xs
xsm
sm
md
lg

คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จับมือวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ฯ (ANT) เปิดตัว “BARRISTER INTELLIGENCE” (Chatbot) ช่วยไขข้อข้องใจด้านกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เดินเกมรุกช่วยประชาชน จับมือวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี (ANT) เปิดตัวน้อง “BARRISTER INTELLIGENCE” (Chatbot) ช่วยไขข้อข้องใจปัญหาด้านกฎหมายที่ประชาชนอยากรู้ เพียงแค่แอดไลน์เป็นเพื่อน
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา บริเวณหน้าห้องประชุม ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ อนุสรณ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวแสดงความยินดี และเปิดตัวน้อง “BARRISTER INTELLIGENCE” โดย ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวว่า การเปิดตัวน้อง “BARRISTER INTELLIGENCE” (Chatbot) ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ กับวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นการช่วยเหลือประชาชน เพื่อลดช่องว่างการขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายโดยเพิ่มช่องทางในการให้บริการข้อมูลด้านกฎหมายเพื่อให้เกิดความสะดวก ถือเป็นภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในการให้ความรู้แก่ประชาชน จึงต้องขอขอบคุณและแสดงความยินดีกับคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ และวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี (ANT) ที่ได้บูรณาการร่วมมือกันจนทําให้เกิดโครงการ DPU Legal Advisory Chatbot และทําให้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มีนวัตกรรมใหม่ๆ จนวันนี้ได้เปิดตัวน้อง “BARRISTER INTELLIGENCE” พร้อมมอบโล่เกียรติคุณแก่ ผศ.ดร.วิลาวัลย์ อินทร์ชำนาญ คณบดีวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT) ที่ร่วมกับทีมงานช่วยออกแบบน้อง “BARRISTER INTELLIGENCE” (Chatbot)

โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนําเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาให้ความรู้ทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งในเฟสแรกข้อมูลต่างๆ อาจจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อยอดให้มีความสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้ และโครงการนี้ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างคณะของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน


ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า คณะนิติศาสตร์ฯ มีศูนย์ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีข้อจำกัดในการให้คำปรึกษาซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ความรวดเร็วและปริมาณในการให้บริการ เพราะผู้ให้บริการจำกัดอยู่เฉพาะอาจารย์กับทีมงาน จึงต้องการให้มีตัวช่วย โดยใช้ระบบเทคโนโลยี AI เพราะคำถามต่างๆ พอรวบรวมแล้ว บางเรื่องเป็นคำถามที่มีเนื้อหาลักษณะคล้ายๆ กัน ก็สามารถที่จะนำมาประมวลและทำเป็นคำตอบได้รวดเร็วและไม่จำกัดเวลา จึงหารือกับทางวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT) ในการทำ Chatbot และตั้งชื่อว่า น้อง “BARRISTER INTELLIGENCE” อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเข้ามาสอบถามข้อมูล และ Character สื่อถึงความเป็นกันเองและการเข้าถึงได้ง่าย โดยในช่วงแรกจะมีอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาคอยช่วยตอบคำถามด้วย เพื่อให้ระบบ AI รับรู้ข้อมูลมากขึ้น และเมื่อระบบรู้ข้อมูลมากขึ้น ต่อไประบบ AI จะสามารถดำเนินการตอบได้ครอบคลุมและละเอียดขึ้น ซึ่งโครงการนี้กว่าจะคลอดออกมาได้ใช้ระยะเวลาพอสมควร เพื่อให้ระบบเกิดความสมบูรณ์มากที่สุด ประกอบกับได้ทางวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT) ที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการออกแบบ ช่วยออกแบบน้อง “BARRISTER INTELLIGENCE” ออกมาได้หน้าตาน่ารัก ส่วนผู้ที่สนใจอยากสอบถามข้อมูลด้านกฎหมายทำได้ง่าย เพียงแค่แอดไลน์เป็นเพื่อนก็สามารถถามคำถามกฎหมายที่ทุกคนอยากรู้ได้

น้อง BARRISTER INTELLIGENCE จะทำให้รู้ว่าทุกปัญหามีทางออก กฎหมายไม่ได้ยากอย่างที่คิด โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อลดช่องว่างความรู้และความเข้าใจทางกฎหมาย การให้ความรู้ทางกฎหมายจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ประชาชนและช่วยลดข้อขัดแย้งและปริมาณคดีความในศาล

นอกจากนี้ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ยังระบุอีกว่า โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะขยายผลทำโครงการอื่นๆ อีกต่อไปในอนาคต และเป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นว่าทุกคณะและทุกวิทยาลัยฯ ในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ไม่ได้ต่างคนต่างทำงาน หรือคณะทำอยู่เพียงคณะเดียว หากแต่ทุกคนนั้นมีการบูรณาการร่วมกัน จนเกิดโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างในวันนี้

“อีกทั้งถ้าเราสามารถทราบถึงปัญหาต่างๆ ทางกฎหมายของประชาชนตลอดจนปัญหาด้านกฎหมายที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ก็จะสามารถพัฒนาหลักสูตรหรือเพิ่มเติมเนื้อหาในวิชากฎหมายต่างๆ ให้รอบคอบยิ่งขึ้น เพราะการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยเป็นการเรียนการสอนโดยอาจารย์ เป็นมิติทางทฤษฎี แต่นโยบายของคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ เราอยากจะผลิตนักกฎหมาย ให้จบออกไปแล้วสามารถทำงานในทางปฏิบัติที่ใช้ได้จริง ไม่ใช่รู้เฉพาะทฤษฎี และสามารถใช้กฎหมายเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งโครงการนี้จะช่วยในมุมมองทางวิชาการในเรื่องของหัวข้องานวิจัย หรือความเป็นไปได้ในการพัฒนาหลักสูตรพิเศษขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและสังคม” ดร.สุทธิพลกล่าวเปิดใจ


ขณะที่ ผศ.ดร.วิลาวัลย์ อินทร์ชำนาญ คณบดีวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT) ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบน้อง “BARRISTER INTELLIGENCE” กล่าวว่า ผู้ออกแบบ Chatbot และตัวคาแรกเตอร์การ์ตูนเป็นทีมอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของ ANT ที่มีแนวคิดว่าการที่จะให้ประชาชนเข้าใจกฎหมายจะต้องเข้าใจง่าย ข้อมูลต้องไม่ซับซ้อน กฎหมายที่ทางนิติศาสตร์เข้าใจ กับกฎหมายที่ประชาชนเข้าใจนั้นอาจมีความแตกต่างกัน เนื่องจากเป็นคําศัพท์เฉพาะด้าน จึงได้ให้นักกฎหมายแต่ละเรื่อง อาทิ กฎหมายลิขสิทธิ์มาให้ข้อมูล และใช้โปรแกรมสร้างข้อมูลออกมาเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น

“ในส่วนของตัวคาแรกเตอร์ซึ่งเป็นการ์ตูนนั้น ออกแบบโดยนักศึกษาปี 3 ได้มีการดีไซน์ตัวการ์ตูนในสไตล์เกาหลีตามความต้องการของอาจารย์คณะนิติศาสตร์ฯ ที่มองแล้วไม่เครียด และดูเป็นกันเอง โดยใช้เวลาในการออกแบบตัวการ์ตูนประมาณ 2 เดือน เมื่อเสร็จแล้วก็นำมาเล่าเรื่องกฎหมายใน Chatbot ซึ่งตอนนี้น้องยังไม่ได้พัฒนาไปไกล เนื่องจากข้อมูลยังมีไม่มากเพียงพอ โดยจะต้องป้อนคำถามและข้อมูลความรู้ใส่เข้าไปให้มากขึ้น เพื่อให้ Chatbot จดจำข้อมูลว่ากฎหมายต้องพูดเรื่องอะไรบ้าง” ผศ.ดร.วิลาวัลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กฎหมายมีหลายเรื่องที่สำคัญ และประชาชนควรรับรู้ในแบบที่เข้าใจง่ายผ่าน Chatbot ในอนาคตจะมีการสร้างตัวคาแรกเตอร์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายขึ้นมาเพิ่ม เช่น นักเสิร์ฟกฎหมายที่อยู่ในแอปพลิเคชันไลน์ หรือ อยู่ในสื่อนอกบ้านต่างๆ รวมทั้งคาแรกเตอร์ที่เป็นตัวการ์ตูนออกมาเป็นอาร์ตทอย เป็นต้น










กำลังโหลดความคิดเห็น