xs
xsm
sm
md
lg

ระยะเร่งด่วนต้องเร่งจัดการลุ่มน้ำยม-สุโขทัย ... ระยะต่อไปต้องจับตาลุ่มน้ำน่านไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

สถานการณ์ฝนที่ตกลงอย่างหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จนเกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่ ทั้งที่จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2567 ทำให้หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำและหน่วยงานด้านบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งท้องถิ่นยังคงต้องเร่งจัดการน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบไปอีกในช่วงต่อจากนี้

วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง
วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงฤดูฝนปีนี้ พบว่า ร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่าวตังเกี๋ย ประเทศเวียดนาม จะกลับมามีกำลังแรงต่างไปจากหลายปีที่ผ่านมา ทำให้บริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และบริเวณประเทศลาวตอนบนจะมีฝนตกหนักมากขึ้น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงนี้

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่
• ลุ่มน้ำยม

สำหรับสถานการณ์ในวันนี้ (22 ส.ค. 2567) นายวรรธนศักดิ์ วิเคราะห์ว่า จะต้องติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยมเป็นหลัก โดยเริ่มจากมวลน้ำที่จะไหลเข้าในตัวเมือง จ.แพร่ เพราะฝนที่ตกลงมาอยู่ที่บริเวณต้นน้ำของ จ.พะเยา และ จ.แพร่ ทำให้มวลน้ำไหลเข้าตัวเมืองแพร่ตั้งแต่เมื่อคืนก่อน มาจนถึงช่วงเช้าวันนี้ และจะเริ่มถึงระดับสูงสุดตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงคืนนี้ จากนั้นในอีก 1-3 วัน ก็จะต้องประเมินปริมาตรน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ จ.สุโขทัย เพื่อบริหารจัดการตัดยอดน้ำออกไป

“จุดสำคัญที่ต้องดูในวันนี้ คือ ลุ่มน้ำยม เพราะมวลน้ำที่เคลื่อนตัวมาจาก จ.พะเยา ลงมาที่แพร่ ผ่านสถานีวัดระดับน้ำมีค่าสูงถึงประมาณ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในขณะตัวเมืองแพร่ มีศักยภาพรับน้ำไหลผ่านได้เพียงประมาณ 900-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเมื่อผ่านเมืองแพร่ก็จะมีจุดหมายต่อไปที่ จ.สุโขทัย”



ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย
“แต่สุโขทัย ยังพอมีเวลาอีกประมาณ 2-3 วันครับ ที่จะเตรียมการรับมือ เพราะในเบื้องต้นมวลน้ำจาก จ.แพร่ที่จะถึงคืนนี้ ยังจะต้องใช้เวลาอีก 1 วัน จึงจะมาผ่าน อ.สวรรคโลก ที่สามารถตัดยอดน้ำออกไปในทุ่งรับน้ำได้ก่อนบางส่วนที่ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ เพราะหลังจากที่ผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ไปแล้ว ลำน้ำยมจะแคบลงเรื่อยๆ และไปแคบที่สุดที่ตัวเมืองสุโขทัย”

“ดังนั้น อีกแนวทางหนึ่งซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานท้องถิ่นใน จ.สุโขทัยน่าจะประเมินสถานการณ์อยู่แล้ว ก็คือ จะต้องเร่งพร่องน้ำจากคลองต่างๆ ในเมืองสุโขทัยให้ระบายลงไปด้านล่างก่อน เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำเพิ่ม ไม่ให้น้ำเข้าล้นเข้าท่วมตัวเมือง ... ส่วนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากก่อนถึงตัวเมืองสุโขทัย ก็ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดครับ”

วรรธรนศักดิ์ อธิบายสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในลุ่มน้ำยม ช่วง 2-3 วันนี้ พร้อมระบุว่า ในการจัดการลุ่มน้ำยม ยังคงต้องประเมินสถานการณ์เพิ่มเติมจากปริมาณน้ำฝนที่จะตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนควบคู่ไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคม เพราะหากมีฝนตกลงมาเพิ่มอีก แม้จะไม่เกิดสถานการณ์น้ำหลาก แต่ก็จะทำให้การบริหารจัดการลุ่มน้ำยมกลายเป็นสถานการณ์ที่ต้องจัดการต่อเนื่องไปอีกหลายวันได้เช่นกัน

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน
• ลุ่มน้ำน่าน

ที่ลุ่มน้ำน่าน มีฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน แต่นายวรรธนศักดิ์ เชื่อว่า ศักยภาพของพนังกั้นน้ำในตัวเมือง จ.น่าน จะสามารถรองรับสถานการณ์ไม่ให้น้ำท่วมตัวเมืองได้ และเมื่อน้ำผ่านตัวเมืองน่านไป ก็จะไหลลงไปที่เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก แต่ในระยะกลาง ก็จะต้องประเมินสถานการณ์ในเขื่อนสิริกิติ์ไปด้วยเช่นกัน เพราะในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก (22 ส.ค. 2567 มีน้ำ 62% ของความจุเขื่อน) และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นไปอีกเมื่อต้องรับน้ำจากตัวเมืองน่าน


“ถ้าเราไปดูแผนภูมิปริมาตรเก็บน้ำในเขื่อนสิริกิติ์วันนี้ (22 ส.ค. 2567) โดยดูที่เส้นสีแดงซึ่งหมายถึงน้ำในปี 2567 จะเห็นได้ว่า เส้นกราฟพุ่งขึ้นในแนวดิ่ง แต่ภาพที่เราเห็นจะยังไม่รวมกับมวลน้ำจากตัวเมืองน่านที่กำลังจะไหลเติมเข้ามาในเขื่อน ซึ่งหากเส้นสีแดง ไปแตะในระดับเดียวกับเส้นสีดำ (Upper Rule Curve) ที่หมายถึงมีระดับน้ำมากจนต้องคิดถึงเรื่องการระบายน้ำ ก็จะทำให้สถานการณ์ท้ายเขื่อนในลุ่มน้ำน่านอาจจะมีน้ำเพิ่มมากขึ้น และเมื่อไปรวมกับลุ่มน้ำยม จนลงไปถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็จะเป็นอีกระดับที่ต้องประเมินกันไปยาวๆ”


• ลุ่มน้ำโขง

สถานการณ์ฝนตกหนักและมีน้ำหลากในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ไม่ได้ส่งผลกับลุ่มน้ำในภาคเหนือเท่านั้น แต่อาจจะต้องทำให้ไทยต้องติดตามสถานการณ์ของแม่น้ำโขงควบคู่ไปด้วย เพราะมวลน้ำที่ท่วมใน จ.เชียงราย และบางพื้นที่ของ จ.พะเยา จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ไปรวมกับมวลน้ำที่จะไหลลงมาเติมจากฝนตกหนักในตอนบนของประเทศลาวด้วย ดังที่เราจะเห็นว่ามีข่าวการระบายน้ำออกจากเขื่อนไซนะบุรีลงมาที่แม่น้ำโขงในเวลานี้

วรรธนศักดิ์ ระบุว่า น้ำในแม่น้ำโขงที่ จ.เชียงราย จะไหลลงมาทำให้ระดับแม่น้ำโขงสูงขึ้น ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ไปตลอดลำน้ำถึง จ.อุบลราชธานี ดังนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงในพื้นที่ภาคอีสานก็ต้องติดตามเฝ้าระวังทั้งระดับน้ำและสถานการณ์ฝนตกในภาคเหนือและประเทศลาวด้วย ซึ่งในสัปดาห์ก่อนก็เกิดเหตุแม่น้ำโขงล้นตลิ่งที่ จ.บึงกาฬมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น