องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ออกหนังสือแถลงการณ์กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คุกคามสื่อมวลชน พร้อมร้องเรียนให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ
จากกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ปฏิเสธตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ โดย พล.อ.ประวิตร ไม่ตอบคำถาม แต่ได้แสดงอาการฉุนเฉียวไม่พอใจ แล้วพูดว่า “อะไร อะไร ถามอะไร ถามใคร?” พร้อมกับเงื้อมือตบหัวนักข่าว แล้วเดินไปขึ้นรถ พร้อมบอกว่า “ถามอะไรก็ไม่ได้ยิน“
ต่อมา เพจ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย Thai Journalists Association" ได้โพสต์ร้องเรียนให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมารับผิดชอบต่อการกระทำของตน และควรให้เกียรติผู้ปฏิบัติงานในแต่ละวิชาชีพ
ล่าสุด วันนี้ (16 ส.ค.) ไทยพีบีเอส ออกแถลงการณ์ กรณีผู้สื่อข่าวถูกพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คุกคามสื่อมวลชนระหว่างการสัมภาษณ์ ระบุว่า “องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส)
ตามที่เกิดเหตุการณ์ ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถูก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คุกคามด้วยการตบบริเวณศีรษะ ขณะที่ผู้สื่อข่าวกำลังทำหน้าที่ติดตามสัมภาษณ์ที่ สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (บ้านอัมพวัน) เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 และเป็นคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ต่อทางสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางนั้น
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว
การตั้งคำถามด้วยถ้อยคำและท่าทีสุภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกสัมภาษณ์ ดังปรากฏในคลิปวิดีโอ ที่ถูกเผยแพร่เป็นที่ประจักษ์นั้น ชัดเจนว่าเป็นการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวโดยสุจริต การถูกกระทำทางกายจากแหล่งข่าวเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ และถือเป็นพฤติกรรมที่ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกปลอดภัยของผู้สื่อข่าว-ช่างภาพ ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์เดียวกันนี้ด้วย
ส.ส.ท.มีมาตรการในการปกป้องคุ้มครองผู้สื่อข่าวและผู้ปฏิบัติงานทุกคน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมั่นใจ ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี และมีความกล้าหาญทางจริยธรรม การคุกคามผู้สื่อข่าวครั้งนี้ จึงเป็นเหตุการณ์ที่ ส.ส.ท. ขอเรียกร้องให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้แสดงความรับผิดชอบ และขอให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกันหามาตรการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสื่อมวลชนต่อไป
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)
16 สิงหาคม 2567”