xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเตือนภัยลุ่มน้ำยม !! มวลน้ำจากแพร่ลงมาสุโขทัย 1,300-1,400 ลบ.ม./วินาที เตรียมรับศึกหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย
รายงานพิเศษ

ข้อมูลล่าสุดจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือยังคงต้องติดตามและเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ในวันที่ 23 สิงหาคม 2567 คือที่ลุ่มน้ำยม โดยเฉพาะเส้นทางน้ำจาก จ.แพร่ ไปถึง จ.สุโขทัย

เช้าวันที่ 23 สิงหาคม 2567 มวลน้ำลงมาถึงจุดสูงสุดที่ อ.เมือง จ.แพร่ ผ่านสถานีวัดระดับน้ำที่ค่าสูงถึง 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ท่วมตัวเมืองแพร่ที่มีศักยภาพรับน้ำได้ที่ไม่เกิน 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เกิดภาวะน้ำท่วมหนัก


และน้ำจากแพร่จะไหลต่อเนื่องตามแม่น้ำยมลงไปที่ จ.สุโขทัย ในอัตรา 1,300-1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะไปถึงที่ อ.ศรีสัชนาลัยและ อ.สวรรคโลก ในอีก 1 วัน นั่นคือในช่วงเช้าวันที่ 24 สิงหาคม 2567


วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) วิเคราะห์ว่า จุดที่สามารถตัดยอดน้ำซึ่งอยู่ระหว่างแพร่กับตัวเมืองสุโขทัย มีเพียงจุดเดียว คือที่ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ซึ่งแม้จะต้องพยายามปล่อยน้ำลงไปทุ่งด้านล่างก็ต้องผ่านประตูระบายน้ำคลองหกบาทที่ถูกระบุว่ามีศักยภาพรับน้ำ 350 ลบ.ม.ต่อวินาที ไปถึง 2 ทางแยก คือ ไปแม่น้ำยมสายเก่าและไปแม่น้ำน่าน แต่เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่มีอุปสรรคในคลองค่อนข้างมาก จึงจะตัดยอดน้ำออกไปได้อย่างมากจริงๆไม่น่าจะเกิน 150-200 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่น่าจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ของเมืองสุโขทัยได้มากนัก และจำเป็นต้องใช้คลองสาขาซ้าย-ขวา ตลอดลำน้ำยมก่อนถึงตัวเมืองสุโขทัยเพิ่ม

“จากแพร่มาถึงประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ที่ อ.สวรรคโลก ใช้เวลา 1 วัน และจากสวรรคโลกมาถึง อ.เมือง สุโขทัย ใช้เวลาอีก 1 วัน แม้จะมีเวลาอีก 2 วัน แต่การที่มีน้ำจากแพร่ลงมาในอันตรา 1,300-1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เกินศักยภาพของลำน้ำยมในช่วงจังหวัดสุโขทัย โดยเฉพาะเมื่อเราจะเห็นได้ว่า มีช่องทางการตัดยอดน้ำออกไปได้รวมทุกทางทุกคลองสาขาเพียงประมาณ 400 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น”

“แม้จะมีเวลาอีก 2 วัน จากประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ลงมาที่ตัวเมืองสุโขทัย แม่น้ำยมจะแคบลงเรื่อยๆ และมีศักยภาพรับได้อย่างมากที่สุดไม่เกิน 800 ลบ.ม.ต่อวินาที จนแคบสุดที่ตัวเมืองสุโขทัยเพียง 500 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น ดังนั้น สุโขทัยจำเป็นต้องเตือนภัยกับประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำยมลงมาถึงในเมือง”

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย
วรรธนศักดิ์ ย้ำว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกที่รวบรวมหน่วยงานบริหารจัดการน้ำไว้ด้วยกัน ได้ไปตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าไว้แล้วที่ จ.สุโขทัย โดยภารกิจสำคัญ คือต้องพยายามบริหารจัดการพร่องน้ำในเมืองออกไปก่อน รวมทั้งดูแลการจัดการเส้นทางลำน้ำสาขาอื่นๆในช่วงของ จ.สุโขทัยด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนมากกว่าที่ควร เพราะเคยมีเหตุการณ์เมื่อปี 2564 ที่น้ำลำน้ำสาขามากจนไปท่วมโรงพยาบาลสุโขทัยซึ่งอยู่อีกฝากของตัวเมืองแทนมาแล้ว ดังนั้นการพร่องน้ำออกก็ต้องพยายามไม่ให้ย้อนลงมาลำน้ำสาขา โดยเฉพาะลำน้ำแม่มอกและแม่รำพันกลับมา

ส่วนข้อมูลฝนที่ระบุว่า จะยังมีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนไปจนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2567 จะทำให้การระบายน้ำจากแต่ละจุดอาจต้องใช้เวลานานขึ้นเพราะจะมีน้ำไหลลงมาเติมอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น