เรื่องพิเศษ
“จากการลงพื้นที่ต่อสู้ร่วมกับหลายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มโรงงานรีไซเคิลมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราก็พบว่า โรงงานกลุ่มนี้ เขามีเครือข่ายโยงใยกันหลายชั้น ทั้งเป็นเจ้าของเดียวกัน หรือการส่งต่อของเสียอันตรายไปทิ้งอีกที่เพื่ดลดภาระค่ากำจัดกาก ... เราจึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายของผู้ได้รับผลกระทบขึ้นมาสู้”
ดาวัลย์ จันทรหัสดี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม อธิบายเหตุผลที่ภาคประชาชนจากหลากหลายพื้นที่ต้องมารวมตัวกันเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เพื่อประกาศจุดยืน “ขอเป็นศัตรูกับโรงงานที่ก่อมลพิษให้สิ่งแวดล้อมและชุมชนตลอดไป” ในเวทีสาธารณะรวมพลัง ร่วมกัน แก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา หนองพะวา” ที่ ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในจุดที่เป็นที่ตั้งของโรงงานวิน โพรเสส ซึ่งถูกไฟไหม้มาแล้วครบ 3 เดือน
จุดเชื่อมโยงที่เป็นหลักฐานสำคัญว่า โรงงานในกลุ่มรับกำจัดหรือบำบัดของเสีย (Waste Processor) มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เกิดขึ้นในระหว่างการตอบคำถามของ นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม กำลังพยายามรวบรวมหลักฐานให้ตำรวจดำเนินคดีเอาผิดฐานฟอกเงินกับโรงงานกลุ่มหนึ่ง หลังพบว่า สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่และใช้วิธีปิดกิจการ อ้างว่าล้มละลาย ไม่มีเงินในบัญชี จึงไม่สามารถรับผิดชอบได้เลย ทั้งในกระบวนการขนย้ายกากของเสียไปกำจัด ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และเยียวยาชุมชน จนภาครัฐต้องไปของบประมาณ งบกลางมาดำเนินการเอง
กลุ่มโรงงานที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมพูดถึงอย่างชัดเจน คือ วิน โพรเสส ที่ อ.บ้านค่าย และมีอีกแห่งที่ อ.เมือง ระยอง ซึ่งพบหลักฐานความเกี่ยวพันอย่างชัดเจนผ่านตัวผู้บริหารกิจการกับโรงงานอีก 3 แห่ง ในชื่อ บริษัท เอกอุทัย จำกัด ที่กำลังสร้างความเสียหายอย่างมากเช่นกันอยู่ที่ อ.อุทัย และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยมีรูปแบบกานนำของเสียอันตรายที่รับมาในนามโรงงานที่มีใบอนุญาตรีไซเคิล (ลำดับที่ 106) ส่งไปลักลอบทิ้งและฝังกลบยังโรงงานอื่นๆในเครือที่ไม่มีใบอนุญาตรีไซเคิล เพื่อลดต้นทุนค่ากำจัด รวมทั้งยังไปพบของเสียจากโรงงานกลุ่มนี้ถูกลักลอบทิ้งที่ จ.ลพบุรี และ นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จ.สระบุรี อีกด้วย ... ซึ่งแต่ละแห่งถูกประเมินค่ากำจัดของเสียอันตรายที่ต้องนำงบประมาณมาดำเนินการในหลักร้อยล้านบาทขึ้นไปทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่ วิน โพรเสส แห่งเดียว ประเมินแล้วว่าต้องใช้งบประมาณที่อยู่ระหว่างรออนุมัติจากรัฐบาลถึง 397 ล้านบาท
“วิน โพรเสส กับ เอกอุทัย เป็นแค่หนึ่งในเครือข่ายของโรงงานกลุ่มนี้เท่านั้น” ดาวัลย์ อธิบายเพิ่มเติม
“เราทำงานกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ พบว่ายังมีอีกหลายโรงงานที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายขนย้ายของเสียอันตรายให้กัน มีตัวอย่างชัดๆ เช่น มีเอกสารแจ้งขนย้ายแคดเมียมจาก จ.ตาก มาที่ จ.สมุทรสาคร แต่กลับไปปรากฎเพิ่มอยู่ในโรงงานทุนจีนเถื่อนที่ จ.ชลบุรี ซึ่งกลุ่มโรงงานรีไซเคิลจากกลุ่มทุนจีน ยังเป็นอีกเครือข่ายใหญ่ที่รับขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาจากต่างประเทศจำนวนมากแต่กลับจดทะเบียนเป็นโรงงานหลอมพลาสติกแต่ใช้พื้นที่เกินกว่าในใบอนุญาตไปมาก จนสามารถตั้งตัวเป็นรัฐอิสระเปิดโรงงานหลอมอิเล็กทรอนิกส์กันได้อย่างเปิดเผย ... เราพบว่า มีโรงงานกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในรอบ 6-7 ปี ที่ผ่านมา”
“ดังนั้น เมื่อโรงงานรีไซเคิลมีเครือข่ายที่แข็งแรงเพื่อจะละเมิดกฎหมายมาสร้างความเสียหาย ทางภาคประชาชนซึ่งเริ่มจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากทั่วประเทศ ก็จำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและรวมพลังกันต่อสู้กับกลุ่มโรงงานพวกนี้ให้ได้”
ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ยังยกตัวอย่างกรณีการจัดการกับโรงงานวิน โพรเสส จ.ระยอง ที่แม้ชาวบ้านจะฟ้องร้องจนชนะคดีแพ่งเป็นเงิน 20.8 ล้านบาท มาตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่หน่วยงานราชการกลับไม่สามารถบังคับคดีให้ชาวบ้านได้รับเงินชดเชยได้ ซ้ำยังไม่สามารถทำให้กากของเสียอันตรายในโรงงานถูกขนย้ายไปกำจัดอย่างถูกต้องได้แม้แต่น้อย จนกระทั่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นเมื่อ 22 เมษายน 2567 .... จนกระทั่งผ่านเหตุเพลิงไหม้มาจนครบ 3 เดือนเต็มแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าหน่วยงานของรัฐจะแก้ไขปัญหานี้ได้แม้แต่น้อย จึงเห็นว่า ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถรอพึ่งพากลไกการทำงานที่เชื่องช้าและไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐได้อีกต่อไป จึงต้องเข้าไปแทรกแซงในกลไกนี้ตั้งแต่ต้นน้ำ
“ผู้ได้รับผลกระทบ ถูกปฎิบัติเหมือนพลเมืองชั้น 2 มาตลอด ... ตั้งแต่อนุญาตให้ตั้งโรงงาน กำกับดูแล ตรวจสอบข้อร้องเรียน ไปจนถึงกระบวนการในการแก้ปัญหา มีแต่โรงงานกับหน่วยงานรัฐรู้กันอยู่ 2 ฝ่าย ไม่เคยมีผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในสมการของหน่วยงานรัฐเลย ... แม้แต่ที่วิน โพรเสส ชาวหนองพะวาที่เป็นผู้ฟ้องคดี 15 คน ก็ไม่ได้ถูกเชิญเข้าไปอยู่ในกระบวนการมีส่วนร่วมเลยแม้แต่คนเดียว”
“เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม จึงเป็นการรวมตัวกันของประชาชนที่ไม่ยอมเป็นพลเมืองชั้น 2 อีกต่อไป จะผลักดันให้รัฐต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ตั้งแต่ในขั้นตอนก่อนออกมบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน การกำกับดูแล การตรวจสอบและลงโทษ รวมไปถึงอีกหลายกรณีที่ปัญหาลุกลามบานปลายไปมากแล้ว ก็จะต้องเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ปัญหาด้วย” ดาวัลย์ กล่าวทิ้งท้าย