ลูกชิด หรือลูกต๋าว ลูกตาว จัดเป็นผลไม้อย่างหนึ่ง เป็นลูกของต้นปาล์มซึ่งออกผลเป็นทลายยาว ห้อยเป็นพวงระย้า ทลายหนึ่งมีเป็นพันธุ์ๆลูก ลูกหนึ่งมี ๒-๓ เมล็ดเนื้อขาวขุ่น เคี้ยวหนึบ เป็นผลิตผลจากธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก มีกากใยอาหารสูง จึงมีคุณสมบัติเด่นที่ช่วยกวาดล้างลำไส้ ขจัดไขมันและน้ำตาลในเลือด ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ราบรื่น ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคได้หลายชนิด เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคเบาหวาน เป็นต้น ทั้งยังเป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่หลายชนิด เช่นฟอสฟอรัสและแคลเซียม ที่ช่วยเสริมให้กระดูกและฟันแข็งแรง ทั้งยังช่วยควบคุมการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจบีบตัวและคลายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ลูกชิดจึงเป็นของกินเล่นยอดฮิตอย่างหนึ่งในขณะนี้สำหรับคนที่รักสุขภาพ
ต้นปาล์มพันธุ์นี้กระจายตัวอยู่ในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว สำหรับประเทศไทยพบต้นต๋าวขึ้นในบริเวณผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และความชื้นสูง พบมากที่จังหวัดกาญจนุรี พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน เชียงราย เชียงใหม่
ต้นต๋าวมีความสูง ๖-๑๕ เมตร เริ่มออกดอกหลังจากปลูกไปแล้ว ๖-๑๐ ปี ติดผลเป็นช่อทิ้งตัวยาว ๑ ทะลายจะมี ๕๐ เส้นขึ้นไป แต่ละเส้นจะมีผลต๋าวประมาณ ๘๐-๑๑๐ ผล ฉะนั้น ๑ ทะลายจะมีผลประมาณ ๔,๐๐๐ ผล จากดอกจนถึงผลแก่จะใช้เวลา ๑-๒ ปี ในผลที่มีเมล็ด ๒-๓ เมล็ดอยู่ชิดเรียงกัน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ลูกชิด” ซึ่งส่วนที่นำมารับประทานก็คือเนื้อในของเมล็ดที่มีสีขาวขุ่น มีรสจืด ยังไม่แก่จะมีรสฝาด วงจรชีวิตของต้นต๋าวจะอยู่ได้ประมาณ ๒๐ ปี
ลูกต๋าวมีเปลือกค่อนข้างหนา การจะนำไปรับประทานจะต้องนำทะลายลูกเต๋าไปต้มก่อนให้เปลือกอ่อน จึงจะแกะเมล็ดสีขาวใสข้างในออกมา แล้วนำไปอบเป็นลูกชิดอบแห้ง หรือนำไปเชื่อมเป็นลูกชิดแช่อิ่ม ลูกชิดปี๊บ ลูกชิดกระป๋อง ที่ใส่น้ำแข็งใสราดน้ำหวานอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี
สำหรับลูกชิดอบแห้งเป็นของเคี้ยวเล่นเพลินๆ กรุบๆ เหนียวหนับ หวานแบบธรรมชาติ นอกจากจะเอาไปใส่น้ำแข็งไสโรยน้ำหวาน หรือโรยหน้าไอสคริมแล้ว จะวางไว้สำหรับเคี้ยวเล่นก็ได้ ไม่ต้องแช่เย็นก็เก็บได้นานถึง ๔-๖ เดือน ติดรถไว้ซักถุงก็ดี แก้หิวหรือแก้เบื่อเวลารถติด
กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ลูกชิด ๑๐๐ กรัม มีใยอาหารสูงถึง ๘.๕๙ กรัม เป็นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ ๖.๖๑ กรัม ละใยอาหารที่ละลายน้ำไม่ได้ ๑.๙๘ กรัม นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับพืชตระกูลปาล์มอื่น เช่น มะพร้าว ตาล และสละ ซึ่งมีใยอาหาร ๔.๕๐, ๘.๕๐ และ ๐.๓๐ กรัมตามลำดับ จึงมีประโยชน์ต่อร่างกายในการช่วยทำงานของระบบขับถ่าย ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้หลายโรค
นอกจากนี้ลูกชิดยังเป็นแหล่งของแคลเซียม ซึ่งมีปริมาณถึง ๙๖.๕ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ กรัม มีไขมันต่ำเพียง ๐.๐๗ กรัม และให้พลังงาน ๕๒ กิโลแคลอรี เป็นประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพ
นอกจากเนื้อในของเมล็ดจะเป็นของกินเล่นเพื่อสุขภาพแล้ว ลำต้นของต้นต๋าวยังใช้ทำประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง เนื้อในของยอดลำต้นยังใช้ทำอาหารได้เช่นเดียวกับยอดมะพร้าว ยอดอ่อนใช้นึ่งรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือแกง ใบอ่อนสามารถนำมาเป็นผักเช่นเดียวกับกะหล่ำปลี หน่ออ่อนก็รับประทานได้เช่นเดีวกับหน่อไผ่ ดอกต๋าวหรืองวงต๋าวก็สามารถทำเป็นน้ำตาลได้คล้ายน้ำตาลโตนด ก้านช่อดอกก็มีน้ำหวาน อาจทำเป็นไวน์หรือน้ำส้ม เรียกว่า “น้ำส้มชุก” หรือเอาส่วนที่เคี่ยวเป็น “น้ำผึ้งชุก” ไปหมักเป็นกระแช่ หรือสุรา ลำต้นของต๋าวในระยะที่เริ่มออกดอกก็สะสมแป้งไว้เช่นเดียวกับต้นสาคู จึงนำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน ส่วนใบของต๋าวยังเอามามุงหลังคาหรือทำฝาบ้านได้
นี่คือส่วนหนึ่งของความยั่งยืนทางอาหารที่ประเทศเรามี และถ้ามองให้ซึ้งลึกลงไปอีก เรายังมีของดีที่มีคุณค่าอีกมาก ที่สำคัญอาหารเหล่านี้เป็นผลิตผลจากธรรมชาติ ไม่มีพิษภัย มีแต่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่เหมือนของกินสมัยใหม่ในขณะนี้ ล้วนแต่ปรุงด้วยสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ