ศูนย์พิษวิทยาศิริราชให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘โซดาไฟ’ แนะหากใช้ต้องแน่ใจว่ามีการไหลเวียนของอากาศที่ดีเพื่อป้องกันการสะสมของก๊าซพิษ หากมีกลิ่นผิดปกติหรือฟองก๊าซปรากฏขึ้นให้หยุดทันที ระบายอากาศในพื้นที่ และออกจากบริเวณนั้นทันที
จากกรณีสลดรับวันแม่ ตำรวจหญิงใกล้เกษียณดับคาห้องน้ำภายในบ้านพักข้าราชการตำรวจ สภ.เมืองชลบุรี พร้อมลูกสาวอีก 2 คน คาดสูดดมสารโซดาไฟที่นำมาเทใส่ท่อน้ำอุดตันเป็นเวลานานจนหมดสติและมีอาการสาหัส ตำรวจเร่งหาสาเหตุเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ หรือฆ่าตัวตาย ตามที่นำเสนอข่าว
วันนี้ (13 ส.ค.) เพจ “Siriraj Poison Control Center” ได้ออกมาให้ความรู้ถึงโซดาไฟ โดยระบุว่า “โซดาไฟ หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium Hydroxide) เป็นสารเคมีที่มีสูตรทางเคมีว่า NaOH
คุณสมบัติ
- เป็นของแข็งสีขาว
- ละลายน้ำได้ดี
- มีฤทธิ์เป็นด่างแก่ กัดกร่อนมาก
- เกิดการไหม้ได้หากสัมผัสโดยตรง
ก๊าซพิษที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่เกี่ยวข้องกับโซเดียมไฮดรอกไซด์
1. ก๊าซคลอรีน: เมื่อโซเดียมไฮดรอกไซด์ทำปฏิกิริยากับสารประกอบที่มีคลอรีนบางชนิด
2. ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์: หากโซเดียมไฮดรอกไซด์ทำปฏิกิริยากับสารประกอบที่มีกำมะถัน
3. ก๊าซแอมโมเนีย: เมื่อโซเดียมไฮดรอกไซด์ทำปฏิกิริยากับเกลือแอมโมเนียม
4. ก๊าซไฮโดรเจน: แม้ไม่เป็นพิษ แต่ติดไฟได้ง่ายมากและอาจเป็นอันตรายในความเข้มข้นบางระดับ เกิดขึ้นเมื่อโซเดียมไฮดรอกไซด์ทำปฏิกิริยากับโลหะบางชนิด
5. ก๊าซฟอสฟีน: สามารถเกิดขึ้นได้หากโซเดียมไฮดรอกไซด์ทำปฏิกิริยากับสารประกอบที่มีฟอสฟอรัส
การใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์เป็นน้ำยาขจัดท่อตันอย่างปลอดภัย
1. การระบายอากาศ: ให้แน่ใจว่ามีการไหลเวียนของอากาศที่ดีโดยเปิดหน้าต่างหรือใช้พัดลมระบายอากาศเพื่อป้องกันการสะสมของก๊าซพิษ
2. ออกจากห้องน้ำนั้นทันทีเมื่อใส่โซเดียมไฮดรอกไซด์แล้วและหลีกเลี่ยงการเข้าบริเวณห้องน้ำนั้นอย่างน้อย 30-60 นาที
3. หลีกเลี่ยงการผสมสารเคมี: ห้ามใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์หากมีการใช้น้ำยาฟอกขาว แอมโมเนีย หรือน้ำยาทำความสะอาดที่มีกำมะถันในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเพื่อหลีกเลี่ยงการผลิตก๊าซอันตราย เช่น คลอรีนหรือไฮโดรเจนซัลไฟด์
4. สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล: ใช้ถุงมือ แว่นตานิรภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ แผลไหม้จากสารเคมีและการระคายเคือง
5. การใช้งานอย่างระมัดระวัง: เติมโซเดียมไฮดรอกไซด์อย่างช้าๆ และในปริมาณน้อยเพื่อลดความเสี่ยงจากการกระเด็นและปฏิกิริยาที่อันตราย
6. ใช้น้ำเย็น: ล้างด้วยน้ำเย็น อย่าใช้น้ำร้อนเพื่อป้องกันปฏิกิริยาที่รุนแรงเกินไป
7. การตอบสนองต่อปฏิกิริยา: หากมีกลิ่นผิดปกติหรือฟองก๊าซปรากฏขึ้น ให้หยุดทันที ระบายอากาศในพื้นที่ และออกจากที่นั้นทันที
8. การเก็บรักษาและการกำจัด: เก็บโซเดียมไฮดรอกไซด์ในที่เย็นและแห้ง ห่างจากสารเคมีอื่นๆ
ทั้งนี้ ก่อนใช้ควรศึกษาสารเคมีที่ใช้และวิธีใช้สารเคมีที่ปลอดภัยก่อนเสมอ ด้วยความห่วงใยจากศูนย์พิษวิทยาศิริราช”