xs
xsm
sm
md
lg

โรงงานยาไทยทยอยเจ๊ง อย.เฮ้าเลี่ยน! บังคับใช้มาตรฐานฝรั่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรงงานยาไทยทยอยเจ๊ง หลัง อย.บังคับใช้มาตรฐาน GMP PIC/s ตามอย่างชาติตะวันตก ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น และประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกก็ยังไม่ได้ใช้ แต่ อย.กำหนดให้ทุกโรงงานต้องทำให้ได้ภายในปี 2570 ส่งผลโรงงานยาขนาดเล็กที่ไม่มีเงินทุนมาปรับปรุงโรงงาน จ่อปิดตัว 500 แห่ง และอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยอาจล่มสลายถ้าไม่ยกเลิกบังคับใช้มาตรฐานที่ทำให้ไทยตกเป็นเบี้ยล่างของฝรั่ง



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงปัญหาของโรงงานยาสมุนไพรไทยที่จะต้องปิดตัวลงเนื่องจากการที่องค์การอาหารและยา(อย.) บังคับให้ทุกโรงงานต้องได้มาตรฐาน GMP PIC/s ซึ่งเป็นมาตรฐานโรงงานผลิตยาของประเทศทางโลกตะวันตก ภายในปี 2570


ทั้งนี้ แม้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะอ้างว่าตนเองให้ความสำคัญกับสมุนไพรไทย โดยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ได้ไปเป็นประธานเปิดงานมหกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย จังหวัดพิษณุโลก พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง“การขับเคลื่อนนโยบายเจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ” และประกาศว่าจะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อลดยานำเข้าจากต่างประเทศ และสนับสนุนให้ใช้ยาไทยสมุนไพรไทยมากยิ่งขึ้น เพราะหากโลกเกิดวิกฤติ จะไม่สามารถนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ เช่น ช่วงโควิดระบาด ยารักษาก็ขาดแคลน ตนจึงสนับสนุนให้ใช้ฟ้าทะลายโจรแทน โดยจากข้อมูล สปสช.ซื้อยาเคมีนำเข้าถึง 7 หมื่นล้านบาทแต่ซื้อยาไทย เพียง 1,000 ล้านบาท ตนจึงให้เพิ่มอีก 50% เป็น 1,500 ล้านบาท เพื่อเป็นการส่งเสริมสมุนไพรไทย


คำพูดของนายสมศักดิ์ฟังดูน่าประทับใจมาก แต่แค่ฟ้าทะลายโจรตัวเดียวยังถูกกีดกันในการใช้จริงกับผู้ป่วย ไม่ต้องนับยากัญชา หรือ กัญชง ซึ่งถ้าหากกลับไปเป็นยาเสพติดจริง ก็มีการล็อกสเปกไม่ให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านจ่ายยาสารสกัดกัญชากัญชงได้

แถมประมวลกฎหมายยาเสพติด ยังล็อกสเปกกำหนดให้เกษตรกรผู้ปลูกกัญชา-กัญชงรวมถึงคลินิกการแพทย์แผนไทยที่ต้องการจ่ายยากัญชา ยังก็ต้องมีเภสัชกรแผนปัจจุบันประจำอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

นี่คือการล็อกสเปกเตะตัดขายากัญชา เพื่อทำลายคู่แข่งยาต่างชาติหรือไม่ ทั้งยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาแก้วิตกกังวล ยาแก้โรคลมชัก ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาแก้โรคจิต ฯลฯ

แม้แต่ตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่เคยได้ลูกหม้อคนที่รู้เรื่องมาจากกรมเดียวกันนี้มานั่งเป็นตำแหน่งเป็นอธิบดีเลยสักคนเดียว กลับมีแต่หมอที่ไม่เคยรู้เรื่องแพทย์แผนไทยมานั่งพักเอาตำแหน่งอธิบดี ซี 10 ประมาณ 1-2 ปี แล้วก็จากไป กรมการแพทย์แผนไทยจึงไม่สามารถพัฒนาต่อเนื่องได้สักที


แม้นายสมศักดิ์ ดูจะเป็นรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในด้านสมุนไพร แต่นายสมศักดิ์ อาจจะไม่รู้ว่า โรงงานยาไทยกำลังจะเจ๊ง และความมั่นคงทางยากำลังถูกทำลาย โดยการขาดวิสัยทัศน์ในการ “พึ่งพาตัวเอง” ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกนั้นมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดสงครามครั้งใหญ่ จนอาจถึงขั้นเป็น “สงครามโลกครั้งที่ 3”

โดยเฉพาะในช่วงการเกิดโรคระบาดที่ผ่านมานั้น ประชาชนต่างรู้ดีว่าเรารอดมาได้ด้วยฟ้าทะลายโจร โดยไม่ต้องอาศัยโรงพยาบาลหรือหมอใด ๆ นี่คือหลักประกันว่าประเทศชาติเรามี“ความมั่นคงทางยา” ของชาติ และในช่วงหลัง ๆ ตลาดสมุนไพรในประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก

ส่วนหนึ่งคนไทยมีความคุ้นเคย ผูกพัน และมีความไว้วางใจต่อสมุนไพรมาอย่างยาวนาน และได้มาทดแทนยาแผนปัจจุบัน และยานำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น และแน่นอนว่าการใช้สมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ ในราคาไม่แพง ย่อมทำให้การผูกขาดบริษัทยายักษ์ใหญ่ของต่างชาติทำได้ยากขึ้น

ดังนั้นวิธีการอย่างหนึ่งของกลุ่มทุนยาต่างชาติ ในการจัดระเบียบโลกใหม่ในเรื่องสุขภาพ คือการผูกขาดการรักษาเอาไว้กับบริษัทยายักษ์ใหญ่ โดยอ้างเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคมาบังหน้า


มีคำ ๆ หนึ่ง ที่คนในวงการยารู้จักดี คือคำว่า GMP ย่อมาจากคำว่า Good Manufacturing Practice หรือ หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต คือ ระบบคุณภาพที่ใช้สร้างและควบคุมกระบวนการจัดการสุขลักษณะที่ดีในการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการผลิต บุคลากรและผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนการเก็บรักษา โดยเน้นไปที่การป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นพิษ เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ และมาตรฐานโรงงานที่ดีนั้นปัจจุบันมีหลายมาตรฐาน แต่มาตรฐานสูงสุดเข้มข้นที่สุดเรียกว่า มาตรฐาน GMP PIC/s


เพราะโรงงานยาแผนปัจจุบันต่างชาติ ต้องทำทุกทางเพื่อ“ล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจสุขภาพ”ให้ประเทศที่ไม่มีภูมิปัญญาต้องสิ้นเนื้อประดาตัวจนหมดสิ้น

สิ่งที่ประเทศมหาอำนาจ ทั้งหลายจะรวมทำกัน ก็คือ การบังคับให้ภูมิปัญญาในเรื่องสมุนไพรในแต่ละประเทศต้องล้มหายตายจากให้หมด โดยการกำหนด“มาตรฐานโรงงานยา” ให้มีมาตรฐานสูงเหมือนบริษัทยาแผนปัจจุบัน ในอเมริกาและยุโรป

เป้าหมายด้านหนึ่ง เพื่อกีดกันทางการค้า เพื่อให้ยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ราคาถูกกว่า หรืออาจจะดีกว่า ไม่มาตีตลาดในประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจะทำให้ยาแพง ๆ ในประเทศเหล่านั้นยังขายยาในประเทศตัวเองต่อไปได้

เป้าหมายด้านที่สอง เพื่อทำลายโรงงานยาในประเทศที่กำลังพัฒนาให้ล้มหายตายจากให้หมด ด้วยการทยอย ยกมาตรฐานสูงไปเรื่อย ๆ ทำให้ต้นทุนยา และสมุนไพรในประเทศเหล่านั้น แพงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการกำจัดคู่แข่งของบริษัทยายักษ์ใหญ่ข้ามชาติ

ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุมูลค่าตลาดสมุนไพรในปัจจุบันนั้นสูงถึงกว่า 52,100 ล้านบาท มีแนวโน้มการเติบโต 8 % ต่อปี ทว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่าน (นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2567) มาสถานการณ์โรงงานในประเทศไทยปิดตัวลงเกือบ 2,000 แห่ง ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตเกือบ 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทำให้ แรงงานกว่า 51,500 คน สูญเสียงาน และวิกฤตดังกล่าวมีโอกาสลุกลามไปยังภาคการผลิตในอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย โดยพบข้อมูลน่าตกใจว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตสมุนไพรมากกว่า 1,000 แห่ง แต่มีโรงงานผลิตสมุนไพร 500 แห่งยังไม่สามารถผ่านมาตรฐาน GMP PIC/S


เมื่อมีการยึดมาตรฐาน GMP PIC/S ผลก็คือโรงงานสมุนไพรเล็ก ๆ แต่ประเทศที่ไม่มีทุนมากพอก็ต้องทยอยปิดลงไป

ถ้าไม่ปิดตัวลงก็ต้องยอมยกสูตรต่างๆ ขายให้กลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งโรงงานยาไทยเล็ก ๆ ที่ผลิตมาด้วยภูมิปัญญาที่ตกทอดมรดกมาจากตระกูลต่าง ๆ ก็อาจจะต้องปิดตัวลงด้วยเช่นกัน

ส่วนโรงงานใหญ่ ๆ ก็ต้องถูกบีบให้ลงทุนยกมาตรฐานไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดไม่มีเงินลงทุน ก็ต้องอาศัยต่างชาติมาลงทุนแทน และผูกขาดธุรกิจยาในที่สุดอยู่ดี

นี่คือการทำลายความมั่นคงทางยาของชาติที่มีการพึ่งพาตัวเองด้วยสมุนไพร

ความจริงแล้ว 500 โรงงานยาไทยที่กำลังจะปิดตัวลงนั้น เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น และในท้ายที่สุดจะมีการปิดอีกหลายร้อยโรงงานตามมา เพราะโรงงานยาที่จะเริ่มปรับตัวเป็นมาตรฐาน  GMP PIC/Sได้ต้องลงทุนอย่างน้อย 30 ถึง 100 ล้านบาท ทุกโรงงาน จนในท้ายที่สุดจะเหลือโรงงานยาไทยเพียงไม่กี่สิบแห่ง จาก 1,000 แห่ง

เพราะหลักการที่มาตรฐาน GMP PIC/sจะให้ “ประเทศ” ที่เป็นสมาชิกกำหนดมาตรฐานของตัวเอง กำหนดมาตรฐานเสร็จเมื่อไหร่ โรงงานยาก็จะต้องปฏิบัติตาม


โดยกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้รวมตัวกัน เพื่อกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบขึ้นมาให้เป็นโรงงานยาขั้นสูง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 หรือ พ.ศ.2538 ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐมาเป็นสมาชิกอยู่ 56 ประเทศ จาก 196 ประเทศ หมายความว่ามาตรฐาน GMP PIC/sไม่ใช่มาตรฐานของประเทศส่วนใหญ่โลก

ภาพจากแผนที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่ใช้มาตรฐานโรงงานยาขั้นสูงนั้น มีทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และบางประเทศในอาเซียน ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย

แต่มีหลายประเทศที่เป็นมหาอำนาจที่พึ่งพาตัวเองได้เขาไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกด้วย เช่น ประเทศจีน รัสเซีย เกาหลีใต้

และยังมีประเทศที่ใช้สมุนไพรอย่างเช่น อินเดีย และประเทศในแถบแอฟริกาเกือบทั้งหมด ก็ไม่ได้ใช้มาตรฐานโรงงานยาขั้นสูงอย่างGMP PIC/sด้วย และเราสังเกตให้ดีกว่านั้นคือ เปรียบเทียบ ภาพด้านบนซึ่งเป็นแผนที่ของประเทศที่มีสีนั้น เป็นสมาชิก GMP PIC/s ส่วนใหญ่ยึดถือเงินดอลลาร์สหรัฐ ฯ กับภาพด้านล่าง ซึ่งเป็นแผนที่ของประเทศที่มีสีนั้น เป็นประเทศที่เป็นสมาชิก BRICS ซึ่งกำลังปลดแอกออกจากเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น “ส่วนใหญ่” ไม่ใช้มาตรฐานโรงงานยาGMP PIC/s


ทำไมเป็นแบบนี้ ?

คำตอบ ก็คือเพราะมาตรฐานโรงงานยา GMP PIC/s คือหนึ่งในกลไกที่บีบให้ทุกประเทศต้องซื้อยาราคาแพง ๆ จากต่างประเทศในกลุ่มพันธมิตรสหรัฐอเมริกาด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินยูโร

ซึ่งเป็นวิธีการบังคับให้หาเงินสำรองเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐและยูโร เพื่อสูบเงินทองจากทุกประเทศทั่วโลกมาใช้หนี้อันมหาศาลในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่กำลังใกล้จะล้มละลายทางเศรษฐกิจในวันนี้

โดยข้ออ้าง คือ ประเทศใดได้ปฏิบัติตามมาตรฐานเมื่อไหร่ถึงจะมีสิทธิ์ส่งออกไปยังประเทศสมาชิก 56 ประเทศที่เป็นสมาชิก โดยสำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้องค์การอาหารและยา หรือ อ.ย.เป็นผู้กำหนดมาตรฐานโรงงานในประเทศไทย

เราโง่ หรือ ฉลาดกันแน่ ???

เพราะถ้ายึดมาตรฐานประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ก็จะมีแต่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่งออกขายยาแพง ๆ มาในประเทศไทยเท่านั้น โดยที่ประเทศไทยก็ส่งออกไปประเทศเหล่านี้ไม่ได้ด้วย

การวางมาตรฐาน GMP PIC/s พวกฝรั่งพวกนี้หัวใส เพราะหวังจะให้กลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทยช่วยเป็นเครื่องมือในการทำลายโรงงานยาเล็ก ๆ ในประเทศไทยนั่นเอง

โรงงานยายักษ์ใหญ่ในประเทศไทย หากเกิดความโลภอยากจะส่งออกไปยังประเทศที่ใช้มาตรฐาน GMP PIC/s เร็วๆ ก็ต้องรีบไปกดดันหรือล็อบบี้ให้ อ.ย.ไปเร่งกำหนดมาตรฐานยา ให้เหมือนกันหมดทั่วประเทศ เป็น GMP PIC/s ให้เร็วที่สุด

ด้านหนึ่ง ก็เป็นการเร่งกำจัดโรงงานยาเล็ก ๆ ในประเทศให้หมด ไม่ให้เป็นคู่แข่งโรงงานยาขนาดใหญ่

อีกด้านหนึ่ง โรงงานยาขนาดใหญ่ในประเทศไทย หวังว่าจะลงทุนปรับปรุงโรงงานเพิ่มจะได้ส่งออกไปยังยุโรปและอเมริกาได้ด้วย

“แต่ผมจะบอกว่าเป็นเรื่องฝันหวานของโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศไทย เพราะเล่ห์เหลี่ยมของการกำหนด ของประเทศมหาอำนาจที่ใช้ มาตรฐานGMP PIC/s ก็เพื่อกีดกันทางการค้าเป็นหลัก และสูบความมั่งคั่งจากประเทศที่ด้อยการพัฒนากว่า

“หากประเทศไทยหลงกลไปปฏิบัติตามแล้วไปทำลายโรงงานยาขนาดเล็ก ขั้นตอนต่อไปประเทศเหล่านี้ก็จะยกมาตรฐานสูงขึ้นไปอีก ล่าสุด สหภาพยุโรปประกาศไม่ยอมรับการนำเข้าจากประเทศที่มีมาตรฐาน GMP PIC/s แล้ว โดยอ้างว่าโรงงานจากประเทศทั้งหลายจะต้องมีมาตรฐานในการควบคุมสิ่งแวดล้อมในเรื่องเครดิตคาร์บอนด้วย ดังนั้นต่อให้ประเทศไทยพัฒนามาตรฐานก็จะถูกกีดกั้นด้วยเรื่องใหม่อยู่ดี” นายสนธิ กล่าว

โดยเฉพาะหากเกิดสงครามใหญ่ ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้้น เราจะเอายาจากที่ไหน ? และด้วยราคาแพงเท่าไหร่ ?

เพราะฉะนั้น ถ้าประเทศไทยดันโง่ทำลายโรงงานยาเล็ก ๆ ของไทย ก็เท่ากับทำลายความมั่นคงทางยาเพื่อการพึ่งพาตัวเองของคนไทย !

บริบทเริ่มต้นหลังชนะโรคระบาดได้ ให้ทยอยปิดโรงงานยาสมุนไพรไทยขนาดกลางและเล็กให้หมดภายใน ปี 2570


“ท่านผู้ชมจำได้ไหมครับ ปีที่ผม และอาจารย์ปานเทพ ได้มารณรงค์แจกฟ้าทะลายโจรทั่วประเทศเพื่อเอาชนะโรคระบาดนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2564 ใช่ไหมครับ

“พอถึง ปี 2565 เราเจอสายพันธุ์โอไมครอน ความรุนแรงน้อย ยาฟ้าทะลายโจรกลายเป็น “ยาหลัก” ที่ผู้ป่วยไม่ต้องไปหาหมอ และสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติ ร้านค้ากลับมาเปิดเป็นปกติได้ เรากลายเป็นประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวก่อนชาติอื่น และกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติเร็วกว่าชาติอื่น ๆ”
นายสนธิกล่าว

หลังจากนั้นปฏิบัติการทำลายโรงงานยาไทย โดยอ้างมาตรฐาน GMP PIC/s จึงเริ่มต้นขึ้น

โดยมีราชกิจจานุเบกษาฉบับหนึ่ง เป็น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562


ประกาศฉบับนี้ ลงนามโดย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 แต่กว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565

ประกาศฉบับนี้โดยสรุปคือมีมาตรฐานที่จะต้องบังคับให้โรงงานผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้องทยอยปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ให้หมด แต่สำหรับโรงงานเล็กๆ ยังไม่ต้องปฏิบัติภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันประกาศ

แต่แปลว่าโรงงานเล็ก ๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้า คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2570 แม้แต่โรงงานเล็ก ๆ จะต้องปฏิบัติปรับปรุงโรงงานทั้งหมด


นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในเวลานั้น คงตามไม่ทันแน่ ๆ เพราะในประกาศฉบับนั้นไม่ได้มีข้อความสักนิดว่าใช้มาตรฐาน PIC/S หรือไม่

คำถามคือแล้วเขาใช้มาตรฐานตอนไหน?

ปรากฏว่าหลังจากที่ราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ได้ประมาณ 8 เดือน คือประมาณเดือนกันยายน 2565 กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร องค์การอาหารและยา หรือ อ.ย. ได้จัดทำคู่มือฉบับหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้กับโรงงานยาผลิตภัณฑ์สมุนไพรทุกโรงงาน มีชื่อว่า“คู่มือ การดำเนินการสำหรับผู้ประกอบการที่มีการผลิตซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ”

มาตรฐานโรงงานผลิตภัณฑ์สมุนไพรรายเล็ก ๆ นี้ อำพรางอ้างว่าใช้มาตรฐานอาเซียน ฟังดูก็ดี แต่ปรากฏว่ามาตรฐานโรงงานผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่เรียกว่ามาตรฐานอาเซียนนั้น ถูกเขียนเอาไว้อยู่ในบทที่ 1 ของคู่มือว่า“ผู้จัดทำ Guidelines ดังกล่าวนำมาตรฐานฉบับ PIC/S ฉบับ PE 009-12 มาประยุกต์ใช้เป็นมาตรฐานอาเซียน“


เพราะฉะนั้น มาตรฐานอาเซียนที่ว่า แท้ที่จริงคือการบังคับให้ทุกโรงงานต้องเป็นมาตรฐานGMP PIC/sทั้งหมด

ตอนนี้ผ่านไปแล้ว 2 ปี เศษ หลายโรงงานทยอยปรับตัวไม่ได้ เพราะต้องลงทุนอย่างมหาศาล จึงต้องทยอยปิดตัวลงจะไปก่อน 500 โรงงาน และกำลังจะปิดตัวเพิ่มขึ้นจนเกือบหมดในอีก 3 ปีข้างหน้า

นั่นคือเรากำลังกำจัดทำลายโรงงานยาไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งหมด และนี่คือการทำลายความมั่นคงทางยาของชาติ

“ในสถานการณ์ที่ สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก มีความตึงเครียดและใกล้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 และในขณะที่ประเทศไทยได้เตรียมตัวเข้าร่วมเป็นกลุ่มสมาชิก BRICS แล้วนั้น

“ผมเสนอให้เน้นการพึ่งพาตัวเองทางด้านสมุนไพรทางยา เป็นความสำคัญมากกว่าการทำลายชาติด้วยการใช้มาตรฐานGMP PIC/sด้วยการประกาศยกเลิก “การบังคับ” มาตรฐานGMP PIC/s ในโรงงานยาทั้งหมด โดยเฉพาะต้องยกเลิกสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อรักษาภูมิปัญญา ตำรับยา และโรงงานยาไทยให้ได้มากที่สุด ก่อนเข้าสู่ความเสี่ยงสงครามทั่วโลก ที่จะเกิดภาวะข้าวยาก หมากแพง และยาแพงทั่วโลก”
นายสนธิ กล่าว

โรงงานไหน ใครอยากจะส่งออกเป็นมาตรฐานเพื่อส่งออกไปประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ให้รายนั้นพัฒนาเพื่อการแข่งขันกับนานาชาติเอง

เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ความมั่นคงทางยาของชาติจะถูกทำลายไป โดยเฉพาะในประเทศไทยมีการใช้สมุนไพรในประเทศจำนวนมาก มีหมอยาไทยที่มีโรงงานเล็กๆ บดใส่แคปซูล หรือปั้นยาลูกกลอนของตัวเองในราคาไม่แพง ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรฐานสำหรับการส่งออกทั้งประเทศ

เพราะสุดท้ายก็อยู่ที่การตรวจวิเคราะห์หาสิ่งปนเปื้อน สารอันตราย สารพิษ และเชื้อโรคในผลิตภัณฑ์อันเป็นสาระสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของมนุษย์อยู่ดี

ซึ่งเพียงพอแล้ว ไม่ใช่ความหรูหราในการลงทุนของโรงงาน ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยเลย

เหมือนเราหุงข้าวด้วยเตาถ่าน เตาแก๊ส ซึ่งก็กินข้าวได้เหมือนกัน แต่กลับบอกกว่ามาตรฐานที่สูงเราต้องลงทุนใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในการหุงข้าวเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ข้าวที่ออกมาก็ได้รสชาติไม่แตกต่างกัน


“และถ้าคุณสมศักดิ์​ เทพสุทิน จะสนับสนุนสมุนไพรไทยจริง จะต้องไม่เพียงแค่ให้คนไทยปลูกเท่านั้น แต่จะต้องหยุดการบังคับมาตรฐานGMP PIC/s โดยด่วนที่สุด ก่อนที่สมุนไพรไทยจะล่มสลายไปมากกว่านี้” นายสนธิ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น