xs
xsm
sm
md
lg

“มะแขว่น” เครื่องเทศของไทยที่ใช้ใส่น้ำพริกเผามาแต่โบราณ...ก็คือ “หม่าล่า” ที่คลั่งไคล้กันในปัจจุบันนี่เอง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



มะแขว่น เป็นพืชสมุนไพรของเขตร้อน สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่า มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปเอเซียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงคาบสมุทรอินโดจีน และเกาะต่างๆในทวีปนี้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พม่า ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินีตอนใต้ ส่วนในประเทศไทยพบมากในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ในพื้นที่สูงประมาณ ๒๐๐-๑,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ต้องการอากาศค่อนข้างเย็น

มะแขว่นเป็นไม้ขนาดกลาง สูงประมาณ ๕-๑๐ เมตร มีหนามอยู่รอบลำต้นและกิ่ง ผลมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๓-๐.๕ เซนติเมตร เปลือกของผลสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเป็นสีน้ำตาลเข้มและแตกออก เมล็ดกลมเรียบ เมื่อแก่จัดจะมีสีดำเข้มเป็นมัน มีกลิ่นหอมฉุนคล้ายเมล็ดผักชี ยี่หร่า มีรสเผ็ดร้อนซ่าลิ้น ใช้เป็นเครื่องเทศในการแต่งกลิ่น ปรุงรส ดับกลิ่นคาว และเพิ่มรสชาติของอาหารให้อร่อย ทั้งยังช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ใช้เป็นยารักษาสุขภาพ เป็นพืชอยู่ในวงศ์เดียวกับส้ม มีฤทธิ์ในการบำรุงโลหิตและหัวใจ และยังเป็นพืชในตระกูลเดียวกับพริกพราน หรือพริกหอม

มะแขว่นยังมีชื่ออีกหลายชื่อต่างกันตามภาค ภาคเหนือเรียก บ่าแขว่น มะแข่น ภาคกลางเรียก หมากแคน ลูกระมาด หมากมาด
สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก ในซอยวัดราชาธิวาส สามเสน มีแป๊ะแก่คนหนึ่งหาบกระจาด มีหม้อเคลือบอยู่ในกระจาดหน้าหลัง มาเป็นประจำทุกวัน และตะโกนร้องลั่นซอยว่า

“โม้เม้โม้มา ปากุมาลูกมามาด”

คนที่ได้ยินก็ต้องออกจากบ้านมาดูด้วยความสงสัยว่าแกขายอะไร แม้จะไต่ถามก็ยังไม่รู้เรื่องกัน ต้องเปิดหม้อดู และคาดเดากันได้ว่า แกขาย “น้ำพริกเผาปลากุเลาลูกหมากมาด” ซึ่งก็คงแค่รับจ้างเขามาขาย

น้ำพริกเผาปลากุเลาลูกหมากมาด เป็นอาหารขึ้นหน้าขึ้นตาของชาววัง ปรากฏอยู่ใน “ตำราอาหารของหลานแม่ครัวหัวป่าก์ จีบ บุนนาค” และในหนังสือเรื่อง “น้ำพริก” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านกล่าวถึงน้ำพริกผัด น้ำพริกเผาไว้ในตอนท้ายว่า
“ผมเองเคยรับประทานน้ำพริกเผาลูกมะมาดของแม่บางที่ตลาดบางลำพูมาเป็นเวลาช้านาน แต่เดี๋ยวนี้ก็หารับประทานไม่ได้เสียแล้ว เพราะใครไม่ทราบไปชวนแม่บางให้ลงทุนสร้างภายนตร์ไทย น้ำพริกเผาก็เลยหารับประทานไม่ได้มาจนบัดนี้”

กาพย์เห่ชมเครื่องว่าง บทพระราชนิพนธ์ ร.๖ กล่าวตอนหนึ่งว่า

“ขนมจีบเจ้าช่างทำ ทั้งน้ำพริกมะหมาดแกม
มะเฟืองเป็นเครื่องแกล้ม รสเหน็บแนมแช่มชูกัน”

ขนมจีบในทีนี้คือ ขนมจีบแป้งขลิบ ซึ่งเป็นขนมจีบไทยที่ต้องใช้ฝีมือในการขลิบขอบให้สวยงาม ไม่ใช่ขนมจีบจีน น้ำพริกใส่ลูกมะหมาดหรือลูกหมากมาด ก็เป็นอาหารอีกตำรับหนึ่งที่ใช้ลูกหมากมาดมาดบดละเอียดเป็นเครื่องปรุง เป็นตำรับที่พระราชชายาดารารัศมี เจ้าหญิงจากเมืองเหนือนำมาเผยแพร่ ซึ่ง ร.๕ ทรงโปรดนำไปเป็นเสบียงเสวยเมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปด้วย
มะแขว่นหรือหมากมาด ไม่ได้มีดีที่กลิ่นรสเท่านั้น แต่คุณค่าทางอาหารและยาก็เพียบ เวป disthai.com ให้ข้อมูลจากงานวิจัยว่า มะแขว่นมีประโยชน์และสรรพคุณไว้มาก เช่น

๑.ช่วยขับลมในลำไส้
๒.ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร
๓.ช่วยลดความดันโลหิต
๔.แก้หน้ามืด ตาลาย วิงเวียน
๕.ใช้เป็นยาขับระดูสตรี
๖.ช่วยบำรุงโลหิต
๗.ช่วยบำรุงหัวใจ
๘.ช่วยบำรุงกำลัง
๙.แก้หนองใน
๑๐.แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย
๑๑.แก้อาเจียน
๑๒.รักษาโรคหอบหืด
๑๓. รักษาโรคหลอดลมอักเสบ
๑๔.รักษาโรคหัวใจ
๑๕.รักษาอหิวาตกโรค
๑๖.รักษาอาการปวดฟัน
๑๗.ป้องกันโรคหัวใจ
๑๘.ป้องกันโรคมะเร็ง
๑๙.ป้องกันเบาหวาน
๒๐.แก้ปวดบวม คลายความเมื่อยล้า

มะแขว่นหรือหมากมาดยังทำอาหารได้หลายชนิด ชาวเหนือนิยมใช้ใบอ่อนกินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ผลที่ยังไม่แก่เกินไปนำไปดองกับน้ำปลา ส่วนผลแห้งตำให้แหลกแล้วนำไปเป็นเครื่องเทศปรุงรสลาบ ลู่ ยำ และแกงเผ็ดต่างๆ จะช่วยดับกลิ่นคาวและทำให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ออกรสซ่าลิ้นเหมือนหม่าล่า

ส่วนคนภาคกลางที่ขึ้นหน้าขึ้นตาที่สุด เพราะเป็นอาหารระดับชาววังก็คือน้ำพริกเผาใส่ลูกหมากมาด กับน้ำพริกลูกหมากมาด ตำหรับพระราชชายาดารารัศมี และยังใส่ในอาหารอีกหลายอย่างที่มีรสเผ็ดให้ซ่าลิ้นและมีกลิ่นหอมแรง

พืชที่มีรสซ่าลิ้นกลิ่นใกล้เคียงกันนี้ยังมี พริกพราน หรือพริกหอม บ้างก็เรียกว่าต้นกำจัด หรือมะแข่น นิยมใช้ทำอาหารแบบเดียวกัน แต่พริกพรานจะใช้แค่เปลือกของเมล็ด ส่วนเมล็ดในจะเอาไปคั่วเคี้ยวกิน หรือตำโรยข้าวก็ได้ พริกพรานจะขึ้นในระดับต่ำใกล้ระดับน้ำทะเล อย่างแถวเพชรบุรีและราชบุรี

ปัจจุบันทั้งมะแขว่นหรือหมากมาด พริกพรานหรือพริกหอม เลือนหายไปจากอาหารไทย ยังคงใช้กันอยู่ในหมู่คนท้องถิ่นเท่านั้น จนคนรุ่นใหม่มาเจอเอาอาหารปิ้งย่างหม่าล่า ซึ่งมีรสเผ็ดร้อน ปล่าลิ้น และมีกลิ่นหอมเช่นเดียวกับหมากมาดและพริกพราน ซึ่งมาจากเครื่องเทศของจีนที่เรียกว่า “ฮวาเจียว” ซึ่งเป็นพริกไทยของมณฑลเสฉวน พืชในตระกูลเดียวกับหมากมาดและพริกพราน

ฮวาเจียวยังแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท มีสีแดงและสีเขียว สีแดงเหมากับการไปทำปิ้งย่าง ส่วนสีเขียวเหมาะสำหรับอาหารประเภทต้มหรือนึ่ง แต่ทั้งสองอย่างก็มีฤทธิ์และกลิ่นรสแบบเดียวกับมะแขว่น ต่างกันความแรงหรืออ่อนกว่ากันก็จากพื้นที่ปลูกเท่านั้น เช่นเดียวกับมะแขว่นในประเทศไทย ของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสานก็ต่างกัน มะแขว่นที่คุณภาพดีมีกลิ่นรสแรง ต้องอยู่สูงระดับ ๘๐๐-๑,๔๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งหม่าล่าสูง ๑,๑๐๐-๑,๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ขณะนี้ถือกันว่ามะแขว่นที่คุณภาพดีที่สุดมาจากตำบลงาว จังหวัดลำปาง แต่ที่จังหวัดน่านซึ่งปลูกมะแขว่นจำนวนมาก ก็จะมีการจัดงาน “วันมะแขว่นหอมรสดี ชมวิถีชนเผ่า” เป็นประจำในระยะปลายปีเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม และได้รับการบรรจุอยู่ในปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน ถ้าอยากซาบซึ้งมะแขว่นมากกว่านี้ รอไปเที่ยวงานมะแขว่นปลายปีนี้ที่จังหวัดเลย คงมีอาหารจากมะแขว่นหลายตำรับให้ชิมแน่

มะแขว่นหรือลูกหมากมาดหายไปจากครัวไทยเสียนาน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่หาได้ยาก นอกจากคนในพื้นที่ที่มีปลูกหรืออนุรักษ์กันไว้ แต่ตอนนี้มะแขว่นกำลังกลับมาทวงตำแหน่งคืนจากหม่าล่าแล้ว เพราะทั้งลูกมะแขว่นแห้งและต้นพันธุ์ขะแขว่นมีขายอยู่หลายรายในออนไลน์

หวังว่าในไม่ช้าไม่นานนี้ คงจะมี “โม้เม้โม้มา ปากุมาลูกมามาด” ออกมาวางตลาดกันอีกครั้ง เพื่อรำลึกถึงรสชาติของ “น้ำพริกเผาลูกหมากมาด” อาหารตำหรับชาววังที่เคยโด่งดังในยุคหนึ่ง กลับมาทวงบัลลังก์คืนจาก “หม่าล่า”




กำลังโหลดความคิดเห็น