องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ระบุว่า ปัจจุบันมีกว่า 87 ประเทศทั่วโลกที่มีการอนุญาตให้ขายและมีมาตรการในการควบคุมผลิตภัณฑ์ เช่น
•การควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์
•การควบคุมบรรจุภัณฑ์
•การห้ามโฆษณา
•การกำหนดสถานที่จัดจำหน่าย
•การกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อผู้ขาย
ปัจจุบันประเทศไทยได้บังคับใช้กฎหมายห้ามการนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า หรือแบนบุหรี่ไฟฟ้า มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ทว่า ตลาดบุหรี่ไฟฟ้าลักลอบกลับเติบโตอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีเด็กและเยาวชนจำนวนมหาศาลที่ลักลอบซื้อบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนเหล่านี้โดยที่รัฐไม่อาจควบคุมได้ ในด้านของผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งในไทยมีอยู่กว่า 10 ล้านราย ก็มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนที่เป็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า
ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรฐานการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยล่าสุดคณะอนุกรรมาธิการได้ศึกษาแนวทางและนำเสนอต่อ กมธ.ใน 3 แนวทางการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกปรับนโยบายและกฎหมายเพื่อสะท้อนความเป็นจริง ชัดเจน และมุ่งเน้นไปยังผลประโยชน์โดยรวมทั้งในแง่เศรษฐกิจและสาธารณสุข ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและผู้สูบบุหรี่ ผู้ไม่สูบบุหรี่ และเด็กและเยาวชน
จึงเป็นคำถามใหญ่ถึงแนวทางการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในไทยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อให้มีความเป็นสากลและคำนึงถึงความเป็นจริง หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน
อ้างอิง: Tobacco: E-cigarettes (who.int)