เนื่องในโอกาสที่ราชบัณฑิตยสภาครบรอบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2569 จึงได้จัดงานแถลงข่าว การประชุมวิชาการ เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีราชบัณฑิตยสภา เรื่อง“ราชบัณฑิต มองไกล นำวิจัยปรับตัวรับมือโลกร้อน ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดการประชุม และทอดพระเนตรนิทรรศการ ในวันศุกร์ที่ 6 ก.ย. พ.ศ. 2567 เวลา 14.30 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ สุรพล อิสรไกรศีล ราชบัณฑิต นายกราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานจัดงานแถลงข่าว งานประชุมวิชาการ “ราชบัณฑิต มองไกล นำวิจัย ปรับตัวรับมือโลกร้อน” เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 100 ปีราชบัณฑิตยสภา โดยในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ ราชบัณฑิต อุปนายกราชบัณฑิตยสภา พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ราชบัณฑิต และ ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ราชบัณฑิต ร่วมเป็นผู้ดำเนินโครงการฯ ปาฐกถาพิเศษ ซึ่งงานประชุมวิชาการจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 13.30-17.00 น. และวันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 08.00-17.00 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าวได้จัดให้มีพิธีมอบเงินสนับสนุนโครงการฯ จากมูลนิธิ สิริวัฒนภักดี, บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และมูลนิธิสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ อีกด้วย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ สุรพล อิสรไกรศีล ราชบัณฑิต นายกราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า ราชบัณฑิตยสภาได้เล็งเห็นปัญหาด้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือโลกร้อนในทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยได้เกิดขึ้น ซึ่งปัญหานี้จะต้องใส่ใจรับฟังคำอธิบายด้านวิทยาศาสตร์ถึงสาเหตุของปัญหา รวมทั้งการคาดการณ์ผลกระทบต่างๆ อย่างใกล้ชิด มีส่วนร่วมในการปรับตัวที่จะอยู่กับโลกร้อนที่ร้อนขึ้น เพื่อส่งแรงผลักดันให้รัฐบาลหาแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ประชากรจะขาดรายได้ ไม่มีกินมีใช้ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทบทวนความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของปัญหาโลกร้อนโดยเฉพาะต่อประเทศไทย รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะสำหรับประชาชน เอกชน และรัฐบาลในการปรับตัวและแก้ไขปัญหา ซึ่งสังคมโดยรวมตื่นตัวในเรื่องนี้ และมีส่วนในการหาทางลดผลกระทบร่วมกัน
หน้าที่ประการหนึ่งของราชบัณฑิตยสภาตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 ที่ระบุไว้ในมาตรา 8 (3) คือ ให้ความเห็น คำแนะนำ และคำปรึกษาทางวิชาการแก่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ราชบัณฑิตยสภาเห็นว่าปัญหาและการป้องกันผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM 2.5 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่นั้น เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน จึงสมควรจัดการประชุมเนื่องในการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ราชบัณฑิตยสภา เรื่อง “ราชบัณฑิต มองไกล นำวิจัย ปรับตัวรับมือโลกร้อน” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่าง สมาชิกของราชบัณฑิตยสภาทั้ง 3 สำนักได้ประชุมร่วมกันเพื่อศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาและป้องกันผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน และ PM 2.5 และเพื่อจัดกิจกรรมวิชาการเนื่องในการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ราชบัณฑิตยสภา โดยการระดมความคิดเห็นและการอภิปรายร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกและประชาชนผู้สนใจ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาและป้องกันผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และ PM 2.5 เรื่อง ผลกระทบจากโลกร้อนต่อประเทศไทยและการตอบสนองของเอกชน ประชาชน รัฐบาล แล้วจัดทำเป็นเอกสารข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณา ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และเป็นรูปธรรมมากขึ้น