สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. เฟ้นหาผู้สร้างสรรค์งานคราฟต์รุ่นใหม่ ประกาศรายชื่อและมอบรางวัล “ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมคนรุ่นใหม่” (New Young Craft) ยกย่อง สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้มีความสามารถในงานศิลปหัตถกรรม สืบสาน รักษาองค์ความรู้ ภูมิปัญญาไทยให้ยังคงอยู่คู่สังคม
นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยว่า สศท. มุ่งเป็นองค์กรหลักที่มีการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรมไทย ควบคู่การเชิดชูผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมให้เป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งในปี 2567 สศท. ยังเปิดกว้างไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยเล็งเห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นส่วนช่วยสืบสาน ส่งต่อมรดกทางภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมให้คงอยู่ จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมผู้รักษาคุณค่าภูมิปัญญาไทยให้ยังคงอยู่คู่สังคม ผ่านผลงานที่มีรูปแบบร่วมสมัย ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานผ่านการพัฒนาและสร้างสรรค์สู่ความร่วมสมัย ตามสมัยนิยม นำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งคัดสรรและยกย่องบุคคลเหล่านั้นให้เป็น “ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมคนรุ่นใหม่” (New Young Craft) โดยมีกรอบการพิจารณาหลัก ๆ ได้แก่ ต้องเป็นงานศิลปหัตถกรรมจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีอายุไม่เกิน 45 ปี ที่สร้างสรรค์หรือริเริ่มการทำงานหัตถกรรมด้วยตนเอง มีการปรับประยุกต์ หรือสร้างสรรค์ผลงานให้มีความร่วมสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งมรดกทางภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมไทย
โดยในปีนี้ ผลการเฟ้นหา “ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมคนรุ่นใหม่” (New Young Craft) จำนวน 10 ราย ประกอบด้วย 1.กมลมณี เจริญยุทธ เครื่องแต่งกาย (ผ้าปาเต๊ะ) 2.ธเนศภณ ณธนาพงศ์ งานจักสาน(บ้านแมวจากผักตบชวา) 3.ขุนทอง แซ่ย่าง งานหัตถกรรมม้ง 4.วนิดา ขุนพรมเกสรา ผ้ามัดย้อม 5.ทยิดา อุนบูรณะวรรณ หัตถกรรมบาติก 6.อิสระ ชูภักดี เสื่อกกจันทบูร 7.กริชเพชร อัฐวงศ์ เครื่องโลหะ เครื่องเงิน เครื่องทอง (เครื่องประดับลายสือไทย) 8.นพดล คำคง เพนต์สเก็ตบอร์ดด้วยกรรมวิธีลงรักปิดทอง 9.นราธิป อนุนิมิตรานนท์ งานไม้ แกะสลัก งานปั้น และเครื่องปั้นดินเผา (เทคนิคผสม) 10.ภณพล คิดสำราญ ผ้าทอ (ผ้าไหม) ซึ่ง สศท. จะนำผลงานของผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมคนรุ่นใหม่จัดแสดงและจัดจำหน่ายในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ สศท. จัดขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มีใจรักในงานศิลปหัตถกรรม ได้ร่วมสืบสาน และปรับประยุกต์องค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรมไทย สร้างสรรค์เป็นงานหัตถกรรมร่วมสมัยที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น