xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งปฏิรูปรถเมล์ยิ่งแย่ลง ขสมก.ผู้โดยสารหายกว่า 5 หมื่น กรมขนส่งฯ แถทำเพื่อแก้รถติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แถสด แถเปื่อย แถไฟไหม้น้ำร้อนลวก กรมการขนส่งทางบกอ้างปฏิรูปรถเมล์เพื่ออำนวยความสะดวก ลดปัญหาการจราจรติดขัด ขณะที่ ขสมก.กระทบเต็มๆ หลังเปลี่ยนเส้นทางปฏิรูปวันเดียวผู้โดยสารหายไปกว่า 5 หมื่นคน

วันนี้ (26 ก.ค.) จากกรณีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หยุดการเดินรถ 14 เส้นทางเพื่อส่งต่อให้ผู้ประกอบการเอกชน พร้อมจัดการเดินรถเส้นทางตามแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 107 เส้นทาง ตามที่ได้รับอนุมัติโดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ถึงกระนั้น ยังคงเดินรถเส้นทางเดิม ควบคู่กับเส้นทางปฏิรูปที่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ และให้ผู้ใช้บริการได้ปรับตัว และจะหยุดวิ่งเส้นทางเดิมตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. 2567 เป็นต้นไป

รายงานข่าวแจ้งว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้เปิดเผยสถิติการให้บริการเมื่อวันที่ 25 ก.ค. พบว่ามีจำนวนผู้โดยสารลดลงจากวันที่ 24 ก.ค. อยู่ที่ 622,088 คน เหลือเพียง 570,314 คน หรือหายไป 51,774 คน แต่ยังน้อยกว่าวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งเป็นวันหยุดชดเชยเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ที่มีจำนวนผู้โดยสารเพียง 445,098 คน




ด้านกรมการขนส่งทางบกส่งเอกสารข่าวไปยังสื่อมวลชนสายกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กรมการขนส่งทางบกยืนยันการปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทางตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ลดปัญหาการจราจรติดขัด

ตามที่มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลลงบนสื่อสังคมออนไลน์นั้น กรมการขนส่งทางบกขอเรียนว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ผู้โดยสารและสามารถเชื่อมโยงระบบรถโดยสารประจำทางกับระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ ทั้งระบบราง คือ โครงข่ายรถไฟฟ้าทุกสาย ระบบรถไฟความเร็วสูงที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต ระบบเรือโดยสารซึ่งเป็นการเดินทางอีกรูปแบบหนึ่งที่ประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งต้องการให้รถเมล์ทำหน้าที่เชื่อมต่อ (feeder) นำผู้โดยสารเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความสะดวกให้พี่น้องประชาชนในการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ต้องใช้รถส่วนบุคคลเพื่อลดปัญหาจราจรติดขัด

โดยกรมการขนส่งทางบกได้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งเส้นทางปฏิรูปฯ แล้ว จำนวน 237 เส้นทาง ให้แก่บริษัทเอกชน จำนวน 130 เส้นทาง และ ขสมก. จำนวน 107 เส้นทาง ซึ่ง ขสมก.ได้จัดการเดินรถเส้นทางปฏิรูปฯ ครบทั้ง 107 เส้นทาง ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นี้ โดยจัดการเดินรถเส้นทางปฏิรูปฯ ที่ ขสมก. ได้รับอนุญาตควบคู่กับเส้นทางเดิมบางเส้นทาง ส่วนเส้นทางเดิมที่ทับซ้อนกับเส้นทางปฏิรูปฯ ที่บริษัทเอกชนเป็นผู้ประกอบการขนส่ง ขสมก. ได้หยุดเดินรถให้บริการในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นี้ และส่งต่อการเดินรถให้บริษัทเอกชน จำนวน 14 เส้นทาง ประกอบด้วยเส้นทางสายที่ 3-35 (1), 3-1 (2), 3-36 (4), 3-3 (11), 3-37 (12), 3-6 (25), 1-39 (71), 3-45 (77), 4-44 (80), 4-15 (82), 4-46 (84), 4-17 (88), 4-56 (165) และสายที่ 4-61 (515) ซึ่งบริษัทเอกชนผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางปฏิรูปฯ ได้จัดการเดินรถเส้นทางสายปฏิรูปควบคู่กับเส้นทางสายเดิมตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา ปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนรถ จำนวนเที่ยวการเดินรถให้เพียงพอต่อปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงจัดการเดินรถบางเส้นทางให้บริการในช่วงเวลากลางคืนตามความต้องการเดินทางของประชาชน

ในระยะแรกผู้ประกอบการจะระบุเลขเส้นทางเดิมควบคู่กับเลขเส้นทางปฏิรูปฯ เพื่อลดความสับสนของประชาชน ทั้งนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะตามแผนปฏิรูปกรมการขนส่งทางบกจะตรวจสอบติดตามการจัดการเดินรถให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งหากพบว่าแนวเส้นทางหรือเงื่อนไขในเส้นทางใดไม่เหมาะสม กรมการขนส่งทางบกจะพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขให้สอดคล้องกับความต้องการในการเดินทางของประชาชนต่อไป อย่างไรก็ตามหากประชาชนได้รับความไม่สะดวกในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการขนส่งทางบก 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ย้อนกลับไปในมติคณะรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2559 มีมติยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2526 ที่ให้ ขสมก.เดินรถในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพียงรายเดียว โดยมีรถเอกชนร่วมบริการทำสัญญากับ ขสมก. เปลี่ยนเป็นให้กรมการขนส่งทางบก เป็นผู้กำกับดูแลแต่เพียงผู้เดียว และลดสถานะ ขสมก. เหลือเป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่งร่วมกับเอกชนเท่านั้น ก่อนที่กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดโครงข่ายเส้นทางใหม่ จัดสรรเส้นทางการเดินรถตามโครงข่ายใหม่ กำหนดเงื่อนไขขอรับใบอนุญาต การคัดเลืกอกผู้ประกอบการ และออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งใหม่ โดยมีนโยบาย "1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ" เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการแข่งขันแย่งชิงผู้โดยสารในเส้นทางเดียวกัน นำมาสู่ความวุ่นวายแก่ผู้ใช้บริการรถเมล์มาถึงทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น