xs
xsm
sm
md
lg

"สาคูแท้”ไฮโซยุโรปคลั่งไคล้โรยหน้าไอสคริมหลังยึดบรูไน...ไทยเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าเราก็มี แต่ฟันทิ้งไปเยอะ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“สาคู” มีอยู่ ๓ อย่างที่เกี่ยวพันกับคำนี้ อย่างแรกก็คือสาคูที่ทำมาจากต้นปาล์ม ซึ่งถือว่าเป็นสาคูแท้ แต่เนื่องจากวัตถุดิบหาได้ยาก ทั้งยังลำบากในการทำ จึงมีการนำแป้งมันสำปะหลังมาแทน ซึ่งก็คือเม็ดสาคูที่มีอยู่ทั่วไปในขณะนี้ อีกอย่างก็คือ มันสาคู เป็นมันพื้นบ้านของภาคอีสาน ต้นคล้ายพุทธรักษา มีหัวสีขาว รสหวานมันและกรอบ คนอีสานมักจะปลูกไว้บ้านละต้นสองต้น ใช้ต้มจิ้มน้ำตาลหรือแกงบวด ส่วนรสชาตินั้นถือกันว่า สาคูที่ทำมาจากต้นปาล์มสุดยอด นุ่มลิ้น ละลายในปาก ลื่นคอ

เหตุที่อังกฤษเข้ายึดบรูไนในปี พ.ศ.๒๓๘๙ ไม่ใช่เพราะต้องการบ่อน้ำมันที่มีมากในบรูไน บ่อน้ำมันเพิ่งมาพบในปี พ.ศ.๒๔๗๒ เมื่ออังกฤษเข้าครอบครองบรูไนแล้วถึง ๘๐ กว่าปี แต่ยึดเพราะพริกไทยซึ่งมีมากในบรูไนขณะนั้น และเป็นสินค้าที่ยุโรปต้องการอย่างมาก แต่เมื่อตอนผู้เขียนไปบรูไน เห็นขวดพริกไทยที่วางขายอยู่ในห้างร้านทั้งหลาย มีอักษรบอกว่า “เมดอินสิงคโปร์” ซึ่งก็คงเป็นพริกไทยจากรัฐซาราวัคของมาเลเซีย หรือจากไทยเรา คนบรูไนเลิกปลูกพริกไทยกันแล้ว เพราะไม่ทำอะไรก็มีกินจากรัฐเลี้ยงด้วยเงินขายน้ำมัน

หลังจากนั้นอังกฤษยังพบของดีอีกอย่างของบรูไน นั่นก็คือ “สาคู” ที่ทำมาจากต้นปาล์มพันธุ์หนึ่ง ซึ่งทำความทึ่งให้คนคนยุโรปที่ไม่เคยพบรสนี้ โดยเฉพาะเอาไปโรยหน้าไอสคริมเข้ากันได้อย่างดี จึงนำไปเผยแพร่ในลอนดอน ต่อมาตำรับนี้ก็กระจายไปทั่วยุโรป กลายเป็นของหรูระดับไฮโซที่ต้องมีสาคูบรูไนโรยหน้าในไอสคริม แม้ทุกวันนี้เมนูยอดฮิตของชาวบรูไนเองก็คือ “อัมบูยัต” ใช้แป้งสาคูเป็นส่วนผสมหลัก มีเครื่องเคียงอีก ๒-๓ อย่าง เช่น ผักสด เนื้อสดทอดหรือย่าง รับประทานกับซอสเปรี้ยวคล้ายซอสมะเขือเทศ โดยใช้ไม้ไผ่แบบตะเกียบม้วนแป้ง จิ้มซอส แล้วกลืนไปเลยไม่ต้องเคี้ยว

ต้นปาล์มสาคูแบบนี้ของไทยเราก็มีในจังหวัดภาคใต้ เริ่มตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปถึงนราธิวาส และบางพื้นที่ของภาคตะวันออก สาคูส่วนใหญ่จะขึ้นบริเวณริมแม่น้ำลำคลอง เป็นป่าที่ช่วยชะลอการไหลของน้ำ แต่น่าเสียดายที่ต้นสาคูในประเทศไทยน้อยลงไปมาก เพราะถูกตัดทิ้งโดยไม่รู้ถึงคุณประโยชน์ ยังคงมีบางแห่งเท่านั้นยังคงอนุรักษ์ไว้เป็นอาหารพื้นบ้าน และปลูกเพิ่มขึ้นใหม่เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ ผลิตเป็นเม็ดสาคูขาย อย่างจังหวัดพัทลุงและตรัง ซึ่งต้องใช้ต้นสาคูที่มีอายุถึง ๗-๑๕ ปี นับได้ว่าสาคูเป็นปาล์มพิเศษอย่างหนึ่ง ที่สะสมแป้งไว้ในลำต้น ต่างจากพืชทั่วไปที่จะสะสมแป้งไว้ในหัว เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง หรือมันสาคู

กรรมวิธีในการนำต้นปาล์มสาคูมาทำแป้งนั้นยุ่งยากพอควร เนื่องจากเป็นไม้ใหญ่และขึ้นชิดๆกัน การโค่นจึงต้องใช้เชือกผูกโยงไม่ให้ล้มไปทับต้นอื่น จากนั้นตัดแบ่งเป็นท่อนๆ ขนาด ๑๒๐ เซนติเมตร ปอกเปลือกออกแล้วแบ่งเป็น ๔ ซีก นำเนื้อซึ่งเป็นที่สะสมแป้งสีขาวอมชมพูไปขูด แล้วคั้นน้ำออกมาเป็นกะทิ ปล่อยให้ตกตะกอนกลายเป็นแป้ง พักไว้จนแป้งหมาดๆแล้วจึงนำไปร่อน ๗-๘ เที่ยว จะได้สาคูเป็นเม็ดเล็กๆ นำไปตากแดดหรือเข้าเตาอบจนแห้งสนิท ขั้นตอนนี้มักจะใช้ไม้หรือมีดช่วยเคาะให้ละเอียดเป็นเม็ด ต้นสาคูหนัก ๑๐๐ กิโลกรัมจะได้แป้งสาคูประมาณ ๔๐ กิโลกรัม สาคูต้นหนึ่งจะได้แป้งราว ๑๕๐-๓๐๐ กิโลกรัม

แป้งสาคูมีปริมาณไขมันต่ำ กากใยอาหารสูง มีความละเอียดสูง เมื่อได้รับความร้อนจะทำให้แป้งสุกมีเนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม มีรสหวาน นำไปทำอาหารได้หลายชนิดทั้งของคาวของหวาน เช่นสาคูเปียก ลอดช่อง ครองแครง ขนมจาก ขนมปากหม้อ ข้าวเกรียบปลา สาคูไส้หมู หรือทำโจ๊กแทนข้าวก็ได้ ในยุโรปและอเมริกาขณะนี้ก็นิยมใช้แป้งสาคูไปทำซุป ทำคัสตาร์ด และพุดดิ้ง ซึ่งจะทำให้เพิ่มความหนืดของอาหารและมีรสหวานเพิ่มขึ้น หรือจะนำไปทำขนมปัง เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ก็จะได้รสชาติต่างออกไปจากการทำด้วยแป้งสาลีหรือแป้งข้าวเจ้า

นอกจากความอร่อยเป็นพิเศษแล้ว สาคูแท้ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น

-ช่วยขจัดเมือกเซลล์มะเร็งในลำไส้

-ดีต่อระบบย่อยอาหาร เหมาะสำหรับคนมีปัญหาเรื่องลำไส้ และผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดใหม่ๆ

-ธาตุทองแดงและเหล็กในสาคูเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง ช่วยป้องกันความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และเพิ่มการทำงานของสติปัญญา ลดอาการโลหิตจาง ความดัน และเบาหวาน

-นอกจากนี้ยังช่วยการไหลเวียนของโลหิต ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย เป็นการเพิ่มพลังให้มากขึ้น

ขณะนี้ก็นับว่ายังไม่สายเกินไปที่หลายจังหวัดในภาคใต้ได้หันกลับมาเห็นคุณค่าของสาคู นอกจากอนุรักษ์ของเดิมที่มีอยู่แล้วยังปลูกเพิ่มขึ้นมาให้เป็นไม้เศรษฐกิจ และผลิตเป็นสาคูแท้ออกจำหน่าย ทั้งเมล็ดสาคู ผลิตพันธุ์จากสาคู หรือต้นพันธุ์จากหน่อออกขาย แต่ถ้าใครใจถึงอยากจะปลูกไว้กินเองก็ต้องรออย่างน้อยถึง ๗ ปีจึงจะโค่นต้นปาล์มสาคูไปขูดเป็นแป้งได้

หวังว่าไม่ช้าไม่นานนี้ สาคูแท้ ของดีที่เรามีอยู่ จะเป็นที่นิยมของคนที่มีรสนิยมละเมียดละมัย เช่นเดียวกับของดีที่เรามีอีกหลายอย่างที่หลงลืมกันไปเสียนาน อย่างมะแขว่นหรือหมากมาด เป็นต้น ที่ต้องให้หม่าล่ามาช่วยเตือน




กำลังโหลดความคิดเห็น