น Phuket Shophouses ครับ”
สลักไว้ในรอยจำ
ถามว่า อะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้คุณชอบหรือหลงใหลการวาดภาพเมือง
หลุยส์ตอบอย่างชัดเจนว่า เพราะทำให้เราได้มองเมืองที่เราอยู่ เมืองที่เราไปเที่ยว หรือไม่ว่าเราจะวาดอะไรก็ตาม เราจะวาดได้ละเอียดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวาดในสถานที่จริง คือการที่เราเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น ในระยะเวลาหนึ่ง ทำให้นอกจากได้ผลลัพธ์คือได้ภาพวาดมาแล้ว ยังได้ซึมซับบรรยากาศตรงนั้นไปด้วย"
“ทำให้ผมรู้สึกว่าผมจดจำ Moments ในตอนที่วาดได้เกือบทุกรูปที่วาดในสถานที่จริง ว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนนั้นเรารู้สึกยังไง เราไปตรงนั้นได้ยังไง เพราะเหตุนี้ ผมจึงตั้งชื่อหนังสือว่า Moments in… ตั้งใจให้เป็นเมืองต่างๆ เป็นภาพที่ทำให้เรานึกถึง Moments นั้นได้ตลอดเวลา”
“ทุกๆ ลายเส้นที่เราเขียนไป ขณะที่เราวาดสถานที่นั้นๆ นอกจากผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นภาพวาดแล้ว ยังสลักความทรงจำเข้าไปในลายเส้นเหล่านั้นด้วย ทำให้เราจำได้ว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง”
ชายหนุ่มทิ้งท้ายไว้อย่างเห็นภาพแห่งความหลงใหลในเสน่ห์เมืองเก่า ทั้งในมุมของสถาปัตยกรรมและบรรยากาศถิ่นย่านร้านรวงอันเปี่ยมชีวิตชีวา
………
Text and Photo by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ภาพผลงาน by : ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา, Facebook : Louis Sketcher