xs
xsm
sm
md
lg

7 เหตุผล ตอกย้ำมีการนำเข้ากลุ่มปลาสวยงาม เป็นไปได้ต้นเหตุระบาดของปลาหมอคางดำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

ปัญหาปลาหมอคางดำ (ปลาหมอสีคางดำ เป็นตัวเดียวกัน) กลายเป็นวาทะกรรมระหว่างสื่อบางสำนักจับมือกับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ค้นหาข้อมูลของบริษัทเอกชนเพื่อชิง “ความเหนือ” ในการนำเสนอข่าวสารเชิงลึกมากกว่าคู่แข่ง ขณะที่บริษัทเอกชนออกมาแถลงข่าวพบภาพเท็จ-ข้อความเท็จ ใช้ข้อมูลประกอบการสื่อสารในเวทีสาธารณะและโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สังคม และกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กร ทั้งภาพที่อ้างเป็นฟาร์มบริษัท บ่อดินที่อ้างว่าเป็นบ่อเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ รวมถึงบ่ออนุบาลปลาหมอคางดำและบ่อผสมพันธุ์ ล้วนเป็นการบิดเบือนเบือนข้อเท็จจริง ไล่ตรวจสอบคนอื่น แต่ไม่ตรวจสอบตัวเองปล่อยข้อมูลเท็จโจมตีอีกฝ่าย 

อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่ยังไม่มีความชัดเจนและไม่ควรละเลยในการพิจารณาว่าปัจจัยของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ คือ การส่งออกปลาหมอคางดำในกลุ่มปลาสวยงาม ระหว่างปี 2556-2559 ของ 11 บริษัท ส่งออกไป 17 ประเทศมากกว่า 300,000 ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีตัวเลขส่งออกแต่ไม่มีตัวเลขนำเข้าแล้วพ่อแม่พันธุ์ปลามาจากที่ไหน และหลังปี 2559 ไม่มีการส่งออกแล้วปลาที่เหลือไปอยู่ที่ไหน วันนี้จึงมี 7 คำถาม ยังต้องสอบสวนกลุ่มปลาสวยงามที่ไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะเป็นไปได้ที่จะเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในขณะนี้เช่นกัน ดังนี้ 

1. ตามมาตรฐานสากลการนำเข้า-ส่งออก พิจารณาจากชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Sarotherodon melanotheron และชื่อสามัญของปลา คือ Blackchin Tilapia ตามลำดับ ส่วนชื่อภาษาไทยไว้ใช้ในประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้น ปลานี้จะถูกเปลี่ยนเป็นชื่ออะไรก็ตาม ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญจะเป็นข้อมูลบ่งบอกตัวตนที่แท้จริงของปลา เช่นเดียวกับที่บริษัทเอกชนเมื่อขออนุญาตนำเข้าใช้ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญดังกล่าวแต่ชื่อภาษาไทยเดิมระบุเป็นปลานิล แต่เปลี่ยนเป็นปลาหมอเทศข้างลาย ตามที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด เท่ากับบริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอเทศข้างลายไม่ใช่ปลาหมอคางดำ ใช่หรือไม่

2. เป็นไปได้อย่างไร ที่บริษัทผู้ส่งออกปลาสวยงามซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ จะให้ข้อมูลผิดพลาดกับบริษัทชิปปิ้ง จนทำให้เกิดความสับสนและลงชื่อผิดของชิปปิ้งเหมือนกันทั้ง 11 บริษัท และผิดพลาดต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี โดยหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบไม่พบความผิดปกตินี้ ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้เปิดตัวอย่างปลาส่งออกตรวจสอบที่ด่านกักกัน ที่สำคัญพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีการแสดงแหล่งที่มาของปลาก่อนส่งออก ทั้ง 11 บริษัทได้สำแดงเอกสารเหล่านี้อย่างถูกต้องหรือไม่

3. เหตุใด NGO จึงเข้าไปตรวจสอบเอกสารและเข้าถึงข้อมูลของทางราชการที่ด่านสุวรรณภูมิ ช่วงปี 2558-2559 ได้โดยง่าย และการตรวจสอบในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีการใช้ชื่อปลาหมอคางดำ ดังนั้นตรวจอย่างไรก็ไม่พบชื่อของปลาชนิดนี้แน่นอน เห็นได้ว่าเป็นการเจาะจงตรวจเฉพาะปี 2558-2559 ทั้งที่กรมประมงรายงานว่ามีการส่งออกปลาหมอสีคางดำระหว่างปี 2556-2559 อาจเป็นไปได้ว่าช่วงปี 2556-2557 มีการส่งออกปลาชนิดนี้ใช่หรือไม่


4. การอ้างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องถึงเหตุที่มีการใช้ชื่อวิทยาศาศตร์ Sarotherodon melantehron และชื่อไทย “ปลาหมอสีคางดำ” เพื่อเลี่ยงการแสดงหลักฐานมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (Good Aquaculture Practice : GAP) เพื่อให้การส่งออกทำได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นมาตรฐานบังคับของกรมประมงสำหรับการส่งออกปลาหลายชนิด รวมถึงสายพันธุ์ปลานิลด้วย กรมประมงจึงควรดำเนินการกับ NGO ที่กล่าวอ้างให้เกิดความเสื่อมเสียกับหน่วยงานรัฐ ฐานสนับสนุนให้หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การส่งออกของทางราชการ

5. กรณีปลาหมอคางดำ เป็นปลาสายพันธุ์ต่างถิ่น (Invasive alien species) จำเป็นที่ประเทศผู้นำเข้าปลาปลายทางต้องมีการมาตรการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างเข้มงวด จึงเป็นไปได้ยากที่จะไม่มีการตรวจสอบปลาจำนวนมากก่อนเข้าประเทศ และจะตรวจสอบตามมาตรฐานสากลคือตรวจสอบจากชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญ เป็นสำคัญ

6. การส่งออกช่วงปี 2556-2559 ซึ่งเป็นช่วงหลังการระบาดของปลาหมอคางดำ ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจนถึงขณะนี้บริษัทผู้ส่งออกปลาสวยงามทั้ง 11 บริษัทต้องรับผิดชอบด้วย ขณะที่เอกสารของทางราชการระบุว่ามีการระบาดของปลาชนิดนี้ในปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงหลังการส่งออกปลาหมอสีคางดำ เหตุใด NGO จึงต้องปกป้อง 11 บริษัทส่งออกปลาสวยงาม หากแต่ควรผลักดันให้มีการสอบสวนผู้ส่งออกเหล่านั้นเพราะมีการส่งออกปลาถึงกว่า 300,000 ตัว

7. ส่วนนักวิชาการและนักวิชาการประมงบางท่าน ยืนยันว่าไม่เคยพบปลาหมอคางดำในสารบบปลาสวยงามของไทย แม้จะยอมรับว่ามีการนำเข้าปลาที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์จริง แต่ไม่ใช่ Sarotherodon melanotheron (ปลาหมอคางดำ) นักวิชาการกลุ่มนี้ กล้ายืนยันได้หรือไม่ว่าไม่มีการเพาะเลี้ยงปลาห้ามเลี้ยงอย่างปลาหมอคางดำ ทั้งที่ 11 บริษัทผู้ส่งออก ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามกับกรมประมงเรียบร้อยแล้ว

หากพิจารณากันด้วยความโปร่งใสไม่ควรฟังความข้างเดียว แต่ต้องพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะคำถามทั้ง 7 ข้อดังกล่าว ล้วนมีเหตุผลและมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น ที่สำคัญข้อมูลและภาพอันเป็นเท็จ ที่ถูกนำเสนอไปแล้วยังไม่ถูกตรวจสอบ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ควรถูกตรวจสอบบนมาตรฐานเดียวกันโดยไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ที่สำคัญวาทะกรรมที่เผยแพร่กันขณะนี้ช่วยลดปริมาณปลาหมอคางดำออกจากระบบได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น