นักวิจัยจุฬาฯ เผยผลตรวจจากจุดพบแคดเมียม ในโรงงานทุนจีนเถื่อนคลองกิ่ว พบดิน-น้ำ ปนเปื้อนจากการหลอมซากอิเล็กทรอนิกส์
รายงานพิเศษ
6 เมษายน 2567 ถุงบิ๊กแบ็กบรรจุแคดเมียม ซึ่งถูกขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบที่ จ.ตาก และเคลื่อนย้ายมาที่ จ.สมุทรสาคร จนสร้างความกังวลใจว่าจะเกิดการรั่วไหลของมลพิษ กลับมาถูกตรวจพบเพิ่มเติมอีกประมาณ 4,400 ตัน ที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี โดยถูกเก็บไว้ในโกดังแห่งหนึ่งของโรงงานเถื่อน 3 บริษัท บนเนื้อที่รวม 88 ไร่ ที่ถูกระบุว่ามีชื่อเจ้าของคนเดียวกันเป็นชาวจีน และเป็นโรงงานที่ถูกตรวจสอบจากมูลนิธิบูรณะนิเวศและสื่อมวลชนไปก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือนแล้วว่า เป็นสถานที่ในการลักลอบหลอมและครอบครองขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากซึ่งเป็นวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่กลับยังคงเปิดทำการอยู่ได้โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย จนถูกเรียกว่า “รัฐอิสระคลองกิ่ว”
ใกล้ๆ กับจุดที่พบถุงบิ๊กแบ็กบรรจุแคดเมียม ยังมีเตาหลอมขนาดใหญ่อยู่ด้วย เมื่อประกอบกับข้อมูลทางการที่พบว่า ปริมาณแคดเมียมรวมกันจากทุกจุดที่ตรวจพบยังไม่ครบตามปริมาณที่ถูกขนย้ายมาจากต้นทาง จึงทำให้เกิดคำถามที่น่ากังวลว่า แคดเมียมบางส่วนถูกหลอมไปแล้วหรือไม่ เพราะการหลอมแคดเมียมจะส่งผลให้มลพิษแพร่กระจายออกไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายอย่างมากต่อประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว
เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงทำ โครงการเฝ้าระวังการปนเปื้อนแคดเมียมจากการลักลอบขนย้ายและสะสมกากอุตสาหกรรมปนเปื้อนแคดเมียม ต.คลองกิ่ว โดยส่งทีมนักวิชาการลงไปเก็บตัวอย่างดิน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน ทั้งภายในโรงงาน จุดรับน้ำจากโรงงาน และพื้นที่ปลายน้ำภายนอกโรงงาน เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าพบการปนเปื้อนของแคดเมียมหรือไม่ รวมทั้งวิเคราะห์ต่อเนื่องไปด้วยว่า พบการปนเปื้อนสารชนิดอื่นในพื้นที่นี้หรือไม่
ดร.ศีลาวุธ ดำรงศิริ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลการศึกษา ก่อนเข้าสู่เวทีเสวนา ถอดบทเรียนคลองกิ่วสู่การปฏิรูประบบกำกับดูแลมลพิษอุตสาหกรรม โดยระบุว่า ทีมนักวิจัยได้ลงไปเก็บตัวอย่างในวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2567 โดยในโรงงาน เน้นเก็บตัวอย่างที่เตาหลอม 2 เตาที่อยู่ใกล้ๆ และคูน้ำรอบโรงงาน และบ่อรวบรวมน้ำทิ้ง ซึ่งหากมีการดำเนินการใดๆ ก็น่าจะสะสมให้เห็นได้ในบริเวณดังกล่าว ส่วนด้านนอกโรงงานเน้นเก็บตัวอย่างที่บริเวณจุดรับน้ำทิ้งที่ไหลออกจากโรงงานตรงท้ายบ่อรวบรวมน้ำทิ้ง ลำน้ำสาธารณะที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 1.5 2 และ 3 กิโลเมตร จากจุดทิ้งน้ำ ซึ่งรวมไปถึงบ่อน้ำใช้ของชาวบ้านที่ได้รับแจ้งว่าน้ำเริ่มมีสภาพความเค็ม และบ่อน้ำดิบที่อยู่ห่างออกไปซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปา
โดยผลการศึกษา สรุปสั้นๆได้ว่า “ยังไม่พบการปนเปื้อนของแคดเมียม แต่กลับพบการปนเปื้อนของสารชนิดอื่นที่มักจะมาจากการหลอมซากอิเล็กทรอนิกส์”
“จากผลการตรวจตะกอนดิน เราพบค่าสารตะกั่ว ทองแดง สังกะสี ในปริมาณสูงทั้งจากดินที่คูน้ำในโรงงาน จุดรับน้ำทิ้งที่ติดกับโรงงาน แต่การปนเปื้อนนี้ยังไม่กระจายออกไปไกลมากนัก”
“ส่วนการตรวจตะกรันจากเตาหลอม 2 จุด ที่อยู่ใกล้จุดจัดเก็บแคดเมียม ก็พบเจอค่าตะกั่ว ทองแดง และสังกะสี ในปริมาณสูงเช่นกัน ส่วนค่าแคดเมียมที่เตาตรวจพบน้อยมาก จึงอาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่า เตาหลอมทั้ง 2 จุดนี้ ถูกใช้ในการหลอมซากอิเล็กทรอนิกส์มาแล้วแน่นอน แต่ยังไม่ถูกใช้เพื่อหลอมแคดเมียม”
ผลการตรวจ น้ำ ... ดร.ศีลาวุธ เปิดเผยว่าได้ผลไปในทางเดียวกัน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ
1. แหล่งต้นน้ำก่อนเข้าบริเวณโรงงาน ถือเป็นแหล่งน้ำสะอาด ไม่พบการปนเปื้อนเลย สามารถใช้อ้างอิงเป็นค่าตามธรรมชาติดั้งเดิมของพื้นที่ได้
2. แหล่งน้ำในโรงงาน คือ คูน้ำ และจุดรับน้ำทิ้งที่เชื่อมระหว่างโรงงานกับแหล่งน้ำสาธารณะ พบว่ามีค่าความเค็มสูงกว่าค่าเดิมตามธรรมชาติมาก และพบการปนเปื้อน สังกะสี นิกเกิล ทองแดง ซึ่งก็น่าจะมาจากละลายออกมาจากตะกอนดินในคูน้ำที่ปนเปื้อนการหลอมซากอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน
3. ท้ายน้ำที่อยู่ห่างจากโรงงานประมาณ 1.5 กิโลเมตร ตรวจพบค่าความเค็มคล้ายกับแหล่งน้ำในโรงงาน แต่ไม่พบสารโลหะหนักต่างๆ แล้ว
4. บ่อน้ำใช้ของชาวบ้านที่แจ้งว่าน้ำมีความเค็ม ตรวจพบมีความเค็มแต่ไม่พบโลหะหนักเช่นกัน
5. บ่อน้ำดิบที่เป็นแหล่งผลิตน้ำประปา ซึ่งอยู่ไกลออกไป ... “ไม่พบการปนเปื้อน”
จากผลการศึกษาดังกล่าว ดร.ศีลาวุธ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ยังคงมีความน่ากังวลสำหรับชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำจากที่ตั้งโรงงานทุนจีนแห่งนี้ เพราะแม้ว่าโรงงานจะปิดทำการไปอย่างถาวรแล้ว แต่ในช่วงที่เวลาที่ลงไปตรวจก็ยังพบว่ามีการไหลของน้ำที่ปนเปื้อนทั้งโลหะหนักและความเค็มออกจากมาจากแหล่งน้ำในโรงงานตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้พื้นที่ได้รับผลกระทบถูกขยายออกไปไกลกว่าเดิมได้ หากยังไม่ถูกจัดการอย่างถูกต้องโดยเร็ว
“เขตพื้นที่ในโรงงาน ถือเป็นเขตปนเปื้อนโลหะหนักครับ และแม้ว่าโรงงานจะปิดไปแล้ว หรือแม้ว่าจะตรวจพบการปนเปื้อนโลหะหนักเฉพาะในบริเวณโรงงานและจุดรับน้ำที่ติดกับโรงงาน แต่ก็จะเห็นได้ว่า แหล่งน้ำที่ไกลออกไปมีค่าความเค็มสูง จึงยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเพิ่มเติม และน้ำที่ปนเปื้อนก็ยังไหลล้นออกไปอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นที่สำคัญที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรีบเข้าไปจัดการกับตะกรันในเตาหลอมและรอบเตาหลอม บำบัดคูน้ำรอบโรงงาน บำบัดลำน้ำที่รับน้ำต่อจากโรงงาน และเฝ้าระวังบ่อน้ำดิบที่ยังไม่ปนเปื้อน นอกจากนี้ ต้องเร่งกำจัดซากกองขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของกลางให้ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องโดยเร็ว เพราะอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการปนเปื้อนด้วย หากทุกสิ่งที่ปนเปื้อนไปแล้วยังอยู่ในพื้นที่ ก็ยากจะหยุดยั้งการปนเปื้อนออกสู่ภายนอก” ดร.ศีลาวุธ กล่าวทิ้งท้าย