xs
xsm
sm
md
lg

“หมอดื้อ” ชี้ นอนกลางวันมาก - บ่อย เร่งโรคอัลไซเมอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เผยข้อมูลน่าสนใจ ชี้ นอนกลางวัน บ่อย-นาน เร่งโรคอัลไซเมอร์ และสุ่มเสี่ยงให้เกิดโรคมากขึ้น


วันนี้ ( 10 ส.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ในประเด็น “นอนกลางวันกับสมองเสื่อม” โดย หมอธีระวัฒน์ ได้ระบุว่า

“พฤติกรรมการงีบกลางวัน เป็นลักษณะของบุคคล หรือเป็นการทดแทนการนอนไม่ดีตอนกลางคืนหรือการที่ต้องตื่นเช้าเกินไป

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เผินๆแล้วดูไม่น่าสนใจแต่เมื่อนำมาผนวกกับดัชนีสุขภาพทางด้านหัวใจและเมตาบอลิก (cardiometabolic) พบว่าเริ่มมีความเกี่ยวพันกันกับอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น และจีโนมในบางตำแหน่งที่สัมพันธ์กับการงีบหลับกลางวันมีความเชื่อมโยงกับ orexin

นอกจากนั้น การนอนและการหลับตื่นที่แปรปรวนผิดปกตินั้น ยังพบว่า เป็นปรากฏการณ์ร่วมในโรคสมองเสื่อม ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละชนิด แต่ชัดเจนในสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ และเป็นความผิดปกติของกลุ่มเซลล์ประสาทที่กระตุ้นให้ตื่น โดยโปรตีนพิษ ทาว เป็นตัวก่อเหตุ

รหัสพันธุกรรมที่ได้จากการศึกษาจีโนมมนุษย์ ยังมีส่วนกำหนดพฤติกรรมของการนอนน้อย นอนนาน ชอบงีบหลับกลางวัน และเกี่ยวโยงไปถึงสุขภาพของร่างกายที่เกี่ยวกับหัวใจและเส้นเลือด ตรงกับที่เราทราบมานานพอสมควรแล้วว่าสุขภาพร่างกาย หัวใจหลอดเลือด ความดัน ไขมัน น้ำหนัก จะสัมพันธ์โดยตรงกับการสะสมของโปรตีนพิษในสมองอัลไซเมอร์ โดยผ่านกระบวนการอักเสบ เป็นต้น

การศึกษาในต้นปี 2022 ในวารสาร Alzheimer’s Dement จากคณะทำงานในสหรัฐฯหลายสถาบัน UC San Francisco และ Harvard Medical School โดยวางสมมติฐานต่อเนื่องจากความรู้ที่ผ่านมา โดยผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า

การงีบหลับกลางวันจะมากและบ่อยขึ้น แปรตามโรคและพยาธิสภาพของอัลไซเมอร์ และที่น่าประหลาดใจ (แกมตกใจ) ก็คือ การงีบหลับกลางวันบ่อย นาน จะเร่งโรคอัลไซเมอร์

ทั้งนี้ แม้ว่าจะได้ปรับผลกระทบที่เกิดจากการที่นอนตอนกลางคืนไม่ดีหรือไม่มีคุณภาพแล้ว โดยสามารถสรุปได้ว่าการนอนกลางวันส่งผลสุ่มเสี่ยงให้เกิดโรคมากขึ้น

โครงการนี้เริ่มในปี 2005 โดยมีอาสาสมัครทั้งหมด 1,401 คน เป็นผู้หญิง 1,065 คน เกณฑ์อายุเฉลี่ยที่ 81.4 ปีและมีการติดตามทุกปี โดยมีการประเมินสมรรถภาพสมอง หรือต้นทุนสมองด้วยการตรวจทางพุทธิปัญญา โรคร่วมที่มี เป็นต้น การศึกษาจบลงเมื่อสิ้นสุดเดือนเมษายน 2020

การสรุปความแปรปรวนความผิดปกติทางสมองโดยใช้แบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป ตั้งแต่ระดับ ก้ำกึ่ง (MCI mild cognitive impairment) หรือน้อย (mild) และระดับปานกลาง (moderate) จนถึงรุนแรง (severe) ตามลำดับ

สุขภาพและพฤติกรรมของการนอน วิเคราะห์ในตอนกลางคืน ความผันแปรที่เกิดขึ้น ทั้งระยะเวลาทั้งหมดของการนอน จำนวนที่การนอนขาดช่วงเป็นระยะ และการตื่นหลังจากที่เริ่มมีการนอน ความผันผวนในระหว่างวันเดียวกัน และต่างวันกัน เมื่อเริ่มต้นโครงการ 75.7% ของอาสาสมัครไม่มีความผิดปกติทางสมองเสื่อม และ 19.5% อยู่ในระดับก้ำกึ่ง (MCI) และ 4.1% เป็นสมองเสื่อม

ในคนที่ปกติตั้งแต่เริ่มต้น การงีบหลับกลางวัน จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 11 นาทีต่อวัน แต่แล้วเมื่อพบว่าพัฒนาเป็นระดับ MCI การงีบหลับจะเพิ่มขึ้นสองเท่ากลายเป็น 24 นาทีต่อวัน และนานมากขึ้นเป็น 69 นาทีต่อวัน เมื่อถึงระดับสมองเสื่อมแล้ว...

ในขณะเดียวกันได้ทำการวิเคราะห์อาสาสมัคร 24% ที่ปกติในตอนเริ่มต้น แต่พัฒนาเป็นอัลไซเมอร์ ในหกปีต่อมา พบว่าคนที่งีบหลับมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นโรคสมองเสื่อมถึง 40% เมื่อเทียบกับคนที่งีบน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน

และคนที่งีบมากกว่าหนึ่งครั้งต่อวันจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่งีบน้อยกว่าหนึ่งครั้งถึง 40%

ผลการศึกษานี้ ยืนยันการศึกษาในปี 2019 ที่พบว่าผู้ชายสูงอายุที่งีบหลับกลางวัน 2 ชั่วโมงจะสุ่มเสี่ยงที่จะมีสติปัญญาเสื่อมถอยมากกว่าคนที่งีบน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน ผลที่ได้จากการศึกษานี้ เป็น bidirectional คือส่งผลได้ทั้งสองทิศทาง สมองเสื่อมมากงีบหลับมาก และงีบหลับกลางวันมากเร่งให้สมองเสื่อมมาก

แต่กระนั้นยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีกลไกอะไร ที่การงีบนอนหลับกลางวัน บ่อยไป นานไป มากไปกลับเร่งสมองเสื่อมจากนั้นนำ ไปถึงการตั้งคำถามต่อว่า ในประเทศที่มีประเพณีการงีบหลับ กลางวันตอนบ่าย จะเกิดผลกระทบมากน้อยเท่าใด จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่

ซึ่งในประเทศสเปนเริ่มมีการพิเคราะห์เรื่องนี้แล้ว และขณะเดียวกัน การงีบกลางวันเพื่อที่จะชดเชยการนอนกลางคืนที่ไม่พอหรือที่คุณภาพไม่ดี ควรจะนอนเป็นเวลานานเท่าใด ที่จะเหมาะสม และแน่นอน ต้องมีการเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพของร่างกายด้านคาร์ดิโอเมตาบอลิก (cardiometabolic)

ทั้งนี้ จะมีการควบรวมกับยีน หรือจีโนมของแต่ละคนหรือไม่ว่า นอนอย่างไรนานเท่าไร นอนกลางวันหรือกลางคืน ที่สมองจะยังดีอยู่ หรือไม่เสื่อม

อ่านถึงตรงนี้ คงได้ข้อสรุปคล้ายๆ กันกับตัวหมอดื้อว่า เมื่อไหร่ง่วงก็นอน นอนไม่หลับ ก็ทำนู่นทำนี่ไป สำหรับหมอเองอีกไม่นานก็นอนยาวแล้วไว้ถึงตอนนั้นค่อยนอนดีกว่า.

ศ นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
มหาวิทยาลัยรังสิต
กำลังโหลดความคิดเห็น