xs
xsm
sm
md
lg

กยท.มั่นใจก่อนสิ้นปีนี้ราคายางทะลุ 100 บาท/กก. ทุ่ม 400 ล้านเปิดโรงงานยางแท่ง STR20 รองรับ EUDR ตรวจสอบย้อนกลับ 100%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กยท.มั่นใจก่อนสิ้นปีนี้ราคายางทะลุ 100 บาท/กก.อย่างแน่นอน ย้ำชัดครั้งนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ประกาศเดินหน้าเอาจริงปราบยางเถื่อนตรวจสอบเส้นทางด้านการเงิน สาวให้ถึงต้นตอ เตรียมจับผู้ค้ารายใหญ่ส่ง DSI ดำเนินคดี พร้อมเร่งขับเคลื่อนใช้มาตรการ EUDR ขยายตลาด เตรียมเปิดโรงงาน STR20 หลังทุ่มเงิน 400 ล้านบาทปรับปรุงใหม่ตรวจสอบย้อนกลับได้ 100%

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคายางว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันราคายางค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ โดยเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 86.42 บาทต่อกิโลกรัม จากก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 70 บาทต่อกิโลกรัม คาดว่าก่อนสิ้นปี 2567 ราคายางจะทะลุเลข 3 หลัก หรือมากกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัมอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เนื่องจากการขับเคลื่อนนโยบายด้านยางพาราของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการเอาจริงเรื่องการปราบปรามยางเถื่อน แม้ในช่วงที่ผ่านมาที่จะไม่มีการออกข่าวก็ตาม แต่ได้มีการตรวจจับดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้มีการตรวจสอบเส้นทางการเงิน การเสียภาษีของผู้ค้ายาง เพื่อสาวให้ถึงต้นตอของผู้ประกอบการที่ค้ายางเถื่อน โดยผู้ที่สร้างความเสียหายมูลค่าเกิน 30 ล้านบาท ถือว่าเป็นผู้ค้ารายใหญ่ จะส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ซึ่งมีหลายรายที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการยาง คาดว่าจะเปิดรายชื่อผู้ค้ายางเถื่อนรายใหญ่ที่ทำลายระบบยางได้ภายในปีงบประมาณ 2567 นี้

นอกจากนี้ กยท.ยังได้ขับเคลื่อนมาตรการรองรับกฎหมาย EUDR (EU Deforestation-free Products Regulation) ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท ที่จะนำเข้าและส่งออกจากสหภาพยุโรป (EU) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป และยางพาราก็เป็นหนึ่งใน 7 สินค้าเกษตรดังกล่าว ต้องปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ายางพาราและผลิตภัณฑ์มาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมทั้งจะต้องมีการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม ทั้งนี้ กยท. ตั้งเป้าที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถตรวจสอบกลับตามกฎหมาย EUDR 100%


“ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญต่อ EUDR และการปราบปรามยางเถื่อน เพราะหากปล่อยให้ยางเถื่อนหรือยางนอกระบบเข้ามาในประเทศไทยแล้ว จะไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมาย EUDR ในการตรวจสอบย้อนกลับได้ ภาพลักษณ์ของประเทศจะเสียหาย และยังจะทำให้ยางที่ส่งออกจากประเทศไทยขาดความน่าเชื่อถืออีกด้วย จึงจำเป็นจะต้องปราบปรามให้หมดสิ้นโดยเร็วที่สุด ไม่ได้เป็นการทุบหม้อข้าวตนเอง แต่เป็นการทำเพื่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและประเทศชาติ" ดร.เพิกกล่าวย้ำ

ทั้งนี้ หากยางพาราไทยสามารถดำเนินการตามกฎหมาย EUDR ได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดยางพาราใน EU ได้มากขึ้น เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง รวมทั้งยังจะทำให้ประเทศที่ต้องการจะส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบไปขายในตลาด EU หันมาซื้อยางพาราจากประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคายางในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 มีราคาสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพแน่นอน ล่าสุด กยท.ยังเตรียมที่จะเปิดโรงงานยางแผ่นรมควันและโรงงานผลิตยางแท่ง STR20 ที่จังหวัดชลบุรีในเร็วๆ นี้ ซึ่งได้ลงทุนกว่า 400 ล้านบาทในการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องจักรใหม่ จะเป็นโรงงานแรกและโรงงานแห่งเดียวของไทยในขณะนี้ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับตามกฎหมาย EUDR ได้ 100%

"การทำให้ยางขึ้นราคาสำหรับผมไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากคือขึ้นไปแล้วต้องยืนระยะอย่างมีเสถียรภาพให้ได้ ที่ผ่านมาไม่สามารถยืนระยะได้ เพราะไม่มีเครื่องมือที่จะรักษาเสถียรภาพราคายาง ดังนั้น กยท.จึงต้องสร้างเครื่องมือขึ้นมา เริ่มจากการดำเนินโครงการยางล้อรถแบรนด์ Greenergy Tyre ซึ่งประสบผลสำเร็จ มีเกษตรกรและประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก สามารถดึงยางออกตลาด เพื่อให้กลไกทางตลาดเป็นตัวกำหนดราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในอนาคตก็จะมีผลิตภัณฑ์จากยางพาราของ กยท.ออกสู่ตลาดอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ จะไม่มีการแทรกแซงหรือชดเชยราคายางอย่างแน่นอน" ประธานบอร์ด กยท.กล่าว

นอกจากนี้ ดร.เพิกกล่าวยืนยันในตอนท้ายด้วยว่า การขับเคลื่อนนโยบายด้านยางพาราของรัฐบาลในขณะนี้เดินมาถูกทิศทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามยางเถื่อน การดำเนินมาตรการรองรับกฎหมาย EUDR โครงการยางล้อรถแบรนด์ Greenergy Tyre และการดำเนินงานด้านอื่นๆ ผนวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าในปี 2567 จะสูงถึง 17 ล้านคัน จากปี 2566 มียอดจำหน่าย 16 ล้านคัน ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยจะอยู่ในช่วงฤดูที่มีฝนตกชุกและอาจจะเกิดน้ำท่วมได้ ทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้เต็มศักยภาพ ผลผลิตยางในช่วงปลายปีออกสู่ตลาดลดลง ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ราคายางเพิ่มขึ้น กยท.มั่นใจว่า ราคาจะทะลุเลข 3 หลักตามที่คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน


















กำลังโหลดความคิดเห็น