xs
xsm
sm
md
lg

อันตรายขึ้นทุกวัน! สาวแชร์ประสบการณ์มิจฉาชีพปลอมเมลจาก Apple หลอกกดลิงก์ดูดเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สาวแชร์ประสบการณ์ได้รับอีเมลหลอกลวงจากมิจฉาชีพให้กดลิงก์เพื่อรับความช่วยเหลือ โชคดีเหยื่อมีสติโทร.ติดต่อธนาคารอายัดบัตร เตือนทุกวันนี้มิจฉาชีพหลอกได้แนบเนียน แนะเจอแบบนี้ติดต่อธนาคารก่อน

วันนี้ (19 ส.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้ออกมาโพสต์ข้อความบอกเล่าประสบการณ์เกือบโดนมิจฉาชีพหลอก อ้างเป็นพนักงานแอปเปิลส่งอีเมลว่ามีคนใช้ Apple ID ซื้อสินค้า โชคดีผู้โพสต์มีสติตรวจสอบกับทางธนาคารจนรู้ว่าเป็นอีเมลจากมิจฉาชีพ ทั้งนี้ทางผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า

“มาเตือนภัย #เดี๋ยวนี้มิจฉาชีพเนียนขึ้นมากๆ ค่ะ ฝากแชร์ด้วยนะคะ เราคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับทุกคน

เหตุการณ์คือมีคนส่ง e-mail ซึ่งขึ้นชื่อว่า "การสนับสนุนของแอปเปิ้ล" มาหาเรา ใจความประมาณว่าตรวจสอบพบความผิดปกติมีคนนำ Apple ID ของเราไปซื้อ iphone มูลค่า 66,900 บาท เมื่อ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา สาขาราชดำริ แต่ฝ่ายสนับสนุนได้ตรวจสอบความผิดปกติและชะลอคำสั่งซื้อ 24 ชม.
(จากข้อความอีเมลที่เราแคปฯ รูปให้ดูค่ะ)

เราเพิ่งรู้เรื่องตอนตี 3 สิ่งแรกที่เราทำคือโทร.ไปเช็กกับธนาคารที่เราใช้บัตรเครดิตผูกกับ Apple ID ว่ามียอดคำสั่งซื้อนี้เข้ามาไหม ธนาคารเช็กและสรุปไม่มียอดนี้เข้ามา แต่เพื่อความสบายใจเราทำการอายัดบัตรนี้ไว้ทันที

เช้าต่อมาเรารีบโทร.หาฝ่ายดูแล Apple ID ที่เบอร์ต่างประเทศจะมีเจ้าหน้าที่รับสายดูแล โทร.เบอร์ 1800-019-900 (เบอร์ ตปท.โทร.ฟรี) เราแจ้งเจ้าหน้าที่และให้ตรวจสอบข้อมูลความปลอดภัยทั้งหมด

สรุปเลยคือ E-mail ที่ส่งมานั้นมาจากมิจฉาชีพและไม่มีคำสั่งซื้อใดๆ อยู่จริง ข้อความเล็กๆ สีฟ้าคำว่า "เยี่ยมชมฝ่ายสนับสนุนของ apple ที่เราขีดเส้นใต้ไว้ให้เพื่อนๆ สังเกตนั้นมาจากโจร เจ้าหน้าที่แจ้งห้ามกดเด็ดขาด

มิจฉาชีพตอนนี้เนียนมาก ทำทีมาช่วยเหลือและข้อความที่ส่งมาก็เป็นข้อความลิงก์เล็กๆ ที่ดูน่าเชื่อถือที่ทำให้คนทั่วไปอาจจะไม่ทันสังเกตได้และอาจเผลอกดเพราะมันทำเนียนจริงๆ

ดังนั้น หากใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ เราแนะนำให้โทร.ไปที่เบอร์ที่เราแจ้งไว้ข้างบนเพื่อตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแล Apple ID ตัวจริง และเพื่อความปลอดภัยกับบัตรเครดิตทุกใบ เราคิดว่าควรกำหนดวงเงินบัตรเครดิตต่อวันต่ำๆ เอาที่พอใช้จ่าย ถ้าใช้เยอะค่อยมาปรับวงเงินในแอปฯ เองค่ะ

ด้วยความห่วงใย"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น