"ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์" เตือนความอันตรายของ ผลมะเขือบ้า หรือผลจากต้นลำโพง ไม่ควรรับประทาน เพราะมีพิษอันตรายต่อระบบประสาท รับพิษมากๆ อาจมีอาการวิกลจริต รักษาไม่หาย แนะอยากเลิกเหล้าต้องใช้ “รางจืด”
จากกรณีมีรายงานว่ามีผู้ป่วยสาเหตุมาจากการดื่มน้ำจากผลมะเขือบ้า เนื่องจากแฟนได้ต้มให้ดื่มหวังเลิกเหล้า สุดท้ายทำแฟนหนุ่มน็อก จนต้องนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ล่าสุดอาการดีขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (28 ส.ค.) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ชี้ เจ้าลูกเขียวๆ เป็นผลของต้นลำโพง มีพิษร้ายแรง พร้อมระบุข้อความว่า
“โอ้ว อันตรายมากครับ เจ้าลูกเขียวๆ มีหนามๆ นี่คือผลของ "ต้นลำโพง" ครับ มีพิษร้ายแรงมาก อย่าไปหามาต้ม มากินกันเชียว!
มีรายงานข่าวคุณลุงคนหนึ่งที่จังหวัดมหาสารคาม มีนิสัยดื่มเหล้าเมาตลอด จนภรรยาทนไม่ไหว นำ "มะเขือบ้า" ที่มีเพื่อนแนะนำว่ากินแล้วจะเบื่อเหล้าไปเอง มาต้มน้ำให้ดื่ม ซึ่งตอนเช้าก็ยังไม่เป็นอะไร แต่ตกตอนบ่ายเกิดอาการเหมือนคนเมา ปากคล้ำ ตัวแดงก่อนจะน็อกหมดสติ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งยังโชคดีว่าช่วยชีวิตได้ทัน (ดูรายละเอียดของข่าว ด้านล่าง)
ทางสาธารณสุขได้แจ้งเตือนประชาชน ไม่นำลูกหรือดอกของต้นลำโพงมารับประทาน ถ้าจะใช้สมุนไพรในการเลิกสุรา ต้องใช้เป็น "รางจืด" ต่างหาก
ต้น "ลำโพง" หรือชื่ออื่นๆ เช่น ลำโพงขาว มะเขือบ้า ลำโพงกาสลัก กาสลัก มะเขือบ้าดอกดำ นั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Datura metel L. var. fastuosa (Bernh.) Danert. และชื่อพ้อง Datura fastuosa อยู่ในวงศ์ Solanaceae (วงศ์มะเขือ)
ผลและเมล็ดของลำโพงเป็นพิษ มีสารอัลคาลอยด์ hyoscine, hyoscyamine ถ้ากินเข้าไปทำให้เกิดอาการเริ่มต้นคือ สายตาพร่ามัว ปากแห้ง กระหายน้ำมาก ม่านตาขยายและปรับสายตาไม่ได้ ทำให้ตาไม่สู้แสง ผิวหนังร้อนแดงและมีผื่นแดงตามใบหน้า คอ และหน้าอก ไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะ ความรู้สึกสับสน การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ
ถ้าได้รับมากจะเกิดอาการวิกลจริต เพ้อคลั่ง เคลิ้มฝัน มีอาการทางจิตและประสาท ตื่นเต้น ตาแข็ง หายใจไม่สะดวก พูดไม่ออก หายใจช้าลง ตัวเขียว
เมื่อแก้พิษหายแล้ว จะมีอาการวิกลจริตติดอยู่ตลอดไป รักษาไม่ค่อยหาย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วง ใบเดี่ยว รูปไข่ ออกเรียงสลับ กว้าง 8-15 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบมีจักห่างๆ ใบเรียบ โคนใบไม่เท่ากัน ดอกโต รูปปากแตรหรือลำโพง ออกดอกเดี่ยว ตามซอกใบ กลีบดอกสีม่วง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน กลีบซ้อนกัน 2-3 ชั้น ดอกยาวประมาณ 3.5-5.5 นิ้ว กลีบเลี้ยงสีเขียว ติดกันเป็นหลอด ยาวครึ่งหนึ่งของความยาวดอก ผลรูปทรงค่อนข้างกลม ขนาดประมาณ 1.1.5 นิ้ว ผิวเป็นขนคล้ายหนามเป็นตุ่ม เนื้ออ่อนเป็นตุ่มๆ รอบ ขั้วเป็นแผ่นกลมหนาริมคม ผลสีเขียวอมม่วง พอผลแห้งแตกออกได้ เมล็ดมีจำนวนมาก เมล็ดกลมแบนเหมือนเมล็ดมะเขือ ลำโพงชนิดนี้เรียกว่า "ลำโพงกาสลัก" ลำต้นสีม่วงดำมัน ใบสีเขียวเข้ม ดอกสีม่วงดำ เป็นชั้นๆ มีจาก 2-7 ชั้น
ในการทำยา นิยมใช้ลำโพงกาสลัก ดอกสีม่วงดำ ยิ่งซ้อนมากชั้นยิ่งมีฤทธิ์แรง ส่วนลำโพงขาวจะมีลำต้นและใบสีเขียวอมเหลือง ดอกสีขาว มีชั้นเดียว ผลสีเขียว ผิวมีหนามยาว
สรรพคุณในทางสมุนไพร ตำรายาไทย
- ใบ : รสขมเมาเบื่อ ตำพอกฝีทำให้ยุบ แก้สะอึกในไข้พิษไข้กาฬ ยาพอกแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน แก้แผลเรื้อรัง แก้พิษสัตว์กัดต่อย แก้พิษฝี แก้ปวดแสบบวมที่แผล แก้ปวดบวม อักเสบ ใช้ทาแก้อักเสบเต้านม มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ แก้อาการปวดเกร็งท้อง และขยายหลอดลม แก้หอบหืด มีฤทธิ์กดสมอง แก้อาเจียนจากเมารถเมาเรือ แต่มีอาการข้างเคียงคือ ปากคอแห้ง ใบและยอด มีอัลคาลอยด์ ที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ แก้อาการปวดท้องเกร็ง และขยายหลอดลม
- ดอก : รสเมาเบื่อ ตากแห้งผสมยาเส้นสูบ แก้หอบหืด โพรงจมูกอักเสบ แก้ริดสีดวงจมูก มีสารแก้การตีบตัวของหลอดลม
- เมล็ด : รสเมาเบื่อ คั่วให้หมดน้ำมัน ปรุงยาแก้ไข้พิษ ไข้กระสับกระส่าย
- น้ำมันจากเมล็ด : รสเมาเบื่อ ปรุงยาใส่แผล แก้กลากเกลื้อน ผื่นคัน หิดเหา เมล็ดทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย ขัดยอก โดยนำเมล็ด 30 กรัม ทุบพอแหลก แล้วแช่กับน้ำมันพืช ทาตรงบริเวณที่ปวดเมื่อย หรือขัดยอก จะช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ต้องแช่เอาไว้ประมาณ 7 วัน จึงจะนำมาใช้ได้ และใช้ใส่ฟันที่เป็นรู ช่วยบรรเทาอาการปวดได้
- ราก : รสเมาเบื่อหวาน ฝนทาพิษร้อน ดับพิษฝี แก้ปวดบวมแก้อักเสบ สุมเป็นถ่านปรุงยารับประทาน แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้เซื่องซึม
- เปลือกผล : รสเมาเบื่อ แก้มะเร็ง คุดทะราด แก้กระษัย แก้ริดสีดวง ทุกส่วน มีฤทธิ์เป็นยาเสพติดระงับปวด แก้อาการเกร็ง ทั้งต้น เป็นยาระงับปวด แก้อาการเกร็ง น้ำคั้นจากต้นเมื่อหยอดตาจะทำให้ม่านตาขยาย
ภาพและข้อมูลจาก https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php?action=viewpage&pid=105