xs
xsm
sm
md
lg

บริติช เคานซิล เปิดสะพานเชื่อมโยงการศึกษาไร้พรมแดน สานสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมและผลักดันเยาวชนไทยสู่การเรียนรู้ภายใต้มาตรฐานสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในโลกแห่งการศึกษาปัจจุบัน การศึกษาข้ามประเทศในบริบทของโลกยุคไร้พรมแดนได้กลายเป็นสิ่งที่ต้องมุ่งตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก เพื่อส่งเสริมมุมมองที่หลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลาย และความเป็นสากลให้กับนักศึกษา

บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและโอกาสทางการศึกษาจากสหราชอาณาจักร มุ่งมั่นทำงานร่วมกับรัฐบาลนานาประเทศและพันธมิตรในสถาบันอุดมศึกษา (HEI) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับเยาวชนหลายล้านคนทั่วเอเชียแปซิฟิก ให้มี ทักษะ ความมั่นใจ และโอกาสในการเชื่อมโยงไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิต และร่วมสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าในอนาคต


สำหรับภาพรวมของการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในปี 2567 มีนักศึกษาประมาณ 1.7 ล้านคนที่ลงทะเบียนเรียนในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ประกอบด้วยระดับปริญญาตรี 90.6% ในขณะที่ระดับปริญญาโทมี 5.6% ปริญญาเอกมี 1.6% ส่วนที่เหลืออีก 2.2% กำลังศึกษาในระดับอนุปริญญาวิชาชีพ
ประเทศไทยนับว่ามีศักยภาพสำหรับการศึกษานานาชาติ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในประเทศไทย และเป็นจุดหมายอันดับหนึ่งในการเลือกไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับอุดมศึกษาสำหรับนักเรียนไทยเมื่อเทียบกับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษอื่น ๆ โดยมีนักเรียนไทยมากกว่า 5,840 คนศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักรในปีการศึกษา 2564-2565
นอกจากการเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศแล้ว มหาวิทยาลัยหลายแห่งของไทยยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากสหราชอาณาจักรในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาข้ามประเทศ หรือ Transnational Education - TNE เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้เรียนที่อาจไม่สะดวกในการเดินทางไปใช้ชีวิตต่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษาของทั้งสองประเทศทำให้เกิดการแบ่งปันทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อันนำไปสู่การสร้างสรรค์องค์ความรู้ งานวิจัย และบุคลากรที่มีความสามารถระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย




การศึกษาข้ามประเทศได้รับการยอมรับจากทั้ง อว. และมหาวิทยาลัยหลายแห่งของไทยว่าเป็นช่องทางในการส่งเสริมให้ภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศมีความเป็นสากลมากขึ้น นอกจากนั้น ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันการศึกษาในด้านการสอนและการวิจัย ส่งเสริมธรรมาภิบาล และยกระดับความเป็นเลิศของสถาบัน ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยในการพัฒนาภาคการศึกษาของไทยในระยะยาว

การศึกษาข้ามประเทศ มีการเรียนการสอนในหลากหลายรูปแบบ เช่น หลักสูตรปริญญาร่วม ซึ่งเป็นปริญญาบัตรใบเดียวที่ได้รับการรับรองจากสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลักสูตรสองปริญญา โดยผู้เรียนจะได้รับปริญญาสองใบจากสถาบันไทยและต่างประเทศที่ร่วมกันออกแบบและจัดการหลักสูตร โดยหลักสูตรเหล่านี้ส่วนใหญ่นักศึกษาจะมีโอกาสไปศึกษาในสถาบันของต่างประเทศด้วย


บริติช เคานซิล มุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาข้ามประเทศให้มีความยั่งยืนและสามารถรองรับการเติบโตในอนาคตผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรในรูปแบบต่าง ๆ โดยระหว่างปี 2565 - 2566 เราได้สนับสนุนสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา 430 แห่งทั่วโลก เพื่อสร้างความร่วมมือในด้านการศึกษาข้ามประเทศ หลักสูตรการสอนร่วม ตลอดจนด้านวิทยาศาสตร์ และการวิจัยต่าง ๆ
จากข้อมูลของ Higher Education Statistics Agency (HESA) ศูนย์ข้อมูลด้านสถิติอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักร ปัจจุบัน จำนวนนักศึกษาไทยในภาคศึกษาข้ามประเทศที่มีความร่วมมือกับสหราชอาณาจักร (UK TNE) กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยในระหว่างปี 2564 – 2565 มีสัดส่วนเพียง 1.2% ของจำนวนนักศึกษา UK TNE ทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 0.6% ของจำนวนนักศึกษา UK TNE ทั้งหมดในเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นสถิติที่เปลี่ยนแปลงน้อยมากจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่นักศึกษาไทยนิยมเลือกเรียนในหลักสูตรการศึกษาทางไกล ซึ่งมีสัดส่วนถึง 63%






หนึ่งในความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในไทยและสหราชอาณาจักร คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Thai-UK World-Class University Consortium ที่ได้รับการสนับสนุนโดย อว. และบริติช เคานซิลเพื่อพลิกโฉมอุดมศึกษาไทยสู่ความเป็นนานาชาติ โดยเปิดหลักสูตรปริญญาร่วม ระดับปริญญาโทและเอกในคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และได้เริ่มขยายไปสู่คณะวิศวกรรมศาสตร์และสัตวแพทยศาสตร์แล้ว ซึ่ง ศ.ดร.ศุภจิตรา ชัชวาลย์ ศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า “หลักสูตรปริญญาร่วมที่จุฬาฯ พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ คือเรื่องโจทย์

การวิจัยสำหรับการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งไม่ใช่การทำวิจัยแบบแยกเรื่อง แต่เป็นการทำวิจัยเล่มเดียว นิสิตจ่ายค่าเล่าเรียนเฉพาะค่าเทอมของจุฬาฯ และได้รับยกเว้นค่าเทอมที่ลิเวอร์พูล จุฬาฯ ยังให้ทุนสำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นเวลา 12 เดือน รวมถึงทุนทำวิจัยด้วยอีกก้อน ซึ่งความร่วมมือระหว่างสถาบันนี้เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์จากนักวิจัย หรืออาจารย์ให้เข้มแข็งมากขึ้นจนเป็นหลักสูตรร่วม และได้รับความสนใจจากนิสิตมากขึ้นทุกปี”


สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรหลายแห่งในหลักสูตรสองปริญญา เช่นมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม มหาวิทยาลัยบริสตอล และมหาวิทยาลัยอะเบอริสวิธ ในคณะต่าง ๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอื่น ๆ นอกจากนั้น ยังมีหลักสูตรไทยศึกษาแบบสองปริญญา ระหว่างวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ School of Oriental and African Studies มหาวิทยาลัยลอนดอน โดย ผศ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์) กล่าวว่า “การพัฒนาหลักสูตรร่วมในลักษณะนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับทั้งนักศึกษาและอาจารย์ นอกจากสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือค่าใช้จ่ายในการเรียนที่ประหยัดกว่าแล้ว ยังมีโอกาสได้ศึกษาเปิดโลก เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้เห็นนวัตกรรมที่มีความก้าวหน้าในต่างประเทศ
ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรและไทยในการพัฒนาหลักสูตรข้ามพรมแดน ยังมีโอกาสให้เติบโตได้อีกมาก มหาวิทยาลัยของสหราชอาณาจักรและมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งก็กำลังมองหาสถาบันพันธมิตรซึ่งมีหลักสูตรที่เข้ากันได้เพื่อพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน โดย บริติช เคานซิล มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยของไทยและสหราชอาณาจักรผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการอบรมสัมมนา การให้ทุนในการพัฒนาความร่วมมือทั้งในเรื่องของหลักสูตรและวิจัย รวมถึงการให้คำแนะนำและข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับหลักสูตรข้ามพรมแดนและความร่วมมือทางการศึกษาต่าง ๆ

p
กำลังโหลดความคิดเห็น