"สนธิ คชวัฒน์" ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมฯ วิเคราะห์ ทำไมภาคเหนือตอนบนในช่วงนี้จึงเกิดฝนตกหนักมากกว่าปีก่อนๆ ทำน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ ชี้สาเหตุมาจากการที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ทำให้เกิดฝนจะตกมากกว่าปกติเพิ่มเป็น 2 เท่า ของที่เคยเกิดขึ้น
จากกรณีสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่ยังคงมีความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ที่มวลน้ำไหลผ่าน ในขณะที่บางพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จึงต้องเร่งเข้าช่วยเหลือฟื้นฟู โดยภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบว่า จ.เชียงราย พะเยา ลำพูน แพร่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ยังมีน้ำท่วมขัง รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 471,206 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 252,362 ไร่ ลักษณะของพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง รวมถึงพื้นที่ชุมชน และเส้นทางคมนาคมบางส่วน ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันนี้ (28 ส.ค.) เฟซบุ๊ก “Sonthi Kotchawat“ หรือ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า “ทำไมภาคเหนือตอนบนในช่วงนี้จึงเกิดฝนตกหนักมากกว่าปีก่อนๆ ทั้งที่ยังไม่มีพายุพัดเข้ามา สาเหตุมาจาก 2 ประการ
1. ภาคเหนือตอนบนในช่วงเดือนสิงหาคมกันยายน มีร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพาดผ่านบริเวณจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่อง สอน น่าน พะเยา แพร่ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ยังคงพัดปกคลุมประ เทศไทยในระยะนี้ยังมีกำลังค่อนข้างแรงเป็นบางช่วง ได้พัดนำความชื้นจากทะเลมาปะทะกับร่องมรสุมจึงทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องได้เกือบทุกวันและตกหนักถึงหนักมากในบางครั้ง
ร่องมรสุม เป็นแนวของอากาศพาดขวางในทิศตะวันออก-ตะวันตก โดยมีลักษณะเป็นแนวของความกดอากาศต่ำหรืออากาศร้อนขนาดกว้างประมาณ 6 ถึง 8 องศาละติจูด ร่องมรสุมจะอยู่ในเขตร้อนใกล้ๆ เส้นศูนย์สูตรและเลื่อนขึ้น-ลงได้ตามแนวโคจรของดวงอาทิตย์ โดยจะเป็นบริเวณที่มีเมฆมากเมื่ออากาศเย็นมาปะทะจะทำให้เกิดฝนตกหนักได้ เมื่อร่องนี้พัดผ่านที่พื้นที่บริเวณใดก็จะทำให้ที่นั้นฝนตกอย่างหนาแน่นได้
2. สิ่งที่น่าแปลกก็คือ ฝนที่ตกลงมาในปี 67 นี้ที่ภาคเหนือตอนบน กลับมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าที่เคยตกในปีที่ผ่านๆ มา ทำให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมหนัก สาเหตุมาจากการที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเฉลี่ยเกือบถึง 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำในพื้นดินและแหล่งน้ำรวมทั้งมหาสมุทรถูกระเหยมากขึ้นกว่าปกติ ระเหยขึ้นไปในอากาศโดยอากาศร้อนจะอุ้มความชื้นไว้กลายเป็นเมฆฝน (ข้อมูลจากงานวิจัยในสหรัฐอเมริ กาพบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นเฉลี่ยทุกๆ 1 องศาจะทำให้อากาศมีความชื้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 7%) หากเมฆฝนดังกล่าวลอยไปตรงแนวร่องมรสุมที่พัดผ่านพอดี ยิ่งทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของเมฆฝนในบริเวณนั้นมากขึ้นไปอีก 2 ถึง 3 เท่า เมื่อมีลมตะวันตกเฉียงใต้มาปะทะจึงทำให้ฝนตกหนักมากกว่าปกติ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ภาคเหนือตอนบนในช่วงนี้ จึงทำให้ฝนตกในปริมาณมากกว่าปีก่อน ทั้งที่ยังไม่มีพายุพัดเข้ามา ตั้งแต่นี้ต่อไปบริเวณใดที่มีร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพัดผ่านอาจจะมีฝนตกหนักมากขึ้นกว่าปกติ
ภาวะโลกร้อนทำให้ความชื้นในอากาศเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ หากมวลความชื้นดังกล่าวลอยไปรวมกับอากาศร้อนในร่องมร สุมความกดอากาศต่ำที่พัดผ่านบริเวณใดพื้นที่นั้นจะเกิดฝนจะตกมากกว่าปกติเพิ่มเป็น 2 เท่าของที่เคยเกิดขึ้น ภาวะโลกร้อนกำลังจะเปลี่ยนเป็นภาวะโลกรวนแล้ว