เดิมพันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์กับการพึ่งตัวเองด้านสุขภาพของคนไทยมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อนายกฯ ตัดสินใจไม่นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่ให้ออกเป็น พ.ร.บ.ควบคุมแทน ด้วยความจริงมีหนึ่งเดียวเรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายไปมา และพรรคเพื่อไทยประเมินแล้วได้ไม่คุ้มเสีย ขณะที่ฟ้าทะลายโจรก็กำลังจะถูกนำกลับเข้าสู่แนวเวชปฏิบัติรักษาโควิด หลังปลัด สธ.สั่งการแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้า
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงเดิมพันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ กับ การพึ่งพาตัวเองได้ของประชาชน คือเรื่อง กัญชา กับ ฟ้าทะลายโจร โดยทั้ง 2 เรื่อง มี 3 คนที่เคลื่อนไหวคือ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต , ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกฯ และ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต สว.กรุงเทพมหานคร ร่วมกันเปิดโปงการทุจริตในทางวิชาการเพื่อทวงคืนกัญชา และฟ้าทะลายโจรให้ผู้ป่วย โดยมีตนคอยสนับสนุนและจัดรายการเปิดโปงอย่างต่อเนื่อง
และในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีการพลิกเกมถึง 2 เรื่องสำคัญ คือ
หนึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พลิกนโยบายกัญชา คือให้กัญชาไม่ต้องกลับไปเป็นยาเสพติด แต่ให้ใช้พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง เป็นตัวกำหนดการใช้ประโยชน์ และการควบคุมกัญชา ซึ่งก็เป็นไปตามที่พรรคภูมิใจไทย และภาคประชาชนเขาเรียกร้อง
ถือว่าจบได้อย่างสวยงาม
สอง กระทรวงสาธารณสุขมีการเคลื่อนไหวพยายามพลิกเกมจะเอายาฟ้าทะลายโจรกลับคืนเวชปฏิบัติในการรักษาโควิด-19 ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่สำเร็จ
เบื้องหลังเกมพลิก “กัญชา”
มีหลายคนสงสัยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนเริ่มประกาศว่าจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แล้วอยู่ดีๆ ทำไม วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 กลับกลายเป็นคนเจรจาระหว่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสมศักดิ์ เทุสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะไม่เอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเสียเอง
โดยให้มีการใช้ประโยชน์และการควบคุมในรูปของพระราชบัญญัติแทน ซึ่งเป็นไปตามที่พรรคภูมิใจไทยเรียกร้องมาโดยตลอด
“คำตอบที่เป็นบทสรุปง่าย ๆ และตรงไปตรงมาที่สุด คือ คุณเศรษฐาเป็นคนใจกว้าง และเป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะหากความคิดเห็นนั้นมีเหตุมีผล” นายสนธิ กล่าว
ซึ่งในความเป็นจริงพรรคภูมิใจไทยได้แบะท่าเอาไว้แล้วว่า พร้อมจะโหวตสวนและยอมเป็นผู้แพ้ในคณะกรรมการ ป.ป.ส. แต่ก็ยังขอเกาะเป็นรัฐบาลต่อไป ดังนั้นลำพังเสียงของพรรคภูมิใจไทยจึงเป็นน้ำหนักที่ไม่มากที่จะทำให้นายเศรษฐาเปลี่ยนใจ
เสียงที่มีน้ำหนักจาก “ความจริงมีหนึ่งเดียว”
แต่การเคลื่อนไหวของ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนัก เพราะทักท้วงว่าหากรัฐบาลฝืนเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จะกลายเป็นผลร้ายต่อพรรคเพื่อไทยในท้ายที่สุด โดยมีพรรคภูมิใจไทยคอยสมน้ำหน้า
เพราะก่อนหน้าที่เราจะเห็นมติในวันนี้ มีการพูดคุย “นอกรอบ” กับ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์หลายครั้งในกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง องค์การอาหารและยา, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
จนกระทั่งไม่มีใครมาโต้เถียงประเด็นสาระสำคัญของ เพราะอ.ปานเทพ แม้จะยืนโต้อยู่คนเดียว แต่ก็ยืนอยู่บนสัจจะและความจริง และความจริงก็คือความจริงอยู่วันยังค่ำ คือ
ถ้ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จะทำให้เกิดการผูกขาดอยู่กับเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ยานำเข้าจากต่างประเทศ และโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น ทำลายแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน และการพึ่งพาตัวเองของชาวบ้าน เพราะมี 2 ปัจจัยสำคัญ
ประการแรก ในประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 32 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับเดือนเมษายน 2567 ได้มีการล็อกสเปคไม่ให้หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์สามารถจ่ายสารสกัดหรือน้ำมันกัญชาได้อีกต่อไป
เพราะถ้ายังจ่ายน้ำมันกัญชาที่ผลิตในประเทศได้ในราคาไม่แพง พวกยานำเข้าจากต่างประเทศก็จะขายน้ำมันกัญชาในราคาแพง ๆ ในประเทศไทยไม่ได้
ประการที่สอง ในประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 40 และ 95 ล็อกเสปก ว่า เกษตรกรผู้ปลูกกัญชา หรือแม้แต่คลินิกกัญชา จะต้องมี “เภสัชกรแผนปัจจุบัน” อยู่ตลอดเวลาทำการ
ทำให้เกษตกรผู้ปลูกกัญชา หมอแผนไทยและหมอแผนปัจจุบันในคลินิกที่เคยจ่ายน้ำมันกัญชาได้ ต้องไปหาเภสัชกรแผนปัจจุบันเงินเดือนเป็นแสนมาประจำอยู่ตลอดเวลา
การล็อกสเปกแบบนี้ คือการล็อกสเปกทำให้ทำลายเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา กัญชงทั้งหมด เอื้อผลประโยชน์ให้เฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ปลูกกัญชาในระบบปิด ซึ่งมีต้นทุนแพงมาก ร่วมกับกลุ่มทุนต่างชาติ ที่มีโรงงานต่อเนื่องเป็นสายการผลิต จึงจะมีเภสัชกรประจำอยู่ได้
ซึ่งบังเอิญว่าอาจารย์ปานเทพ ได้แถลงข่าวเปิดประเด็น สำนักข่าวอิศราได้เคยรายงานต่อเนื่องหลายชิ้นว่า สถานภาพของ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลชุดนี้ เคยเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการในบริษัทร่วมทุนสัญชาติแคนาดาในธุรกิจกัญชากัญชงด้วย
จึงย่อมมีคำถามตามมาว่าการล็อกสเปกเหล่านี้กำลังจะไปเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนไทยร่วมกับต่างชาติหรือไม่ ?
ในขณะเดียวกัน อ.ปานเทพ ก็ได้เปิดประเด็นอีกด้วยว่า เมื่อคลินิกกัญชาทั่วประเทศไม่สามารถจ่ายกัญชาได้ เพราะไม่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันประจำอยู่เท่านั้น ในขณะที่โรงพยาบาลภาครัฐก็แทบไม่จ่ายกัญชาไทยให้กับคนไข้ ก็จะส่งผลทำให้มีแต่ “โรงพยาบาลเอกชน” เท่านั้นที่จะสามารถมีเภสัชกรแผนปัจจุบันอยู่ทำการตลอดเวลาได้
ซึ่งต้องไม่ลืมว่าครอบครัวชินวัตรเป็นผู้ถือหุ้นในโรงพยาบาลพระรามเก้า โดยคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ แม่ของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีหุ้นในโรงพยาบาลนี้ 37.14%, ส่วนลูกๆ 3 คน คือ นางสาวพินทองทา นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีหุ้นคนละเท่าๆกัน คือแต่ละคนมีหุ้นอยู่ 0.64%
“และอย่างที่ผมเคยบอกเอาไว้ว่าคนที่มีส่วนสำคัญอยู่เบื้องหลังจะเอากัญชา และกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติด ก็คือ “หมอมิ้งค์” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และ “หมอเลี๊ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ถึงขนาดโต้เถียงกันอย่างหนักกับ หมอชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
“จนเป็นเหตุทำให้มีการปลด หมอชลน่าน ศรีแก้ว ออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมอมิ้งค์ และหมอเลี๊ยบ ต่างใกล้ชิดกลุ่มทุนในครอบครัวชินวัตรและดามาพงศ์ทั้งสิ้น
“แต่ถ้ายังฝืนทำต่อไป อย่าคิดว่าจะผูกขาดเอื้อกลุ่มทุนในระบอบทักษิณได้ เพราะผู้ป่วยและเกษตรกรที่ชาวบ้านทำกัญชาอยู่ไม่มีวันหยุดปลูกและหยุดใช้กัญชา เพราะจะยังคงใช้กัญชาใต้ดินต่อไป
“ส่วนกลุ่มทุนพรรคเพื่อไทย ที่หวังว่าจะรวยเพราะกำจัดชาวบ้านและเกษตรกรรายย่อยได้จะไม่มีวันสำเร็จ แถมยังจะต้องโดนประชาชนเปิดโปงและลุกขึ้นมาต่อต้านอีกด้วย รับรองได้ว่าหากยังฝืนทำต่อไป มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง
“ส่วนคุณเศรษฐา เขาไม่ใช่กลุ่มทุนบริษัทยาหรือกลุ่มทุนแพทย์ต่างจากหมอมิงค์และหมอเลี๊ยบ ถ้าเพียงแค่เขารู้ความจริงและมีความเข้าใจ คุณเศรษฐาก็ไม่จำเป็นต้องดันทุรังเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเพื่อกลุ่มทุนบริษัทยาหรือโรงพยาบาลเอกชนใด” นายสนธิ กล่าว
ประการที่สาม หนังสือฉบับสุดท้ายของเครือข่ายนักวิชาการและแพทย์ได้ร่วมลงชื่อกันจำนวนมาก นำโดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และ อ.ปานเทพ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 จับโป๊ะจากงบประมาณรายจ่ายจริงของทางราชการ พบการมีใช้ข้อมูลราชการที่เป็นเท็จ บิดเบือน และเกินจริง ในเรื่องผลร้ายของกัญชา ทำให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดหลงผิดลงมติให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องในคดีทุจริตต่อไปได้ด้วย
“แต่การเคลื่อนไหวกลุ่มของ อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หมอธีระวัฒน์ คุณรสนา และกลุ่มสหพันธุ์กัญชาไทย รวมถึงการอดอดอาหาร 12 วันของกลุ่มเขียนอนาคตกัญชาไทยจนร่างกายซูบผอมลงมาก คนเหล่านี้เขาทำเพื่อผู้ป่วย เพื่อประชาชน เพื่อส่วนรวม ไม่ได้ทำเพราะต้องการคะแนนเสียงหรือความนิยมใด ๆ
“จุดนี้ได้ทำให้กระตุ้นต่อมจิตสำนึกของพรรคภูมิใจไทยซึ่งเคยรู้สึกว่า แม้คนกัญชาไม่ได้เลือกพรรคภูมิใจไทยเท่าไหร่ แต่พรรคภูมิใจไทยจำเป็นต้องออกแรงมากขึ้น เพราะการต่อสู้ด้วยความบริสุทธิ์ใจและสัจจะของภาคประชาชนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้ไม่สามารถทอดทิ้งได้ หากไม่ทำอะไรก็จะเป็นเรื่องที่น่าละอายมาก เพราะจะเสียธรรมต่อประชาชนในวันข้างหน้า”
เสียงกลุ่มที่สอง ภายในพรรคเพื่อไทย ห่วงสถานภาพความเชื่อมั่นนักลงทุน และการสั่นคลอนต่อรัฐบาล
สถานการณ์ภายในพรรคเพื่อไทยในเรื่องการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดที่หวังจะด้อยค่าพรรคภูมิใจไทย ได้เป็นที่ถกเถียงว่าจะคุ้มหรือไม่ โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนัก
โดยเฉพาะคำว่า “ความเชื่อมั่นนักลงทุน” เพราะถ้านโยบายเรื่องสำคัญ ๆ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ เพียงเพราะรัฐบาล ต่อไปจะไม่มีใครกล้าลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสาระสำคัญที่สุด
และอีกคนหนึ่งที่อ่านสถานการณ์ความไม่พอใจ ของพรรคภูมิใจไทย คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย คือ คนที่เข้าไปเจรจาส่งสัญญาณไปที่นายกรัฐมนตรีว่า พรรคภูมิใจไทย “อึดอัดไม่พอใจ”
โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่พรรคภูมิใจไทย มีเครือข่ายสมาชิกวุฒิสภาเสียงข้างมากเกือบทั้งหมดอยู่ในมือ และอาจทำให้สถานการณ์รัฐบาลไปไม่รอดได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 พรรคภูมิใจไทย ได้ลงมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... กรอบวงเงิน 122,000 ล้านบาท ในวาระแรก เสียง ส.ส. 296 คนเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ 163 เสียง
เพราะเป็นที่รู้กันว่าลึก ๆ แล้ว พรรคภูมิใจไทยไม่ค่อยเห็นด้วยกับดิจิทัล วอลเล็ต แต่ก็ลงมติเห็นชอบในหลักการวาระแรก แต่อย่าลืมว่ายังมีวาระที่สอง และวาระสามอีก
เมื่อถึงวาระที่สาม ก็ต้องเป็นเสียงของสมาชิกวุฒิสภา ที่ใคร ๆ ก็รู้ว่า เป็น ส.ว.สีน้ำเงิน ที่จะเป็นผู้กุมชะตากรรมนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท
เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วการด้อยค่าพรรคภูมิใจไทยด้วยการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอาจได้ไม่คุ้มเสีย
นั่นคือเหตุที่ทำให้ คุณเศรษฐา ทวีสิน ต้องกลับไปเจรจากับคุณอนุทิน ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
เบื้องหลังเจรจา เศรษฐา อนุทิน และสมศักดิ์
ในตอนแรกนายเศรษฐาถึงขนาดเดินทางไปพบนายอนุทิน ถึงกระทรวงมหาดไทย ในตอนแรกนายเศรษฐาต่อรองว่า “ไม่รีบ” หมายถึงไม่รีบเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่นายอนุทินคงเห็นว่า หากยังกั๊กไว้ ก็จะยิ่งเสียหายต่อผู้ลงทุน และมีความไม่แน่ชัดด้วย
จนกระทั่งปลายสัปดาห์ที่แล้วนายเศรษฐา เริ่มเจรจากับนายอนุทิน จึงตกลงกันได้แล้วจึงโทรศัพท์ไปหานายสมศักดิ์ ให้ถอยในเรื่องกัญชา
แต่นายสมศักดิ์ ค่อนข้างจะไม่พอใจเพราะรับนโยบายกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดโดยนายกรัฐมนตรีเป็นคนให้นโยบายเองเอง การทำแบบนี้จะทำให้นายสมศักดิ์เสียหน้า ต่อไปจะปกครองลูกน้องในกระทรวงสาธารณสุขอย่างไร จึงยืนยันที่จะเดินหน้าจะเอาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส.ให้ได้ ใน วันที่ 23 กรกฎาคม 2567
“ขอนอกเรื่องกันหน่อยว่า ความจริง คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน กับ คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เขาอยู่ติดกันตลอด
“แต่มีเรื่องไม่พอใจคุณอนุทินกันมาก่อนหน้านี้ โดยมีเรื่องกันมาเป็นระยะ ๆ ในบางโครงการ แต่ในที่สุดก่อนการเลือกตั้ง คุณสุริยะ และคุณสมศักดิ์ ไปเจรจากับพรรคภูมิใจไทยว่าจะขอมาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย แต่ขอโควต้า 2 รัฐมนตรีให้กับคุณสมศักดิ์ และคุณสุริยะ แต่พรรคภูมิใจไทยไม่เอา คุณสุริยะ และคุณสมศักดิ์ก็เลยไม่พอใจ
“แต่พอได้โอกาสที่คุณสุริยะ และคุณสมศักดิ์ ได้ไปย้ายเข้าพรรคเพื่อไทย จนพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ได้มอบกระทรวงที่เป็นหอกทิ่มย้อนเกล็ดกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยเคยดูแล”
คือ ให้นายสุริยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงคมนาคม และนายสมศักดิ์ ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คงหวังว่าจะใช้คนที่ไม่พอใจพรรคภูมิใจไทย ไปจัดการในกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยเคยคุมอยู่
นายสุริยะ คุมคมนาคม โดยจับเรื่องที่ดินเขากระโดงเป็นตัวประกัน
นายสมศักดิ์ คุมสาธารณสุข คุมกัญชา คอยด้อยค่าภูมิใจไทย
นี่คือเบื้องหลังที่มา ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ในขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เมื่อรับสัญญาณชัดเจนจากพรรครัฐบาล ในฐานะรองนายกรัฐมตรี ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการ ป.ป.ส. ก็ได้ส่งสัญญาณชัดตั้งแต่ วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 ว่าจะยังไม่จัดประชุมในเรื่องนี้ เพราะต้องให้มีการชี้แจงให้ชัดเสียก่อน นโยบายกลับไปกลับมาเรื่องกัญชาได้อย่างไร ในเมื่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดก็เป็นกลุ่มคนชุดเดียวกันที่เคยปลดล็อกออกจากยาเสพติด
แต่นายสมศักดิ์ ก็ยังไม่ยอมง่าย ๆ พยายามโทรติดต่อนายพีระพันธุ์ให้เอาเข้าประชุมให้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะความจริงนายพีระพันธุ์ คุยกับนายอนุทินและนายกรัฐมนตรีเอาไว้ก่อนหน้าเรียบร้อยแล้ว
จนกระทั่ง นายทักษิณ ชินวัตร ได้นำครอบครัวในช่วงสุดสัปดาห์พักผ่อนร่วมกับสมาชิกครอบครัวชินวัตร ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 รีสอร์ตของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เป็นอันปิดดีล
เป็นผลทำให้เช้าวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา เจรจากับนายอนุทิน และนายสมศักดิ์ มีบัญชาการให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง มีความหมายว่าไม่ต้องนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
“ด้วยคำที่แสดงถึงความเป็นลูกผู้ชายของนายกรัฐมนตรีมาก เพราะคุณเศรษฐาได้บอกคุณสมศักดิ์ว่า ถือว่าการสั่งการให้กัญชาเป็นยาเสพติดก่อนหน้านี้ เป็นความผิดพลาดของผมเอง
“เรื่องกัญชาเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน ความผิดพลาดในการตัดสินใจจึงเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าได้หมั่นสังเกต เรียนรู้ และเปิดข้อมูลกว้าง แล้วรีบแก้ไขให้ถูกต้อง ตรงนี้ต้องถือว่านายกรัฐมนตรีได้ทำสิ่งที่น่าสนับสนุนและน่าชื่นชมอย่างยิ่ง” นายสนธิ กล่าว
เกมกำลังพลิกเรื่อง “ฟ้าทะลายโจร”
สำหรับเรื่องฟ้าทะลายโจร หลังจากที่มีการเปิดโปงเรื่องยาฟ้าทะลายโจรที่ถูกถอดออกจากเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ตั้งแต่ วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ไม่มีขั้นตอนใดให้จ่ายฟ้าทะลายโจรได้ในผู้ป่วยโควิด-19 ได้
ส่งผลคือ ตั้งแต่ วันที่ 5 มิถุนายน 2567 เป็นต้นมา ใครป่วยเป็นโควิด-19 โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะไม่จ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้
แต่ยังคงมีฟาวิพิราเวียร์อยู่ ทั้ง ๆ ที่เป็นยาที่ทำให้เชื้อดื้อยามากขึ้น หากใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ
ปรากฏว่าเรื่องนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และนางสาวรสนา โตสิตระกูล ได้ไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2567 โดยร้องขอ 3 เรื่อง คือ
เรื่องที่ 1 ขอให้หยุดเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2567
เรื่องที่ 2 ขอให้เปิดเผยบันทึกการถอดเทปในการประชุมคณะกรรมการโควิด-19
เรื่องที่ 3 ขอให้เปิดเผยงานวิจัยเต็มฉบับที่ใช้อ้างในการถอดฟ้าทะลายโจรออกจากเวชปฏิบัติ
“ผมบอกให้เลย 3 คนนี้รวมตัวกันได้ ภายใต้หัวจดหมายเป็น บริษัท สำนักงานกฎหมายอรุณอัมรินทร์ จำกัด นั้นเป็นเรื่องใหญ่แน่ๆ เพราะ
“1.คุณรสนา โตสิตระกูล เป็นภาคประชาชนที่เคยจับนักการเมืองและข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขที่ทุจริตยา ติดคุกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
“2.อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีประวัติไม่เคยแพ้คดีไหนเลยแม้แต่คดีเดียว และเป็นคนเก็บข้อมูลทุกกระเบียดนิ้ว แถมมีทักษะในการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย อีกทั้งยังมีสื่ออยู่ในมือ
“3.ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เป็นคนที่ในตอนแรก สนับสนุนฟาวิพิราเวียร์เอง แต่พอมีผลไม่ดีและใช้ไม่ได้ผลก็ขอให้หยุดใช้ และรณรงค์ให้ประชาชนใช้ฟ้าทะลายโจรแทน คุณหมอธีระวัฒน์เป็นศาสตราจารย์ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ เตรียมมาชำแหละการทุจริตงานวิชาการเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทยา ขอเพียงได้ข้อมูลมาครบเท่านั้น จะเปิดโปงให้ประชาชนได้รับรู้ความจริงอย่างแน่นอน
“เมื่อ 3 พลัง บวกกับสำนักงานกฎหมาย รับรองได้ว่าหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และยังไม่เปิดเผยข้อมูล งานนี้มีโอกาสเป็นคดีทุจริตครั้งใหญ่อีกครั้งเป็นแน่
“โดยเฉพาะผมขอดักคอเอาไว้เลยคือ การนำงานวิจัยที่เก็บตัวอย่างน้อย ๆ ไม่ถึงมาตรฐานในผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ของโอไมครอน และการอ้างเรื่องค่าตับสูงขึ้นทั้ง ๆ ที่ค่าตับไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานมาตัดฟ้าทะลายโจรออกจากเวชปฏิบัติ จนประชาชนไม่ได้ยาฟ้าทะลายโจร อย่างอำมหิตโหดเหี้ยมสนองความโลภของหมอนักวิชาการบางคนละก็ พวกคุณมีสิทธิ์ติดคุกกันระนาว
“แต่ผมได้ข่าวดี ไม่ใช่มาจาก พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ที่พยายามออกมาแก้ตัว มากกกว่าแก้ไข
“เพราะหมออัมพร แก้ตัวว่าแพทย์ยังสามารถจ่ายฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 ได้เหมือนเดิม เพราะอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและเบิกค่าใช้จ่ายได้ แต่ถึงวันนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ก็ยังไม่ได้ฟ้าทะลายโจรเหมือนเดิม” นายสนธิกล่าว
ทั้งนี้ เพราะคำว่า “เวชปฏิบัติ” คือ คู่มือที่แพทย์ “ต้องปฏิบัติ” ตาม หากไม่ปฏิบัติแล้วเกิดอะไรขึ้น แพทย์คนนั้นต้องรับผิดชอบ จนถึงสามารถถูกถอดใบประกอบวิชาชีพได้
คำว่า “แพทย์สามารถจ่ายได้” จึงมีความหมายว่า เวชปฏิบัติ ไม่มีระบุให้ใช้ฟ้าทะลายโจรเอาไว้ หมอคนนั้นต้องรับผิดชอบด้วยตัวเองหากมีอะไรเกิดขึ้น
เกิดหมอคนนั้นซวยเพราะจ่ายฟ้าทะลายโจรแล้วผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเรื่องอื่น เขาก็จะไปดูว่ามีการจ่ายยานอกเวชปฏิบัติหรือไม่ ถ้าไม่มีในเวชปฏิบัติ แพทย์ผู้นั้นต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด
ดังนั้นคำว่า “สามารถจ่ายได้” จึงเป็นการเล่นคำเพื่อให้ดูดีเท่านั้น แต่แพทย์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่จ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้คนไข้อยู่ดี
ประเด็น : หนทางที่ถูกต้องคือการทำตามคำร้องขอของ อ.ปานเทพ และคณะคือให้หยุดเวชปฏิบัติวันที่ 5 มิถุนายน 2567 และรีบคืนฟ้าทะลายโจรให้ผู้ป่วยโควิด-19 ให้เร็วที่สุด
นี่เวลาผ่านมา 10 วันแล้ว จนป่านนี้ก็ไม่ให้บันทึกการถอดเทปรายงานการประชุม และงานวิจัยที่อ้างมาในการถอดฟ้าทะลายโจรออก ผมถามว่าการทำงานที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างขนาดนี้ยังมีการปิดบังข้อมูล ไม่โปร่งใสได้อย่างไร
นายสนธิ กล่าวว่า จะให้เวลาอีก 1 สัปดาห์ เพราะได้ข่าวการสั่งการจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการมอบนโยบายต่อข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2567 ให้หากแก้ไขเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ คือ เอาฟ้าทะลายโจรกลับมา แล้วถอดยาฟาวิพิราเวียร์ออก
“ถ้าทำอย่างนั้น แรงจูงใจในการดำเนินคดีความอาจจะลดน้อยลง เพราะประชาชนได้ทวงคืนฟ้าทะลายโจรสำเร็จแล้ว แต่หากยังยืดเยื้อ ผมว่าพวกคุณจะเสี่ยงคุกตะรางกันทั้งหมด
“ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน คนที่เคยสนับสนุนฟ้าทะลายโจรมาก่อน คงไม่ทำลายฟ้าทะลายโจรกับมือตัวเอง
“ผมจึงขอให้เวลาอีก 1 สัปดาห์ รีบทวงคืนฟ้าทะลายโจรให้ประชาชนและผู้ป่วยให้เร็วที่สุด และให้เอกสารกับ อ.ปานเทพและคณะโดยเร็วนะครับ เพื่อวัดใจว่าคุณสมศักดิ์ เทพสุทินทำเพื่อฟ้าทะลายโจรจริงๆ หรือไม่
“และคุณสมศักดิ์ครับ ผมฝากอีกเรื่องหนึ่ง คุณทอม เครือโสภณ คุณรู้จักใช่ไหม มาบอกอาจารย์ปานเทพ ว่า คุณสมศักดิ์ บอกว่าให้มาบอกผมว่าอย่าไปด่าเขาเลย คนสุโขทัยด้วยกัน คนสุโขทัยไม่ด่าซึ่งกันและกัน เอ๊ะ ผมกับคุณทักษิณก็คนประเทศไทยเหมือนกันนะ แสดงว่าผมกับคุณทักษิณด่ากันไม่ได้ใช่ไหม เอาอย่างนี้ดีกว่า คุณสมศักดิ์ สิ่งแรกที่คุณควรจะทำ คุณอย่าไปใช้งานนายทอม เครือโสภณ คุณตัดทิ้งไปเลย คนๆ นี้ไม่มีประโยชน์ เป็นแค่ล็อบบี้ยิสต์
“ก็คุณนึกดูสิว่างานประชุมในเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นพระราชบัญญัตินั้น คุณทอม มากับบรรดาเครือข่ายนายทุนกัญชาเต็มไปหมดเลย โดนคุณอนุทิน ตีแสกหน้าจนหน้าซีดเผือด พูดไม่ออก รายละเอียดวันหลังผมจะเล่าให้ฟัง เอาแค่นี้ก่อนแล้วกัน
“และอีกประการหนึ่ง คุณสมศักดิ์ครับ พฤติกรรมหมออัมพร ถ้าคุณยังมีอยู่จนกระทั่งมีการเลื่อนตำแหน่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่างอยู่ คุณอย่าตั้งหมออัมพร เด็ดขาด คุณตั้งเมื่อไร คุณมีเรื่องกับผมเลย เพราะคนๆ นี้ไม่เหมาะจะเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข” นายสนธิกล่าว