xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์นิติเวช เทียบ 2 คดี “ไซยาไนด์” เผยข้อจำกัดที่อาจส่งผลต่อความยุติธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“คดีของคุณตองที่ถูกระบุว่าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้ม ถือว่ามีพิรุธตั้งแต่การเสียชีวิตแล้วครับ เพราะบาดแผลจากอุบัติเหตุไม่น่าจะทำให้ถึงกับเสียชีวิตได้ เมื่อประกอบกับมีข้อมูลว่าผู้เสียชีวิตเพิ่งทำประกันชีวิตไว้ก่อนหน้า ทางทีมแพทย์ จึงระบุถึงความผิดปกติมายังแพทย์ที่ทำหน้าที่ผ่าชันสูตรพลิกศพ ... จึงเป็นที่มาของการตรวจหาสารไซยาไนด์”

ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงเหตุผลที่แพทย์นิติเวช กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการคลี่คลายคดีการเสียชีวิตของ “ตอง” หญิงวัย 25 ปี ที่เสียชีวิตหลังเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้ม ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งต่อมาถูกตรวจพบว่ามีสารไซยาไนด์อยู่ในกระเพาะอาหารเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง จนนำไปสู่การติดตามจับกุม “เบียร์” เพื่อนสนิทของตอง ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตหลายฉบับ รวมเป็นเงินมากกว่า 11 ล้านบาท

“สรุปคือ มันมีข้อสงสัยที่ผิดปกติครับ และเมื่อมีข้อสงสัย ทางแพทย์เจ้าของเคส หรือแพทย์นิติเวช ก็อาจเลือกที่จะตรวจหาสารอะไรบางอย่างได้ และแน่นอนว่า ไซยาไนด์ เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่แพทย์นิติเวชจะเลือกตรวจหา”

ในคำอธิบายของ อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า ทีมแพทย์นิติเวชจะตรวจหาสารต่างๆ ในร่างกายผู้เสียชีวิตก็ต่อเมื่อมีข้อสงสัย ยังมีความหมายที่ซ่อนอยู่ด้วย คือ หากไม่มีข้อสงสัยใดๆ ก็จะยังไม่มีการตรวจหาสารพิษในร่างกายผู้เสียชีวิต เพราะการตรวจแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

“การตรวจหาสารแต่ละชนิดก็มีวิธีการตรวจวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากตรวจหาสารเคมีที่เป็นไปได้ทุกชนิดในร่างกายผู้เสียชีวิต จะมีค่าใช้จ่ายหลายพันบาทหรืออาจไปถึงหลักหมื่นบาทต่อเคส”

“ถ้าเป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีข้อมูลที่น่าสงสัยจากตำรวจ แพทย์ หรือญาติไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต แพทย์นิติเวชก็มักจะไม่ได้ตรวจหาสารพิษ ... ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ คดีของ แอม ไซยาไนด์ ซึ่งมีข้อสังเกตต่อการเสียชีวิตของคนใกล้ชิดผู้ต้องสงสัยรายนี้อีกประมาณ 14 คน แต่ก็ไม่เคยถูกตรวจในขั้นตอนชันสูตรพลิกศพมาก่อนเพราะไม่มีข้อสงสัย ต่างจากเคสของ ตอง ซึ่งเสียชีวิตผิกปกติอย่างชัดเจนและมีประเด็นผลประโยชน์เป็นจเงินจำนวนมากมาเกี่ยวข้องด้วย หรือตัวอย่างกรณีการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยว 6 คน ชาวเวียดนาม ก็ดำเนินการตรวจหาไซยาไนด์ทันที เพราะเสียชีวิตเป็นกลุ่ม และเป็นรูปแบบของการถูกวางยาพิษอย่างชัดเจน”

“ส่วนหนึ่งต้องยอมรับด้วยว่า เป็นเพราะงานนิติเวชถูกจัดให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นงานที่ได้รับงบประมาณไม่มากนัก เพราะงานสาธารณสุขเป็นงานที่ต้องการให้ความสำคัญกับการช่วยชีวิตคนมากกว่าการตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งอาจบอกได้ว่า เป็นงานของกระบวนการยุติธรรมมากกว่า”

ในหลายคดีทีผ่านมา “งานนิติเวชวิทยา” กลายเป็นงานสำคัญที่ใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์มาช่วยคลี่คลายข้อสงสัยและเปิดเผยความจริงจนทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาได้จริง เพราะเป็นหลักฐานที่โต้แย้งไม่ได้ ... แต่หากถอกรหัสจากคำอธิบายของ ผศ.นพ.ภาณุวัฒน์ ก็จะเห็นได้ว่า ในแง่ของการบริหารงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทย ยังไม่ได้จัดให้งานนิติเวชเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น