xs
xsm
sm
md
lg

“ทองหลาง” ผักยืนต้น เลี้ยงทั้งคนและต้นไม้ในสวน ให้ปุ๋ยและน้ำแก่ดิน...พี่เลี้ยงชั้นเลิศของทุเรียนรสดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ในสมัยก่อน สวนทุเรียนฝั่งธนและนนทบุรีจะต้องมีทองหลางเป็นพี่เลี้ยง เพราะทองหลางมีความพิเศษกว่าต้นไม้ทุกชนิด เนื่องจากเป็นไม้ตระกูลถั่ว สามารถดูดไนโตรเจนจากอากาศมาเก็บไว้ที่ปมรากได้ ซึ่งจะกลายเป็นปุ๋ยให้แก่ดิน และทองหลางยังสามารถเก็บน้ำไว้ที่รากได้มากกว่าต้นไม้ทุกชนิด โดยหยั่งรากลงลึก ทำให้ทองหลางเป็นไม้ทนแล้งเพราะได้น้ำจากใต้ดิน ส่วนที่ผิวดินรากทองหลางยังแผ่ไปไกล นำน้ำและปุ๋ยไปเอื้อต่อต้นไม้โดยรอบ จึงเป็นสาเหตุที่สวนทุเรียนสมัยก่อนต้องปลูกทองหลางเป็นพี่เลี้ยง และเมื่อใบทองหลางแก่ที่มีธาตุไนโตรเจนสูงร่วงลงดินสู่คูน้ำในสวน ก็จะถูกหมักกลายเป็นปุ๋ย ทำให้ชาวสวนโกยเลนจากร่องสวนขึ้นมาสาดใส่โคนต้นทุเรียนทุกปี อีกทั้งใบทองหลางอ่อนซึ่งไม่เหมาะกับการนำไปปรุงเป็นอาหาร แต่เหมาะกับการเป็นผักเครื่องเคียง นิยมรับประทานร่วมกับส้มตำ เมี่ยงคำ ปลาแนม ฯลฯ แต่เนื่องจากปัจจุบันมีระบบให้น้ำพืชที่ดีและมีปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ทองหลางผู้สร้างระบบนิเวศน์กำลังจะถูกลืมเสียแล้ว

ทองหลางเป็นพืชของเขตร้อนและอบอุ่น มีอยู่ในเอเชีย ออสเตรเลีย อาฟริกา และอเมริกาใต้ เป็นไม้ผลัดใบ สูงได้ถึง ๒๐ เมตร ชาวสวนสมัยก่อนรู้คุณสมบัติของต้นทองหลางกันดี จึงปลูกไว้ในสวนเพื่อเป็นพี่เลี้ยงของไม้หลักต่างๆ สวนทุเรียนรสดีสมัยก่อนไม่ได้อยู่ที่จันทบุรีหรือระยองอย่างในวันนี้ แต่อยู่ที่บางขุนนนท์ บางบำหรุ บางกรวย ตลิ่งชัน ในคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรีนี่เอง ผู้เขียนคนเกิดบางขุนนนท์ได้เห็นต้นทุเรียนในย่านนี้แต่เด็ก นั่งรถไฟสายวัดลิงขบที่ตรงข้ามท่าน้ำเทเวศม์ไปบางบัวทอง ผ่านย่านนี้จะเห็นลูกทุเรียนห้อยอยู่สองข้างทางเป็นแถว ล้วนแต่มีทองหลางเป็นพี่เลี้ยงทั้งนั้น เมื่อกระจายขึ้นไปทางนนทบุรี ก็ยังใช้วิธีปลูกแบบยกร่องมีคูน้ำ และใช้ทองหลางเป็นพี่เลี้ยงเหมือนกัน

ต่อมาในปี ๒๔๘๕ น้ำท่วมใหญ่อยู่หลายเดือน สวนทุเรียนย่านนี้ตายหมดต้องปลูกกันใหม่ และกระจายไปทางจันทบุรี ระยอง ตราด นครนายก และปราจีน ซึ่งเป็นที่ดอน ไม่ได้ปลูกแบบยกร่องมีคูน้ำอย่างแถวฝั่งธนและนนทบุรี ทองหลางเลยไม่ค่อยได้ตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามสวนในย่านที่เคยปลูกทองหลางมาก่อน ก็ยังอนุรักษ์ทองหลางไว้ ด้วยเห็นคุณค่าของพืชชนิดนี้อย่างมากมาย นอกจากให้ความชุ่มชื้นแก่สวน และสร้างระบบนิเวศน์ที่ดีแล้ว ยังใช้ใบอ่อนเป็นอาหารได้ อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าทองหลางเป็นไม้มงคล ใช้ประกอบในพิธีปลูกบ้านหรือแต่งงานเป็นต้น และเชื่อว่าทองหลางเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ปลูกกันมาแต่สมัยพุทธกาล มีชื่อเรียกกันว่า ต้นประวาลพฤกษ์ และต้นปาริชาติด้วย

สำหรับใบอ่อนทองหลางซึ่งใช้เป็นเครื่องเคียงอาหารนั้น จากการวิจัยของกองโภชนาการ กรมอนามัย ได้ให้ข้อมูลว่า ใบทองหลางมีโปรตีนร้อยละ ๔.๖ เป็นผักที่มีกากใยอาหารมาก เป็นอาหารสุขภาพ อุดมไปด้วยวิตามิน เอ ช่วยบำรุงสายตา บำรุงกระดูก และมีสารอาหารอีกหลายตัวที่ช่วยบำรุงร่างกายและหัวใจ อีกทั้งยังใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ด้วย

ส่วนสรรพคุณทางด้านสมุนไพร ทุกส่วนของทองหลางใช้เป็นยา เปลือกมีสรรพคุณทำให้นอนหลับ เปลือกและแก่นช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ใบเมื่อนำไปต้มน้ำดื่มใช้แก้นิ่ว ขับนิ่วออก และแก้ริดสีดวง ดอกเป็นยาขับระดู ฝักเป็นยาบำรุงน้ำดี ใบทองหลางแก่รมควันให้ตายนึ่งแล้วนำไปชุบสุรา ปิดแผลและเนื้อร้ายที่บวมใกล้แตก ใบทองหลางจะดูดหนองออกมาจนยุบแห้ง

การปลูกทองหลาง ใช้เมล็ดปลูกก็ได้ แต่จะมีหนามเล็กๆ หากปลูกด้วยกิ่งตอนหรือปักชำจะไม่มีหนาม ซึ่งเป็นคุณสมบัติเดียวกับพืชตะกูลส้ม กิ่งตอนทองหลางนอกจากมีขายตามร้านต้นไม้ โดยเฉพาะย่านตลิ่งชัน บางกรวยแล้ว ในออนไลน์ก็มีขายกันเกลื่อน หรือเห็นใครมีต้นทองหลางก็ขอตัดกิ่งเขามาปักดิน รดน้ำให้ชุ่มก็จะแตกใบอ่อนในไม่ช้า และไม่เกี่ยงว่าจะเป็นดินประเภทไหน ทองหลางขึ้นได้ทั้งนั้น

ในสวนหลังบ้านถ้ามีที่ให้ทองหลางยืนต้นได้บ้าง ทองหลางก็จะตอยแทนด้วยการรักษานิเวศน์ให้คงอยู่ ให้ความชุ่มชื้นและปุ๋ยแก่ดิน ทำให้ต้นไม้ในรัศมีรอบต้นเจริญงอกงาม และมีผักยืนต้นอีกอย่างให้เก็บกินไปได้ตลอด เมื่อถึงเดือนมกราคม-กุมภาพันธุ์ ทองหลางก็จะออกดอกสีแดงสดใสให้ชมด้วย

ที่เอาเรื่องทองหลางมาเล่าในวันนี้ ก็ด้วยความห่วงใยต้นไม้มีคุณค่าอย่างหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเกษตรมาในสมัยก่อน กำลังจะถูกลืมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ อยากจะขอให้คนรุ่นใหม่พิจารณาถึงคุณค่าของทองหลาง และอนุรักษ์ไว้เพื่อระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น