มองเกมอิสราเอลยิงจรวดนิวิถีสังหารผู้นำฮามาสกลางกรุงเตหะราน หลังเพิ่งปลิตชีพ ผบ.ทหารฮิซบอลเลาะห์ ในกรุงเบรุตของเลบานอน “เนทันยาฮู” หวังล่ออิหร่าน-ฮิซบอลเลาะห์เปิดสงครามกับอิสราเอลโดยตรง และดึงสหรัฐฯ เข้ามาสู้กับอิหร่าน
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส คือ นายอิสมาอิล ฮานิเยห์ (Ismail Haniyeh) ถูกลอบสังหารอย่างอุกอาจในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อเวลาประมาณตี 2 ของวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 จากการโจมตีทางอากาศของกองทัพอิสราเอล โดยใช้จรวดนำวิถีความแม่นยำสูง ซึ่งในการโจมตีดังกล่าวยังมีเจ้าหน้าที่อารักขานายฮานิเยห์ถูกสังหารเสียชีวิตอีก 1 รายด้วย ทั้งนี้ นายฮานิเยห์ ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของฮามาสที่ถูกสังหารนับตั้งแต่สงครามกาซาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566
สำหรับ การโจมตีดังกล่าวของอิสราเอลนั้น ถือเป็นการฉวยโอกาสในห้วงเวลาที่ นายฮานิเยห์เข้าร่วมพิธีสาบานตัวประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ นายมาซูด เปเซชเคียน (Masoud Pezeshkian)
การลอบสังหารแขกผู้มาเยือนอย่างอุกอาจกลางกรุงเตหะราน ส่งผลให้อิหร่านเรียก ประชุมสภาความมั่นสูงสุดอิหร่าน และ IRGC เพื่อหารือเกี่ยวกับการลอบสังหารดังกล่าว
การลอบสังหารนายฮานิเยห์เกิดขึ้นห่างกันเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากอิสราเอลอ้างว่าได้โจมตีทางอากาศสังหาร นายฟูอิด ชูคูร์ ผู้บัญชาการทางทหารสูงสุดของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ซึ่งฮิซบอลเลาะห์ก็ได้รับการหนุนหลังโดยอิหร่านเช่นกัน โดยอิสราเอลอ้างว่าเป็นปฏิบัติการตอบโต้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่ยิงจรวดเข้าที่ราบสูงโกลัน ที่อิสราเอลยึดครองอยู่จนทำให้มีเยาวชนเสียชีวิตไป 12 ราย
อย่างไรก็ตามในเวลานี้ฝ่ายอิสราเอลยังไม่ออกมาแสดงความเห็นการเสียชีวิตของ นายฮานิเยห์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ประจำกาซา
ทั้งนี้ ฮานิเยห์ มีชื่ออยู่ใน “บัญชีดำ” ของอิสราเอลนับตั้งแต่กลุ่มฮามาสก่อเหตุบุกโจมตีครั้งใหญ่ในอิสราเอล เมื่อ วันที่ 7 ตุลาคม 2566
โดยปกติแล้ว นายฮานิเยห์ พักอาศัยอยู่ที่ประเทศกาตาร์ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 นายฮานิเยห์ต้องประสบกับความสูญเสียครั้งสำคัญในครอบครัวจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในฉนวนกาซา การโจมตีทางอากาศที่บ้านของครอบครัวเขาในเมืองกาซาทำให้สมาชิกในครอบครัวของเขาต้องเสียชีวิตไปมากถึง 14 ราย
ต่อมาเมื่อ วันที่ 10 เมษายน 2567 ลูกชายของนายฮานิเยห์ 3 คน ได้แก่ฮาเซม, อามีร์และโมฮัมหมัดต้องเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในรถยนต์พร้อมกับหลาน ๆ อีก 4 คน
นอกจากนี้ จากรายงานของสื่ออเมริกันอย่าง CBS จากข้อมูลการโจมตีอาจจะยังไม่จบนี้เนื่องจากยังเชื่อว่ายังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงฮามาสยังคงอยู่ในกาซา และอยู่ในบัญชีดำของอิสราเอล โดยรายชื่อแรกของบัญชีดำคือ นายยาห์ยา ซินวาร์ (Yahya Sinwar) แกนนำระดับสูงของฮามาสในกาซาที่เชื่อกันว่าเป็นอยู่เบื้องหลังการวางแผนการโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566
หลังเกิดเหตุ นายมาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ออกมาประณามการลอบสังหารดังกล่าวด้วยโดยออกแถลงการณ์ระบุว่า “การกระทำดังกล่าว (ของอิสราเอล) เป็นการกระทำอันขลาดเขลา และจะพัฒนาไปสู่สถานการณ์ที่อันตราย” นายอับระบุ ทั้งยังยังเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์ “สามัคคี อดทน และอย่าหวั่นไหวต่อการยึดครองของอิสราเอล”
เมื่อวันที่ 31 ก.ค.นายอยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ได้เรียกประชุมฉุกเฉินสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่าน โดยออกคำสั่งให้อิหร่านโจมตีเล่นงานอิสราเอลโดยตรง เพื่อเป็นการแก้แค้นต่อเหตุการลอบสังหาร นายอิสมาอิล ฮานิเยห์ แกนนำกลุ่มฮามาส กลางกรุงเตหะราน ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์ส ที่อ้างอิงแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อิหร่าน 3 ราย
ทั้งนี้ อิหร่านและฮามาสกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล แต่ทางอิสราเอลซึ่งกำลังทำสงครามกับพวกฮามาสในฉนวนกาซายังไม่ออกมายอมรับหรือปฏิเสธต่อเหตุลอบสังหารฮานิเยห์ ซึ่งอยู่ในเตหะราน เพื่อร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่แห่งอิหร่าน โดยในถ้อยแถลง นายคอเมเนอี บอกว่าอิหร่านจะแก้แค้นโดยตรง
“เรามองการแก้แค้นให้กับเลือดของเขาเป็นหน้าที่ของเรา เพราะว่ามันเกิดขึ้นในดินแดนของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน” ผู้นำสูงสุดของอิหร่านระบุ และเตือนให้อิสราเอลเตรียมตัวสำหรับการรับบทลงโทษที่รุนแรง
นายฮานิเยห์เป็นชาวฉนวนกาซา เกิดที่กาซาซิตี้เมื่อปี 2505 จบการศึกษาด้านวรรณกรรมอาหรับจากมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งกาซา และเข้าร่วมกับขบวนการฮามาส
โดยเขาเป็นสมาชิกคนสำคัญของขบวนการฮามาสตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งตรงกับการลุกฮือครั้งแรกของชาวปาเลสไตน์ (First Intifada) อีกทั้งใน ปี 2532 เขายังถูกอิสราเอลสั่งจำคุกเป็นเวลา 3 ปี
เมื่อพ้นจากการจองจำแล้วใน ปี 2535 นายฮานิเยห์ ก็ถูกเนรเทศไปยังเลบานอน พร้อมกับผู้นำฮามาสอีกหลายคน
อีกหลายปีต่อมา ในปี 2549 นายฮานิเยห์ก็ชนะการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติปาเลสไตน์ในปี 2549 ซึ่งเขาหาเสียงด้วยการรณรงค์ให้ชาวปาเลสไตน์จับอาวุธ ต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐปาเลสไตน์ โดยได้เสียงสนับสนุนมากถึง 74 ที่นั่ง จากทั้งหมด 132 ที่นั่ง
ด้วยเหตุนี้ นายฮานิเยห์จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ แต่เขากลับถูกปลดออกจากตำแหน่งในอีก 1 ปีต่อมา หลังจากที่กลุ่มฮามาสขับไล่พรรคฟาตาห์ของอับบาสออกจากฉนวนกาซา
อย่างไรก็ตาม ฮานิเยห์ปฏิเสธการปลดเขาในครั้งนั้น โดยระบุว่า “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” และเน้นย้ำว่า รัฐบาลฮามาสของเขา “จะไม่ละทิ้งความรับผิดชอบต่อชาติต่อชาวปาเลสไตน์” และยังปกครองฉนวนกาซาต่อไป
ซึ่งพอถึง ปี 2560 ฮานิเยห์ก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าสำนักงานการเมืองของกลุ่มฮามาส โดย เขาเป็น 1 ใน 3 ผู้นำหลักของกลุ่มฮามาส ร่วมกับ นายยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาสที่รับผิดชอบฉนวนกาซา และ นายโมฮัมเหม็ด เดอิฟ ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายทหารและกลุ่มติดอาวุธ โดยฮานิเยห์รับผิดชอบงานด้านการเมืองและการทูตการเจรจาต่าง ๆ
ด้วยเหตุนี้ ใน ปี 2561 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีดำให้นายฮานิเยห์เป็นผู้ก่อการร้าย และเขาจึงได้ลี้ภัยไปยังประเทศกาตาร์ และพำนักอยู่ที่นั่นมาโดยตลอด
ภายหลังเกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว นายฮานิเยห์นั้นถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทในการเจรจายุติสงคราม และปล่อยตัวประกัน โดยเขาเป็นผู้รับผิดชอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของกลุ่มฮามาส และเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยคน ร่วมกับคนกลางจากอียิปต์และกาตาร์เกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิงและปล่อยตัวประกันในฉนวนกาซา
รวมถึงการเจรจากับผู้นำของทางมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็น ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด หรือ นายอันวาร์ อิบราฮิม โดยมีการพบกันทั้งที่กาตาร์ และเมืองต่างๆ ในมาเลเซีย โดยนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบันนั้นมีความสนิทสนมกันอย่างมากกับนายฮานิเยห์
ณ จุดนี้ เมื่อ “ทูตเจรจา” เพื่อบรรเทาความขัดแย้งของฮามาส อย่างนายฮานิเยห์ถูกลอบสังหารอย่างอุกอาจจากฝีมือของอิสราเอล ในเมืองหลวงของอิหร่านเช่นนี้แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “เพลิงสงครามในตะวันออกกลาง” คงจะต้องลุกโชนขึ้นอีกครั้งอย่างแน่นอน
อิสราเอลนั้นพ่ายแพ้ทั้งทางการทหาร และทางการเมืองในสงครามกาซาไปเรียบร้อยแล้ว เพราะนับจาก วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ถึงวันนี้ก็เกือบ 10 เดือนเข้าไปแล้วที่กองทัพอิสราเอลบุกเข้าไปในกาซ่า ถล่มเขาจนราบ ฆ่าผู้บริสุทธิ์ เด็ก ผู้หญิงไปหลายหมื่นคน ก็ยังประกาศชัยชนะไม่ได้
ตัวเลขล่าสุด คือ ที่อัพเดตเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาคือ ในกาซ่า มีคนตายไปแล้ว 39,000 คน ขณะที่ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน วารสารแลนเซต นั้นคาดการณ์ว่าถ้าปล่อยให้สถานากรณ์อย่างนี้ต่อไปในกาซ่าอาจจะมีผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิต มากกว่า 186,000 คน ก็เป็นได้
สถานการณ์เลวร้าย จนถึงขั้นที่ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา - นายเบนนี แกนต์ซ รัฐมนตรีกระทรวงสงครามของอิสราเอล ถึงกับประกาศลาออกจากรัฐบาลของ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ต้องประกาศ ลาออกโดยระบุว่า นายเนทันยาฮู ล้มเหลวในการผลักดันแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ 6 ข้อที่มีความสำคัญระดับชาติ และแผนนี้เน้นเรื่องการวางแผนการจัดการฉนวนกาซาหลังสงครามสิ้นสุด
ต่อมา พลเรือตรีดาเนียล ฮาการี โฆษกของกองกำลังป้องกันตนเองอิสราเอล (IDF) ก็ออกมายอมรับเลยว่า อิสราเอลไม่สามารถกำจัดกลุ่มฮามาสให้สิ้นซากได้ พร้อมกับแนะนำว่ามีเพียงการบรรลุข้อตกลงแลกเปลี่ยนตัวประกันเท่านั้นที่จะสามารถช่วยประกันทั้งหมดออกมาจากฉนวนกาซาได้
“ฮามาสคือแนวคิด ฮามาสคือกลุ่ม ซึ่งหยั่งรากลึกในหัวใจของประชาชน ใครก็ตามที่คิดว่าเราสามารถกำจัดกลุ่มฮามาสให้สิ้นซากได้ ถือว่าคิดผิด” พลเรือตรีฮาการีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ความประสงค์ของนายเนทันยาฮู กับ บรรดาผู้นำสายเหยี่ยวของอิสราเอลในตอนนี้ก็คือ ก่อความรุนแรงไปเรื่อย ๆ เพื่อเอาปฏิกิริยาจากอิหร่านและฮิซบอลเลาะห์เข้ามาปะทะกับอิสราเอลในอิสราเอลให้ได้เพื่อจะดึงอเมริกาเข้ามา เมื่ออเมริกาเข้ามาแล้วก็ต้องรบกับอิหร่าน นี่คือความคิดของนายเนทันยาฮู ซึ่งต้องถือว่าเป็นฮิตเลอร์หรือกลุ่มนาซีในยุคปัจจุบัน
“วันนี้ชาวยิวและชาวประเทศอิสราเอลนั้นถูกชาวโลกประณามต่ำช้า ฆ่าเด็ก ฆ่าผู้หญิง ตายไปแล้วร่วมสี่หมื่นคน แล้วก็ยังฆ่าอยู่ วิธีฆ่าก็คือส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดโรงพยาบาล โรงเรียน แม้กระทั่งที่ทำการสหประชาชาติที่เข้าไปช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ ก็ถูกทิ้งระเบิดด้วย กูไม่สนใจ กูจะฆ่ามึงอย่างเดียว ฆ่าคนที่ไม่มีโอกาสได้ต่อสู้เลย ผู้หญิง เด็ก คนชรา นี่คืออิสราเอล” นายสนธิกล่าว