xs
xsm
sm
md
lg

ยลผลงาน 12 คอลเลคชั่น ‘ดร.จีรวุฒิ บุญช่วยนำผล’ ประติมากรพุทธศิลป์-เทวาศิลป์ไทยประยุกต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘ดร.จีรวุฒิ บุญช่วยนำผล’ ประติมากรพุทธศิลป์-เทวาศิลป์ไทยประยุกต์









พระคันธารรานาคา
พระสิงห์ทรงชัยเหนือสยาม
พระพุทธจักรพรรดิทรงเครื่อง รุ่น "พระเมตไตรยกาล"
พระอุปคุต ธาตุพนมอุดมทรัพย์
พระพิฆเนศ อโศกบินายัค (Ashok Binayak)
ท้าวเวสสุวรรณ รุ่นบรมทรัพย์ และ เหนือสยาม






เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ยังมีงานประติมากรรมแนวพุทธศิลป์ เทวาศิลป์อีกไม่น้อย
ที่รังสรรค์ขึ้นโดย ‘ดร.จีรวุฒิ บุญช่วยนำผล’ ผู้มีผลงานซึ่งได้รับรางวัลการันตีในระดับสากล


‘ดร.จีรวุฒิ บุญช่วยนำผล’ ประติมากรพุทธศิลป์-เทวาศิลป์ไทยประยุกต์



‘ดร.จีรวุฒิ บุญช่วยนำผล’ ประติมากรพุทธศิลป์-เทวาศิลป์ไทยประยุกต์
เมื่อไม่นานมานี้ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.จีรวุฒิ หรือ ‘อาจารย์คิว’ ณ แกลเลอรี่ที่จัดวางผลงานของอาจารย์ไว้อย่างละลานตา ได้สัมผัสถึงผลงานสร้างชื่อชิ้นสำคัญ รวมถึงผลงานคอลเลคชั่นใหม่ๆ ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าแห่งความงามและความหมายไม่แพ้กัน

ถ้อยความเหล่านี้คือคำบอกเล่าเกี่ยวกับผลงานแต่ละชิ้นที่ล้วนสร้างขึ้นด้วยความอุตสาหะ บางชิ้นงานยังผสานแนวคิดระหว่างความเป็นไทยและความเป็นสากลได้อย่างลงตัว








ตัวอย่างงานของ ดร.จีรวุฒิ ที่ผสานแนวคิดระหว่างความเป็น Thai Art และความเป็นสากล คือ Golden Ratio
( หมายเหตุ : Golden Ratio หรือ สัดส่วนทองคำ มีที่มาจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ คิดค้นโดย Leonardo Fibonacci เพื่อให้งานออกแบบมีสัดส่วนสวยงาม เป็นการใช้ตัวเลขคณิตศาสตร์อธิบายความงามของธรรมชาติ )




พระอุปคุต ธาตุพนมอุดมทรัพย์
พระอุปคุต ธาตุพนมอุดมทรัพย์

“เป็นผลงานที่ผมออกแบบมาให้ลักษณะขององค์พญานาคมีคอนเซ็ปต์เหมือนเป็นอุ้งมือที่คอยโอบอุ้มพระพุทธศาสนา เพราะลักษณะของเศียรพญานาคก็ไม่เท่ากัน มีลักษณะเหมือนขนาดนิ้วมือที่แตกต่างกัน ด้านล่างก็มีสัตว์มงคลที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวแล้วก็มีดอกบัว ส่วนพระอุปคุต มีลักษณะกำลังชมจันทร์”



พระพุทธจักรพรรดิทรงเครื่อง รุ่น พระเมตไตรยกาล




พระพุทธจักรพรรดิทรงเครื่อง รุ่น "พระเมตไตรยกาล"
(ในวาระครบรอบพระราชทานพระอารามหลวง 30 ปี วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง) จ. เชียงราย)

“ผลงานนี้มีพระศรีอริยเมตไตรยและหน้ากาล ด้านหลังมีสัญลักษณ์ที่สื่อถึงกาลเวลา คือ พระอาทิตย์และพระจันทร์ สื่อถึงกาลเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ กระทั่งถึงกาลเวลาของพระศรีอาริยเมตไตรย”





พระสิงห์ทรงชัยเหนือสยาม


พระสิงห์ทรงชัยเหนือสยาม
(ในวาระครบรอบพระราชทานพระอารามหลวง 30 ปี วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง) จ. เชียงราย)

ออกแบบ อ. Apinun Budsrakomvisit (อภินันท์ บุษราคมวิสิษฏิ์)
ปฎิมากร3D : ดร. Jeerawut Boonchuaynampon

“อีกหนึ่งผลงานที่ผมภูมิใจมากๆ ที่ได้ปั้นผลงานชิ้นนี้ คือทำให้วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง) จังหวัดเชียงราย สาเหตุที่ชื่นชอบผลงานชิ้นนี้ เนื่องจากใช้เวลาเนิ่นนานมากในการปั้น น่าจะประมาณ 4-5 เดือน และทำการหล่ออีกเดือนกว่าๆ รวมแล้วก็ใช้เวลามากกว่าครึ่งปีในการสร้างสรรค์งานนี้”

ท้าวเวสสุวรรณ รุ่นบรมทรัพย์




ท้าวเวสสุวรรณ รุ่นบรมทรัพย์

“ผมคิดคอนเซ็ปต์ว่าจะทำอย่างไรให้ท้าวเวสสุวรรณมีความแปลกใหม่ยิ่งขึ้น อะไรที่แตกต่างและไม่ขัดกับขนบเดิม ผมจึงคิดท้าวเวสสุวรรณในบริบทนั่ง แล้วถือกระบองให้ดูยิ่งใหญ่องอาจ ใช้แนวคิดสมัยใหม่ในเรื่องของการสร้างกล้ามเนื้อหรือ Anatomy ต่างๆ เพื่อให้ผลงานดูดุดัน”

“ส่งผลให้งานชิ้นนี้ได้รับรางวัล Top Row จาก zbrushcentral (หมายเหตุ : เว็บไซต์ CG ที่มีชื่อเสียงระดับโลก) เป็นงานชิ้นแรกที่มีลักษณะลายไทยและได้รับรางวัลนี้”





ท้าวเวสสุวรรณ รุ่นเหนือสยาม


ท้าวเวสสุวรรณ รุ่นเหนือสยาม

“เป็นผลงานที่สร้างชื่อให้ผมมากที่สุด โดยในช่วง 2 ปีที่แล้วเป็นช่วงเวลาของท้าวเวสสุวรรณ ( หมายถึง : ท้าวเวสสุวรรณได้รับความนิยม ) ผมได้รับโจทย์มาว่าให้ออกแบบท้าวเวสสุวรรณที่มีความเป็นภาคเหนือ จึงได้ชื่อว่า ‘ท้าวเวสสุวรรณ รุ่น เหนือสยาม’

“ในการออกแบบ ผมใช้แนวคิดหลายๆ อย่าง
อย่างแรกเลย คือ เรื่องความเป็นสากล ผมหาจุดเชื่อมต่อว่าอะไรคือความเป็นสากลที่จะนำมาใช้ในงานไทยอาร์ต สิ่งหนึ่งที่ผมนำมาใช้ก็คือ Anatomy ของตัว Figure นำมาใช้ออกแบบท่ายืนของท้าวเวสสุวรณ ในที่สุดก็ออกแบบมาเป็นท้าวเวสสุวรรณปางยักษ์และปางเทพ”

“สาเหตุที่ต้องมีสองปางแบบนี้ เพราะผมทำงานให้กับวัดด้วยครับ คือ วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง) จังหวัด เชียงราย ซึ่งที่วัดจะมีประตูอยู่ด้านหน้าและประตูจะมียักษ์อยู่สององค์ ตรงจุดนี้เองที่ผมนำมาใช้เป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบท้าวเวสสุวรรณ รุ่น เหนือสยาม”

พระพุทธชัยมงคลพัฒน์บารมีเจริญลาภชนะมาร หรือ ‘พระชัยมงคล’






พระพุทธชัยมงคลพัฒน์บารมีเจริญลาภชนะมาร หรือ ‘พระชัยมงคล’

(ในปี2022 ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร 3d world magazine ฉบับที่ 291 และในปีเดียวกัน ได้รับรางวัล Staff pick for 2nd August 2022 จากเว็บ 3dtotal)

“พระชัยมงคลเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ มีพระแม่ธรณีมาบบีบมวยผม ขับไล่พญามารหรือสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ด้านล่างเป็นราหู ด้านหลังเป็นเรื่องราวของพระนารายณ์ทรงครุฑ”

“ผมใช้ความอุตสาหะอย่างมาก ในการสร้างงานชิ้นนี้และภูมิใจมากครับ เป็นผลงานที่เปิดตัวแล้วประสบความสำเร็จ เรียกว่าคนจดจำ งานนี้ยากที่สุดเลย ทั้งความยากของงานและระยะเวลา รวมทั้งความเพียรที่ใช้ในงาน เพราะทุกวันที่สร้างงานนี้ ผมจะตื่นตั้งแต่หกโมงเช้าจนเลิกงานประมาณเที่ยงคืน เป็นแบบนี้ทุกวัน เป็นเวลาประมาณ 1 ปี กว่าๆ จนกระทั่งงานนี้เสร็จและเป็นผลงานที่เรียกว่าประทับใจ ผมยอมทุ่มเททุกอย่างเพื่องานนี้”



พุทธโพธิญาณ


พุทธโพธิญาณ

“สำหรับผลงานชิ้นนี้ เป็นผลงานที่ผมนำความรู้ และความชื่นชอบในพุทธประวัติมาใช้ซึ่งมีไอเดียจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และนำสัญลักษณ์วงกลมมาใช้ในงานออกแบบ ด้านหลังสื่อถึงการเผยแพร่ของพุทธศาสนาคือธรรมจักร และมีลักษณะของรากต้นไม้ สื่อถึงความหมายที่ต้องพัฒนานับตั้งแต่จากฐานรากขึ้นสู่ยอด”

พระคันธารรานาคา


พระคันธารรานาคา

“เป็นผลงานที่ผมออกแบบมาเพื่อให้รู้สึกถึงลักษณะของพญานาคที่โอบอุ้มพระพุทธเจ้าที่เดินลงมาจากสรวงสวรรค์ ในการออกแบบนี้ ผมไปเนปาล ไปดูศิลปะเนปาล แล้วก็นำมาออกแบบเป็นผลงานชุดนี้”





พระพิฆเนศ อโศกบินายัค (Ashok Binayak) พิฆเนศแห่งสายลม


พระพิฆเนศ อโศกบินายัค (Ashok Binayak) พิฆเนศแห่งสายลม

ออกแบบลายเส้น : อ. อภินันท์ บุษราคมวิสิษฏิ์
ประติมากร 3D : ดร. Jeerawut Boonchuaynampon
“เป็นผลงานที่ผมไปหา Inspiration ที่เนปาล และอินเดีย ก่อนที่จะออกแบบเป็นงานชิ้นนี้”

พระพิฆเนศ GANESHA KID

“งานชิ้นนี้นับว่าเป็นงานต้นแบบเลยนะครับ เป็นการออกแบบที่อยากจะลดอายุของผู้ที่เสพงานพุทธศิลป์-เทวาศิลป์ลง เพราะผมอยากใส่ความน่ารักลงไปในผลงาน เป็นพระพิฆเนศเด็ก พระพิฆเนศที่ยังเยาว์วัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถจับต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น”

พระพิฆเนศ GANESHA KID



ชุดพุทธประวัติ : ประสูตร ตรัสรู้ ปรินิพพาน
ชุดพุทธประวัติ : ประสูตร ตรัสรู้ ปรินิพพาน

“อย่างที่เกริ่นไว้ว่าผมมีความชื่อชอบในพุทธประวัติ จึงนำเรื่องราวที่เราชื่อชอบมาใช้ในการออกแบบ โดยรวบรวมแนวความคิดต่างๆ ที่หล่อหลอมผมมาตั้งแต่เล็กจนโต ผมมีความชื่นชอบและคิดไว้นานมาแล้ว ว่าทำอย่างไรคนรุ่นใหม่จะสนใจในพุทธศิลป์มากขึ้น ผมจึงนำแนวคิดนี้มาใช้ในการออกแบบชุดพุทธประวัตินี้”


ประกอบด้วย

ประสูติ :
“เป็นการประสูติของพระพุทธเจ้า มีดอกบัวทั้งเจ็ดอยู่บนน้ำที่มีลักษณะวนรอบพระพุทธเจ้า เปรียบเสมือนการก้าวย่างของพระพุทธเจ้าที่มีดอกบัวทั้งเจ็ดรองรับ”






ตรัสรู้ : “ผมนำแนวคิด การผสมผสานศิลปะสมัยใหม่กับศิลปะสมัยเก่า นำมารวมกันเกิดเป็นผลงานชิ้นนี้”






ปรินิพพาน : “เมื่อออกแบบ ผมก็คิดว่าจะทำอย่างไร ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจพุทธศิลป์
แนวคิดที่สอง คือทำอย่างไรให้มีความเป็นสากล เมื่อคิดว่า หลักสากลคืออะไร ผมจึงใช้หลักของ Golden Ratio นำมาใช้ในการออกแบบ เพื่อให้ดูง่าย และมีความเป็นสากลมากขึ้นครับ”

(หมายเหตุ : Golden Ratio หรือ สัดส่วนทองคำ มีที่มาจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ คิดค้นโดย Leonardo Fibonacci เพื่อให้งานออกแบบมีสัดส่วนสวยงาม เป็นการใช้ตัวเลขคณิตศาสตร์อธิบายความงามของธรรมชาติ )



นางกวัก


นางกวัก

“ผลงานชิ้นนี้ เป็นงานที่ผมคิดย้อนแย้งไปซะทุกอย่างเลย ผมมีแนวคิดและศึกษาเรื่องราวของนางกวักมาประมาณนึง เช่น ในเรื่องของคติความเชื่อ สัญลักษณ์”

“ผมคิด Contrast หลายอย่าง เช่น ตามความเชื่อ มือจะต้องเหนือปาก ผมก็คิดว่าลองตัดประเด็นนี้ออกได้ไหม ให้เหลือแค่ธรรมชาติตามบริบทของร่างกาย ซึ่งเวลากวัก มือก็จะอยู่ประมาณนี้ (หมายเหตุ : ประมาณระดับบ่า)

“บริบทที่สอง ลักษณะของทรวดทรงต่างๆ เราปรับได้ไหม ปรับให้ดูมีความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่มากขึ้น ความคิดแรกเริ่มของเรา มักคิดว่าผู้หญิงไทยต้องเรียบร้อยอ่อนหวาน แต่ผมโตมากับผู้หญิงที่ดูกระฉับกระเฉงและทำงานได้อย่างไม่แพ้ผู้ชาย ผมเติบโตมากับครอบครัวแบบนี้ จึงนำมาใช้กับผลงานนางกวักชิ้นนี้ เป็นผู้หญิงที่ดูมีความแข็งแรง"


นับเป็นการรวมผลงานชิ้นโดดเด่นซึ่งได้รับเสียงชื่นชมและกระแสนิยม พิสูจน์ได้ว่าทั้งฝีมือ ความสามารถ เมื่อผนวกกับความมุ่งมั่นทุ่มเท จึงส่งผลให้ประติมากร 3D ผู้นี้ สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมประยุกต์ ผสมผสานขนบดั้งเดิมเข้ากับความเป็นสากลได้อย่างน่าสนใจ
………
Text and Photo by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ภาพประกอบผลงาน : ดร.จีรวุฒิ บุญช่วยนำผล, Facebook : Jeerawut 3D art
เอื้อเฟื้อสถานที่ : Yiwa Gallery