สินค้าจีนผงาดครองโอลิมปิกเกมส์ที่ปารีส ไม่ใช่เพราะราคาถูก แต่ด้วยคุณภาพจากกระบวนการผลิตที่ล้ำสมัย อันเป็นผลพวงจากการยกระดับอุตสาหกรรมของจีน ด้วยการเร่งผลิตบุคลากรด้าน STEM คือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ จนล้ำหน้าแซงสหรัฐฯ และเดินหน้าสู่เป้าหมายเป็นผู้นำด้านการผลิตของโลกภายในปี ค.ศ.2049
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ซึ่งปิดฉากลงในวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคมนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่เจ้าภาพคือประเทศฝรั่งเศส จะได้แสดงความพร้อมทางด้านการจัดการ และถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณี แนวคิด ปรัชญาของตัวเอง แต่ในเชิงลึกแล้ว มหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ยังเป็น “เวทีแสดงศักยภาพ” ของผู้คน สินค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ จากทั่วทุกมุมโลก ยกตัวอย่างเช่น
Samsung บริษัทผู้ผลิตมือถือสัญชาติเกาหลีก็แจกสมาร์ทโฟนพับได้รุ่น Galaxy Flip 6 ซึ่งชูจุดขายว่าเป็นสมาร์ทโฟน ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างเต็มที่ ให้กับนักกีฬาทุกคน 17,000 เครื่อง
Omega (แบรนด์นาฬิกาในเครือ Swatch Group) หนึ่งในสปอนเซอร์หลัก ผู้ผลิตนาฬิกาสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์นอกจากจะเป็นสปอนเซอร์เรื่องการจับเวลาแล้ว ยังเป็นผู้เก็บข้อมูล สถิติ และผลิตกราฟิกต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ด้วย
ส่วนอาลีบาบา (Alibaba) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ด้านเทคโนโลยีคลาวด์ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงส่วนต่าง ๆ ทั้ง การถ่ายทอดสด การควบคุมการใช้พลังงาน รวมไปถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในโอลิมปิกที่กรุงปารีสครั้งนี้
นอกจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเหล่านี้ที่ได้แสดงศักยภาพทางนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของตัวเองแล้ว ยังมีอีกชาติหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, รองเท้า, อุปกรณ์กีฬาเช่นลูกปิงปอง ไม้ปิงปอง โต๊ะปิงปอง - ลูกและสนามบาสเกตบอล – ลูกและไม้แบดมินตัน – เฟรมจักรยาน – อุปกรณ์ต่าง ๆ ในแข่งขันกีฬายิมนาสติก แข่งมวยปล้ำ แข่งเทควันโด้ รวมไปถึงกรีฑาทั้งประเภท ลู่และลาน ที่ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ผลิตจากประเทศจีน
ไม่นับรวมกับตัวมาสคอต, ของที่ระลึก ไปจนถึงของเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าง สายรัดข้อมือ ผ้าพันคอ ตุ๊กตา ธงชาติ ถ้วยรางวัลจนอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจอ LED, โดรน, อุปกรณ์ไอที รวมไปถึงเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวเตอร์ที่ก็เป็นสินค้าจากบริษัทจีน
MADE IN CHINA กับ เศรษฐกิจโอลิมปิก
ด้วยเหตุที่จีนเป็นโรงงานของโลกเช่นนี้นี่เองนะครับที่ทำให้ทุกครั้งเมื่อมีมหกรรมกีฬายิ่งใหญ่ระดับโลกอย่างโอลิมปิก จีนแม้จะไม่ได้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน แต่กลับรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปเต็ม ๆ โดยจากตัวเลขของรัฐบาลกลางจีน และกรมศุลกากรของจีนระบุว่า เฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 นี้ คือ ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ก่อนที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีสจะเริ่มขึ้น ตัวเลขการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับกีฬา จากมณฑลเจ้อ เจียง ซึ่งเป็นแหล่งหลักในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมเบา และอุตสาหกรรมไฮเทคของจีนจึงมีมูลค่าสูงกว่า 10,000 ล้านหยวน(หรือคิดเป็นเงินไทยก็เกือบ 50,000 ล้านบาท)หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกันปีต่อปี
หลายคนอาจจะคิดว่า จีนอย่างมากก็เป็นได้แค่โรงงานในการผลิตของถูก ๆ เสื้อผ้า รองเท้า ลูกบาส ไม้แบด ลูกปิงปอง รวมไปถึงของที่ระลึก กระจุ๊กกระจิ๊ก ... แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น พัฒนาการในอุตสาหกรรมของจีนนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะจีนไม่ได้เป็นประเทศที่ได้เปรียบเรื่องแรงงานราคาถูก หรือ ค่าจ้างที่ต่ำอีกต่อไป
ทุกวันนี้ชาวจีนมีรายได้ต่อหัวต่อปี หรือ GDP per Capita เฉลี่ยสูงถึง 12,700 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 450,000 บาทต่อหัวต่อปี
ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่รายได้ต่อหัวต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 7,100 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 250,000 บาท) หรือเวียดนาม อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 4,300 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 150,000 บาท) ก็ต้องถือว่า แรงงานในจีนทุกวันนี้มีราคาค่าแรงแพงกว่าเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย หรือ ประเทศเวียดนามอย่างมาก
คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วทำไมจีนยังสามารถยึดครองสถานะและตำแหน่งอันดับที่หนึ่ง ในการเป็นโรงงานของโลก (World’s Factory หรือ World’s Manufacturing Hub) ได้อยู่อย่างต่อเนื่อง ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา?
คำตอบแบบสั้นๆ ของคำถามนี้ ก็คือ อักษรภาษาอังกฤษ 4 ตัว ง่าย ๆ ก็คือ S, T, E และ M อ่านว่า STEM นั่นเอง
ยกตัวอย่างง่าย ๆ อุปกรณ์กีฬาที่ดูเหมือนเป็นสินค้าธรรมดา ๆ อย่าง ลูกปิงปองพลาสติก ซึ่งมีการใช้งานในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีสนี้รวมกว่า 35,000 ลูก
ในการแข่งขันครั้งนี้ ลูกปิงปองแบรนด์เดียวที่ถูกคัดเลือกให้ใช้ในการแข่งขันก็คือ ยี่ห้อปลาคู่ หรือซวงอี๋ว์ (Double Fish) ซึ่งมีผู้ผลิตเป็นบริษัทผลิตเครื่องกีฬาใหญ่ของจีนที่ตั้งอยู่ที่เมืองกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง
ทั้งนี้ สาเหตุที่ “ลูกปิงปองยี่ห้อปลาคู่” ได้รับเลือกให้ใช้เป็นลูกปิงปองที่ใช้แข่งในกีฬาโอลิมปิกที่ปารีสไม่ใช่เพียงว่า บริษัทจีนแห่งนี้สามารถผลิตลูกปิงปองมาตรฐานได้ในราคาถูกเท่านั้น แต่เกิดจากการวิจัย และพัฒนาคุณภาพของลูกปิงปอง ให้สอดคล้องมาตรฐานของ “สหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ” มากที่สุด
โดย บริษัทจีนแห่งนี้ ใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบลูกปิงปองอัตโนมัติ 15 ขั้นตอน เพื่อช่วยเลือกลูกปิงปอง 3-5 ลูกจาก 100 ลูก เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งตามมาตรฐานของสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาตินั้นความทนทานต่อความยืดหยุ่นของลูกปิงปองต้องน้อยกว่า 25 มิลลิเมตร ในขณะที่ลูกปิงปองที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปารีส นั้นต้องมีคุณภาพเหนือขึ้นไปอีก คือค่าความทนทานต่อความยืดหยุ่นน้อยกว่า 4 มิลลิเมตรเท่านั้น
ซึ่งผู้ผลิตลูกปิงปองแบรนด์จีน “ยี่ห้อปลาคู่” นั้นสามารถทำได้ !
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แบรนด์กีฬาจีน ซึ่งอาจครอบคลุมในถึงสินค้าจีนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ได้แข่งขันเพียงแค่ ความพยายามให้มีราคาถูกกว่าผู้ผลิตเจ้าอื่นเท่านั้น แต่ยังใช้การวิจัยและพัฒนา มุ่งมั่นผลิตสินค้าให้มีมาตรฐานสูงกว่าอีกด้วย
กำเนิดกองทัพ STEM
ประเทศจีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า STEM (ซึ่งย่อมาจาก Science, Technology, Engineering, Mathematics คือ วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์)อย่างรวดเร็วได้อย่างไร?
ถึงแม้ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกจำนวนมากยังคงเป็นสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ เช่น MIT, Stanford, Berkeley, Harvard แต่ในช่วงสิบกว่าปีหลังก็มีมหาวิทยาลัยจากจีนขึ้นมาสอดแทรกไม่ว่าจะเป็น ม.ชิงหัว, ม.ปักกิ่ง (เป่ยต้า), ม.ฟู่ต้าน, และ ม.เซี่ยงไฮ้เจียวทง จากที่เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่แสดงให้เห็นว่า ภายในปีหน้า 2568 (ค.ศ.2025) นี้ สถาบันอุดมศึกษาของจีนประมาณ 3,000 แห่ง จะสามารถผลิตผู้จบการศึกษาปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-วิศวกรรม-คณิตศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่าสเต็มศึกษา (STEM Education) ได้เป็นจำนวนเกือบ ๆ 2 เท่าตัวของที่ สหรัฐฯ ทำได้
กล่าวคือมหาวิทยาลัยของจีนจะสามารถผลิตผู้จบปริญญาเอกด้าน STEM ของจีนในปีหน้าจะ มากกว่า 77,100 คนซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นอันยิ่งใหญ่ต่อ การศึกษา และการวิจัยและพัฒนาของจีนขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเคยครองความเป็นเจ้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลับสามารถผลิตด็อกเตอร์ในด้าน STEM นี้ได้น้อยกว่าเกือบครึ่ง คือ 39,959 คน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความถดถอยทางการศึกษาของสหรัฐฯ(ดูตามกราฟด้านล่าง)
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ในเดือนสิงหาคม 2564 ศูนย์ความมั่นคงและเทคโนโลยีใหม่ (Center for Security and Emerging Technology หรือ CSET) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ออกรายงานวิจัยฉบับหนึ่งชื่อว่า “China is Fast Outpacing US STEM PhD Growth” แปลเป็นไทยว่าจีนกำลังก้าวแซงหน้าสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วเรื่องอัตราเติบโตของผู้จบ PhD. สาขา STEM ซึ่งผมกับทีมงานได้อ่านรายละเอียดของรายงานทั้งหมดแล้วพบว่า
รายงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นด้วยว่าคุณภาพการศึกษาระดับปริญญาเอกในจีนได้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และการเติบโตของจำนวนผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกในจีนในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพสูง โดยประมาณ 45 % ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในจีนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Double First Class หรือ ในภาษาจีนคือซวงอีหลิว (双一流) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับแนวหน้าที่สุดของประเทศจำนวน 147 แห่งทั่วประเทศจีน นำโดย มหาวิทยาลัยปักกิ่ง , มหาวิทยาลัยชิงหัว, มหาวิทยาลัยฟู่ต้าน ซึ่งเหล่านี้เป็นชื่อที่คนไทยเราได้ยินอยู่บ่อย ๆ แต่นอกจากบรรดามหาวิทยาลัย 3 แห่งนี้แล้ว ยังมีอีก 140 กว่าแห่งทั่วประเทศจีนที่ผลิตนักศึกษา บัณฑิต ตั้งแต่ระดับชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในทุกสาขาโดยเฉพาะ STEM ออกมาเป็นกองทัพก็ว่าได้ หลายแห่งคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยรู้จัก ยกตัวอย่างเช่น
- ม.เจ้อเจียง ที่เมืองหางโจวเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งทางวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ โดยนักเขียนชื่อก้องอย่าง “กิมย้ง” เคยเป็นคณบดีคณะวรรณกรรม ส่วน บ.อาลีบาบานำแจ็ค หม่า ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในหางโจว เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ในการสร้างห้องวิจัยควอนตัม คอมพิวเตอร์ให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย
- ม.เซี่ยงไฮ้เจียวทง (มหาวิทยาลัยที่เจียง เจ๋อหมินจบการศึกษา)
- ม.มหาวิทยาลัยการบินและอวกาศปักกิ่ง (หรือ เป่ยหาง)มหาวิทยาลัยหลักที่เป็นแหล่งผลิตงานวิจัยด้านการบิน และอวกาศของจีน
- ม.เกษตรศาสตร์แห่งประเทศจีน ซึ่งผลิตงานวิจัยด้านเกษตรศาสตร์ชั้นนำของโลก
- ม.วิศวกรรมศาสตร์ฮาร์บิน
เป็นต้น
โดย คุณภาพ และปริมาณของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกของประเทศเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และความสามารถของจีนในการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้าน STEM ระดับปริญญาเอกที่มีทักษะก็ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
“ถ้าหักบรรดานักศึกษานานาชาติออกไปจากตัวเลขของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯแล้ว ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก (PhD.) สาขา STEM ที่เป็นชาวจีน จะมีจำนวนมากกว่าผู้สำเร็จการศึกษาที่เป็นชาวอเมริกันในอัตราส่วนมากกว่าถึง 3 ต่อ 1 เลยทีเดียว” รายงานการศึกษาของจอร์จทาวน์ชิ้นนี้ระบุไว้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ปรากฎการณ์ที่ จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ในเรื่องจำนวนการผลิตผู้ที่จบการศึกษา PhD. สาขา STEM นั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นปีสองปีที่ผ่านมา แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว และเมื่อถึงปี 2562 ก็นำห่างออกไปราวๆ 47% ความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและปัจจุบันแนวโน้มก็ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่
อย่างที่ผมกล่าวไปว่า ภายในปีหน้า คือ ปี 2568 จีนจะผลิตบุคลากรที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าสหรัฐฯ ถึงเกือบสองเท่าตัวคือ 77,100 คน เทียบกับ 39,900 คน
ขณะที่เมื่อย้อนเวลากลับไป 24-25 ปีที่แล้ว คือ ในปี 2543 หรือ ค.ศ.2000 คือช่วงต้นศตวรรษที่ 21 สหรัฐฯ ยังผลิตผู้จบปริญญาเอกสาขาสเต็มศึกษา (PhD. STEM) ได้มากมายที่สุดในโลก และมากกว่าสถาบันการศึกษาของจีนกว่า 2 เท่าอยู่เลย ดัง [ตารางต่อไปนี้] คือ ในปี 2543 หรือ ค.ศ.2000 สหรัฐฯ สามารถผลิตผู้จบปริญญาเอกด้าน STEM ได้18,289 คนขณะที่จีนผลิตได้เพียง 9,038 คน
แต่เมื่อเวลาผ่านไป 25 ปี สหรัฐฯ สามารถผลิต PhD. ด้าน STEM ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 2 เท่าตัวกว่า ๆ แต่จีนกลับผลิต PhD. ด้าน STEM ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 8-9 เท่า !
ด้วยเหตุนี้เอง หนึ่งในนักวิจัยซึ่งอยู่ในคณะผู้เขียนรายงานของ CSET ที่ชื่อ นายเรมโค ซเวตสลูต (Remco Zwetsloot) ชิ้นนี้กล่าวเตือนเอาไว้ด้วยว่า
“เมื่อพิจารณาจากขนาดขอบเขตของการลงทุนที่จีนทุ่มเทลงไปในการศึกษาระดับอุดมศึกษา และการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับ จีนที่มีเดิมพันสูงลิ่ว
“ความแตกต่างในการผลิต บุคลากรปริญญาเอก สาขาสเต็มศึกษา จะกลายเป็นตัวบ่อนเซาะทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติในระยะยาวของสหรัฐฯ ได้ และดูจะไม่มีทางเอาเสียเลย ที่สหรัฐฯ จะยังคงแข่งขันกับจีนต่อไปได้ในแนวรบด้านนี้ ในการดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถไว้ โดยที่สหรัฐฯ ไม่ต้องดำเนินการปฏิรูปเรื่องการอพยพเข้าเมือง ... มันเป็นเกมที่มองกันแง่ตัวเลขก็เข้าใจได้แล้ว”
ความหวาดระแวงกังวลของสหรัฐเกี่ยวกับการ “สูญเสียคนเก่งที่มีความสามารถ” ที่จะเพิ่มความเสี่ยงของการขโมยผลงานวิจัย จึงทำให้ต้องขบคิดพิจารณาด้วยว่าระบบการเรียนการสอนสาขา STEM ของสหรัฐฯ ควรเปิดกว้างต่อผู้มีความสามารถและความร่วมมือระหว่างประเทศมากน้อยเพียงใด
วิสัยทัศน์ผู้นำจีน ตั้งแต่เติ้ง เสี่ยวผิง ถึง สี จิ้นผิง
จริง ๆ หลังการปฏิรูปเปิดประเทศจีนภายใต้การนำของอดีตผู้นำรุ่นที่ 2 คือ เติ้ง เสี่ยวผิง ก็มีการให้ความสำคัญกับการพัฒนา “วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี” อยู่แล้ว โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ต้นทศวรรษที่ 1980 มีการออกนโยบาย 4 ทันสมัย หรือFour Modernizationsหรือในภาษาจีนกลางคือซื่อเก้อเซี่ยนไต้ฮั่ว (四个现代化)อันประกอบไปด้วย
(1) อุตสาหกรรมทันสมัย
(2) การเกษตรทันสมัย
(3) การทหารทันสมัย
(4) วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทันสมัย คือ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้วยประการต่างๆ ออกกฎหมายสิทธิบัตร ตั้งเป้าให้จีนมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทียบเท่าระดับโลก
แต่ความฝันของเติ้ง ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 40 กว่าปี ผ่านผู้นำจากอีก 3 รุ่น กว่าจะเป็นความจริง
จากผู้นำรุ่นที่ 2 คือ เติ้ง เสี่ยวผิงผ่านเจียง เจ๋อหมิน (รุ่นที่ 3), หู จิ่นเทา (รุ่นที่ 4)มาถึงสี จิ้ผิง (รุ่นที่ 5)การก้าวกระโดดของความทันสมัยทางวิทยาศาสตร์ทางเทคโนโลยี ซึ่งก็คือ เรื่องสเต็มศึกษาของจีนให้สามารถเทียบเท่าระดับโลกได้จึงเพิ่งกลายเป็นความจริง
ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความก้าวหน้าด้าน STEM ของเกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของผู้นำจีนอย่างผู้นำคนปัจจุบันคือ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
โดย ประธานาธิบดีสี เคยให้แนวทางหลักท่ามกลางการประชุมร่วมของสมัชชาใหญ่ของสมาชิกสถาบันวิทยาศาสตร์จีนและสถาบันวิศวกรรมศาสตร์จีน กับการประชุมใหญ่แห่งชาติของสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่มีผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าร่วมประมาณ 3,000 คนว่า
“การพึ่งพาตนเองและการเสริมสร้างตนเองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรพิจารณาให้เป็นการสนับสนุนเชิงกลยุทธ์สำหรับการพัฒนาชาติอยู่เสมอ และเรียกร้องทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจเด็ดเดี่ยวทำให้สำเร็จก้าวหน้าในเทคโนโลยีหลักในสาขาสำคัญๆ เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนจะมีส่วนสนับสนุนมากขึ้นในการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ”
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 หรือ Industry 4.0 สร้างเส้นทางใหม่สู่ประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยโดยสมบูรณ์ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 และได้ดำเนินการต่อเนื่องมา 10 ปี โดยตั้งเป้าหมายปี 2568 ยกระดับ อุตสาหกรรมที่เน้นแรงงาน (Labor Intensive) สู่ อุตสาหกรรมนวัตกรรม เริ่มจากเป้าหมาย 40% ในปี 2563 ขึ้นเป็น 70% ในปี 2568 โดยจะเน้นในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ คือ
1)การสร้างศูนย์สร้างสรรค์อุตสาหกรรมใหม่
2)ผลิตสินค้าอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
3)สร้างโครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศอุตสาหกรรม
4)การผลิตอุตสาหกรรมสะอาด (Green Industry)
และ 5)มีความสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีระดับสูง ทั้งในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ ยานยนต์ การบิน อวกาศ เซมิคอนดัคเตอร์ ไอที แบตเตอรี่ และหุ่นยนต์
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนอกจากจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิตของจีน ยังเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่มหัวเว่ย และส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพ และพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมภาคบริการแบบ High-End เช่น การออกแบบนวัตกรรม การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รวมถึงภาคการเงิน การวิจัยและพัฒนา
ซึ่งแผนการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ของMade in China 2025เป็นแผนระยะ 10 ปี มีเป้าหมายปฏิรูปด้านการผลิตไปสู่มหาอำนาจชั้นนำด้านการผลิตระดับโลก 3 ระยะ คือ
ระยะแรก ปี 2568 (ค.ศ.2025) คือ จีนเสริมความแข็งแกร่งให้กับการผลิต โดยมีเป้าหมายว่า โครงการทดลองจะสามารถลดต้นทุนการผลิต ลดระยะเวลาในการผลิต และลดอัตราของเสียได้ 50%
ระยะที่สอง ปี 2578 (ค.ศ.2035) คือ ยกระดับคุณภาพการผลิตให้มีศักยภาพเทียบเท่าระดับโลก
ระยะที่สาม ปี 2592 (ค.ศ.2049) ซึ่งเป็นปีที่จีนจะครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงตั้งเป้าก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านการผลิตที่แข็งแกร่งของโลก
หัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จคือการสร้างคนเก่งในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในแผนยุทธศาสตร์Made in China 2025 หรือIndustry 4.0ได้สร้างปรากฏการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกที่เรารู้จัก ภาพการเติบโตอย่างรวดเร็วของการผลิตผู้จบสเต็มศึกษาระดับปริญญาเอก เช่นด้าน ควอนตัมฟิสิกส์ เดินชนกันเต็มไปหมด
ตัวเลขของผู้จบปริญญาเอกสาขาสเต็มศึกษา (STEM) ของจีนปีละกว่า 7 หมื่นคนนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก สะท้อนถึงความมุ่งมั่นอย่างลึกซึ้งต่อการศึกษาและการวิจัยของจีน ซึ่งไม่ใช่แค่การเพิ่มตัวเลขคนจบด็อกเตอร์ หรือปริญญาเอกเท่านั้น แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิทัศน์ทางปัญญาของโลก การเติบโตครั้งนี้จะกำหนดขอบเขตใหม่ของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เดินทางสู่อนาคตของนวัตกรรมและการค้นพบที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ผู้มีสติปัญญาอันเฉียบแหลม
บรรดาปัญญาชนเหล่านี้คือสถาปนิกแห่งโลกอนาคต นักวิจัย วิศวกร AI และนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ 77,000 คน พร้อมรับมือกับความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดของโลก ตั้งแต่อวกาศจนถึงพื้นดิน การวิจัยเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงขยายขอบเขตนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ พลังงานและการขนส่ง ขับเคลื่อนความก้าวหน้า ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่อาจเปลี่ยนแปลงโลกได้พร้อมที่จะเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
รัฐบาลสี จิ้นผิงทุ่มเทงบลงทุนอย่างหนักประมาณถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือคิดเป็นเงินบาทก็เท่ากับ 10.6 ล้านล้านบาท (เทียบเท่ากับงบประมาณประเทศไทยทั้งหมดเป็นเวลา 3 ปีเต็ม ๆ) พัฒนางานวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย และดึงดูดคนเก่งผู้มีความสามารถระดับสูงสาขาต่าง ๆ จากทั่วโลก สร้างแหล่งรวมความคิดและมุมมองต่างๆ และความมุ่งมั่นเพื่อความเป็นเลิศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ให้สอดคล้องกับการเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานของจีนยุคขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่สำคัญหลายอย่าง ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีด้านคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟ ความเร็วสูง โดรนขนส่งสินค้า และรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อวางตำแหน่ง ประเทศจีนให้เป็นผู้นำระดับโลกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แถวหน้าของโลก
นอกจากนี้ ผลประกอบการด้านการลงทุนร่วมกับนานาชาติก็มีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการ Belt and Road Initiatives (BRI) และโครงการช่วยเหลือคนยากจนในจีนก็ประสบความสำเร็จ ทำให้ประชากรกว่า 6 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน รวมถึงการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันและการปรับโครงสร้างการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย
ผลกระทบระดับโลก คาดว่า กองทัพบุคลากรระดับหัวกะทิที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในระดับสูงนี้จะขับเคลื่อนความก้าวหน้า ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ และขยายขอบเขตของนวัตกรรมในสาขาต่างๆ ให้กว้างไกลกว่านี้อีกมาก
“ท่านผู้ชม ลองจินตนาการถึงความเป็นไปได้หากโลกใช้ประโยชน์จากพลังสมองระดับโลก และทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนที่สุดของโลก โดยมีจีนเป็นอนาคตของนวัตกรรมด้านสเต็มศึกษา จะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังศักยภาพการเปลี่ยนโลกของมนุษย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จีนจะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมที่หล่อหลอมโลกที่เราอาศัยอยู่” นายสนธิ กล่าว