xs
xsm
sm
md
lg

“กรมประมง” ยัน “ไข่ปลาหมอคางดำ” ทนสภาพแห้งแล้งถึง 2 เดือนไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมประมง ยืนยัน ไข่ปลาหมอคางดำทนแหล้งแล้งถึง 2 เดือนไม่ได้ เผย มีปลาบางชนิดที่ทนได้แต่คนละกลุ่มกับปลาหมอคางดำ

จากกรณี มีรายงานว่าเกษตรกรในพื้นที่ จ.สมุทรสงครามเปิดเผยว่า ไข่ของปลาหมอคางดำ ทนแดด ตากบ่อไว้ประมาณ 2 เดือน เมื่อเติมน้ำลงบ่อใหม่ปรากฏว่าเจอลูกปลาหมอคางดำอยู่ในน้ำ ทำให้เกษตกกร ถึงกับปวดหัวเพราะไม่รู้ว่าจะกำจัดมันได้อย่างไร

ล่าสุด วันนี้ (24 ก.ค.)  มีรายงานจาก “กรมประชาสัมพันธ์” ออกมาให้ข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับความอึด ถึง ทน ของปลาหมอคางดำ

โดย นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้ออกมาชี้แจงว่า จากหลักวิชาการด้านประมง พบว่า พฤติกรรมของปลาหมอคางดำเป็นปลาที่พ่อปลาอมไข่ไว้ในปาก เพื่อฟักไข่ในปากไข่ปลาต้องได้รับความชุ่มชื้นและออกซิเจนอย่างเพียงพอ จึงจะเป็นสภาพที่พร้อมในการฟักลูกปลา ดังนั้น ไข่ปลาหมอคางดำจึงไม่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ หากนำไข่ปลาหมอคางดำขึ้นมาจากน้ำแล้วทิ้งไว้จนแห้งจะกลายเป็นไข่เสียทันที ไม่สามารถฟักเป็นตัวได้อีก และในปัจจุบันยังไม่พบรายงานวิจัยว่าไข่ปลาหมอคางดำสามารถทนอยู่ในสภาพแห้งแล้ง ได้ถึง 2 เดือน แล้วกลับมาฟักเป็นตัวได้อีกอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำปลาหมอคางดำขึ้นจากน้ำแล้ว ไข่ปลาที่อยู่ในปากของพ่อปลาที่ตายแล้ว จะสามารถทนอยู่ได้ในปากประมาณ 10 - 15 นาที และไข่ที่ออกจากปากปลาสามารถอยู่ในน้ำที่ไม่มีออกซิเจนได้นานถึง 1 ชั่วโมง ในกรณีไข่ปลาหมอที่ตกค้างบริเวณพื้นบ่อที่ตากไว้ และโรยปูนขาวแล้ว ไข่ปลาหมอไม่สามารถฟักเป็นตัวได้ สำหรับไข่ปลาที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งพบได้ในปลาบางชนิด เช่น ปลาคิลลี่ (Killifish) ที่เป็นปลาขนาดเล็ก มีวงจรชีวิตสั้น ซึ่งตามสัญชาตญาณเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ทำให้ไข่ปลาชนิดนี้มีความทนทานต่อสภาพที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ โดยในฤดูที่แห้งแล้งปลาคิลลี่จะวางไข่ไว้บนพื้นดิน และเมื่อได้รับน้ำในฤดูฝนก็จะสามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับปลาหมอคางดำ”
กำลังโหลดความคิดเห็น