xs
xsm
sm
md
lg

"ทักษิณ" ขยี้ "บิ๊กป้อม" ขอเป็นประธาน ป.ป.ช. ที่มา ป.ป.ช.เละในวันนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'ทักษิณ' พูดถึง 'บิ๊กป้อม' เคยอยากเป็นประธาน ป.ป.ช. แต่ตนเองไม่ให้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของจุดจบความสัมพันธ์ในวันนี้



ถ้าจะมีมวยการเมืองรุ่นใหญ่คู่ไหนที่แลกหมัดกันได้อย่างดุเดือดสูสีและมีคนติดตามตลอด ต้องยกให้กับการฟาดกันระหว่าง 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี กับ 'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะดูเหมือนว่าต่างฝ่ายจะต่างรู้ไส้รู้พุงกันเป็นอย่างดี

ในอดีตครั้งหนึ่งทั้งสองคนเคยเป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชากันมาก่อน โดยพล.อ.ประวิตร เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจากพล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ระหว่างปี 2547-2548 ภายใต้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยของทักษิณพอดี โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ขึ้นมาเป็นใหญ่ในกองทัพได้ ก็มาจากพลังทางการเมืองของกลุ่มวังน้ำเย็นของ 'เสนาะ เทียนทอง' ที่มีบทบาทในพรรคไทยรักไทยเป็นอย่างมากในเวลานั้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเส้นทางชีวิตทหารของบิ๊กป้อมก็เติบโตมาจากกองกำลังบูรพา ซึ่งเป็นถิ่นของป๋าเหนาะมาตลอด

แต่หลังจากพล.อ.ประวิตร เกษียณอายุราชการ ก็ดูเหมือนว่าต่างฝ่ายก็ต่างแยกย้ายกันไป จนกระทั่งเริ่มมาปะทะคารมผ่านสื่อมวลชนอีกครั้งในสมัยที่พล.อ.ประวิตร เรืองอำนาจในยุคของคสช. โดยทักษิณ เคยพูดกระทบเทียบบิ๊กป้อมว่า "ท่าทีและน้ำเสี่ยงขึงขังน่ากลัวจัง ไม่นุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนตอนมาเกาะโต๊ะขอเป็นผบ.ทบ.เลย"

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ปรากฎว่าตอนหนึ่งของงานเสวนา DINNER TALK : VISION FOR THAILAND 2024 'ทักษิณ' ได้พูดถึง พล.อ.ประวิตร อีกครั้ง โดยระบุว่าพล.อ.ประวิตร เคยอยากเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แต่ตนเองไม่เห็นด้วย

ทักษิณ ระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยคุยกันเรื่องร่วมรัฐบาลกัน คุยกันเฉยๆ ว่า เป็นอย่างไร สารทุกข์สุขดิบ แต่หลังจากนั้นไม่ได้คุย ไม่ได้เจอเลย เขาไม่รู้จักผมแล้ว ผมตั้งเขาเป็นตั้งแต่แม่ทัพภาค 1 ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และเป็น ผบ.ทบ. โดยจุดเริ่มต้นของความบาดหมางมาจากสมัยก่อน เขาเคยสมัครเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. แต่ผมคัดค้าน เพราะเขาเป็นทหาร จะรู้กฎหมายหรือไม่ ทำให้นายสุชน ชาลีเครือ ที่เรียนหลักสูตร วปอ.กับ พล.อ.ประวิตร ไปบอกเขา ทำให้เขาโกรธตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ฟังจากที่ทักษิณพูดในเวที ต้องยอมรับว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยเมื่อเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 ที่มีสาเหตุมาจากวิกฤติขององค์กรอิสระ

เมื่อปี 2548 หนึ่งในองค์กรอิสระที่เผชิญกับวิกฤติที่รุนแรงที่สุด คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชุดที่พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ เป็นประธานขณะนั้น ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาให้มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีขึ้นค่าตอบแทนให้ตนเอง ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการการเลือกป.ป.ช.ชุดใหม่

รัฐธรรมนูญ 2540 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่บังคับใช้อยู่เวลานั้น กำหนดให้คณะกรรมการสรรหากรรมการป.ป.ช.ต้องเสนอชื่อผู้ที่ผ่านการสรรหา จำนวน 18 คน เพื่อให้วุฒิสภาลงมติเลือกให้เหลือเป็นกรรมการป.ป.ช. 9 คน

พล.อ.ประวิตร เป็นหนึ่งใน 18 คนที่ผ่านการสรรหา และวุฒิสภากำลังเตรียมลงมติคัดเลือก แต่ปรากฎว่าพล.อ.ประวิตร ขอถอนตัวจากการได้รับการสรรหา ทำให้เหลือแคนดิเดท 17 คน กลายเป็นประเด็นข้อกฎหมายทันทีว่าวุฒิสภาจะเลือกป.ป.ช.ได้หรือไม่ แต่สุดท้ายวุฒิสภาชุดที่มีนายสุชน ชาลีเครือ เป็นประธาน ตัดสินใจเดินทางลงมติเลือกจนได้ว่าที่กรรมการป.ป.ช. 9 คน

ทุกอย่างเหมือนจะจบแต่ไม่จบ เพราะในวันที่ 27 มกราคม 2549 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้รับหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ เป็นหนังสือลับมาก ที่ รล 0009.2/1752 โดยมีใจความว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายร่างประกาศแต่งตั้งประธานคณะกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อทรงพิจารณา และขอพระราชทานพระมหากรุณาทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น สำนักราชเลขาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า วุฒิสภาสมควรพิจารณาทบทวนแก้ไข เรื่องการสรรหาคณะกรรมการป.ป.ช.ให้ถูกต้องต่อไป และสำนักราชเลขาธิการได้นำความกราบพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว

กลายเป็นเรื่องร้อนขึ้นมาทันที เกิดกระแสเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภาลาออกเพื่อรับผิดชอบ แต่ได้รับการปฏิเสธ พร้อมกับประกาศว่าวุฒิสภาจะเดินหน้าสรรหาป.ป.ช.ตามกฎหมายต่อไป ซึ่งที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็ชะงักงัน ภายหลังทักษิณประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน ก่อนที่วิกฤติการเมืองจะยุติลงด้วยการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2550 พร้อมกับเปลี่ยนแปลงกติกาการสรรหาองค์กรอิสระที่ลดบทบาทของวุฒิสภาลงอย่างสิ้นเชิง

เรียกได้ว่าช่วงปี 2548 พล.อ.ประวิตร มีความใกล้เคียงที่จะได้เป็นประธานป.ป.ช.พอสมควร เพราะถ้าวันนั้นไม่ตัดสินถอนตัว ก็อาจได้รับเลือกจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการป.ป.ช.และประธานป.ป.ช.ในเวลาต่อมาก็เป็นได้ ด้วยเหตุที่มีความอาวุโสไม่ได้เป็นสองรองจากแคนดิเดทรายอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม พอเวลาผ่านไปแม้ 'บิ๊กป้อม' จะไม่ได้เป็นประธานป.ป.ช. แต่อย่างน้อยที่สุดก็มีคนของตัวเองคือพล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ไปทำหน้าที่ประมุขป.ป.ช.ได้นานติดต่อถึง 9 ปี จนป.ป.ช.มีสภาพอย่างเห็นที่อยู่ในปัจจุบัน

----------------------------------------------
Sondhi App เปิดให้ Download ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น