เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ได้จัดงานประชุมวิชาการ "แนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมในกลุ่มเยาวชนด้วยสื่อภาพยนตร์กับกระบวนการด้าน Edutainment" โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย "แนวทางส่งเสริมภาพยนตร์เพื่อความมั่นคงยุคหลังโควิด" ภายใต้การดูแลของ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) จาก 6 จังหวัดมาร่วมเป็นวิทยากร พร้อมด้วยผู้ฟังจากภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ วัฒนธรรม และการศึกษา
ผลการวิจัยของ ดร.ฐณยศ ชี้ว่า ปัญหาใหญ่ของการใช้สื่อบันเทิงส่งเสริมวัฒนธรรมในเยาวชนแบ่งเป็นปัญหาเชิงปริมาณและคุณภาพ จำนวนสื่อบันเทิงที่ช่วยเชื่อมโยงเยาวชนกับความเป็นไทยยังมีจำนวนไม่มากพอเมื่อเทียบกับสื่อบันเทิงชาติอื่น ในเวลาเดียวกันสื่อบันเทิงที่เยาวชนเข้าถึงได้กลับมีปัญหาด้านการสื่อสารความสนุก แต่สื่อที่มีศักยภาพกลับขาดพื้นที่เผยแพร่ กระบวนการผลิตและบริโภคสื่อที่มีประสิทธิภาพจึงควรได้รับการส่งเสริมคุ้มครอง
ผู้บริหาร สกร. 6 จังหวัดร่วมนำเสนอเกี่ยวกับการเรียนการสอนวัฒนธรรมท้องถิ่น มีการทดลองในจังหวัดภูเก็ตด้วยหลักสูตรลูกเสือทดลอง ใช้มาตรการผ่อนคลายเรื่องเครื่องแบบและระเบียบ แล้วให้ผู้เรียนทำกิจกรรมเที่ยวชม พูดคุยในท้องที่ ผลชี้ว่า ความสนุกสนานที่ถูกเติมลงไปทำให้ผู้เรียนสนใจและเข้าใจท้องถิ่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ขณะที่ผู้แทนฝ่ายต่างๆ ร่วมให้ความเห็น ดร.อาภาพร วรรณสุนธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนพรตพิทยพยัต กล่าวว่า เยาวชนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวเรื่องสื่อสูง ควรมีพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออก นางสาวจริมา ทองสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เปิดเผยว่า กองภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีความสนใจเรื่องนี้ และมีมาตรการรองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม เช่น นายวิโรจน์ ศรีสิทธิ์เสรีอมร นายกาญจนพันธุ์ มีสุวรรณ นายเจตษ์ บุณโยประการ นายวัฒนชัย ดุลยโกวิทย์ เห็นพ้องว่า การใช้ความบันเทิงเช่นภาพยนตร์เป็นทางเลือกที่ดี กระบวนการผลิตและฉายยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคด้านเงินทุน การโฆษณา และอีกมากมาย แต่ทุกคนพร้อมช่วยกันผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพราะความบันเทิงเป็นอาหารทางใจสำหรับเยาวชน
ผลการประชุมจบลงด้วยข้อเสนอของดร.ฐณยศ เรื่องการสานแนวร่วมก่อนจะนำไปสู่การต่อยอดในขั้นถัดไปโดยให้เป็นการทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอุตสาหกรรม วัฒนธรรม และการศึกษา ในการนี้ศูนย์แม่โขงศึกษาจะเป็นเจ้าภาพดำเนินการ