รายงานพิเศษ
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการลักลอบนำเข้าปลาสวยงามโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งไม่เพียงแต่ละเมิดกฎหมาย แต่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจในประเทศ การลักลอบนี้ถือเป็นขบวนการที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีการลำเลียงปลาสวยงามที่หายากและมีราคาสูงจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในตลาดไทย
แหล่งข่าวจากวงการประมง เปิดเผยว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าปลาสวยงามนี้มักใช้วิธีการลักลอบนำเข้าปลาสวยงามผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การซ่อนปลาในกระเป๋าเดินทาง การใช้กล่องโฟมในการขนส่ง หรือการใช้เอกสารเท็จในการนำเข้า โดยล่าสุด พันเอกรวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช ฉก.พญานาคราช ได้จับกุมปลาสวยงาม (ปลาตะพัด) ที่ไม่มีใบอนุญาตให้ค้าหรือครอบครอง ณ อาคารคลังสินค้าท่าอากาศยานหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน 48 ตัว มูลค่าราว 288,000 บาท
การลักลอบนำเข้าปลาสวยงามอีกรายที่โดนจับโดยหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช ภายใต้การนำของ พ.อ.รวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช ซึ่งได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่กองตรวจการประมงร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดระนอง กรมประมงชุดปฏิบัติการทางน้ำ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี ได้เข้าจับกุมผู้กระทำผิดสัญชาติเมียนมา จำนวน 3 ราย ร่วมกันลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำมาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต บริเวณทะเลอันดามัน
นอกจากนี้ในปี 2563 ด่านศุลกากรสระแก้วยึดปลาสวยงามมูลค่าหลายแสนบาท นายออน อุ่นทวีทรัพย์ นายด่านศุลกากรอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เปิดเผยว่า ปลาสวยงามที่ตรวจยึดได้มักเป็นปลาสวยงามที่อาศัยเจริญเติบโตในประเทศเวียดนาม เป็นปลาที่หายากและมีราคาค่อนข้างแพงมาก เป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาสวยงามทั่วโลก มักใช้การสั่งซื้อทางออนไลน์จากพ่อค้าปลาชาวเวียดนาม นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการนำเข้าสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ เช่น เต่าอินเดียสตาร์ และเต่าจากแทนซาเนีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES
จากนั้นในปี 2565 ตำรวจป่าไม้ ได้ร่วมกับกรมประมงจับผู้ลักลอบค้าปลาปิรันยาผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจับได้พร้อมของกลางปลาปิรันยา ซึ่งรายนี้ใช้วิธีการติดต่อประกาศซื้อขายกันทางแอปพลิเคชันไลน์และเพจเฟซบุ๊กรับทำมานานกว่า 1 ปี ขายราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่นบาท
ในปี 2561 ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร ได้ตรวจยึดปลาไหลยุโรปสายพันธุ์ Anguilla anguilla หรือ ปลาไหลแก้ว ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ถูกลักลอบนำเข้ามาทางเครื่องบิน ราว 800 กก. มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท โดยว่าอ้างเป็นกุ้งแช่แข็ง
ขบวนการลักลอบนำเข้าปลาสวยงามมีเครือข่ายที่กว้างขวาง ตั้งแต่ผู้จัดหาสินค้าในต่างประเทศจนถึงผู้จำหน่ายในประเทศ การทำงานของขบวนการนี้ครอบคลุมหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงการลักลอบนำเข้าจากประเทศที่มีปลาสวยงามหายาก เช่น เวียดนามและเมียนมา การจับกุมที่ด่านพรมแดนอรัญประเทศในกรณีปลาสวยงามจากเวียดนามเป็นตัวอย่างของการทำงานร่วมกันของเครือข่ายนี้
แหล่งข่าวจากวงการประมงเปิดเผยต่อไปว่ามูลค่าตลาดปลาสวยงามในประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นส่งออกนี้คาดว่ามีทั้งมาจากการลักลอบนำเข้าและส่งออกแบบไม่ถูกกฎหมายอีกบางส่วน ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามอันดับ 5 ของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดโลกประมาณ 7.38% ปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมและมีมูลค่าสูงในการส่งออก ได้แก่ ปลากัด ปลาหางนกยูง ปลาทอง ปลาหมอสี ปลาคราฟ ปลาตะพัด ปลาดิสคัส และปลาปอมปาดัวร์ ทั้งนี้ปลาสวยงามไม่ได้หมายถึงปลาที่มีหน้าตาสวยเท่านั้น แต่ปลาสวยงามรวมถึงปลาแปลก ปลาหายาก ปลานำเข้า ยิ่งหายากยิ่งมีราคา ทำให้ปัญหาการลักลอบนำเข้าปลาจากแอฟริกา อเมริกาใต้ อินเดีย และหลายประเทศในเอเชียเป็นที่นิยม ส่วนการส่งออกปลาสวยงามของไทยมีการเติบโต โดยเฉพาะในตลาดเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงตลาดยุโรปบางประเทศ ปลาสวยงามที่ผลิตในประเทศไทยมักได้รับความนิยมเนื่องจากคุณภาพและความหลากหลาย
ตลาดปลาสวยงามในประเทศไทยมีมูลค่าสูงและเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจการประมงที่สำคัญ ปัจจุบันตลาดปลาสวยงามในไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและยุโรป ความนิยมของปลาสวยงามในหมู่ผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้นเนื่องจากความหลากหลายของชนิดปลาและความต้องการในตลาดสำหรับปลาที่มีลักษณะเฉพาะเช่น สีสันที่โดดเด่นหรือพันธุ์ที่หาได้ยาก
หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ตลาดปลาสวยงามในไทยเผชิญคือการลักลอบค้าสัตว์น้ำผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการนำเข้าสัตว์น้ำที่ไม่มีใบอนุญาตและสัตว์น้ำที่อยู่ในรายการคุ้มครอง การป้องกันและแก้ไขปัญหานี้เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดและการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญา CITES
ในยุคปี 2550-2560 ถือเป็นยุคทองของการเลี้ยงปลาหมอสีเป็นปลาสวยงาม ปลาในวงศ์ปลาหมอสีมีลักษณะหลายหลากแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของถิ่นกำเนิด ปลาหมอสีส่วนใหญ่เป็นปลาน้ำจืด แต่มีบางชนิดพบในน้ำกร่อย ปลาในวงศ์นี้พบมากที่สุดใน ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปแอฟริกา อินเดียใต้ ศรีลังกา ตะวันออกกลาง และทวีปอเมริกาใต้