“สมโภชน์ อาหุนัย” ซีอีโอและผู้ถือหุ้นใหญ่ “พลังงานบริสุทธิ์” หรือ EA ถึงคราวซวยเพราะอดีตภรรยาที่สะสมแรงแค้นจนเหลืออด ส่งข้อมูลทุจริตให้ ก.ล.ต.เอาผิดอดีตสามีที่ไซฟอนเงินบริษัทเข้ากระเป๋าตัวเองผ่านบริษัทหลอกๆ ที่ตั้งขึ้นมา แล้วเอาเงินที่ได้ไปปั่นหุ้นต่อ และยังพบการเอื้อประโยชน์ให้ผู้หญิงอีกคน จนล่าสุด EA อยู่ในอาการโคม่า มีหนี้ก้อนใหญ่หลายหมื่นล้าน รอผู้บริหารชุดใหม่สะสาง ทั้งยังพบปมเชื่อมโยงกับ “บิ๊กป๊อด พัชรวาท” ที่เคยเป็นกรรมการบริษัทในช่วงปี 2557-2566 และดันราคาหุ้นจาก 11 บาทพุ่งขึ้นไปจนเกือบ 100 บาท
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณี การกล่าวโทษ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และพวก ได้แก่ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ผู้ถือหุ้น EA จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อ 2 สัปดาห์นี้แล้ว คือ วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เพียงกระทบต่อตลาดหุ้น-ตลาดทุน แต่ยังส่งผลสั่นสะเทือนไปยังแวดวงการเงิน-การธนาคาร และเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย เพราะ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ นั้นถือเป็นบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ มีผู้ถือหุ้น-เจ้าหนี้ จำนวนมาก
ทั้งนี้ กลต. ได้กล่าวหาและส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดี กรณีทั้ง 3 คน และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้น 99% คือ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัดและ บริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด
โดยระบุว่า ทั้งสามคนได้กระทำการทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้แก่ตนเอง และ/หรือผู้อื่น ทำให้ EA และบริษัทย่อยเสียหาย
หลักฐานพบ ในช่วงปี 2556-2558 ว่า บุคคลทั้งสามได้ร่วมกันกระทำการทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือ ทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์ เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์จำนวน 3,465.64 ล้านบาท
การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดหลายมาตราตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้งสาม ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป พร้อมทั้งแจ้งดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพยฯ ต่อ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ปปง.
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้มีหลายประเด็นที่ต้องพูดถึง
ประเด็นแรก ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ นายสมโภชน์ อาหุนัย ผู้ที่เพิ่งจะเข้าสู่วัย 57 ปีเต็มไม่กี่วันมานี้กันก่อน เดิมก่อนจะมีชื่อเสียงร่ำรวยติดทำเนียบมหาเศรษฐีเมืองไทย เขามาจากครอบครัวชนชั้นกลาง จบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ระดับอุดมศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังเรียนจบทำงานเป็นพนักงานฝ่ายขายที่บริษัทล็อกซเล่ย์ จากนั้นไปเรียนต่อยังต่างประเทศ ด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก และ กลับมาทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง ในตำแหน่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
กระทั่งมาถึง บล.หยวนต้า ซึ่งถือเป็นจุดที่เริ่มความสัมพันธ์ระหว่างสมโภชน์ และ บลังก้า ชูหลาน หวาง หรือ Blanca Huang ภรรยาของเขา
ก่อนที่ทั้งสองจะร่วมกันก่อตั้ง บริษัท ซันเทค ปาล์มออยล์ จำกัด เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2549 ที่เน้นธุรกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งและกำลังมาแรง มีอนาคตสดใสในขณะนั้น ต่อมาธุรกิจพลังงานสะอาดกำลังได้รับความสนใจ จึงได้แปลงสภาพเป็น “บริษัทมหาชน” และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทพลังงานบริสุทธิ์’ จำกัด (มหาชน)หรือEA เมื่อ วันที่ 27 มีนาคม 2551 และนำหุ้นของ EA นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ วันที่ 30 มกราคม 2556
โดยระยะเริ่มแรก EA เน้น ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และ ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมี โรงไฟฟ้าจำนวน 4 โรง กำลังการผลิตรวม 278 เมกะวัตต์ ที่ลพบุรี นครสวรรค์ ลำปางและพิษณุโลก
นอกจากนี้ยัง มีโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมอีก 8 โครงการ กำลังการผลิต 386 เมกะวัตต์ ซึ่งนับว่า EA เป็นหุ้นที่มีอนาคตสดใสและเป็นที่น่าสนใจจากนักลงทุน และมีมูลค่าราคาตลาดรวมสูงกว่า 360,000 ล้านบาท และทำให้ สมโภชน์ กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 7 ของไทย
“เมีย”แค้นฝังหุ่น ส่งข้อมูลทุจริตให้ ก.ล.ต.เชือด “สมโภชน์”
ปมปัญหาปะทุขึ้นเมื่อความสัมพันธ์ทั้งสองสามีภรรยา คือ สมโภชน์ และ บลังก้า หวง ซูหลาน เริ่มมีปัญหาแตกร้าว ยากที่จะประสาน จนนำไปสู่การหย่าร้าง ถึงขั้นต้องฟ้องร้องแบ่งสินสมรส และก่อให้เกิดเป็นความแค้นฝังใจ “ซูหลาน” แบบว่า ไม่เผาผี
โดยอดีตภรรยา “ซูหลาน” ได้รวบรวมข้อมูลและหลักฐานความไม่ชอบมาพากลต่างๆในการบริหาร EA ของนายสมโภชน์ อดีตสามี ให้ สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบเอาผิดและดำเนินคดี ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในช่วง เดือนตุลาคม 2555 - มีนาคม 2559 ของบริษัทย่อย บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด (ESN) และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด (ESL)
โดยข้อมูลระบุว่า พบความผิดปกติบางอย่าง คือ มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาหลายบริษัทเพื่อทำธุรกรรมการจัดซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้า และวัสดุที่ใช้สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าในลักษณะซ้ำซ้อนหลายชั้น โดยมีการจัดตั้งบริษัท Emerald และ Brics ที่ฮ่องกง ขึ้นมา ทำหน้าที่ซื้อสินค้าจากผู้ขายต้นทางในราคาถูก และนำมาขายต่อให้กับบริษัท ไฮโดรไชน่า จงหนาน เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Hydro) ในโครงการ ESN ที่นครสวรรค์ และ บริษัทพาวเวอร์ไชน่า จงหนาน เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Power) ในโครงการ ESL ที่ลำปาง โดยมีส่วนต่างจำนวนมหาศาลรวมกันกว่า 3,450 ล้านบาท
ทั้งสองบริษัทคือ Hydro และ Power ดูเหมือนจะถูก‘อุปโลกน์’ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาและขายอุปกรณ์และวัสดุเหล่านั้นให้กับ ESN และ ESL ที่เมืองไทย โดยมี ‘กำไรเพียงเล็กน้อย’ คือราว 2% ของราคาสินค้าที่ขายให้กับ ESN และ ESL
จากธุรกรรมอำพรางดังกล่าว ทั้ง Emerald และ Brics สามารถ ‘ทำกำไร’ จากการขายอุปกรณ์และวัสดุต่างๆ รวมแล้วนับร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดย รวมทั้งสองโครงการ Emerald และ Brics สามารถเก็บกำไรจากส่วนต่างในการจัดซื้อจัดหาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสองโครงการคิดเป็นเงินสูงถึงกว่า 109 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ราว 3,450 ล้านบาท
ทั้งนี้ เงินจากส่วนต่างถึง 3,450 ล้านบาทดังกล่าวจะถูกพักไว้ที่ Emerald และ Brics ที่ฮ่องกง ก่อนที่จะใช้กลวิธีผ่องถ่ายเม็ดเงินมาให้กับ นายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส จำนวน 98% ของกำไร อ้างว่าเป็นค่านายหน้า หรือ ‘คอมมิชชั่น’
ก่อนที่นายพรเลิศ จะให้โอนเงินจำนวนดังกล่าวทยอยเป็นงวด ๆ ไปยังบัญชีของบริษัท เมลิต้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ฮ่องกง และถ่ายเทเงินส่วนต่างจำนวนดังกล่าวกลับมาเมืองไทย ในรูป“ธุรกรรมอำพราง” โดยสมโภชน์จะทำสัญญากู้ยืมเงินจาก เมลิต้า อินเตอร์ฯ และมีการออกใบรับคืนเงินกู้ยืมไว้ล่วงหน้า 1 ปี เพื่อเป็นหลักฐานว่า บ.เมลิต้า อินเตอร์ฯ ได้รับหนี้เงินกู้ยืมแล้ว โดยมีเจตนาอำพรางการถ่ายโอนเงินดังกล่าวกลับมาเมืองไทย
คาดว่าเม็ดเงินที่โอนกลับมาเมืองไทย จะมีการกระจายโอนเข้าบัญชีบุคคลหลายๆ คนที่เป็นพวกพ้องกับสมโภชน์ ก่อนที่จะนำไปเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และเข้าซื้อหุ้นของ EA และบริษัทย่อยเพื่อสร้างราคาใหม่อีกครั้ง
ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะหลังมีการนำหุ้นที่ซื้อไว้ไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อนำเงินออกมาซื้อหุ้นใหม่อีกครั้งกับ กองทุนและโบรกเกอร์ต่างชาติบางราย เพื่อดันราคา หุ้น EA และบริษัทย่อยให้พุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จนนักลงทุนรายย่อยสนใจเข้าไปเล่น “เก็ง’ ลงทุนและเก็งกำไร เพราะถูกมองว่าเป็นหุ้นเติบโตที่มีอนาคต
อย่างไรก็ตาม นายสมโภชน์ เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ระบุว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินในลักษณะของ Project Finance คือสถาบันจะจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาโครงการโดยตรง ไม่ผ่านบริษัทแต่อย่างใด โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเป็นระยะและจ่ายเงินตามงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมทั้งยืนยันว่าโครงการโรงไฟฟ้าของ EA มีต้นทุนดำเนินการต่อหน่วยต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับโครงการโรงไฟฟ้าแห่งอื่น
“กิ๊ก” กุลพรภัสร์ พัวพันเครือข่ายเอื้อประโยชน์ EA
นอกจากนี้ คำให้การของ “ซูหลาน” นำส่งให้ ก.ล.ต.เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ได้ปรากฎชื่อของผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ “กิ๊ก” กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ที่ระบุมีการ ‘เอื้อประโยชน์’ ทางธุรกิจแบบผิดปกติ โดยพบหลักฐานทางการเงินหลายอย่างที่แสดงว่า สมโภชน์ได้ใช้เงินที่ ‘ยักย้าย’ มาเพื่อเข้าไปซื้อหุ้นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บริษัทแลนด์ พรอสเพอริตี้ โฮลดิ้ง จำกัด (LPH) ของ ‘กิ๊ก’ กุลพรภัสร์ ที่มีนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ ที่บางปะกง
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรม ‘บลูเทคซิตี้’ที่บางปะกง เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถเมล์ไฟฟ้าของ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) NEX ที่อยู่ในกลุ่มของ EA ที่มี นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา เป็นซีอีโอ ขณะที่รถเมล์ไฟฟ้าที่ NEX ผลิตออกมาจำนวนหนึ่งจะถูกขายให้กับ บริษัทไทยสมายล์ กรุ๊ป ที่มี ‘กิ๊ก’ กุลพรภัสร์ เป็นเจ้าของและผู้บริหาร
ในบันทึกคำให้การมีการเปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา EA มีการให้ประโยชน์ในทางธุรกิจเป็นพิเศษกับ ‘กิ๊ก’ กุลพรภัสร์ โดยมีการตกลงว่าจ้าง บริษัท เค.คอนเนค เวิลด์ไวด์ (ประเทศไทย) ของเธอให้เป็นผู้ขนส่งวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างโรงไฟฟ้าทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2557
ซ้ำร้ายในบันทึกยังระบุอีกว่าเงินที่ได้มาจากการ ‘ยักย้าย’ หรือกำไรที่มาจากส่วนต่างในการจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์โรงไฟฟ้านครสวรรค์ และลำปาง ทั้งสองโครงการที่มีมูลค่าสูงถึง 97.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยก็หลายพันล้านบาท เมื่อมีการโอนเงินกลับมาเมืองไทยในบัญชีของสมโภชน์ และพรเลิศ
นอกจากจะถูกนำไปซื้อหุ้น EA เพื่อช่วยสร้างราคาหุ้นของ EA แล้ว ยังมีการนำเงินบางส่วนไปซื้อหุ้นของ แลนด์ พรอสเพอริตี้ โฮลดิ้ง LPH จนทำให้ สมโภชน์มีหุ้นของ LPH ในมือไม่ต่ำกว่า 55% ขณะเดียวกันยังพบว่า ไทยสมายล์กรุ๊ป ก็มีการไปซื้อหุ้นของ NEX ในลักษณะไขว้กัน
ความน่าเชื่อถือ-หนี้ก้อนใหญ่ มรสุมที่ EA ต้องแบกรับ
หลังจาก ก.ล.ต.กล่าวโทษ ทำให้ สมโภชน์ และ อมร ขาดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน จำเป็นต้องหลุดจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (รองซีอีโอ) ทันที ทำให้บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ต้องเรียกประชุมผู้บริหารนัดพิเศษ เพื่อแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เพื่อบริหารงานงานต่อและเรียกความเชื่อมั่นคืน
โดยที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งนายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการ ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารพร้อมแต่งตั้งกรรมการบริษัทเพิ่มเติม ประกอบด้วยนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์, นายวสุ กลมเกลี้ยงและนายฉัตรพล ศรีประทุมพร้อมเตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาแต่งตั้งนายสุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นกรรมการใหม่เพิ่มเติมอีก 1 ตำแหน่ง
ประเด็นต่อมาคือภาระหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระภายในสิ้นปี 2567 บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหนี้ค้างต้องชำระภายในสิ้นปี 2567 นี้ รวมทั้งสิ้น 16,488 ล้านบาท ประกอบด้วย
-เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและตั๋วแลกเงินระยะสั้น 8,144 ล้านบาท
-เงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ครบกำหนดภายใน 1 ปี 2,852 ล้านบาท
และ
- หนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนด 5,492 ล้านบาท ขณะที่หนี้หุ้นกู้ที่ทยอยครบกำหนดในปีต่อไปอีก 14 ชุด มูลค่ารวมกว่า 25,000 ล้านบาท
คำถามน่าสนใจที่ตามมาก็คือ EA จะเอาเงินที่ไหนมาชำระคืนหนี้มหาศาลก้อนดังกล่าว?
ตามแผนเดิมของ EA จะมีการเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อชำระคืนหุ้นกู้ครบกำหนด (Roll Over) ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม นี้ แต่ล่าสุด ได้ยกเลิกแผนออกหุ้นกู้เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่บริษัทได้รับการแจ้งข้อมูลจากทริสเรตติ้ง (TRIS Rating) ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ (Negative) เป็น BB+ (Negative) จากที่โดนปรับลดมารอบหนึ่งแล้วก่อนหน้าในเวลาเพียง 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม EA ได้ระบุว่า บริษัทมีกระแสเงินสดจำนวน 1,900 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมทุกเดือนประมาณ 1,000 ล้านบาท พร้อมแผนสำรองเจรจากู้เงินจากสถาบันการเงินอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขั้นตอนสุดท้าย
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาและพิจารณาคัดเลือก Strategic Partner(s) เข้ามาร่วมลงทุน สร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน เพิ่มศักยภาพในการชำระหนี้ และพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ขณะที่ บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า EA มีภาระหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน 32,139 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ระยะยาว23,285 ล้านบาทหนี้ระยะสั้น 8,854 ล้านบาท
ส่วน ธนาคารเจ้าหนี้ประกอบด้วย
- ธนาคารไทยพาณิชย์ แบ่งเป็น หนี้ระยะยาว 11,393 ล้านบาท ระยะสั้น 3,500 ล้านบาท
- ธนาคารกรุงเทพ แบ่งเป็นหนี้ระยะยาว 2,000 ล้านบาท ระยะสั้น 1,500 ล้านบาท
- ธนาคารกรุงไทย แบ่งเป็นระยะยาว 1,000 ล้านบาท ระยะสั้น 1,000 ล้านบาท
- ธนาคารกสิกรไทย แบ่งเป็นหนี้ระยะยาว 500 ล้านบาท ระยะสั้น 500 ล้านบาท
- ธนาคารทหารไทยธนชาต หนี้ระยะสั้น 500 ล้านบาท
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หนี้ระยะยาว 500 ล้านบาท ระยะสั้น 500 ล้านบาท
- และ ธนาคารอื่น ๆ หนี้ระยะยาว 7,893 ล้านบาท และระยะสั้น 1,354 ล้านบาท
นี่ก็ต้องมาลุ้นกันว่า วิกฤตที่ EA กำลังเผชิญ และความเชื่อมั่นถดถอย ณ ขณะนี้จนราคาหุ้นที่ตอนรุ่งเรืองมีมูลค่าหุ้นละประมาณ 100 บาท จนปัจจุบันเหลือไม่ถึง 5 บาท จะมีสถาบันการเงินไหนปล่อยกู้ และจะมีพันธมิตรรายใดสนใจเข้าร่วมลงทุนหรือไม่?
EA กับ บ้านป่ารอยต่อ ธุรกิจการเมือง ซับซ้อนซ่อนเงื่อน
เหตุการณ์ และหายนะของ EA ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดมุมมองหลายมิติ โดยมิติในทางเศรษฐกิจนั้น ต้องยอมรับว่าการกล่าวโทษนายสมโภชน์ กับพวก ผู้บริหาร EA ดังกล่าวสร้างความสั่นคลอนกับมาตรฐานการจัดการภายในตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากบริษัท EA ถูกประทับตราว่าเป็นบริษัทที่มีระระบบธรรมมาภิบาล หรือ Corporate Governance ดีเด่น
แถมยังได้รางวัลใหญ่ ในเวทีระดับสากลในฐานะองค์กรที่เป็นเลิศด้านการบริหารงานและสร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
แต่ทุกอย่างก็พังครืนภายในเวลาชั่วข้ามคืน และกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รางวัลที่ได้รับมาไม่ได้เป็นเครื่องการันตีความสุจริตอีกต่อไป
ในบริบททางการเมือง นั้นด้านหนึ่งเหมือนจะดูห่างไกล แต่ลองกลับไปค้นประวัติศาสตร์ดูจะพบว่าบริษัทแห่งนี้มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายทางการเมืองที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่าง 'มูลนิธิป่ารอยต่อ' แบบน่าพิศวง
โดยเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว มีผู้ออกมาเปิดเผยถึงความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กับมูลนิธิป่ารอยป่ารอยต่อผ่านตัวละครที่มีชื่อว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
พล.ต.อ.พัชรวาท เข้ามาเป็นกรรมการบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เมื่อ วันที่ 18 เมษายน 2557 ก่อนรัฐประหารปี 2557 เพียง 1 เดือน
ณ วันที่ พล.ต.อ.พัชรวาทเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทราคาหุ้นของ EA อยู่ที่ 11.00 บาท วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 วันรัฐประหาร ราคาหุ้นขึ้นมาอยู่ที่ 12.50 บาทวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ประกาศใช้ พ.ร.บ.EEC ราคาหุ้นอยู่ที่ 36.50 บาท
ต่อมา เมื่อ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ราคาหุ้นอยู่ที่46.25 บาทหรือ เติบโตจากวันที่ พล.ต.อ.พัชรวาทเข้ามาเป็นกรรมการ 420.45% ทั้งในช่วงปี 2565-2566 ยังเคยราคาพุ่งไปถึงเกือบ 100 บาทด้วย
จนกระทั่งใน เดือนสิงหาคม 2566 หรือปีที่แล้วนี้เอง พลตำรวจเอก พัชรวาท ขอลาออกจากการดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ กรรมการบริหารความเสี่ยง ก่อนที่จะได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เวลากำลังถูกจับตามองเรื่องเพิกถอนที่ดินอุทยานป่าทับลาน จำนวนมหาศาล
กรณีเรื่องของ นายสมโภชน์ อาหุนัย กับ EA นี้นอกจากเรื่องความแค้นของผัว ๆ เมีย ๆ แล้ว ในมิติทางเศรษฐกิจการเมือง กรณีศึกษาเรื่องของ คุณสมโภชน์ กับบ้านป่ารอยต่อ ก็เห็นได้ชัดว่า “ธุรกิจ” กับ “การเมือง” นั้นถูกผูกและเชื่อมโยงถึงอย่างแยกไม่ออก จนกลายเป็นวังวนที่ประเทศไทยยากจะหลุดพ้นไปได้