xs
xsm
sm
md
lg

กยท.เดินหน้าเพิ่มปริมาณยาง EUDR 2 ล้านตัน/ปี เปิดไฟเขียว MOU กับเอกชนเพิ่มมูลค่ายาง 6,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กยท.เดินหน้าส่งเสริมสวนยางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มปริมาณยาง EUDR 2 ล้านตัน/ปี รองรับความต้องการ
ที่เพิ่มขึ้น เปิดไฟเขียวขยาย MOU ความร่วมมือทางด้านธุรกิจกับภาคเอกชน หวังสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับตลาดซื้อขายยางของไทย ในขณะที่เกษตรกรสามารถขายยางได้ในราคาพรีเมียมสูงกว่าตลาดถึง 3 บาท/กก. เพิ่มมูลค่าตลาดยางอีกไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท/ปี มั่นใจจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพในระยะยาว และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางยางพาราโลก

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.มีนโยบายหลักที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน และให้ความสำคัญต่อการจัดการข้อมูลยางให้เป็นไปตามกฎระเบียบ EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ของสหภาพยุโรป ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป 

โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มปริมาณยาง EUDR จากปัจจุบัน 1 ล้านต้น เป็น 2 ล้านตันภายในปี 2568 และ 3.5 ล้านตันในปีถัดไป จากผลผลิตทั้งหมด 4.5 ล้านตัน เพื่อรองรับความต้องการยาง EUDR ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางที่ผลิตยาง EUDR ก็จะสามารถขายได้ในราคาที่พรีเมียมสูงกว่าราคาทั่วไปอย่างน้อย 2.50-3.00 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนอกจากจะสร้างความมั่นคงในอาชีพให้เกษตรกรชาวสวนยางแล้ว ยังจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลกอีกด้วย


สำหรับกฎระเบียบ EUDR นั้น เป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท ที่จะนำเข้าและส่งออกจากสหภาพยุโรป และยางพาราก็เป็น 1 ใน 7 สินค้าเกษตรดังกล่าวต้องปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ายางพาราและผลิตภัณฑ์มาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมทั้งจะต้องมีการจัดการสวนยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม

รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนให้ความสนใจยาง EUDR มากขึ้น ซึ่งกยท.พร้อมที่จะประสานความร่วมมือในการจัดหายางพารา EUDR ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตยางล้อยี่ห้อมิชลินซึ่งใช้ยางปีละประมาณ 1 ล้านตัน ให้ความสนใจและประกาศที่จะซื้อยาง EUDR จากประเทศไทยไม่น้อยกว่า 500,000 ตัน/ปี ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ กยท.ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือทางด้านธุรกิจกับ บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป (THAITEX) ในการซื้อขายน้ำยางสด EUDR โดย กยท.จะรวบรวมน้ำยางสด EUDR จำนวน 5,000 ตันต่อเดือน จากจุดรวบรวมน้ำยาง และกลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนต่อ กยท.ที่ขายผ่านระบบ TRT ส่งมอบให้กับ THAITEX พร้อมทั้งจะตรวจสอบข้อมูลแหล่งผลิตยาง และประเมินความเสี่ยงตามกฎระเบียบ EUDR ก่อนออกเอกสารข้อมูลการซื้อขายยางให้แก่ผู้ซื้อได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

ทั้งนี้ ราคาน้ำยางสด EUDR ที่ทาง THAITEX รับซื้อนั้น จะเป็นราคาพรีเมียมที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำยางสดที่ กยท.ประกาศหน้าเว็บไซต์ 2.50 บาทต่อกิโลกรัม อีกทั้งยังจะได้รับส่วนอัตราการขนส่งตามระยะทางอีก 50 กิโลเมตรละ 15 สตางค์ต่อกิโลกรัม และถ้าหากเกษตรกรสามารถรวบรวมได้ครั้งละมากกว่า 30 ตัน จะได้บวกเพิ่มอีก 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพยาง หากน้ำยางมีค่าเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง (DRC) เกิน 35% ก็จะบวกราคาเพิ่มอีก 45 สตางค์ต่อกิโลกรัม รวมแล้วราคายาง EUDR จะมีราคาสูงกว่าราคายางทั่วไปมากกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการขายยาง EUDR ที่มีในปัจจุบัน คือ 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท และถ้าสามารถเพิ่มปริมาณยาง EUDR ให้ได้ 2 ล้านตันตามเป้าหมายในปี 2568 ยางพาราทำให้มีรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท

“การลงนาม MOU กับ THAITEX ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะทำการซื้อขายโดยอ้างอิงราคาน้ำยางสดของ กยท.ที่ประกาศหน้าเว็บไซต์ทุกวัน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนให้ราคายางประเทศไทยใช้เป็นดัชนีราคา (Price Index) อ้างอิงในการซื้อขายยางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นและยอมรับในระบบซื้อขายยางของไทยมากขึ้น" รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท.กล่าว

นอกจากนี้ กยท.ยังเตรียมขยาย MOU ความร่วมมือทางด้านธุรกิจกับภาคเอกชนรายอื่นๆ ที่มีความสนใจในการซื้อขายยาง EUDR ให้ครอบคลุมยางทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง รวมทั้งน้ำยางสด เป็นต้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สร้างความเท่าเทียม และความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในระบบซื้อขายยางของ กยท. สามารถประกาศได้เลยว่ายางที่ออกจากประเทศไทยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายป่า ไม่ทำผิดกฎหมาย และที่สำคัญ สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการ ที่จะสามารถขายยางและผลิตภัณฑ์ยางในตลาดสากลโดยเฉพาะตลาด EU และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน เกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางก็จะสามารถขายยาง EUDR ได้ในราคาที่สูงกว่าราคายางทั่วไป มีตลาดรองรับที่แน่นอน ซึ่งจะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพในระยะยาว










กำลังโหลดความคิดเห็น