เบื้องลึก “บิ๊กป้อม” หมดสภาพ เพราะในใจหมกมุ่นมานานที่จะเป็นนายกฯ ให้ได้ ตามคำทำนายของพระเกจิอาจารย์ พยายามเดินเกมครั้งแล้วครั้งเล่า นับตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 66 โดยไม่ดูสภาพตัวเองที่มี สส.แค่ 40 คน เมื่อไม่สำเร็จพาลให้ไม่พอใจขุนพลคู่กายอย่าง “ธรรมนัส” ประกอบกับแรงเสี้ยมภายในพรรค “ลุงป้อม” จึงแตกหัก “ผู้กองนัส” ในที่สุด กลายเป็นคนบารมีหาย อำนาจหด น้องรักอาจไม่ได้ไปต่อในตำแหน่งรัฐมนตรี
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงเบื้องหลังความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับ ร.ต.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งปะทุรุนแรงขึ้นมาในช่วงการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในวันที่ 16 สิงหาคม ที่มีการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรเลือก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้แจ้งลาประชุม ซึ่งที่จริงแล้วคือการแสดงความไม่พอใจนั่นเอง
และในวันเดียวกันนั้น ภายหลังจากที่ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ได้ไปร่วมงานเลี้ยงต้อนรับนักกีฬาที่กลับจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส ก็ได้แสดงอาการฉุนเฉียวถึงขั้นยกมือไปขยุ้มหัวนักข่าว เพราะไม่พอใจที่ถูกถามเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ตามมาด้วยข่าวที่ว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายฯ และบิดาของ น.ส.แพทองธาร ไม่ปลื้ม ไม่อยากให้คนในตระกูล “วงษ์สุวรรณ” อยู่ร่วมคณะรัฐมนตรีซึ่งก็หมายถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม น้องชายของ พล.อ.ประวิตร
พล.อ.ประวิตร หรือ “ลุงป้อม” ที่แต่ไหนแต่ไรเป็นเจ้าของบ้าน “มูลนิธิป่ารอยต่อห้าจังหวัดฯ” เป็น “พี่ใหญ่ 3 ป.” ของ คสช.ครองความยิ่งใหญ่มากว่า 10 ปี กลับเป็น “ป่าเสื่อมโทรม” คนบารมีหาย อำนาจหด ลูกพรรคนอกใจ น้องรักกำลังจะอดไปต่อในตำแหน่งรัฐมนตรี จึงไม่แปลกที่ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เก็บอาการไม่อยู่
เหนือสิ่งอื่นใด พล.อ.ประวิตร แต่งตัวรอทุกวัน ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นไม่ได้จึงมีอารมณ์ฉุนเฉียว จะเห็นได้ชัดว่าในวันที่สภาโหวต “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกฯ “ลุงป้อม” ก็ไม่ได้เข้าสภาไปโหวตให้ อีกทั้งในวันที่ “อุ๊งอิ๊ง” ร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท ก็ไม่ไปร่วมแสดงความยินดี
ทั้งนี้ ในใจของ พล.อ.ประวิตร หมกมุ่นมากที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ ตั้งแต่สมัย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว
ก็เพราะ พล.อ.ประวิตร ไปเชื่อโหราจารย์วัดดัง คือ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ซึ่งปัจจุบันอยู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ที่เคยพยากรณ์ไว้ว่า พล.อ.ประวิตร จะได้ลุ้นรับ “ครุฑตัวที่สอง” ในช่วงปลายของชีวิต ซึ่งหมายถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หลังจากได้ครุฑตัวแรกคือตำแหน่ง ผบ.ทบ.ไปแล้ว
ทว่า งานนี้ พล.อ.ประวิตร คงได้แต่สร้างปราสาททราย ไม่ดูความจริง เพราะหากผ่าน “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ลูกรักของนายทักษิณ พล.อ.ประวิตรก็ต้องเผชิญอุปสรรคอีกด่านคือ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไม่นับกับปัญหาสุขภาพของตัว พล.อ.ประวิตรเองที่ทุกวันนี้ก็ชัดเจนว่าแค่เดินเหินธรรมดาก็แทบจะไม่ไหวแล้ว
“ไหน ๆ ก็ไหน ๆ เมื่อพูดถึงพรรคพลังประชารัฐแล้ว ผมอยากเตือนคนที่ผมรู้จักอย่าง คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล, หม่อมกรกสิวัฒน์ เกษมศรี รวมไปถึง คุณอุตตม สาวนายน คุณลาออกจากพรรคพลังประชารัฐได้แล้ว ผมไม่รู้ว่าพวกคุณอยู่ไปทำไม หวังให้ พลเอกประวิตร ฟลุ้ก เป็นความหวังลม ๆ แล้ง ๆ” นายสนธิกล่าว
เบื้องหลัง “ธรรมนัส” ประกาศอิสรภาพ “พล.อ.ประวิตร”
ส่วนบรรยากาศในพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส ออกมาประกาศอิสรภาพจาก พล.อ.ประวิตร จนกลายเป็นผู้มี ส.ส.เสียงข้างมากในพรรค โดยสามารถรวบรวมเสียง ส.ส. ส่วนใหญ่เอาไว้ได้
จุดเริ่มต้นความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ หลังจากมีการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. 40 คน เป็นพรรคอันดับ 4 ซึ่งไม่เป็นตามความต้องการของ “ลุงป้อม” เนื่องจากมีเป้าหมายจะเป็นนายกรัฐมนตรี
การโหวตครั้งแรกทุกพรรคในซีกรัฐบาลเก่ารวมถึง ส.ว.โหวตไปในทิศทางเดียวกันคือ ไม่เอา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี
หลังจากนั้นในรอบที่ 2 ที่มีการโหวต นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ก็เสนอนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี “ลุงป้อม” ไม่พอใจเพราะยังคิดว่าตัวเองจะเป็นนายก เลยพยายามล็อบบี้ทุกทาง ว่ากันว่าวันโหวตนายกฯ รอบ 2 เมื่อ วันที่ 22 สิงหาคม 2566 พรรคพลังประชารัฐกว่าจะตัดสินใจเลือกเศรษฐาได้ต้องรอจนถึงเที่ยงวันก่อนโหวต 1 ชั่วโมง
โดย “ลุงป้อม” ให้ขุนศึกคือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ นางตรีนุช เทียนทอง เป็นคนไล่เคลียร์ ไล่เช็ก ส.ว.ว่าจะเลือกใคร มีเพียงฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสฝ่ายเดียวที่จะช่วยนายเศรษฐา แต่พอขุนพลของ “ลุงป้อม” เช็คแล้วจำนวนคนไม่พอเลยตัดสินใจให้ ส.ส.พลังประชารัฐ โหวตเลือกนายเศรษฐา
ต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา โควตารัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัสเป็นผู้เจรจากับเพื่อไทย จนพรรคพลังประชารัฐได้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยพรรคเพื่อไทยระบุว่าให้กระทรวงเกษตรฯ กับ ร.อ.ธรรมนัส เท่านั้น แต่ “ลุงป้อม” ก็มีความพยายามจะโน้มน้าวให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นของ พล.ต.อ.พัชรวาท แต่สุดท้ายเพื่อไทยไม่ยอมทำให้ “ลุงป้อม” ก็เสียหน้าเสียท่าต่อ ร.อ.ธรรมนัส
ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากร่วมรัฐบาลแล้วก็มีคำสั่งจาก “บ้านในป่า” หลายต่อหลายครั้งในการสวนมติกับรัฐบาล แต่เนื่องจากทีมงานในสภา ส.ส.ส่วนใหญ่ฟัง ร.อ.ธรรมนัส ก็เลยทำตามเพื่อไทยทั้งหมด
เนื่องจาก กิจการในพรรคต่าง ๆ เงินทุนต่าง ๆ เกือบท้้งหมดไม่ว่าจะการประชุมพรรคจัดสัมมนาพรรค การดูแล ส.ส. ร.อ.ธรรมนัสเป็นคนดูแลทั้งหมด การประสานงบประมาณลงพื้นที่ ช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน คำปรึกษาช่วยเหลือส่วนตัว ส่วนรวมพึ่งได้คนเดียวคือ ร.อ.ธรรมนัส ในขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ไม่เคยดูแล ส.ส.แม้แต่นิดเดียว ทำให้ความผูกพันระหว่างธรรมนัสกับ ส.ส. ยิ่งมีมากขึ้น
ในขณะฝ่าย “ลุงป้อม” ก็มีแต่พวกกรรมการบริหารพรรค นักวิชาการ วิชาเกิน ส.ส. สอบตก และคนที่เกาะบารมีลุงป้อมเป็นกุนซือให้ ซึ่งไม่เข้าใจในบทบาทของ ส.ส.ในพื้นที่เลย ทุกครั้งที่มีการประชุมก็โดน “ลุงป้อม” ตัดบทมาให้พูดในที่ประชุมก็ต้องมาระบายกับ ร.อ.ธรรมนัส
เหตุการณ์ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่าง “บิ๊กป้อม” กับ กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส มีปัญหาหนักขึ้นหลังจากที่ทักษิณกลับมาจากต่างประเทศและได้รับการพักโทษ “ธรรมนัส” และ คณะ ส.ส.ไปร่วมต้อนรับทักษิณที่เชียงใหม่ จริง ๆ แล้ว “ธรรมนัส” ได้แจ้ง “ลุงป้อม” ทุกครั้งที่ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประคองความรู้สึกระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐไม่ให้ห่างกันมากกว่านี้ แต่ก็ด้วยความมีคนเสี้ยมและอิจฉาก็เลยทำให้มีคนยุแหย่ให้ “ลุงป้อม” เกลียด “ธรรมนัส” มากยิ่งขึ้น
ตัวการสำคัญอีกคนหนึ่งที่ทำให้ “ลุงป้อม” เสียศูนย์คือ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ซึ่งช่วงหลังมานี้เข้าหา “ลุงป้อม” ทุกเช้าทุกเย็นของทุกวัน โดยนายสามารถพยายามจะนำ ส.ส.ต่างพรรคไม่ว่าจะเป็น พรรคก้าวไกล,ภูมิใจไทยและเพื่อไทย ไปพบ “ลุงป้อม” เกือบทุกวัน พร้อมรับเงินเดือนทุกเดือน โดยรวมประมาณ 50 คน
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ “ลุงป้อม” มั่นใจมากยิ่งขึ้น ว่ามี ส.ส.ในมือเป็นจำนวนมากทั้งที่คนใกล้ชิดสาย “ลุงป้อม” รวมถึง “ธรรมนัส” ก็ได้เตือนแล้วแต่ “ลุงป้อม” ก็ไม่ยอมฟัง
ในช่วงที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2568 และงบประมาณเงินกู้ดิจิตอลวอลเล็ต ในสภาผู้แทนฯ “ลุงป้อม” ได้สั่งการให้ ส.ส.ในพรรคโหวตสวน เพื่อหวังให้ นายเศรษฐาตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีใครฟัง ก็ต้องถอยฉากออกมาอีกครั้ง
จนกระทั่ง นายเศรษฐาโดน 40 ส.ว.ยื่นขอถอดถอน ก็มีความพยายามให้ ร.อ.ธรรมนัสเดินเกมตาม “ลุงป้อม” สั่งแต่ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ทำ
จนกระทั่งลุง “ลุงป้อม” ให้นายสามารถเดินเกม วิจารณ์ตำหนิ นายกฯ เศรษฐา ทำให้ ส.ส. ส่วนใหญ่ไม่พอใจนายสามารถเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการนำ “พ่อลูกอยู่บำรุง” เข้ามายังพรรคประชารัฐ ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และเป็นการเสียมารยาทในการร่วมรัฐบาล สุดท้ายนายสามารถต้องถอยเพราะสู้ ส.ส.ไม่ได้
ต่อมา วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ภายหลังจากที่นายเศรษฐาถูกศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง “ลุงป้อม” ก็กลับมาคึกคักอีกครั้งเพื่อหวังจะเป็นนายกรัฐมนตรี จนนายทักษิณเล่นเกมเร็ว ซึ่งช่วงนั้น “ลุงป้อม” ก็พยายามล็อบบี้ ไปยังหัวหน้าพรรคต่างๆ ในพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เพื่อให้เลือก “ลุงป้อม” เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยจำนวน ส.ส. 40 เสียงในมือ ประกอบกับมั่นใจ ส.ส.นอกพรรคที่จ่ายเงินเดือนให้ทุกเดือนประมาณ 50 คน คิดว่ายังจะมาตามนัด แต่ปรากฏว่าไม่มาตามนัด โดยเฉพาะส.ส. จากพรรคก้าวไกลที่เมื่อถูกยุบพรรคแล้วก็ย้ายไปยังพรรคใหม่ คือพรรคประชาชนทั้งหมด
ว่ากันว่าก่อนหน้าการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม บนโต๊ะอาหารมีหัวหน้าพรรคอยู่หลายพรรคร่วมทานอาหารกัน มีคนโทรเข้ามาหัวหน้าพรรคคนหนึ่งเปิดเสียงจากลำโพงโทรศัพท์ ความว่า “ลุงป้อม” ชวนให้โหวตให้ “ลุงป้อม” เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่ในโต๊ะนั้นนายทักษิณมีนายทักษิณอยู่ด้วย แต่เป็นที่มาว่าได้ยินจากหัวหน้าพรรคคนอื่น
ขณะที่ ก่อนวันโหวตเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 วัน มีข่าวจาก ส.ส.สายบ้านป่าฯ แจ้งว่า “ลุงป้อม” จะให้โหวตไม่เอา “อุ๊งอิ๊ง” บุตรสาวสุดที่รักของนายทักษิณ ซึ่งทำให้ ส.ส.ส่วนใหญ่อึดอัด เพราะรู้ว่ายังไงก็แพ้ และจะต้องเป็นฝ่ายค้านล้านเปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้จึงทำให้ทักษิณโมโหมาก
ดังนั้น เมื่อวันศุกร์ที่แล้วภายหลังจากที่ ส.ส.ในรัฐสภาโหวตให้ “อุ๊งอิ๊ง” ได้เป็นนายกฯ และได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้ว “ทักษิณ” จึงประกาศชัดเจนว่าต้องไม่มี “วงษ์สุวรรณ”
แต่ด้วยความรัก “ลุงป้อม” ร.อ.ธรรมนัส จึงไปเจรจา “ทักษิณ” หลายครั้ง แต่ก็ได้ยื่นคำขาดว่า“ไม่ให้” จนข่าวถึงหู “ลุงป้อม” ก็โทษว่า ร.อ.ธรรมนัสหวังจะยึดพลังประชารัฐและล้มวงษ์สุวรรณ เพราะหวังเป็นรองนายกฯ แทน “พัชรวาท”
อีกทั้งมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่หวังจะแทนที่จะขยับจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ แต่เมื่อ “ลุงป้อม” ยืนยันว่าจะให้ “พัชรวาท” เป็นต่อให้ได้ ก็เลยไปหลอก “ลุงป้อม” ว่าพรรคเพื่อไทยไม่เอา “ธรรมนัส” แล้ว
ด้วยความที่ “ลุงป้อม” ไม่พอใจ “ธรรมนัส” อย่างแรงก็เลยรีบเสนอรายชื่อรัฐมนตรีในสัดส่วนของพลังประชารัฐไปโดยไม่มี “ธรรมนัส” และที่สำคัญ “ลุงป้อม” ให้สัมภาษณ์และยืนยันด้วยตัวเอง จนให้ “ธรรมนัส” มีความรู้สึกว่าที่ผ่านมาทำงานให้ “ลุงป้อม” จนสุดความสามารถในทุกเรื่องถึงขั้นตายแทนได้
เมื่อโดน “ลุงป้อม” หักอย่างนี้ “ผู้กองธรรมนัส” ที่มีบุคลิก คือ ฆ่าได้หยามไม่ได้ จึงจำเป็นต้องโต้ตอบในการประกาศอิสรภาพของตนเอง โดยรวบรวม ส.ส. แถลงจุดยืนในนามกลุ่มธรรมนัส วันที่มีการรวบรวมไพร่พลเพื่อจะมาแถลงข่าว ฝ่ายบ้านป่าก็รวบรวมแข่งถึงกับยอมยกเลิกการประชุมพรรคในช่วงบ่าย เลื่อนเวลาให้เข้าบ้านป่าฯ ก่อนหน้า 2 ชั่วโมงแต่ปรากฏว่ามี ส.ส.ไปแค่ไม่ถึง 10 คน ในขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ส.ส.มาอยู่ข้างธรรมนัส เกินครึ่ง ประมาณ 26 คน และมีอีกหลายคนแต่ยังมีความกังวลใจอยู่ เนื่องจากสาย “ลุงป้อม” ทั้งปลอบ ทั้งขู่ ทั้งเสนอเงื่อนไขชั้นดีให้
“อีกประการหนึ่ง การที่ลุงป้อมมอบให้น้องชายตัวเอง คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นคนดูแลพรรค ทั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท และลูกสาวตัวเอง ก็เข้ามาบริหารจัดการพรรค ยังติดนิสัยความเป็นอดีต ผบ.ตร.อยู่ ก็คือสั่งคนโน้นสั่งคนนี้ให้ทำตาม แต่เผอิญ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ยอมทำตาม ความที่เกลียด ไม่ชอบธรรมนัสอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ความเข้มข้นของการเกลียดนั้นเพิ่มดีกรีมากขึ้น” นายสนธิ กล่าว