“ตระกูลสุโกศล” เผยเคล็ดลับการบริหารธุรกิจครอบครัวของตระกูลที่สามารถผสาน “การสืบทอดธุรกิจ” (Succession) ดำเนินมาถึงรุ่นที่สาม เข้ากับ “ความหลงใหล” (Passion) แล “ตัวตน” ของสมาชิกในครอบครัวที่ล้วนเป็นศิลปิน ทว่า ในความเหมือนก็มีความต่างในแต่ละคนด้วย กระนั้น ก็ยังได้รับ “ไฟเขียว” จากคุณแม่ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัวให้ดำเนินชีวิตแบบใส่เกียร์เดินหน้าได้เต็มร้อย ในครรลอง One Life to Live แต่ก็ต้องไม่ถอยจากธุรกิจครอบครัว
กลับมาอีกครั้งกับหลักสูตร Family BusinessThailand ที่ล่าสุดจัดอบรมสำหรับรุ่นที่ 2 โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ณ โรงแรมเดอะ เบย์วิว พัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อเสริมทักษะ พัฒนาเทคนิค รวมทั้งการสืบทอดธุรกิจครอบครัวให้ราบรื่น ให้สามารถต่อยอดกิจการอย่างมั่นคงจากรุ่นสู่รุ่น และในครั้งนี้ Family Business Thailand #2 ได้รับเกียรติจากครอบครัว “สุโกศล” มาแบ่งปันสไตล์การบริหารธุรกิจครอบครัวของตระกูล นำโดย
•คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี ธิดาคนโตของครอบครัวที่เข้ามาช่วยงานคุณแม่ -คุณกมลา สุโกสล ในธุรกิจครอบครัว ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการ บริษัท สุโกศล จำกัด และอดีตนายกสมาคมโรงแรมไทยสองสมัย
•คุณกมล “สุกี้” สุโกศล แคลปป์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “เบเกอรี่มิวสิก” (ต่อมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ต้องเปิดให้ BMG (Bertelsmann Music Group) เข้ามาร่วมทุน และต่อมาปลายปี 2547 โซนี่เข้าซื้อกิจการของ BMG ทั่วโลกรวมถึงในไทย นั่นทำให้ เบเกอรี่มิวสิก กลายเป็นสังกัดย่อยของโซนี่ บีเอ็มจี กมลจึงลาออก มาตั้งค่ายเพลงใหมชื่อ “เลิฟอีส” ขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้บริหารโครงการต่างๆ ของสุโกศลกรุ๊ป ทำหน้าที่มองหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ และดูแลโครงการก่อสร้างโรงแรมเดอะสยาม กรุงเทพ และเวฟ พัทยาของกลุ่มสุโกศล .
•คุณกฤษดา สุโกศล แคลปป์ ศิลปินเต็มตัวที่รู้จักกันในนาม “น้อย วงพรู” และ ผู้บริหารกิจการโรงแรม เดอะ สยาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ ทำหน้าที่ดูแลการวางคอนเซ็ปท์การออกแบบตกแต่งภายในของโรงแรม และโรงแรม เดอะ สยาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยังได้ลงนิตยสารต่างประเทศ Travel + Leisure และได้ Top 20 โรงแรมของโลกและได้รับโหวตให้เป็น Number One City Hotel Of The World
•คุณเดชจุฑา “ดีโน่” สุโกศล แคลปป์ บุตรชายคนโตคุณสุกี้ เป็นสมาชิกรุ่นที่ 4 ของครอบครัว แต่เป็นรุ่นที่ 3 ของธุรกิจครอบครัวที่เพิ่งกลับมาทํางานให้บริษัทครอบครัวปีนี้ มีส่วนผสมของคุณย่าที่เก่งทั้งบู๊และบุ๋น นั่นคือ ธุรกิจ กับศิลปะ ด้วยพื้นฐานความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองและกำลังจะเรียนต่อที่ Oxford Business School ดีโน่เข้าช่วยงานของกลุ่มสุโกศลทางด้านอาหารละเครื่องดื่ม (F&B), Online Solution สำหรับ Online Marketing, Booking, Booking Engine และอื่นๆ ทุกแผนกด้วยประสบการณ์จากการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ และธุรกิจร้านกาแฟ “เช้า” เป็นทายาทรุ่นหลานที่มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรีและเคยเป็นดีเจในต่างประเทศเช่นกัน
“อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน”
แม้ครอบครัวสุโกศลจะมีธุรกิจในกลุ่มอย่างหลากหลายทั้งธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ 2 แห่ง ได้แก่ The Sukosol, The Siam
โรงแรมในพัทยา 3 แห่ง ได้แก่ Siam Bayshore, The Bayview, Wave และมีธุรกิจในเครืออื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร เครื่องมือแพทย์ ทว่า ระหว่างเส้นทางการดำเนินธุรกิจของครอบครัวนี้พบกับความท้าทายให้ต้องรับมืออยู่ตลอด อาทิ ธุรกิจโรงแรมที่มีหนี้ยาวนาน 30 ปี แต่ก็สามารถพลิฟื้นกลับมาเป็น TOP 50 โรงแรมที่ดีที่สุดในโลก, กรณีธุรกิจเบเกอรี่ มิวสิคประสบภาวะวิกฤติ จนต้องเปิดให้ BMG เข้าร่วมทุน, ธุรกิจร้านกาแฟของดีโน่ที่ประสบปัญหาและจะถูกฟ้องร้อง แต่คุณสุกี้กลับบอกลูกชายว่า “ดี! จะได้เรียนรู้”
เนื้อเพลง Live & Learn ที่ขับร้องโดย คุณแม่ (คุณกมลา สุโกศล) ในท่อนที่ว่า “อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิด สติเราให้ทัน” นี่จึงไม่เรื่องเกินเลยสำหรับธุรกิจครอบครัวของตระกูลสุโกศล เพราะแม้ทุกก้าวย่างของธุรกิจจะมีคุณแม่ประคับประคองในฐานะเบอร์ 1 ของบอร์ดบริษัทฯ และเบอร์ 1 ของครอบครัว แต่ก็ยังมีความท้าทายที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย นอกเหนือความควบคุมให้ต้องเรียนรู้ ต้องยอมรับ เพื่อรับมือ เพียงแต่ต้อง “ตามความคิดสติเราให้ทัน” ดังนั้น เมื่อรุ่นเล็กอย่าง “คุณดีโน่จะมีคดีฟ้องร้องจึงเป็นประโยคที่ว่า เพื่อให้ลูกชายด้เรียนรู้นั้นล้วนเป็นประสบการณ์จากคุณสุกี้ ที่เคยเผชิญมาก่อน
แบ่งหน้าที่กันทำบนพื้นฐาน “ความถนัด ความไว้ใจ”
สำหรับหลักการบ่มเพาะทายาททางธุรกิจครอบครัวที่มักจะพบว่า ในทางหลักการควรบ่มเพาะมาแต่เยาว์วัย และไม่ควรบังคับนั้น ทว่า ครอบครัวสุโกศลกลับเป็นแนว “ฟรีสไตล์” แต่คุณสมบัติร่วมที่ทุกคนมีเหมือนกัน คือ ความถนัดทางด้านดนตรี แต่กระนั้น คุณมาริสา ซึ่งเป็นลูกคนโตของครอบครัวก็ออกมาช่วยธุรกิจครอบครัว เพราะเห็นคุณแม่ต้องทำงานเพียงคนเดียว และเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่กำลังก่อสร้างโรงแรมขนาด 500 ห้อง
“แต่เมื่อเข้ามาทำก็เกิดความรักความเข้าใจ ความผูกพัน ความภาคภูมิใจ เกิด Passion ในงานจนกลายเป็นอาชีพไปโดยปริยาย” คุณมาริสากล่าว ซึ่งหลังจากนั้น ทายาทอีกสามคนก็มีเส้นทางความฝันของตนเอง ซึ่ง คุณกฤษดา (น้อย วงพรู) สะท้อนเส้นทางเดินของสมาชิกในครอบครัวด้วยหลักการที่ว่า Keep going, be yourself, but give it 100% (จงเดินหน้า เป็นตัวของตัวเอง และเต็มร้อย) ทว่า ที่สุดแล้วถึงจุดหนึ่งคนเหล่านี้ก็กลับมาช่วยธุรกิจครอบครัวที่ทุกคนยอมรับว่า นี่คือ ความภาคภูมิใจของครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเหมือนที่ต่างก็เป็นศิลปินก็ยังมีความแตกต่างทำให้ธุรกิจครอบครัวของสุโกศลมีความต่างที่สามารผสานกันได้อย่างลงตัวบนพื้นฐานของความไว้วางใจกัน เชื่อใจกัน แม้จะมีความขัดแย้งทางความคิดกัน แต่นั่นคือ “จบตรงนั้น” แล้วก็กลับมาเป็นพี่น้องที่พูดคุยกันด้วยหัวข้อที่มีความสนใจร่วมกันอย่างดนตรี กีฬากันได้เหมือนกัน คุณมาริสากล่าวเพิ่มเติมว่า “เราอยู่ด้วยความรัก ความเข้าใจ กติกาของเราคือ ต้องชัดเจน เป็นธรรม เรามีความรักและเคารพการตัดสินใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งไม่มีใครทำงานที่ทับซ้อนกันเลย”
ทั้งนี้ บทบาทของทายาทรุ่นสอง โดยสรุป คือ
• คุณมาริสา ดูภาพรวมและงานขายธุรกิจโรงแรม
• คุณดารณี นักการเงินที่วอลสตรีททำหน้าที่ดูแลการเงินให้กับธุรกิจครอบครัวทั้งกลุ่ม ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญสำหรับครอบครัวศิลปินที่เรื่องการเงนแทบจะเป็น “ภาษาต่างดาว”
• คุณกมล ดูแลโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ และงานบำรุงรักษา ซึ่งงานหลังเขายอมรับว่าไม่ชอบนัก แต่การรับหน้าที่นี้ทำให้เขาดีใจที่ได้พบปะกับทีมงานที่ร่วมงานกับครอบครัวอย่างยาวนานนับสิบปีและรู้สึกสนุกกับงานได้
• คุณกฤษดา บริหารโรงแรม เดอะ สยาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ ทำหน้าที่นับแต่โรงแรม “ตั้งไข่” จนถึงการออกแบบภายใน การวางคอนเซ็ปท์ และทำให้เขาได้ใช้ “ศิลปะ” อีกแขนงให้สาธารณชนเห็น และได้รับโหวตให้เป็น Number One City Hotel Of The World อันเป็นความโดดเด่นอีกแขนง นอกเหนือจากงานร้องเพลงและการแสดง
คุณกมล (สุกี้) กล่าวว่า “ตอนอายุสัก 20 กว่าๆ ผมคิดว่า ผมคงไม่มาช่วยธุรกิจครอบครัวหรอก ผมรู้แต่ว่าผมจะเล่นดนตรี แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ธุรกิจครอบครัวคืออะไรที่อยู่ “ข้างหลัง” เรา ทำให้ผมเพิ่งเข้ามาช่วยครอบครัวเมื่อ 15 ปีนี้เอง แต่ก่อนผมว่า ธุรกิจครอบครัวมักไม่ค่อยมีความชัดเจน ตอนรุ่น 2 มี 4 คนก็ยังไม่เท่าไร แต่เมื่อรุ่น 3 กลายเป็น 8 คนทำให้เราเพิ่งวางกฎเกณฑ์ 6 ข้อ ซึ่งตอนนี้โดยส่วนตัวผมแฮปปี้ เพราะชัดเจนและง่ายด้วย เช่น การกำหนดสัดส่วนเปอร์เซนต์การแบ่งโบนัส ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่ชัดเจนมากๆ สวัสดิการที่ให้ในธุรกิจครอบครัว อย่างตอนที่ดีโน่ทำงานให้กลุ่มสุโกศลก็มีรถสวัสดิการให้ใช้ แต่เมื่อออกไปทำสตาร์ทอัพก็ต้องคืนรถ ผมก็ต้องซื้อรถให้ลูกใช้และเมื่อกลับเข้ามาทำงานที่โรงแรมใหม่ก็มีรถใช้อีกครั้ง แต่สำหรับประกัน หรือการศึกษาบุตรพวกเราก็จ่ายกันเอง ตรงนี้ครอบครัวเราโชคดีที่มีความสัมพันธ์บนความไว้วางใจ ทุกคนเข้ากันได้ ขณะที่บางครอบครัวอาจไม่ใช่”
ขณะที่ คุณกฤษดา (น้อย วงพรู) เสริมว่า “เราวางกฎเกณฑ์ที่มีความละเอียดทำให้ช่วยลดความขัดแย้ง ครอบครัวเราเข้าใจจุดอ่อน จุดแข็งของแต่ละคน ทำให้เราสบายใจจริงๆ ไม่ต้องหลบจุดอ่อนของตนเอง เราทะเลาะกันได้และพร้อมให้อภัยเสมอ” ส่วนคุณกฤษดา (ดีโน่) เสริมว่า “ด้วยความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ และจากประสบการณ์การทำร้านกาแฟ ธุรกิจสตาร์ทอัพ ตอนนี้ก็อยากทำให้ธุรกิจโรงแรมเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาและปรับปรุงตนเองในระยะยาว เหมือนที่คุณพ่อบอกว่า ธุรกิจโรงแรมนั้นเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่การลงทุนเพื่อทำกำไรระยะสั้น และจะรับสไตล์การบริหารธุรกิจครอบครัวแบบแท้ๆ ให้มีสไตล์การบริหารแบบองค์กรธุรกิจมากขึ้น และมีโครงสร้างมากขึ้น”
ปัจจัยความสำเร็จ
ปัจจัยความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสุโกศลมาจากหลายปัจจัย ทว่า ที่โดดเด่นและมีน้ำหนักมาก นั่นคือ
• บุคลากร เนื่องจากธุรกิจโรงแรมที่ต้องใช้พนักงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การทำให้คนรักองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องสร้างความเคารพ ความน่าเชื้อถือและเป็นผู้นำที่ดี มีมนุษยธรรมกับผู้คน มีธรรมาภิบาล
• ระมัดระวังเรื่องการเงิน เนื่องจากธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนใหม่ตลอดเวลา ดังนั้น การจ่ายเม็ดเงินจึงต้องมีความระมัดระวัง
• ปรับตัวและรับมือให้เร็วและทันกับความท้าทาย โดยเฉพาะความท้าทายที่มาอย่างไม่คาดฝัน เช่น เหตุการณ์ฉุกเฉิน/ความวุ่นวายทางการเมือง อุทกภัย หรือที่เผชิญหน้ากันทั่วโลก นั่นคือ วิกฤติโควิด
• ประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งธุรกิจ เนื่องจากประสบการณ์อย่างโชกโชน และมีวิสัยทัศน์ที่ “มองขาด” ของผู้ก่อตั้งรุ่นแรกอย่างคุณกมลา สุโกศลที่อยู่ในอุตสาหกรรมมานานกว่า 50 ปี ทำให้การเข้ามาสำหรับผู้เล่นรายใหม่ย่อมจะไม่ใช่เรื่องง่าย อาทิ มุมมองของการสร้างโรงแรมเดอะสยามที่ลงทุนแล้วกว่า 400 ล้านบาทและบานปลาย แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่ “มองขาด” ว่า หากต้องการสร้างโรงแรมให้มีค่าที่พักคืนละ 50,000 บาทต่อคืนก็ต้อง “ไปให้สุด”
• เป้าหมายสู่ความยั่งยืน จากมุมมองของครอบครัวที่ตีความ “ความสำเร็จ” คือ “ความยั่งยืน” ทำให้ธุรกิจโฟกัสกับผลกำไรในระยะยาว แตกต่างจากโรงแรมบางแห่งที่ต้องการทำแล้วขาย หรือมองความสำเร็จที่ตัวเลขเท่านั้น
“อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน
อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด”
เนื้อร้องท่อนนี้ของ Live & Learn ยังคงก้องกังวานและใช้ได้อีกอย่างยาวนานสำหรับธุรกิจครอบครัว “สุโกศล”