xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎ์ยันการติดสติกเกอร์บนใบพัดพัดลมสำคัญ "อย่าแกะ" เพื่อความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ.เจษฎ์ยันการติดสติกเกอร์บนใบพัดพัดลมไฟฟ้ามีไว้เพื่อความปลอดภัย หลังคนแห่แชร์คำเตือนบริษัทดังไม่ควรแกะ ชี้ถ้าใบพัดมันใส ไม่มีสี แล้วก็ไม่สังเกตเห็นชัดๆ ก็อาจจะทำให้พลาดพลั้งเกิดอันตรายขึ้นได้

วันนี้ (5 ก.ย.) เฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant" หรือ รศ.ดร.เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ โลกออนไลน์มีการแชร์เตือนกันว่า "ห้ามแกะสติกเกอร์บนใบพัดพัดลมไฟฟ้า" โดยระบุข้อความว่า “สรุปว่า "สติกเกอร์บนใบพัด ของพัดลม" มีไว้ทำอะไรกันแน่? ช่วงนี้มีการแชร์ภาพและข้อความทำนองว่า "ห้ามแกะสติกเกอร์ที่ติดอยู่บนใบพัดพัดลมไฟฟ้าออก" เพราะมันมีประโยชน์กว่าที่คิด
โดยมีการอ้างถึงเว็บไซต์ของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า TOYOTOMI ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขียน FAQ ตอบคำถามลูกค้าที่ว่า "Can I remove the sticker on the blade? ฉันสามารถลอกสติกเกอร์ออกจากใบพัดพัดลมได้หรือไม่?" (ดูhttps://www.toyotomi.jp/support/electric_fan/faq/post_1846 )

ทางบริษัทได้ตอบว่า "Please use without removing the seal.The stickers on the blades provide a safety warning and maintain balance as the fan blades rotate." โปรดใช้โดยไม่แกะสติกเกอร์ออก เพราะสติกเกอร์บนใบพัดนั้นเป็นป้ายคำเตือนความปลอดภัย และรักษาสมดุลเวลาใบพัดหมุน"

โดยส่วนตัวของผมเองไม่ค่อยอินกับคำอธิบายเรื่อง "รักษาสมดุลของใบพัดเวลาหมุน" เพราะสติกเกอร์มันน้ำหนักน้อยมากๆๆ ไม่น่ามีผลต่อการหมุนของใบพัด แม้ว่าจะหายไปก็ตาม แต่เรื่องที่ว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้นั้น อันนี้เห็นด้วยครับ เพราะถ้าใบพัดมันใส ไม่มีสี แล้วก็ไม่สังเกตเห็นชัดๆ ก็อาจจะทำให้พลาดพลั้งเกิดอันตรายขึ้นได้

ดังเช่นในอีกรายงานข่าวหนึ่งที่ระบุว่า เหตุผลที่ต้องมีสติกเกอร์ติดใบพัดอยู่นั้น มาจากข้อกฎหมายในประเทศญี่ปุ่น ที่กำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้า เรียกว่ากฎหมายความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า (Electrical Appliance and Material Safety Act) ซึ่งกำหนดให้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงพัดลม ต้องมีการแสดงข้อมูลที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัย และข้อมูลเหล่านี้ต้องแสดงในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจนและไม่เลือนหายได้ง่าย จึงมีการติดสติกเกอร์บนใบพัดของพัดลมเพื่อแสดงว่า "การสัมผัสอาจเป็นอันตราย"




กำลังโหลดความคิดเห็น