xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสความรู้สึก (ชวน) หอมหวาน จากเนื้องาน ‘ภควรรณ ทองวานิช’ นักวาดภาพประกอบสีละมุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ยุ้ย-ภควรรณ ทองวานิช’ ศิลปินนักวาดภาพประกอบและทำงานปั้นเซรามิค
ในเบเกอรี่หลากหลายชนิดที่แต่งแต้มด้วยสีสันอันอบอุ่น
ผู้คนต่างใช้ชีวิตประจำวัน…ทำงาน พูดคุย ออกเดต เดินทาง พักผ่อนอยู่ภายในโลกแสนหวาน ในเค้กแสนสวย ในขนมที่ดูแล้วแสนอร่อย
ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่าตัวละครที่ปรากฏในภาพเหล่านั้น ล้วนใช้ชีวิตโดยมี scenario เป็นความหอมหวาน มีไลฟ์สไตล์อันหอมกรุ่น

ผลงานภาพวาดของ ยุ้ย-ภควรรณ ทองวานิช’




นอกจากผลงานภาพวาดเบเกอรี่ อาหาร ขนม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในระยะเวลาไม่นานปีที่ผ่านมา เธอยังฝากผลงานวาดภาพปกหนังสือมาแล้วหลายเล่ม อาทิ ร้านกล่องดนตรีที่เสียงเพลงไม่เคยหลับใหล, ฉันจะไม่ลืมร้านหนังสือโมริซากิ,
คดีฆาตกรรมนักทำขนมแห่งเกียวโต, เมื่อเธอโตขึ้น เธอจะเข้าใจเอง, อะพาร์ตเมนต์บำบัดใจ, คุณเมดกับคดีฆาตกรรมปริศนาในโรงแรมหรู เป็นต้น






ปกหนังสือที่เธอวาดภาพประกอบ ล้วนดึงดูดสายตาให้หยิบจับ เปิดอ่าน ก่อนที่ผู้อ่านจะได้สัมผัสว่า ภาพบนปกสะท้อนได้อย่างดีถึงความใส่ใจของผู้วาด ด้วยมีส่วนช่วยเติมเต็มจินตนาการและสร้างบรรยากาศเรื่องราวในเล่มได้อย่างน่าสนใจ
และมิใช่เพียงภาพวาดสีน้ำของเธอที่ให้ความรู้สึกชวนมอง แต่ผลงานเครื่องปั้นเซรามิคของเธอในนาม Atelier Pakawan ก็เป็นที่ยอมรับในความสวยงามไม่แพ้กัน

 ยุ้ย-ภควรรณ ทองวานิช’ ศิลปินนักวาดภาพประกอบและทำงานปั้นเซรามิค
‘ภควรรณ ทองวานิช’ หรือ ‘ยุ้ย’ คือ ศิลปินที่ว่านั้น

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ถึงแรงบันดาลใจ ความทุ่มเท เอาใจใส่ในเนื้องานทั้งงานวาดและงานปั้น รวมถึงความรักในศิลปะเหล่านี้ ที่ทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำและเดินทางไปเรียนปั้นเซรามิคถึงญี่ปุ่น

เรื่องราวที่เธอบอกเล่า เปี่ยมสีสันไม่แพ้ภาพวาดของเธอ
…………..


งานอดิเรกที่รัก

ถามว่า อะไรคือที่มา แรงบันดาลใจที่ทำให้คุณก้าวเข้าสู่การเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบ
‘ภควรรณ’ หรือ ‘ยุ้ย’ ตอบว่าเริ่มต้นจากที่เธอชอบวาดรูปเป็นงานอดิเรก ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังทำงานประจำเป็น Interior Designer อีกทั้งเธอก็ชอบวาดรูปมานับแต่ยังเป็นเด็กแล้ว

“แต่เมื่อเริ่มทำงานประจำ ก็รู้สึกว่าเราอยากวาดอะไรสักอย่าง เพราะตอนทำงานเป็น Interior Designer ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลักแล้วยุ้ยไม่ชอบใช้คอมพิวเตอร์เท่าไหร่ จึงเริ่มจากการวาดรูปเล่นหลังเลิกงาน พอวาดเยอะๆ ก็ Up ขึ้น Facebook บ้าง IG (Instagram) บ้าง แล้วเพื่อนเห็น คนรู้จักเห็น ก็เริ่มมีจ้างวาดเล็กๆ น้อยๆ บ้าง” และนั่นนับเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การวาดรูปอย่างจริงจัง

ยุ้ยเล่าว่า ยังมีอีกช่วงสำคัญที่ผลักดันให้เธอวาดภาพมากขึ้น คือช่วงที่ไปเรียนต่อด้านงานปั้นเซรามิคที่ญี่ปุ่น เป็นช่วงที่เรียนภาษาญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากการเตรียมตัวเรียนแล้วเธอก็ใช้เวลาวาดรูป รับจ๊อบเล็กๆ ไปเรื่อยๆ กระทั่งได้วาดภาพประกอบให้กับนิตยสาร My Home ในช่วงนั้น งานวาดของเธอคือเป็นภาพประกอบคอลัมน์ เช่น บางคอลัมน์เป็นภาพเกี่ยวกับการดูแลบ้าน บางคอลัมน์เป็นภาพสัตว์เลี้ยง หรือของใช้ในบ้าน เป็นต้น ซึ่งระหว่างที่ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เธอก็ยังรับจ๊อบวาดภาพประกอบอยู่เรื่อยๆ


สีละมุนราวกรุ่นกลิ่นหอมของเบเกอรี่

ถามว่า แม้ผลงานภาพประกอบ ภาพวาดของคุณจะมีหลากหลาย แต่สไตล์หรือเอกลักษณ์ในงานของคุณที่คนจดจำได้ดีที่สุด ย่อมไม่พ้นภาพขนม เบเกอรี่ที่น่ารักและยังน่าอร่อย แล้วในมุมมองของคุณ ให้นิยาม หรือมองเอกลักษณ์ในงานของตนเองว่าเป็นอย่างไร

ยุ้ยตอบว่า เธอก็เห็นว่าภาพอาหารและเบเกอรี่ต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจดจำได้ เพราะอาจจะไม่ได้มีคนที่วาดแนวอาหารเยอะ ขณะที่ยุ้ยเป็นคนชอบเสพสื่อฯ รายการต่างๆ หรือภาพยนตร์เกี่ยวกับอาหารด้วย ชอบมานานแล้ว กระทั่งเมื่อไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีร้านเบเกอรี่เยอะมาก ทำให้อยากวาดภาพได้แบบนั้น

“เมื่อคิดว่าอยากจะลองวาดภาพอาหารจังเลย อยากวาดให้เหมือน เป็นความคิดแรกที่ผุดขึ้นมา ยุ้ยก็เริ่มวาดเลยค่ะ”








ยุ้ยเล่าว่า เธอไปเรียนปั้นเซรามิคที่ญี่ปุ่นช่วง ปี ค.ศ. 2015 ถึง 2018 โดยเรียนภาษาญี่ปุ่นที่นั่น และไปเรียนต่อด้านงานปั้นเซรามิคอีก 2 ปี กลับไทยประมาณช่วงกลางปี 2018 ช่วงที่กลับจากญี่ปุ่นมาถึงไทยแล้วนี่เอง ยุ้ยยังคงรู้สึกอยากวาดอะไรสักอย่าง เพื่อหารายได้มาทำสตูดิโอเซรามิคของตัวเอง ซึ่งต้องใช้เงินเยอะเพื่อซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ในที่สุด ยุ้ยจึงทำปฏิทินขาย เพราะตอนอยู่ที่ญี่ปุ่นเธอได้เห็นปฏิทินน่ารักๆ จำนวนมากมาย ปฏิทินภาพชุดขนมแสนอร่อยจึงกำเนิดขึ้น




“ปฏิทินปีแรกที่ยุ้ยทำ จึงเลือกขนมที่อยากกินและอยากวาดเป็นหลัก (หัวเราะ)
ยุ้ยก็เลยเริ่มฝึกวาดภาพขนมจากจุดนั้นด้วย และเมื่อเป็นปฏิทินที่มี 12 เดือน ภาพจึงค่อนข้างออกมาเป็นคอลเลคชั่นที่ดูเป็นจริงเป็นจังขึ้น ด้วยจำนวน 12 ภาพ จึงทำให้คนเริ่มเห็นว่า ยุ้ยวาดอาหารได้ ปฏิทินปีแรกเป็นปี 2019 ค่ะ จากนั้นก็ทำปฏิทินมาต่อเนื่องทุกปีค่ะ โดยมีคอนเซ็ปต์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อาจเป็นอาหารบ้าง เป็นของใช้บ้าง เป็นดอกไม้บ้าง สลับกันไป”




ศิลปะแห่งการวาดภาพปกหนังสือ

นอกจากภาพประกอบและปฏิทินแล้ว ยุ้ยยังมีอีกผลงานแขนงหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่าภาพของเธอมีเสน่ห์ไม่น้อย
นั่นคือ ผลงานวาดภาพปกหนังสือ ซึ่งในระยะเวลาไม่นานปีที่ผ่านมา เธอฝากผลงานวาดภาพปกหนังสือมาแล้วหลายเล่ม อาทิ ร้านกล่องดนตรีที่เสียงเพลงไม่เคยหลับใหล, ฉันจะไม่ลืมร้านหนังสือโมริซากิ, คดีฆาตกรรมนักทำขนมแห่งเกียวโต, เมื่อเธอโตขึ้น เธอจะเข้าใจเอง, คุณเมดกับคดีฆาตกรรมปริศนาในโรงแรมหรู


เมื่อขอให้เล่าถึงกระบวนการทำภาพปกหนังสือว่ามีขั้นตอนใดบ้าง
ยุ้ยเล่าว่า ขั้นตอนแรกสุดของการทำงานคือ เธอจะขออ่านต้นฉบับก่อน ซึ่งยุ้ยเป็นคนอ่านหนังสือเร็วมาก บางเล่มอ่านเพียง 1 วันก็จบ และที่ผ่านมาได้อ่านเกือบครบทุกเล่ม ยกเว้นบางเล่มที่เป็นปรัชญา อาจเพราะด้วยเป็นแนวคิดที่เหมือนกันทั้งเล่ม ทางสำนักพิมพ์จึงส่งต้นฉบับมาให้อ่านครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็สามารถทำงานได้

ส่วนเล่มที่เป็นวรรณกรรมหรือนิยาย ยุ้ยจะอ่านให้จบ เนื่องจากได้จินตนาการไปด้วยและได้สัมผัสว่าอารมณ์ของเรื่องเป็นอย่างไร หากมีสถานที่จริงถูกกล่าวถึงอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้น ยุ้ยก็จะรีเสิร์ช ค้นข้อมูลให้เยอะ ดูภาพสถานที่นั้นให้มาก เพื่อเป็นประโยชน์และให้แรงบันดาลใจสำหรับการออกแบบและวาดภาพปก
โดยในบรรดาหนังสือที่ยุ้ยออกแบบปกนั้น ‘ฉันจะไม่ลืมร้านหนังสือโมริซากิ’ คือเล่มที่ได้เข้ารอบ Shortlist World Illustration Awards 2023 ในประเภท Book Covers ด้วย




ระยะเวลาโดยเฉลี่ยที่ยุ้ยใช้ในการทำภาพปกหนังสือ คือ ประมาณ 1 เดือน ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่สำนักพิมพ์ให้มา
หากถามว่า ปกหนังสือเล่มไหนที่รู้สึกว่าออกแบบยากที่สุด ยุ้ยตอบว่า คดีฆาตกรรมนักทำขนมแห่งเกียวโต เป็นเล่มที่ยากที่สุด เพราะยุ้ยต้องคิดหน้าตาขนมขึ้นมาใหม่เองด้วย
“แม้เราจะรีเสิร์ชขนมในเกียวโตแล้วพบว่ามีเยอะมาก ขนมมีหน้าตาที่หลากหลาย แต่ในเล่ม มีส่วนที่เล่าถึงขนมที่ชนะการประกวดด้วย ซึ้งในเรื่องนี้ มีการคิดขนมขึ้นมาใหม่เลย แล้วเค้าไม่ได้เขียนรายละเอียดไว้มากนัก เราก็ต้องอ่านซ้ำๆ”




เก็บเกี่ยวความรู้ในการปั้นเซรามิคถึงแดนอาทิตย์อุทัย

นอกจากงานวาดภาพแล้ว ขอถามถึงงานเซรามิคบ้าง อะไรทำให้คุณสนใจงานปั้นเซรามิค กระทั่งเดินทางไปเรียนต่อทางด้านนี้ถึงที่ญี่ปุ่น
ยุ้ยตอบว่า ย้อนกลับไป ความสนใจในการปั้นเซรามิค จริงๆ แล้วก็เริ่มขึ้นพร้อมกับการวาดรูปเป็นงานอดิเรกหลังเลิกงานประจำในแต่ละวันนั่นเอง เมื่อวาดเยอะๆ ก็มีความคิดว่าอยากมีจานชามที่เป็นรูปภาพผลงานของตัวเองบ้าง
ซึ่งคุณพ่อของยุ้ยแนะนำว่า ให้ลองเรียนตั้งแต่ขั้นตอนแรก กระบวนการแรกของการปั้นเซรามิค ยุ้ยเห็นด้วย เพราะเธอก็ชอบงานทำมืออยู่แล้ว จึงหาคอร์สเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ เนื่องจากช่วงนั้นยังทำงานประจำอยู่

“ยุ้ยก็เริ่มปั้นแก้ว ปั้นจานชาม แล้วรู้สึกว่ายากมากเลย แต่เมื่อเรียนไปเรื่อยๆ ประมาณเกือบปี อาจารย์ที่สอนก็บอกว่าเรามือเย็น ทำงานกับดินได้ เราพอไปได้นะในด้านงานปั้นนี้ เราก็เริ่มอิน ยุ้ยจึงเริ่มหาข้อมูล อยากเรียนต่อด้านการปั้นเซรามิคโดยเฉพาะ แล้วก็อยากรู้ว่าเราจะอยู่กับมัน จะทำเป็นอาชีพได้จริงๆ ไหม จึงหาข้อมูลสตูดิโอในต่างประเทศ ที่เราสามารถไปอยู่แล้วได้ลองปั้นไปด้วย ซึ่งตอนนั้น ญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในความคิดยุ้ยเลย เราจะนึกถึงอังกฤษ อเมริกา ที่ใช้ภาษาที่เราสื่อสารด้วยได้ ตอนนั้นยุ้ยสื่อสารภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย”

เป็นคุณพ่อของยุ้ยอีกนั่นเองที่แนะนำว่าลองไปเรียนที่ญี่ปุ่นดูไหม ยุ้ยจึงลองเสิร์ชข้อมูลดู พบว่ามีโปรแกรมที่รับสมัครคนต่างชาติ ใครอยากเรียนปั้นก็ให้ไปอยู่กับสตูดิโอของคนญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 1 เดือน เหมือนได้ใช้ชีวิตอยู่ในโฮมสเตย์ด้วยและได้ปั้นด้วย
ยุ้ยจึงตัดสินใจเลือกที่นี่ และลาออกจากงานประจำแล้วเดินทางไปญี่ปุ่น ซึ่งที่บ้านของยุ้ยก็สนับสนุน

“เมื่อไปถึง ได้ไปใช้ชีวิตเต็มๆ ก็ยิ่งชอบ ชอบทั้งวิถีชีวิตคนที่นั่นและชอบภาษาของเขา ทำให้รู้สึกอยากพูดภาษาญี่ปุ่นให้ได้”
ยุ้ยได้ทราบจากชาวญี่ปุ่นในครั้งนั้นว่า ที่เมืองเมืองเซโตะ จังหวัดไอจิแห่งนี้ยังมีสตูดิโอที่สอนปั้นเซรามิคอย่างจริงจังอยู่ด้วย โดยใช้เวลาในการเรียนสองปี แต่ผู้เรียนต้องพูดภาษาญี่ปุ่นได้"

“เมื่อยุ้ยกลับมาไทย ก็คิดว่าเราจะไปยังไงต่อ แล้วการเรียนภาษาญี่ปุ่นก็ท้าทายดีนะ เราก็ชอบด้วย และเมื่อเราได้ไปเห็นเมืองนั้น ได้ไปลองใช้ชีวิตที่เมืองนั้นแล้ว ยิ่งทำให้เราก็รู้สึกว่า เราอยากไปเรียนจริงจังที่นี่ จึงตัดสินใจว่าจะเรียนภาษาญี่ปุ่น แต่ก็เริ่มเรียนที่กรุงเทพฯ ก่อน เป็น Intensive เพื่อให้พร้อมไปเรียนต่อที่นู่น”

“เมื่อเรียนภาษาไปปีนึง ก็ไปเรียนต่อภาษาที่ญี่ปุ่นอีก 1 ปี ก่อนจะสอบเข้าเรียน ซึ่งที่ที่ยุ้ยไปเรียน ไม่ใช่วุฒิปริญญาโท แต่เหมือนเป็น Diploma มากกว่า เราไปเพื่อตั้งใจไปเรียนปั้น ไม่ได้สนใจว่าต้องได้วุฒิปริญญาโท เพราะที่นั่นเป็นโรงเรียนเฉพาะทาง แล้วยุ้ยก็สอบผ่าน จึงได้เข้าไปเรียนค่ะ”








เอกลักษณ์ในงานปั้น

ถามว่า คนที่ได้เห็นงานปั้นของคุณ มักมองว่ามีความน่ารัก อบอุ่นสบายตา แล้วคุณมองงานปั้นของตัวเองอย่างไร
ยุ้ยตอบว่า ระหว่างที่เรียนปั้นที่ญี่ปุ่น เธอได้เรียนทุกเทคนิคที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทคนิคการวาด การลงสี ซึ่งเป็นการลงสีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวญี่ปุ่น ซึ่งยากมากสำหรับเธอ ยากจนยุ้ยรู้สึกท้อที่จะเรียนต่อ แต่มีเพื่อนคอยให้กำลังใจ

“เมื่อจบโปรเจ็กต์ที่นั่น เราจะเรียนต่อด้านที่เราสนใจ ยุ้ยเป็นคนเดียวที่มานั่งทำสิ่งนี้ต่อ สิ่งที่รู้สึกว่ายากในตอนนั้น นั่นก็คือการลงสีน้ำเงินโคบอลต์ค่ะ ซึ่งเทคนิคนี้เรียกว่า Sometsuke ซึ่งใช้พู่กันที่เป็นพู่กันเฉพาะ มีหัวใหญ่และมีความอุ้มน้ำ แต่สามารถลงรายละเอียดเล็กๆ ได้ เนื่องจากการปั้นเซรามิคนั้น ถ้าหากเรานำพู่กันไปป้ายลงบนจานชามเลย มันจะมีรอยของพู่กัน แต่เทคนิคนี้ไม่มีรอยพู่กัน แล้วเราจะเห็นการ Gradient สี การไล่สีที่มัน Smooth ซึ่งมีความยาก แต่เซ็นเซ (หมายถึง : ครู, อาจารย์ ) ที่นั่นก็ช่วยเราเต็มที่ เมื่อเห็นว่าเราสนใจ โปรเจ็กต์จบของยุ้ยจึงมีงานเป็นเซ็ตเลยค่ะ ขณะที่คนอื่นส่งเป็นชิ้น เราจึงได้ Skill เทคนิคนั้นมา เมื่อมาถึงไทย ทักษะนี้ก็ค่อนข้างไม่เหมือนใครด้วย ยุ้ยเองก็ตั้งใจจะใช้สีน้ำเงินไปตลอด เป็นเอกลักษณ์ของงานเราด้วยค่ะ”

“นอกจากนี้ ยุ้ยใช้สูตรเคลือบที่รีเสิร์ชขึ้นมาเองตอนอยู่ที่ญี่ปุ่นด้วย ไม่ได้ใช้เคลือบสำเร็จรูป นี่ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้งานเรามีเอกลักษณ์ด้วย”


อดถามไม่ได้ว่า มีงานชิ้นหนึ่งของคุณที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือแก้วกาแฟที่มีควันและฟองนมคาปูชิโน่ ที่ทั้งแลดูน่ารักและน่าชิม

ยุ้ยบอกเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า “ใช่ค่ะ แก้วนั้นเป็นควันและฟองนม ตลกดีเหมือนกันค่ะ เพราะงานนั้นเป็นงานที่ยุ้ยอยากทดลองทำ คือโดยปกติ งานเซรามิคจะต้องซ้อมมือก่อนทำจริง เพื่อดูว่าอะไรถูก อะไรควร งานแก้วกาแฟนี้ ยุ้ยทำให้ทาง Thailand Coffee Fest เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเวลามีไม่มาก แล้วเราก็มีไอเดียนี้ขึ้นมา ก็ตัดสินใจลองทำเลยแล้ว Fluke ที่เมื่อทำออกมาแล้ว สีฟองนมมันเหมือนจริงเลย จากนั้น ยุ้ยก็พยายามลองทำอีก แต่สีมันออกมาไม่เหมือนเดิม คือเซรามิคในช่วงที่เราวาดกับเผา สีมันไม่เหมือนกัน ตอนวาดก็ต้องทดลองด้วย ว่าเมื่อสีนี้ ผสมกับสีนี้แล้วจะได้สีที่เราผสมออกมาแน่ๆ แต่ ณ ตอนนั้น ยุ้ยไม่ได้ทดลอง แต่ใช้วิธีกะ ซึ่งมันออกมาได้พอดีเลยและยุ้ยก็ชอบมาก คิดอยู่เหมือนกันว่าอยากให้ทำออกมาขายได้”


ไม่ว่างานปั้นเซรามิค หรืองานวาดภาพประกอบ ล้วนเป็นงานที่ยุ้ยรักทั้งสิ้น ในช่วงนี้ก็ยังอยู่ระหว่างออกแบบภาพปกหนังสืออีกเล่มหนึ่งด้วย
สำหรับผู้สนใจงานปั้น พบปะกับเธอและผลงานคอลเลคชั่นใหม่ๆ ได้ตามงานออกบูธศิลปะแฮนด์เมด หรือเทศกาลงานคราฟท์ที่เธอจะบอกกล่าวผ่านโซเชียลมีเดียเสมอ หากมีงานไปโชว์ที่ใด อาทิ เร็วๆ นี้ พบเธอพร้อมงานปั้นได้ที่ Little tree market วันที่ 16-18 สิงหาคม ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

ส่วนหนังสือรวมภาพวาดประกอบผลงานที่ผ่านมา ยุ้ยยอมรับว่าเธอคิดที่จะทำหนังสือรวมเล่มขึ้นมาเช่นกันแต่ยังเป็นเพียงความคิดเบื้องต้น เนื่องด้วยยังต้องใช้เวลาไม่น้อยในขั้นตอนต่างๆ


เป็นคำบอกเล่าทิ้งท้ายของผู้สร้างสรรค์ผลงานจากปลายพู่กันที่มีสไตล์เฉพาะตัว…ทั้งในงานวาดและงานปั้นสีละมุน
………
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ภควรรณ ทองวานิช, FACEBOOK : Atelier Pakawan