xs
xsm
sm
md
lg

“เฉาก๊วย” ไม่ใช่แค่ขนมธรรมดา ลดน้ำตาลในเลือดให้คนเป็นเบาหวาน ต้านมะเร็ง มีฉายา...”หญ้าเทวดา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เฉาก๊วย ขนมอร่อยเด้งดึ๋งเคี้ยวเพลิน ยอดฮิตในหน้าร้อน แต่เฉาก๊วยไม่ได้ช่วยแค่ดับร้อนเท่านั้น ในยางเหนียวเป็นเยลลีสีดำนั้น ยังมีคุณค่าอีกมาก เป็นอาหารสุขภาพและมีประโยชน์ทางยา เช่น แก้ร้อนใน บรรเทาอาการหวัด ลดไข้ตัวร้อน ขับเสมหะ แก้คลื่นไส้ บรรเทาอาการเบื่ออาหาร แก้ปวดท้องมวนท้อง บรรเทาอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ตับอักเสบ ไขข้ออักเสบ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด จึงเหมาะกับคนที่เป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง แต่ถ้ากินเฉาก๊วยใส่น้ำตาลมากๆก็ต้องระวังเบาหวานไว้ด้วย เพราะในต้นเฉาก๊วยก็มีสารน้ำตาลอยู่บ้างเหมือนกัน

เฉาก๊วยเป็นพืชในวงศเดียวกับสะระแหน่ โหระพา และแมงลัก คำว่าเฉาก๊วยเป็นภาษาแต้จิ๋ว ส่วนภาษาอังกฤษเรียกว่า Grass Jelly มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน แถบมณฑลกวางตุ้ง กวางสี แล้วกระจายไปทั่วเอเชีย รวมทั้งไทยที่ปลูกเฉาก๊วยกันมาก เป็นไม้ล้มลุกกึ่งเลื้อย ลำต้นมีขนาดเล็ก เป็นเหลี่ยม คล้ายสะระแหน่ แตกกิ่งแขนงออกมาจากลำต้น เลื้อยไปตามดิน ขอบใบหยักเป็นเลื่อย ภายในใบเป็นเมือก ดอกคล้ายกับดอกแมงลักหรือโหระพา มีเมล็ดขนาดเล็กสีดำอมน้ำตาล เป็นทรงกลมรูปไข่

ส่วนการทำเฉาก๊วยเป็นขนมนั้น เริ่มต้นด้วยการนำต้นเฉาก๊วยที่ตากแห้งล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปต้มน้ำในอัตราต้นเฉาก๊วย ๑ ส่วน กับน้ำราว ๓๐ ส่วน เคี่ยวนาน ๔-๕ ชั่วโมง จนน้ำเป็นเมือกสีดำ จึงตักต้นเฉาก๊วยออก คั้นให้สะเด็ดน้ำ นำไปกรองด้วยผ้าขาวบาง จนได้น้ำเฉาก๊วยล้วนๆ นำไปเทลงบนแป้งมันสำปะหลังหรือแป้งท้าวยายม่อม หรือใช้แป้งทั้งสองชนิดผสมคนให้เป็นเนื้อเดียวกัน

เหตุที่ใช้แป้ง ๒ ชนิดนี้ ก็เพราะแป้งมันสำปะหลังมีลักษณะเป็นแป้งสีขาว เนื้อเนียน เมื่อคนกับไฟอ่อนจะสุกง่าย หนืดขึ้นเรื่อยๆ ไม่จับตัวกันเป็นก้อนเหนียว ส่วนแป้งท้าวยายม่อมมีคุณสมบัติเนื้อเนียน นุ่มเป็นมัน ละลายน้ำง่าย สุกง่ายเช่นเดียวกับแป้งมันสำปะหลัง มีคุณสมบัติเหนียวหนืด นุ่มใส คืนตัวช้า พอเย็นแล้วจะจะติดกันเป็นก้อนเหนียว คุณสบัติของแป้งทั้งสองจึงทำให้เฉาก๊วยนุ่มเหนียวเคี้ยวเพลิน

นำน้ำเฉาก๊วยที่ผสมแป้งแล้วเทใส่พิมพ์หรือภาชนะใดๆ เมื่อเย็นลงก็จะได้เป็นก้อนเฉาก๊วยเนื้อนิ่ม ตัดเป็นก้อนหรือเป็นแผ่นได้ตามใจชอบ

แต่ถ้าจะทำน้ำเฉาก๊วยไว้ดื่ม ก็เพียงนำต้นเฉาก๊วยแห้งใส่น้ำต้มให้เดือด โดยใส่น้ำให้มากขึ้นอีกเท่าหรือสองเท่า และไม่ต้องเคี่ยวให้ข้นจนเป็นเมือก จากนั้นก็กรองน้ำเฉาก๊วยใส่ขวดไว้ดื่ม จะเติมน้ำตาลหรือหญ้าหวานลงไปหน่อยเพื่อความอร่อยก็ได้ วิธีนี้จะได้คุณค่าของเฉาก๊วยไปเต็มๆ ไม่ต้องกินแป้งเข้าไปด้วย แต่ไม่อร่อยเท่าเคี้ยวแป้งเด้งดึ๋ง
 
คุณประโยชน์ของเฉาก๊วยนั้นดีต่อทางเดินอาหาร เพราะต้นเฉาก๊วยมีสารแอลคาลอยด์ วิตามินบี วิตามินซี และสารน้ำตาลอยู่จำนวนไม่น้อย จึงป้องกันอาการปวดท้อง ท้วงร่วง ท้องผูก ทั้งยังมีไฟเบอร์ช่วยขจัดสิ่งที่ตกต้องอยู่ในทางเดินอาหาร ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น

เฉาก๊วยมาจากพืช ซึ่งมีไฟเบอร์สูง ทำให้ปริมาณแคลอรีต่ำ จึงช่วยในการลดน้ำหนัก

สารประกอบอีกมากมายในเฉาก๊วย สามารควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ และปรับระดับของอินซูลิน จึงช่วยลดอาการของเบาหวานได้อย่างดี และยังลดความเสี่ยงจากความดันโลหิตสูงได้ด้วย

คาร์โบไฮเดรท พอลิฟินอล และซาโปนิน ซึ่งเป็นสารประกอบในเฉาก๊วย มีคุณสมบัติในการต้านหรือกำจัดสารพิษที่เข้าทำลายระบบการทำงานของร่างกาย จึงช่วยลดอาการป่วยของคนที่มีไข้สูงได้

นอกจากเฉาก๊วยในรูปแบบของวุ้นแล้ว มีคำกล่าวอ้างว่า ใบเฉาก๊วยนำมาสับให้ละเอียดแล้วต้มในน้ำเดือด ใช้เป็นเครื่องดื่มสมุนไพร มีคุณสมบัติต้านการเจริญเติบโตของเนื้องอก และกำจัดเซลล์มะเร็งได้ ๕๕-๙๐ เปอร์เซ็นต์

ด้วยสรรพคุณที่ล้นเหลือเช่นนี้ ในภาษาจีนกลางจึงเรียกเฉาก๊วยว่า “เซียนเฉ่า” ซึ่งแปลว่า “หญ้าเทวดา

สิ่งที่ต้องระวังจากการรับประทานเฉาก๊วย นอกจากต้องคุมน้ำตาลไม่ให้ใส่มากเกินไปแล้ว การแปรรูปเฉาก๊วยมาเป็นวุ้น ผู้ผลิตบางรายที่ไม่มีความรับผิดชอบ อาจใส่สารบอแร็กซ์ เพื่อเพิ่มความเหนียวและยืดอายุการเก็บ ซึ่งถ้ารับประทานในปริมาณมากก็จะก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกายได้ แต่จากการตรวจขององค์การอาหารและยาพบว่ามีน้อยรายมากที่ทำเช่นนี้

แต่ก่อนนี้ไทยต้องสั่งเฉาก๊วยแห้งมาจากต่างประเทศปีละหลายล้านบาท ต่อมาจึงมีผู้นำมาปลูกเอง ทั้งจากเมืองจีนที่มีรสกลมกล่อม จากอินโดเนเซียที่มีความเหนียวนุ่ม และจากเวียตนามที่หวานกว่าทุกพันธุ์ ปัจจุบันไม่ได้นำเข้ามา ๒๐ กว่าปีแล้ว
เฉาก๊วยเป็นหญ้าชนิดหนึ่งที่ปกคลุมดิน ชอบแดดและอากาศชุ่มชื้น ให้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักก็เพียงพอ หลุมปลูกห่างกันประมาณ ๑ เมตร จะปล่อยให้เลื้อยคลุมดินหรือทำค้างให้เลื้อยขึ้น หรือจะปลูกในกระถางก็ได้ รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน อายุ ๒ เดือนขึ้นไปก็ตัดส่วนที่อยู่เหนือดินไปตากแห้งได้แล้ว เฉาก๊วยสำเร็จรูปและต้นพันธุ์มีขายในออนไลน์หลายราย

ถ้าปลูกเฉาก๊วยไว้กินเอง ก็จะปลอดภัยจากสารแปลกปลอมทั้งหลายที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งมีอยู่กลาดเกลื่อนในอาหารที่วางขายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ ฉะนั้นซื้ออาหารก็ควรพิจารณาดูบ้าง ว่าเขาใส่อะไรให้เรากิน สารบางอย่างกฎหมายอนุญาตให้ใส่ได้ แต่มีปริมาณจำกัด ถ้าเรากินเป็นประจำซ้ำซาก สะสมเข้าไปมากก็เกินกำลังที่ร่างกายจะรับได้ อย่าคำนึงถึงแต่ความอร่อย




กำลังโหลดความคิดเห็น