xs
xsm
sm
md
lg

โอลิมเปรอะ!? ปารีสเกมส์ 2024 พิธีเปิดมหกรรมกีฬา หรือ เวทีจำอวดฝ่ายซ้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส แทนที่จะเป็นมหากรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ กลับกลายเป็นเวทีแสดงจำอวดของพวกฝ่ายซ้าย ทั้งการโชว์ “พระนางมารี อังตัวเน็ต” หิ้วหัว และล้อเลียน “พระกระยาหารมื้อสุดท้าย” ของพระเยซู จนเกิดกระแสไม่พอใจจากชาวคริสต์ทั่วโลก ทั้งที่เคยมีบทเรียน “ชาร์ลี เอ็บโด” ล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด จนเกิดการนองเลือดมาแล้ว



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ซึ่งได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากคนทั่วโลก ตั้งแต่พิธีเปิดที่เน้นการหลักการบนคำขวัญที่ว่า “เปิดเกมให้กว้าง (Games wide open)” อันยึดโยงอยู่บนหลักปรัชญาประจำชาติของฝรั่งเศส นั่นคือ เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ


โดย 3 คำนี้ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” เป็นคำขวัญประจำชาติของฝรั่งเศส ซึ่งมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ ทั้งฉบับปี 2489 และ 2501

แม้ก่อนพิธีเปิดเพียงไม่กี่ชั่วโมง จะมีเหตุการณ์โจมตีรถไฟฟ้าความเร็วสูงฝรั่งเศสและรถไฟยูโรสตาร์จนหยุดชะงัก แต่ The Show must go on ตลอดเวลา 3 ชั่วโมง 45 นาที สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ทั่วโลก ถ่ายทอดสดเผยให้เห็นดรามาของกรุงปารีส แม่น้ำแซนที่เต็มไปด้วยเรือพาเหรดของนักกีฬาทีมชาติของประเทศต่างๆ แสงสีเสียงอลังการงานโชว์ระดับซูเปอร์สตาร์มาร่วมงาน มีหอไอเฟล มีมหาวิหารนอร์ทเทอร์-ดาม โรงละครเก่าแก่และพิพิธภัณฑ์ลูฟว์เป็นฉากหลัง แต่พิธีเปิดกลับไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น ในฐานะที่ฝรั่งเศสมี “ทุนทางวัฒนธรรม” ที่รุ่มรวยมาก โดยถือเป็น “อู่วัฒนธรรม” ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก


ด้วยทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ทำให้ เจ้าภาพคือฝรั่งเศส สามารถฉีกกรอบการจัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกแบบเดิมที่นิยมจัดในสนามกีฬาขนาดใหญ่ มาเป็นการจัดแบบกลางแจ้ง โดยใช้เมืองทั้งเมืองเป็นเวที ทั้งแม่น้ำแซน ที่เป็นเส้นทางขบวนพาเหรดทัพนักกีฬา และคณะผู้แทนประเทศต่าง ๆ

สำหรับประเด็นดราม่าสืบเนื่องมาจากหลักปรัชญารากฐานของประเทศฝรั่งเศส“เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ”คำ 3 คำนี้ดูเหมือนจะเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ของพวก “เสรีนิยมสุดโต่ง” ที่นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะพูดอะไรก็พูด อยากจะล้อเลียนใครก็ล้อเลียน โดยอ้างว่าเป็น“เสรีภาพ”


ตัวอย่างแรกก่อน คือ จะมีพิธีเปิดกีฬาที่ไหนที่ใช้ฉากหนึ่งการแสดงเป็น ฉากเขย่าขวัญด้วยเส้นแสงสีแดงฝอยที่พุ่งกระจายออกจากสถานที่ประวัติศาสตร์ คือ คุกหลวงกงซีแยร์เฌอรี (The Conciergerie) พร้อมปลุกผี พระนางมารี อังตัวเน็ต ในชุดแดงเพลิง เนื่องจากถูกกิโยตินตัดคอ ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อ 230 กว่าปีก่อน ในปี ค.ศ.1789 แล้วหิ้วศีรษะเปื้อนเลือดหลายองค์อยู่ตามหน้าต่าง


เป็นฉากแสดงประกอบเพลง Do you hear the people sing ? เพื่อเป็นการแสดงถึงค่านิยมว่า ฝรั่งเศสคือ ต้นแบบประชาธิปไตย ของคำว่า“เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ”และไม่มีอำนาจอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าประชาชน เพราะมีการปฏิวัติครั้งนั้น มีการนองเลือดเช่นนี้ ฝรั่งเศสถึงมีวันนี้ได้

ทั้งนี้การแสดงชุดดังกล่าว เป็นเป็นภาพที่หลายคนอึ้งบอกว่า “โหดร้ายเกินไป” และไม่ควรที่จะถูกนำมาใช้เป็นการแสดงประกอบพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่ตั้งอยู่บนความคิดและปรัญชาพื้นฐานที่ว่า

“เป็นการสร้างโลกที่สันติ และดีขึ้นโดยการให้การศึกษาแก่เยาวชน ผ่านการฝึกฝนด้านกีฬา โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใด ๆ และด้วยจิตวิญญาณโอลิมปิก ซึ่งต้องมีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ด้วยจิตวิญญาณแห่งมิตรภาพ ความสามัคคี และ การแข่งขันที่ยุติธรรม”

ซึ่งข้อความนี้มีอยู่ในเว็บไซต์ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล


อย่างไรก็ตามการแสดงในชุดพระนางมารี อังตัวเน็ต ในชุดแดงเพลิงถูกตัดคอและออกมาหิ้วหัวตัวเองยังไม่แรงพอ เพราะโชว์ที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรง และถูกวิพากษ์วิจารณ์จนในเวลาต่อมาผู้จัดงานถึงกับต้องลบคลิปออกไปก็คือ โชว์พิเศษที่ช็อกบรรดา “คริสตศาสนิกชน” ทั่วโลก


ด้วยการที่เจ้าภาพปล่อยให้มีการแสดงล้อเลียนความหมายของภาพวาดฉากสำคัญในพระคัมภีร์ไบเบิล ชื่อ The Last Supper หรือ พระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้าย ของพระเยซูในพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นภาพวาดขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี จิตรกรเอกชาวอิตาเลียน

ฉากนี้ ทางเจ้าภาพฝรั่งเศส ใช้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ LGBTQ หรือพวกแดร็กควีน หรือ กระเทยที่ออกมาแสดงโชว์ เสียดสีศาสดาของศาสนาคริสต์

ทว่า ในมุมมองของชาวคริสเตียน กลับมองว่าการแสดงดังกล่าว เป็นการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาคริสต์ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงว่าเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต ไม่เคารพศาสดาเยซู ไม่ให้เกียรติและเหยียบย่ำจิตใจคริสตศาสนิกชน และตั้งคำถามว่านี่คือพิธีเปิด “มหกรรมกีฬาโอลิมปิก” หรือ “พิธีบูชาผีห่าซาตาน” กันแน่


แม้ในตอนแรกที่มีเสียงทักท้วง และประท้วง นายโทมัส จอลลี ผู้อำนวยการศิลปะของพิธีเปิดปารีสโอลิมปิก จะแก้ตัว โดยอ้างว่าการแสดงดังกล่าวไม่ได้หมายความถึงThe Last Supper ของพระเยซูเจ้าแต่เป็นงานเลี้ยงของเหล่าเทพเจ้ากรีก (Feast of God) บนเทือกเขาโอลิมปัสซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกีฬาโอลิมปิก โดยความตั้งใจเดิมคือให้ ฟิลิป คาเทอรีน ศิลปินตลกชาวฝรั่งเศส แสดงเป็นไดโอนีซัส เทพเจ้าแห่งไวน์และความสุขของกรีก ซึ่งเป็นบิดาของเทพีแห่งแม่น้ำแซน แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านกรุงปารีส

“ไอเดียคือการจัดงานเลี้ยงตามความเชื่อกรีก-โรมันครั้งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าแห่งภูเขาโอลิมปัส คุณจะไม่มีวันพบว่างานของผมมีเจตนาที่จะล้อเลียนหรือดูหมิ่นใครเลย ผมต้องการพิธีกรรมที่นำผู้คนมารวมกัน สร้างความปรองดอง และยังเป็นพิธีกรรมที่ยืนยันค่านิยมของสาธารณรัฐของเราในเรื่องเสรีภาพ ความเท่าเทียม และภราดรภาพด้วย” ผู้อำนวยการศิลปะของพิธีเปิดปารีสโอลิมปิกอ้าง


แต่ต่อมาเหล่าบรรดานักแสดงที่อยู่ในฉากกลับออกมายืนยันว่า ฉากดังกล่าวจงใจที่จะล้อเลียนภาพวาด The Last Supper ของพระเยซู ซึ่งเลโอนาร์โด ดาวินชี ถอดมาจากคัมภีร์ไบเบิลจริง ๆ โดย บาร์บารา บุตช์ สาวเลสเบี้ยน ซึ่งสวมชุดเดรสสีน้ำเงินและมงกุฎในการแสดงชุดดังกล่าว ได้โพสต์ภาพบนอินสตาแกรม โดยวางภาพของการแสดงดังกล่าว ไว้เหนือภาพวาดดั้งเดิมของดาวินชี พร้อมกับเขียนข้อความแสดงความตื่นเต้นยินดี ระบุว่า

“โอ้ใช่! โอ้ใช่! พันธสัญญาใหม่ของเกย์ ! (Oh Yes! Oh Yes! The New Gay Testament!)”
ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับว่าการแสดงดังกล่าว คือ การล้อเลียนพระเยซูจริง ๆ


ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิว ศาสนา ความเชื่อนั้นเป็นเรื่องที่อ่อนไหวเสมอ อย่าคิดว่าจะล้อเล่น ทำเป็นเรื่องขบขัน แล้วอ้างว่าเป็น เรื่องตลก เป็นขบถ หรือ เป็นเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเด็ดขาด

ด้วยเหตุนี้ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่พิธีเปิดโอลิมปิกได้มีบุคคลที่มีชื่อเสียง หน่วยงาน รวมไปถึงองค์กรต่างๆ ออกมาตำหนิ รวมไปถึงประณามกระทำดังกล่าวของผู้จัดงานโอลิมปิกที่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น

-นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัท เทสลา และสเปซเอ็กซ์ ได้ออกมาวิจารณ์การแสดงดังกล่าวว่าไม่ให้ความเคารพต่อชาวคริสเตียน


-บริษัทซีสไปร์ (C Spire) ผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายในสหรัฐฯได้ประกาศถอดโฆษณาทั้งหมดออกจากการเป็นผู้สนับสนุนกีฬาโอลิมปิกที่ปารีสจากเหตุการณ์นี้

-คริสตจักรคาทอลิกในฝรั่งเศส เปิดเผยว่ารู้สึกเสียใจต่อพิธีเปิดที่มีฉากการเยาะเย้ยศาสนาคริสต์

-แม้แต่ ร็อบ ชไนเดอร์ นักแสดงตลกชาวอเมริกันที่ล้อเลียนใครต่อใครมาแล้วมากมายก็ยังเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ล้ำเส้นเกินไป


“ชาร์ลี เอบโด” บทเรียนที่ไม่เคยจำ

ในฝรั่งเศสเคยมีตัวอย่างการสิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตจนนำไปสู่ความตายและแตกแยกที่ไม่จบ มาแล้ว คือกรณีนิตยสารเชิงเสียดสีล้อเลียนของฝรั่งเศส ที่ชื่อ ชาร์ลี เอบโด(Charlie Hebdo) ได้ตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อศาสดามูฮัมหมัดของศาสนาอิสลาม ซึ่งกลายเป็นชนวนของเหตุประท้วงรุนแรงในโลกมุสลิมอยู่หลายครั้ง เพราะชาวมุสลิมถือว่า การวาดรูปล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด เป็นการดูหมิ่นศาสนาอิสลามอย่างร้ายแรง


แต่สื่อฝรั่งเศสอย่าง “ชาร์ลี เอบโด” กลับท้าทายศรัทธานี้ด้วยการอ้างเสรีภาพของสื่อในการแสดงออกและตีพิมพ์ภาพล้อเลียนศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม ไม่เว้นกระทั่งภาพเปลือย หรือภาพศาสดานั่งวีลแชร์ที่เข็นโดยชาวยิวออร์โธดอกซ์ ในปี 2554 ทำให้เกิดเหตุกลุ่มคนร้ายบุกเผาสำนักพิมพ์ชาลี เอปโดแห่งนี้เสียหายหนักเมื่อ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 แต่ ‘ชาร์ลี เอบโด’ สื่อแห่งนี้ก็ยังไม่เข็ดแม้บรรณาธิการจะโดนข่มขู่เอาชีวิตจนต้องขอความคุ้มครองจากตำรวจ ก็ยังเดินหน้าตีพิมพ์การ์ตูนเสียดสีกฎหมายศาสนาอิสลามต่อไปโดยอ้างเรื่อง “เสรีภาพของสื่อ” เป็นใหญ่


ผ่านไปอีก 4 ปี จนกระทั่งเมื่อ วันที่ 7 มกราคม 2558 ได้เกิดเหตุการณ์ช็อกโลก เมื่อคนร้ายบุกกราดยิงภายในสำนักงานกองบรรณาธิการ ‘ชาร์ลี เอบโด’ หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เชิงเสียดสีของฝรั่งเศส โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 3 ชั่วโมงหลังจากสื่อ ชาร์ลี เอบโด ทวิตภาพล้อเลียนศาสดาของศาสนาอิสลาม มือปืนเป็นสองพี่น้องเครือข่ายอัลกออิดะห์หัวรุนแรง บุกเข้าไปถึงออฟฟิศ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะใช้อาวุธสงครามกราดยิงส่งผลมีผู้เสียชีวิตทันที 14 ราย รวมทั้ง บรรณาธิการบริหาร “สเตฟาน ชาบงนีเยร์” วัย 47 ปี และนักเขียนการ์ตูนการเมืองแนวหน้าของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเป้าหมายสังหารแค้นครั้งนี้ หลังจากนั้นคนร้ายทั้ง 2 คนก็หลบหนีไป จนกระทั่งโดนตำรวจตามล่าและวิสามัญฆาตกรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558


หลังเกิดเหตุ ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัยได้เป็นจำนวนมาก โดยทั้งหมดถูกกล่าวหาด้วยข้อหาต่างๆ ทั้งจัดหาอาวุธ, ช่วยเหลือด้านการขนส่ง สนับสนุนการโจมตีสำนักงานของชาร์ลี เอบโด และเหตุโจมตีที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชาวยิวกับตำรวจอีกคน โดยผู้ก่อเหตุนั้นเป็น

ชาวมุสลิมที่ทนไม่ได้กับการล้อเลียนนี้ บุกเผาสำนักพิมพ์ชาร์ลี เอบโดเสียหายหนักในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 แต่สื่อนี้ก็ยังไม่เข็ดอ้างหลักเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ บ้าบอคอแตกก็ยังเดินหน้าตีพิมพ์การ์ตูนเสียดสีศาสนาอิสลามต่อไป จนในที่สุดก็เกิดการกราดยิงขึ้น

แม้จะเกิดโศกนาฏกรรมกองบรรณาธิการตายหมู่ 14 ศพก็ตาม บทบรรณาธิการของชาร์ลี เอบโดก็ยังแถลงการณ์ก่อนจะมีการพิจารณาคดีว่าจะตีพิมพ์ภาพการ์ตูนนี้อีกครั้ง เพราะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาร์ลี เอบโด การ์ตูนเหล่านี้เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และไม่มีใครเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ หรือลบมันได้ และยังคงตีพิมพ์การ์ตูนเป็นรูปศาสดามุฮัมหมัดที่ยกป้ายประกาศตนว่า “ฉันคือชาร์ลี” เพื่อเป็นการท้าทาย


เท่านั้นแหละ ปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงเคลื่อนไหวในโลกมุสลิม มีการประท้วงใหญ่ของชาวปากีสถานนับแสน ๆ คน เดินขบวนในเมืองเปชวาร์ โกรธแค้นการ์ตูนล้อเลียนศาสดา ทางกระทรวงการต่างประเทศปากีสถานออกมาประณามการกระทำของชาร์ลี เอบโด แต่ประธานาธิบดีเอมานูเอล มาครงก็ยืนกรานขณะเยือนเลบานอนว่า เป็นเสรีภาพของสื่อมวลชนที่เขาไม่ควรแทรกแซง
สมาชิกอัลกออิดะห์ในเยเมนบางคนโพสต์ผ่านทวิตเตอร์ว่า หนังสือพิมพ์ชาร์ลี เอบโดทำผิดซ้ำซาก เป็นเสรีภาพจอมปลอมที่บิดเบือนศาสนาอิสลาม และนี่คือแรงแค้นที่ก่อให้เกิดเหตุร้ายแรงในฝรั่งเศสหลายครั้งในเวลาต่อมา


นอกจากนี้ เมื่อ วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ยังเกิดเหตุสะเทือนขวัญที่ช็อกโลกอีกครั้ง เมื่อมีการฆ่าตัดคอนายซามูเอล ปาที ครูสอนภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส โดยชายผู้ก่อเหตุชื่อ อับดุลาคห์ เอ ที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในเวลาต่อมา สาเหตุมาจากครูชาวฝรั่งเศสคนนี้ แสดงภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดา นบีมุฮัมมัด และเกิดข้อโต้เถียงกับนักเรียนของเขาในชั้นเรียน ทำให้ถูกผู้ก่อเหตุลอบฆ่าโดยใช้มีดขนาดใหญ่ตัดคอ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนขวัญมาก ทั้งในฝรั่งเศสและในโลก

ในเดือนถัดมา วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 สถานบันเทิงบางแห่งในกรุงปารีส และสนามกีฬาสตาดเดอฟร็องส์ ถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีพร้อมกัน มีผู้เสียชีวิต 129 ราย บาดเจ็บ 300 ราย สาหัส 99 ราย โดยผู้ก่อการร้าย 4 คน การก่อการร้ายครั้งนั้นเป็นประเด็นหลักคือ ศาสนาและวัฒนธรรม ทำให้เกิดความเกลียดกลัวศาสนาอิสลามไปทั่วฝรั่งเศส และกระแสทำให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลามกับประชาชนชาวฝรั่งเศส จนนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างชาวฝรั่งเศสและชาวมุสลิมในสังคมฝรั่งเศส

แต่ฝรั่งเศสเองก็ยังไม่เข้าใจ เพราะฝรั่งเศสยึดถือความเป็นรัฐฆราวาสของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแยกเรื่องศาสนาออกจากความเป็นรัฐ เป็นอัตลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของฝรั่งเศส เทียบเท่ากับหลักการหลังยุคปฏิวัติฝรั่งเศสที่ว่า “เสรีภาพ เสมอภาค และภราดร” ภาพที่ ม็อบสามนิ้ว ในบ้านเราเอามาใช้


หลายสิบปีก่อน หลังจากกำแพงเบอร์ลินพังทลาย - สหภาพโซเวียตล่มสลาย แซมวล พี. ฮันทิงตัน (Samuel P. Huntington) นักรัฐศาสตร์ชื่อดังได้เขียนหนังสือเรื่อง The Clash of Civilizations and the remaking of the New World Order คือการปะทะกันในทางวัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนา และเขาพูดชัดเจนว่าในที่สุดแล้วจะเป็นการปะทะกันระหว่างศาสนาอิสลามกับโลกตะวันตก

เหตุการณ์ โศกนาฏกรรมสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นกับกองบรรณาธิการนิตยสารชาร์ลี เอบโด เมื่อ มกราคม 2558 จึงมีคนเปรียบเทียบว่าเป็นเหตุการณ์ 9/11 ของฝรั่งเศส ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นบทเรียนชีวิตราคาแพงที่พิสูจน์ว่าการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต ละเมิด ล้อเลียน หยามเหยียดศรัทธา อาจจบลงด้วยเลือดและความตาย


ดังนั้นหลักการ เสรีภาพ เอกภาพ ภราดรภาพ นั้น จึงไม่ใช่หลักการที่สามารถใช้ได้แบบครอบจักรวาล เพราะถ้าขาดความรับผิดชอบ ใช้เสรีภาพเกินเลยขอบเขต ไปดูถูกเหยียดหยามความเชื่อและความศรัทธาของ ศาสดา, ศาสนา หรือ บุคคลสำคัญ ที่ตัวเองไม่ได้เชื่อศรัทธา และที่หนักหนากว่านั้น ก็คือการไปหยามเหยียดผู้อื่นโดยไม่สนใจเรื่องความรู้สึก นั่นทำให้เกิดความเคืองแค้น ซึ่งเมื่อสะสมนานวันเข้า ย่อมนำมาสู่การแก้แค้น และความรุนแรงในที่สุด !


กำลังโหลดความคิดเห็น