xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ห่วงบัณฑิตจบใหม่ สายสังคม-บริหารธุรกิจ ว่างงานเยอะสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาพัฒน์รายงานสภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2567 พบการจ้างงานลดลงต่อเนื่องในภาคเกษตรกรรม ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% พบบัณฑิตจบใหม่สายสังคมและบริหารธุรกิจน่าห่วง พบว่างงานถึง 63%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานเรื่องสภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2567 ระบุว่า สถานการณ์แรงงานไทยในไตรมาสนี้ เรื่องของการจ้างงานปรับตัวลดลง 0.4% และมีอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 1.07% คิดเป็นตัวเลขปัจจุบันมีผู้ว่างงานถึง 4.3 แสนคน

อัตราการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 นี้ จากการสำรวจข้อมูลของสำนักสถิติพบว่าในขณะนี้มีคนทำงานในระบบ 39.5 ล้านคน มีอัตราการจ้างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ไตรมาสที่ 2 นี้ภาคสาขาการเกษตรลดลงถึง 5% ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.5% การขนส่งโลจิสติกเพิ่มขึ้น 0.5% ภัตตาคารและโรงแรมเพิ่มขึ้น 4.9% ส่วนผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ค่าจ้างงานลดลงมา ต่อคนอยู่ที่ 14,032 บาทต่อคนต่อเดือน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันในปี 2566 ถึง 0.5%

นอกจากนี้ การว่างงานระดับอุดมศึกษามีค่อนข้างสูง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงการจบการศึกษาของแรงงานใหม่ ขณะที่พบว่าผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษาราว 63% จบการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ ธุรกิจ ขณะที่จบสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์คิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของผู้จบใหม่ มองว่าเป็นกลุ่มที่ต้องมีการเร่งพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์เพิ่มขึ้นเพื่อให้ตอบสนองความต้องการตลาด

สำหรับข้อมูลจากรายงานสภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2567 ฉบับเต็ม ในตอนหนึ่งระบุว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาสสอง ปี 2567 ชะลอตัวลงจากการจ้างงานที่ลดลงต่อเนื่องในภาคเกษตรกรรม ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวในทุกสาขา ทั้งนี้ ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างแรงงานค่อนข้างทรงตัว และอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.07

ไตรมาสสอง ปี 2567 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงร้อยละ 5.0 ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้าปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 9.0 ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.9 มีปัจจัยสำคัญจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาขาการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การส่งออก ส่วนสาขาก่อสร้างขยายตัวชะลอลงตามการหดตัวของอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัย

ชั่วโมงการทำงานค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.8 และ 46.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงาน ลดลงร้อยละ 19.8 และ 8.7 ตามลำดับ อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 1.07 หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป 1) การปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดย WEF ระบุว่า ภายในปี 2027 งานในภาคธุรกิจกว่าร้อยละ 42 จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ขณะที่ผลการสำรวจของไมโครซอฟต์ประเทศไทยร่วมกับ LinkedIn พบว่า ผู้บริหารไทยกว่าร้อยละ 74 ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI

2) ผลกระทบของการขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงาน SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยมีสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวม ร้อยละ 7.2 ในไตรมาสสี่ ปี 2566 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อีกทั้ง ดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ยังเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานได้

และ 3) ผลกระทบของอุทกภัยต่อผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร โดยอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายแล้ว 308,238 ไร่ ขณะที่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567 คาดว่าประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ซึ่งเสี่ยงที่ภาคเกษตรกรรมจะได้รับความเสียหายมากขึ้น และจะกระทบต่อรายได้ ต้นทุนการเพาะปลูก และความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร
กำลังโหลดความคิดเห็น