xs
xsm
sm
md
lg

สีจิ้นผิง : นักปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพซินหัว : สี จิ้นผิงรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนายานยนต์พลังงานใหม่ระหว่างตรวจเยี่ยมเอสเอไอซี มอเตอร์ ผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของจีน ในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน วันที่ 24 พ.ค. 2014)
ปักกิ่ง, 15 ก.ค. (ซินหัว) -- ผู้นำจีน "สีจิ้นผิง" ได้ทยอยเปิดเผยมาตรการปฏิรูปชุดใหม่ ซึ่งจะกำหนดทิศทางการเติบโตของประเทศจีนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ขณะคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) เริ่มต้นการประชุมนโยบาย ระยะ 4 วัน ณ กรุงปักกิ่ง ในวันจันทร์ (15 ก.ค.)

ณ พิธีเปิดการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 สีจิ้นผิงในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคฯ ได้นำเสนอรายงานการปฏิบัติงานในนามกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ และแจกแจงร่างมติเกี่ยวกับการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นและการเดินหน้าการสร้างความทันสมัยของจีน

การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเทียบเท่า "การประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3" ครั้งอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่น การประชุมในปี 1978 ที่เติ้งเสี่ยวผิงเริ่มต้นความพยายามปฏิรูปและเปิดกว้างของจีน

ช่วงก่อนการประชุมเต็มคณะครั้งปัจจุบัน สี จิ้นผิงได้ส่งเสริมการปฏิรูป กระตุ้นความพยายาม "ปลดปล่อยความคิดยิ่งขึ้น ปลดแอกและพัฒนาพลังการผลิตทางสังคม ปลดเปลื้องและเพิ่มพูนพลังความมีชีวิตชีวาของสังคม" เพื่อ "มอบแรงกระตุ้นอันแข็งแกร่งและหลักประกันเชิงระบบสำหรับการสร้างความทันสมัยของจีน"

สิ่งนี้สร้างความคาดหวังการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งรอบใหม่ พร้อมขจัดข้อวิตกกังวลว่าการปฏิรูปของจีนจะ "หยุดนิ่ง" หรือเศรษฐกิจของจีนจะ "สูญสิ้นพละกำลัง"

ตั้งแต่สี จิ้นผิงเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดเมื่อกว่าทศวรรษก่อน จีนได้ก้าวเข้าสู่ "ยุคใหม่" โดยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเกียรติภูมิบนเวทีนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะการปฏิรูปเป็นจุดเด่นของยุคใหม่นี้

อย่างไรก็ดี จีนในวันนี้ได้อยู่ในห้วงยามสำคัญของการเร่งรัดการปฏิรูป ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งเก่าและใหม่นานัปการ

(แฟ้มภาพซินหัว : สีจิ้นผิงพบปะกับคณะผู้แทนจากชุมชนธุรกิจ ยุทธศาสตร์ และวิชาการของสหรัฐฯ ณ อาคารมหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่งของจีน วันที่ 27 มี.ค. 2024)
เดินหน้าปฏิรูป เปิดกว้างต่อเนื่อง

สีจิ้นผิงถือเป็นนักปฏิรูปที่โดดเด่นอีกคนหนึ่งของจีนต่อจากเติ้งเสี่ยวผิง โดยผู้นำทั้งสองมีภารกิจเดียวกันคือการสร้างความทันสมัยของประเทศ แต่อยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

เมื่อครั้งเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดกว้างช่วงปลายทศวรรษ 1970 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวของจีนน้อยกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,300 บาท) ทำให้ความพยายามปฏิรูปและเปิดกว้างของเขาเริ่มต้นจากเกือบศูนย์

ทว่า เมื่อครั้งสีจิ้นผิงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2012 จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลกด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวสูงกว่า 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.19 แสนบาท) แต่การเติบโตได้ปรับเปลี่ยนความเร็วจากเดิม และข้อได้เปรียบหลายประการ เช่น ต้นทุนแรงงานที่ต่ำ ได้เริ่มลดน้อยถอยลง

แทนที่จะหยุดพักอยู่กับความสำเร็จของบรรดาผู้นำรุ่นก่อนหน้า สีจิ้นผิงกลับมุ่งมั่นเดินหน้าการปฏิรูป แม้รับรู้ดีว่าภารกิจนี้ยากเย็นเพียงไร โดยเขากล่าวว่าทำส่วนที่ง่ายของภารกิจนี้เสร็จสิ้นจนเป็นที่พึงพอใจของทุกคนแล้ว ส่วนที่เหลือนั้นเป็นงานยากเหมือนกระดูกแข็งที่ต้องออกแรงเคี้ยว

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ออกมาตรการปฏิรูปมากกว่า 2,000 รายการ ซึ่งช่วยให้ประเทศสามารถขจัดความยากจนขั้นรุนแรง ส่งเสริมการพัฒนาเมือง-ชนบทเชิงบูรณาการ ต่อสู้กับการทุจริตคดโกง สนับสนุนการประกอบธุรกิจ กระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลักดัน "การปฏิวัติเขียว"

เนื่องด้วยมาตรการปฏิรูปเหล่านี้ เศรษฐกิจจีนเติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่านับตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งเสริมสร้างสถานะของจีนในการเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมการเติบโตรายสำคัญของโลก

ปัจจุบันจีนต้องเพิ่มความพยายามเป็นพิเศษ ยามเผชิญกับความต้องการมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนและความท้าทายใหญ่ต่างๆ เช่น แรงกดดันจากเศรษฐกิจขาลงหลังจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) กอปรกับความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และสถาบันการเงินขนาดเล็ก-ขนาดกลางบางส่วน

เพื่อแสวงหาอนาคตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนและประเทศชาติ สีจิ้นผิงเน้นย้ำว่าการปฏิรูปและเปิดกว้างเป็น "วิธีการสำคัญ" สู่การบรรลุการสร้างความทันสมัยของจีนและสานต่อปาฏิหาริย์ทางการพัฒนาของประเทศ

สีจิ้นผิงเน้นย้ำความสำคัญของการปฏิรูปในการประชุมของกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ เมื่อเดือนมกราคม และสำทับถึงความจำเป็นในการปฏิรูปภาคส่วนต่างๆ อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการประชุมประจำปีของสภานิติบัญญัติและหน่วยงานที่ปรึกษาทางการเมืองระดับสูงสุดของชาติในไม่กี่สัปดาห์ถัดมา

"การปฏิรูปเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนา" สี จิ้นผิงกล่าวระหว่างตรวจเยี่ยมมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยสี จิ้นผิงยังจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้นำทางธุรกิจและนักวิชาการเกี่ยวกับวิธีการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

หวงฮั่นเฉวียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุมข้างต้น กล่าวว่า สีจิ้นผิงให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปอย่างมากและมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปทั้งหมดเป็นอย่างดี

ก่อนหน้านี้ สีจิ้นผิงกล่าวกับสมาชิกชุมชนธุรกิจ ยุทธศาสตร์ และวิชาการของสหรัฐฯ ที่เยือนกรุงปักกิ่งในฤดูใบไม้ผลินี้ว่าจีนกำลังวางแผนและดำเนินการตาม "ขั้นตอนสำคัญของการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น" โดยจีนจะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มุ่งเน้นตลาด อ้างอิงกฎหมาย และเป็นสากลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่การพัฒนาแก่ธุรกิจของสหรัฐฯ และนานาชาติ

ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นปฏิรูปของสีจิ้นผิงยังคงเหมือนเดิมตลอดมา

ปี 1969 เมื่อครั้งสีจิ้นผิงอายุสิบห้าย่างสิบหกปี เขาถูกส่งตัวไปยังหมู่บ้านเหลียงเจียเหอในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเพื่อใช้แรงงานในพื้นที่เกษตรกรรม ที่ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักกับความหิวโหย โดยปณิธานของสีจิ้นผิงวัยหนุ่มตอนนั้นคือทำให้สหายร่วมหมู่บ้านมีข้าวปลาอาหารกินอย่างเพียงพอ

การสนับสนุนการปฏิรูปอย่างแรงกล้าของสีจิ้นผิงยังมาจากความปรารถนามีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชน โดยมาตรการปฏิรูปต่างๆ ที่สี จิ้นผิงดำเนินการในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอในฐานะเลขาธิการพรรคฯ ประจำหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ทั้งการใช้ก๊าซชีวภาพ ตั้งร้านตีเหล็ก และเปิดร้านขายของชำ ล้วนมุ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

ความมุ่งมั่นปฏิรูปของสีจิ้นผิงยังได้รับอิทธิพลจากผู้เป็นพ่ออย่างสีจ้งซวิน นักปฏิวัติเก่าและผู้สนับสนุนการปฏิรูปและเปิดกว้าง โดยปี 1978 สีจ้งซวินได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่คนสำคัญของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน และช่วยสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษชุดแรกของจีน ซึ่งประกอบด้วยเสิ่นเจิ้น จูไห่ และซ่านโถว

ปีเดียวกันนั้น สีจ้งซวินมอบหมายให้สีจิ้นผิง ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิงหัว ดำเนินการวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับระบบความรับผิดชอบตามสัญญาครัวเรือนในมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน โดยสีจิ้นผิงบันทึกข้อมูลจนเต็มสมุดที่ยังคงถูกเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้

ชื่อเสียงของสีจิ้นผิงในฐานะนักปฏิรูปเพิ่มพูนตามความก้าวหน้าบนเส้นทางอาชีพทางการเมืองของเขา

ช่วงต้นทศวรรษ 1980 สีจิ้นผิงริเริ่มการทดลองปฏิรูปในอำเภอเจิ้งติ้ง ซึ่งเป็นอำเภอยากจนในมณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน โดยเขาทดลองจัดทำสัญญาที่ดินในชนบท ทำให้อำเภอเจิ้งติ้งเป็นพื้นที่แรกของเหอเป่ยที่ปรับใช้แนวทางดังกล่าว

บทความที่เผยแพร่ผ่านนิตยสารไชน่า ยูธ (China Youth) ในปี 1985 บรรยายรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงของอำเภอเจิ้งติ้งโดยอ้างอิงคำบอกเล่าของเลขาธิการพรรคฯ ระดับอำเภอจากมณฑลใกล้เคียงที่เยือนอำเภอเจิ้งติ้งที่ว่าการปฏิรูปเกิดขึ้นทุกที่จนประชาชนท้องถิ่นไม่ต้องร้องขอ

"หากมองย้อนกลับไปตอนนั้น สิ่งหนึ่งที่ทำสำเร็จคือการปลดปล่อยความคิด" สีจิ้นผิงกล่าวถึงการปฏิรูปในอำเภอเจิ้งติ้ง

ต่อจากอำเภอเจิ้งติ้ง สีจิ้นผิงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่นครเซี่ยเหมิน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ที่ซึ่งเขาเป็นผู้นำการจัดตั้งธนาคารร่วมทุนแห่งแรกของจีนอย่างเซี่ยเหมิน อินเตอร์เนชันแนล แบงก์ (Xiamen International Bank) และหลังจากก้าวสู่ตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยน สีจิ้นผิงเป็นผู้นำการปฏิรูปการครอบครองป่าไม้ร่วมกัน ซึ่งถูกปรับใช้ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศในเวลาต่อมา โดยแผนริเริ่มนี้เป็นที่รู้จักในฐานะอีกหนึ่งขั้นตอนการปฏิวัติพื้นที่ชนบทของจีน ต่อจากระบบความรับผิดชอบตามสัญญาครัวเรือน

ช่วงดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลเจ้อเจียง สีจิ้นผิงนำเสนอแผนริเริ่มเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผ่านการยกระดับอุตสาหกรรม โดยเขาสนับสนุนธุรกิจเอกชนอย่างแข็งขันและกระตุ้นนักธุรกิจ "ติดต่อโดยตรง" ที่สำนักงานของเขาเพื่อขอความช่วยเหลือ รวมถึงขยายการปฏิรูปนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองไปยังเรื่องสังคม วัฒนธรรม และระบบนิเวศด้วย

การขึ้นชื่อเป็นนักปฏิรูปของสีจิ้นผิงสร้างความประทับใจแก่บุคคลสำคัญระดับนานาชาติ โดยเดือนกันยายน 2006 เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในเวลานั้น ได้เดินทางเยือนจีนและเลือกนครหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง เป็นจุดหมายแรก

พอลสันยกให้สีจิ้นผิงเป็น "ตัวเลือกอันสมบูรณ์แบบ" สำหรับการประชุมครั้งแรกของเขาในจีน พร้อมบรรยายว่าสีจิ้นผิงเป็น "คนที่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย" และต่อมาพอลสันที่พบปะหารือกับสีจิ้นผิงอีกครั้งในปี 2014 เล่าว่าผู้นำจีนคนนี้เผยว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือการปฏิรูปและประเด็นที่เกี่ยวข้อง

ปี 2007 ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำนครเซี่ยงไฮ้ สีจิ้นผิงเล็งเห็นความจำเป็นของการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้สู่การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพิ่มพูนความสามารถทางการแข่งขันในฐานะศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ และเสริมสร้างบทบาทของเซี่ยงไฮ้ในฐานะผู้นำการปฏิรูปและเปิดกว้าง

หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งสูงสุดของพรรคฯ ในปี 2012 สีจิ้นผิงตรวจเยี่ยมนครเซินเจิ้นเป็นแห่งแรกตามรอยผู้เป็นพ่อ ที่ซึ่งเขาได้วางกระเช้าดอกไม้ ณ รูปปั้นสัมฤทธิ์ของเติ้งเสี่ยวผิงในสวนสาธารณะเหลียนฮวาซาน เพื่อแสดงความมุ่งมั่นปฏิรูปอย่างแรงกล้า "เดินหน้าปฏิรูป เปิดกว้างต่อเนื่อง!"

การประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 18 ในปี 2013 ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ถือเป็นหมุดหมายสำคัญเหมือนการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 11 ในปี 1978 ซึ่งเปิดฉากยุคสมัยแห่งการปฏิรูป โดยการประชุมในปี 2013 เปรียบดังรุ่งอรุณของยุคสมัยใหม่แห่งการปฏิรูป

การประชุมเต็มคณะฯ ในปี 2013 สีจิ้นผิงแจกแจงความท้าทายต่างๆ ที่จีนเผชิญระหว่างการพัฒนา ทั้งการทุจริตคดโกง การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยสีจิ้นผิงตอกย้ำว่า "กุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่ที่การปฏิรูปอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น"

ที่ประชุมข้างต้นได้ตัดสินใจใน "ประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น" ซึ่งหนังสือพิมพ์ของสเปนแสดงความคิดเห็นว่าสีจิ้นผิงได้ริเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารของจีนอย่างลึกซึ้งมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี

หนึ่งเดือนถัดจากนั้น จีนประกาศจัดตั้งกลุ่มผู้นำส่วนกลางเพื่อการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น (Central Leading Group for Comprehensively Deepening Reform) โดยมีสีจิ้นผิงชี้นำด้วยตนเอง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พรรคฯ ที่มีการจัดตั้งหน่วยงานผู้นำในส่วนกลางเพื่อการปฏิรูปโดยเฉพาะ โดยกลุ่มผู้นำฯ พัฒนาเป็นคณะกรรมาธิการกลางเพื่อการปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น (Central Commission for Comprehensively Deepening Reform) ในเวลาต่อมา โดยมีสีจิ้นผิงเป็นผู้อำนวยการ

บุคคลผู้ใกล้ชิดกับกระบวนการตัดสินใจเผยว่าสีจิ้นผิงเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการปฏิรูปที่สำคัญและยากลำบาก และสีจิ้นผิงพิจารณาทบทวนร่างแผนการปฏิรูปที่สำคัญแต่ละร่างอย่างละเอียดถี่ถ้วนชนิดแก้ไขคำต่อคำ

(แฟ้มภาพซินหัว : สีจิ้นผิงเยือนฟาร์มป่าไม้ซ่ายห่านป้าในมณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน วันที่ 23 ส.ค. 2021)
บุกป่าฝ่าดงพงไพร แม้รู้ว่ามีเสือสิงห์

การปฏิรูปที่นำโดยสีจิ้นผิงตั้งอยู่บนข้อคิดพิจารณาอันรอบคอบ ซึ่งได้จากการปฏิบัติงานนานหลายปีและมีการออกแบบชั้นยอด โดยสีจิ้นผิงอ้างอิงสำนวนจีนโบราณที่ว่า "ละทิ้งสิ่งเก่า เปิดรับสิ่งใหม่" เพื่อเรียกร้องการลงมือทำ พร้อมเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่คือวัฒนธรรมโดยเนื้อแท้ของชนชาติจีน

สีจิ้นผิงมีความคิดทะลุปรุโปร่งเกี่ยวกับทิศทางของการปฏิรูป ตักเตือนเรื่องการลอกเลียนแบบระบบการเมืองของประเทศอื่นๆ และกล่าวว่าการปฏิรูปที่ไม่ได้วางแนวทางตามระบอบสังคมนิยมจะนำสู่ "ทางตัน" เท่านั้น

"สิ่งที่มิควรเปลี่ยนแปลงย่อมต้องธำรงรักษาไว้ดังเดิม" สีจิ้นผิงกล่าว พร้อมเน้นย้ำความจำเป็นในการสนับสนุนภาวะผู้นำโดยรวมของพรรคฯ ในการเดินหน้าการปฏิรูป

สำหรับสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง สีจิ้นผิงเรียกร้องการลงมือทำอย่างจริงจังและกระตุ้นการสร้างสภาพแวดล้อมอันเอื้อต่อการปฏิรูป ซึ่งงานที่ต้องทำประกอบด้วยการขจัดอุปสรรคทั้งปวงที่จำกัดพลังความมีชีวิตชีวาขององค์กรธุรกิจและขัดขวางบทบาทของตลาด

การปฏิรูปของสีจิ้นผิงมีขอบเขต ขนาด และความเข้มข้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ครอบคลุมเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคม ระบบนิเวศ การสร้างพรรคฯ การป้องกันประเทศ การทหาร และอื่นๆ

สีจิ้นผิงพัฒนาวิธีวิทยาสำหรับการปฏิรูปในยุคใหม่ นั่นคือการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างการปลดปล่อยความคิดกับการแสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง ระหว่างการสร้างความก้าวหน้าโดยรวมกับการสร้างความคืบหน้าในด้านสำคัญ ระหว่างการออกแบบชั้นยอดกับการคลำหินข้ามลำน้ำ ระหว่างการโลดโผนโจนทะยานกับการย่างก้าวอย่างมั่นคง รวมถึงการสร้างสมดุลของการปฏิรูป การพัฒนา และเสถียรภาพ

สีจิ้นผิงเน้นย้ำการดำเนินการปฏิรูปแบบองค์รวม เป็นระบบ และสอดประสาน ตลอดจนเคารพจิตวิญญาณการริเริ่มของประชาชน และกล่าวกับเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐว่า "เปิดรับสิ่งใหม่ก่อนละทิ้งสิ่งเก่า" รวมถึงควบคุมจังหวะและความเข้มข้นของการปฏิรูปอย่างเหมาะสมเพื่อผลลัพธ์อันดี

"ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงปรับปรุงแนวคิดการวัดความสำเร็จของการพัฒนา ซึ่งมักดูจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และช่วยให้เกิดการปฏิรูปที่ทลายผลประโยชน์อันมิชอบของคนบางส่วนอย่างแท้จริง" เจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งจากมณฑลส่านซีกล่าว

เจ้าหน้าที่รัฐคนนี้หวนนึกถึงตอนที่สีจิ้นผิงสั่งการสอบสวนหลายครั้งเพื่อหยุดยั้งการก่อสร้างบ้านพักขนาดใหญ่อย่างผิดกฎหมายของกลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติเทือกเขาฉินหลิ่ง ซึ่งสะท้อนการขัดขวางการปฏิรูปด้านนิเวศวิทยาของท้องถิ่นในตอนนั้น

สีจิ้นผิงเผชิญความยากลำบากระหว่างผลักดันการปฏิรูปและจำเป็นต้องทลายสิ่งกีดขวางที่เกิดจากผลประโยชน์อันมิชอบ โดยสีจิ้นผิงกล่าวว่าเราจำเป็นต้องกล้าหาญบุกป่าฝ่าดงพงไพร แม้รู้อยู่เต็มอกว่ามีสัตว์ร้ายอย่างเสือสิงห์ และผลักดันการปฏิรูปไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง

ในระยะเวลาไม่ถึง 20 วัน หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด สีจิ้นผิงกำหนด "กฎระเบียบ 8 ประการ" ที่มุ่งปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานของพรรคฯ และเจ้าหน้าที่รัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังต่างๆ ในระบบเจ้าขุนมูลนาย เช่น สิทธิพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐ การจัดงานเลี้ยงฟุ่มเฟือย และการใช้เงินภาษีอย่างสิ้นเปลืองรูปแบบอื่นๆ โดยกฎระเบียบเหล่านี้ได้รับยกย่องเป็น "ตัวพลิกสถานการณ์" การบริหารปกครองของจีน

สีจิ้นผิงริเริ่มปราบปรามการทุจริตคดโกงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยสีจิ้นผิงชี้ว่าการต่อสู้กับการทุจริตคดโกงเป็นประโยชน์ต่อการชำระล้าง "ระบบนิเวศทางการเมือง" และ "ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ" รวมถึงนำสู่การจัดระเบียบตลาดและฟื้นฟูตลาดให้มีสภาพอย่างที่ควรจะเป็น

โครงการปราบปรามการทุจริตคดโกงอย่างไม่ลดละล่าถอยแม้แต่ก้าวเดียวของจีนยังคงดำเนินต่อไป โดยช่วงปีที่ผ่านมา จีนได้ปราบปรามการทุจริตคดโกงในหลายภาคธุรกิจ ทั้งการเงิน อุปทานธัญพืช การดูแลสุขภาพ การผลิตและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ และกีฬา

มีการสืบสวนสอบสวนหรือดำเนินคดีความกับบุคคลนับร้อย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง ผู้บริหารธนาคาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือแม้แต่ประธานสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศจีน และอดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาฟุตบอลชายทีมชาติ

สีจิ้นผิงสนับสนุนความจำเป็นในการปฏิรูปพรรคฯ โดยเรียกร้อง "การปฏิวัติตัวเองอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากที่สุด"

ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง มีการสร้างระบบกำกับตรวจสอบตัวเองของพรรคฯ อย่างสมบูรณ์และเข้มงวด ก่อให้เกิดระบบกำกับควบคุมพรรคฯ ที่เป็นรูปเป็นร่าง โดยสีจิ้นผิงยกระดับระบบตรวจสอบและจัดตั้งระบบกำกับดูแลระดับชาติ ซึ่งจำกัดอำนาจอยู่ภายในกรอบสถาบัน รวมถึงริเริ่มการปฏิรูปสถาบันของพรรคฯ และรัฐอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

หลี่จวินหรู อดีตรองประธานโรงเรียนพรรคฯ แห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ ระบุว่าการปฏิรูปดังกล่าวเป็นที่จับตามองมากที่สุดในกระบวนการปฏิรูปทั้งหมดของจีน โดยสีจิ้นผิงใช้การปฏิรูปมาจัดการความท้าทายเฉพาะที่พรรคฯ เผชิญ และสร้างพรรคการเมืองตามลัทธิมากซ์ที่แข็งแกร่งและทรงพลังยิ่งขึ้น

การปฏิรูปนี้รื้อถอนผลประโยชน์อันมิชอบเพิ่มเติม โดยสีจิ้นผิงเรียกร้องการแก้ไขปรับปรุงที่อาจขัดแย้งกับคนไม่กี่พันคน แต่เป็นประโยชน์กับประชาชนชาวจีน 1,400 ล้านคน

หลิวปิ่งเซียง อาจารย์ประจำโรงเรียนพรรคฯ แห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ อธิบายว่าสีจิ้นผิงขับเคลื่อนการปฏิวัติตนเองของพรรคฯ เพื่อชี้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยพรรคฯ ดำเนินแผนริเริ่มขจัดข้อบกพร่องเชิงสถาบันในการพัฒนาสังคมเพื่อปลดล็อกพลังการผลิต

สำหรับเรื่องนี้ สีจิ้นผิงสนับสนุนการเดินหน้าบริหารปกครองบนพื้นฐานของกฎหมายอย่างเต็มที่ มุ่งแก้ไขสารพันปัญหาที่มีมานานอย่างปัญหาอำนาจอยู่เหนือกฎหมายและปัญหาสายสัมพันธ์ส่วนตัวทำลายหลักการทางกฎหมาย

ครั้งหนึ่งสีจิ้นผิงกล่าวตำหนิปรากฏการณ์ "เงินซื้อการละเว้นโทษและซื้อชีวิต" และเคยกล่าวว่า "เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมเป็นเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความน่าเชื่อถือและหลักนิติธรรม"

สีจิ้นผิงสั่งการกำหนดและแก้ไขกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายปราบปรามการผูกขาด ซึ่งเป็นรากฐานทางกฎหมายสำหรับระบบตรวจสอบการแข่งขันที่เป็นธรรม

นอกจากนั้นมีการปรับปรุงระบบกฎหมายสำหรับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยปี 2020 ไมเคิล จอร์แดน นักบาสเกตบอลระดับตำนานของสหรัฐฯ ชนะการฟ้องร้องคดีความในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งนำสู่การสั่งให้บริษัทจีนหยุดใช้คำภาษาจีน "เฉียวตาน" ที่หมายถึงจอร์แดน ในชื่อและเครื่องหมายการค้า

การปฏิรูปของสีจิ้นผิงมิเพียงนำสู่การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ โดยสีจิ้นผิงยืนยันว่าแก่นแท้ของการสร้างความทันสมัยอยู่ที่ความทันสมัยของประชาชน การบ่มเพาะ "ความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรมและความภาคภูมิใจในชาติ" ในหมู่ประชาชนชาวจีนจึงกลายเป็นเป้าประสงค์หลักของการปฏิรูป

ปี 2012 สีจิ้นผิงผนวก "ความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรม" เข้าสู่รายงานที่เสนอต่อการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคฯ ครั้งที่ 18 และต่อมาสีจิ้นผิงบูรณาการแนวคิดนี้เข้าสู่ "สี่ความเชื่อมั่น" ของสังคมนิยมอันมีอัตลักษณ์จีน พร้อมบรรยายว่าความเชื่อมั่นทางวัฒนธรรมเป็น "พลังพื้นฐานอันลึกซึ้งและยืนยงยิ่งขึ้น"

การปฏิรูปของสีจิ้นผิงยังแสดงการปรับปรุงลัทธิมาร์กซ์เพื่อปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ บูรณาการหลักคำสอนพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์เข้ากับความเป็นจริงเฉพาะและวัฒนธรรมดั้งเดิมอันดีงามของจีน ส่งผลให้การปฏิรูปของจีนสร้างนัยสำคัญเชิงปรัชญาใหม่

ในสารอวยพรปีใหม่ 2017 สีจิ้นผิงกล่าวว่า "เค้าโครงหลักของการปฏิรูป ซึ่งเปรียบเหมือนคานสี่อันและเสาแปดต้นของบ้าน ได้ตั้งขึ้นโดยพื้นฐานในหลายด้าน" โดยสำหรับผู้คุ้นเคยกับสถาปัตยกรรมจีนโบราณ สิ่งนี้บ่งชี้ความเป็นรูปเป็นร่างของตัวบ้านที่สามารถประดับตกแต่งเสริมสร้างให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สีจิ้นผิงได้กำกับทิศทางการปฏิรูปสู่เป้าหมายสำคัญสูงสุด นั่นคือการสนับสนุนและยกระดับระบบสังคมนิยมอันมีอัตลักษณ์จีน และสร้างความทันสมัยแก่ระบบและขีดความสามารถทางการบริหารปกครองของจีน

สิ่งนี้จึงเป็นกระบวนการระยะยาวและท้าทายอย่างมิต้องสงสัย

(แฟ้มภาพซินหัว : สีจิ้นผิงพูดคุยกับคณะผู้แทนจากกลุ่มธุรกิจและวิชาการที่เข้าร่วมการประชุมในเมืองจี่หนาน มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน วันที่ 23 พ.ค. 2024)
นักปฏิรูปเท่านั้นที่ก้าวหน้า นักสร้างสรรค์เท่านั้นที่รุ่งเรือง

ปีที่สีจิ้นผิงเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรายปีของจีนหดตัวจนต่ำกว่าร้อยละ 8 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1999

วิกฤตหนี้สินในยุโรปส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของจีนอย่างรุนแรง และการกำกับควบคุมด้านอสังหาริมทรัพย์ฉุดรั้งอุปสงค์ความต้องการภายในประเทศ โดยนักวิเคราะห์ของธนาคารต่างชาติคนหนึ่งบอกว่า "เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญช่วงวิกฤตที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี"

ทว่า ด้วยความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค สีจิ้นผิงได้บ่งชี้ทิศทางของการปฏิรูป พร้อมเชื่อมั่นว่าการพัฒนายังคงเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด และจัดวางการส่งเสริมการพัฒนาเป็นพันธกิจสำคัญระดับสูงสุดในแผนการปฏิรูปต่างๆ

สีจิ้นผิงชี้ว่าเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ระยะใหม่ของการพัฒนา และนำเสนอปรัชญาการพัฒนาใหม่ ซึ่งเน้นการเติบโตอย่างสร้างสรรค์ สอดประสาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดกว้าง และแบ่งปัน โดยสีจิ้นผิงริเริ่มการปฏิรูปโครงสร้างอุปทาน ผลักดันเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง และดำเนินการสร้างการพัฒนารูปแบบใหม่

เมื่อกล่าวถึงนัยสำคัญของการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงโครงสร้างอุปทาน สีจิ้นผิงยกตัวอย่างกรณีนักท่องเที่ยวชาวจีนซื้อที่นั่งโถชำระล้างและหม้อหุงข้าวอัจฉริยะจากต่างประเทศ เพราะไม่สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่หรือที่มีคุณภาพสูงจากตลาดภายในประเทศ ขณะผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศบางส่วนต้องดิ้นรนหาลูกค้า

การปฏิรูปโครงสร้างอุปทานนานหลายปีภายใต้การกำกับดูแลของสีจิ้นผิง ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยจีนรุ่นใหม่ๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแบบประหยัดพลังงาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุปกรณ์กีฬาที่ทำจากวัสดุใหม่ และเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่

ขณะเดียวกันมีการแก้ไขปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินในบางภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้าตัดลดกำลังการผลิตที่ล้าสมัยและเกินความจำเป็นรวมราว 300 ล้านตัน เมื่อนับถึงสิ้นปี 2022 ซึ่งสูงกว่าผลผลิตเหล็กกล้าดิบทั้งหมดของอินเดียในปีนั้นถึงสองเท่า

สีจิ้นผิงเป็นผู้นำการปฏิรูปโครงสร้างอุปทานด้วยการลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่างพร้อมกับมองการณ์ไกล โดยเมื่อครั้งตรวจเยี่ยมเอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC Motor) ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีนในปี 2014 สีจิ้นผิงเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการอันหลากหลาย และความสำคัญของยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ในการเสริมสร้างสถานะของจีนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะตอนนั้นยานยนต์ส่วนใหญ่บนท้องถนนของจีนยังใช้น้ำมันเบนซิน

ช่วงทศวรรษถัดมา สีจิ้นผิงกลายเป็นแฟนตัวยงของยานยนต์ไฟฟ้า ได้เยี่ยมเยือนบริษัทยานยนต์ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ และแสดงความสนใจจะทดลองยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่พัฒนาภายในประเทศอย่างมาก โดยสีจิ้นผิงกระตุ้นบรรดาผู้ผลิตยานยนต์ให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และเพิ่มพูนความสามารถทางการแข่งขันในตลาด

ข้อเท็จจริงคืออุตสาหกรรมพลังงานใหม่เป็นส่วนหนึ่งในวิสัยทัศน์พลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพของสีจิ้นผิง โดยวลี "พลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพ" ที่สีจิ้นผิงกล่าวถึงครั้งแรกระหว่างตรวจเยี่ยมพื้นที่ท้องถิ่นในปีก่อน กลายเป็นคำเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่ผู้คนสนใจอย่างรวดเร็ว แต่สีจิ้นผิงเริ่มต้นลงมือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ก่อนหน้านี้นานแล้ว

ย้อนกลับช่วงทศวรรษ 1970 ที่หมู่บ้านเหลียงเจียเหอในมณฑลส่านซี สีจิ้นผิงเป็นคนแรกของมณฑลที่ริเริ่มใช้โรงผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งอาจจัดเป็น "พลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพ" ในตอนนั้น ช่วยให้ชาวบ้านมีพลังงานสะอาดไว้ใช้สร้างแสงสว่างและประกอบอาหารแทนการเผาฟืนและน้ำมันแบบดั้งเดิม

สีจิ้นผิงเป็นผู้เชื่อมั่นในลัทธิมาร์กซ์อย่างหนักแน่นและมองว่าแนวคิดพลังการผลิตเป็น "สาเหตุรากฐานของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองทั้งหมด"

การพัฒนาพลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพ ซึ่งเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และคุณภาพสูง ถือเป็นแรงกระตุ้นจากผู้กำหนดนโยบายของจีนในการเกาะกระแสคลื่นลูกใหม่ของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในวงการต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ชีววิทยาสังเคราะห์ เทคโนโลยีนาโน และสารสนเทศเชิงควอนตัม รวมถึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอันขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่สีจิ้นผิงนำเสนอ

สีจิ้นผิงเปรียบเปรยการขาดแคลนความสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอันแข็งแกร่งเป็น "จุดอ่อน" ของยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างจีน และชี้ว่า "มีเพียงนักปฏิรูปเท่านั้นที่ก้าวหน้า นักสร้างสรรค์เท่านั้นที่รุ่งเรือง และผู้ที่ปฏิรูปและสร้างสรรค์จะคว้าชัยชนะ"

การปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้การชี้นำของสีจิ้นผิงก้าวหน้าอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีการใช้ประโยชน์จากระบบใหม่ในการระดมทรัพยากรทั่วประเทศมาเกื้อหนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญ จัดตั้งห้องปฏิบัติการระดับชาติชุดแรก และเสริมสร้างบทบาทของผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ผลลัพธ์จากการปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นปรากฏชัดเจน โดยอันดับของจีนในดัชนีนวัตกรรมโลก (GII) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ก้าวกระโดดจากอันดับ 34 ในปี 2012 เป็นอันดับ 12 ในปี 2023

ข้อมูลในปี 2023 ระบุว่าจีนแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่มีส่วนส่งเสริมการเผยแพร่บทความวิจัยในกลุ่มวารสารวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่มีคุณภาพสูงของเนเจอร์ อินเด็กซ์ (Nature Index) เป็นครั้งแรกในปี 2022

แม้เผชิญการกดขี่และคว่ำบาตรด้านชิปจากสหรัฐฯ หลายปี แต่ยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของจีนอย่างหัวเหวย (Huawei) สามารถเปิดตัวสมาร์ตโฟนระดับไฮเอนด์หลายรุ่นในปี 2023 ซึ่งหลายฝ่ายมองเป็นบทพิสูจน์ว่าความพยายามของประเทศตะวันตกบางส่วนที่หวังจำกัดควบคุมภาคเทคโนโลยีของจีนนั้นแทบไม่ได้ผล

อย่างไรก็ดี มีงานอีกมากมายที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วง สีจิ้นผิงเตือนว่า "การวิจัยพื้นฐานเป็นแหล่งที่มาของการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี แม้จีนได้สร้างความก้าวหน้าสำคัญในการวิจัยพื้นฐาน แต่ยังคงห่างชั้นจากการวิจัยขั้นสูงในระดับนานาชาติอย่างชัดเจน

สีจิ้นผิงเรียกร้องการปฏิรูปเชิงระบบเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่การวิจัยพื้นฐาน รวมถึงสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมตั้งต้น และเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ ล้ำสมัย และสร้างความเปลี่ยนแปลง

 (แฟ้มภาพซินหัว : สีจิ้นผิงพูดคุยกับพนักงานที่ศูนย์การค้าปลอดภาษีระหว่างประเทศในเมืองซานย่า มณฑลไห่หนานทางตอนใต้ของจีน วันที่ 11 เม.ย. 2022)
ปลดปล่อยพลังของตลาด

เมื่อครั้งสีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งสูงสุดของพรรคฯ กาลเวลาได้ผันผ่านไปสองทศวรรษแล้วนับตั้งแต่มีการปรับใช้แนวคิดการสร้างเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม

ทว่าการทำธุรกิจยังคงเป็นงานที่ท้าทาย โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เข้าร่วม "การประชุมสองสภา" ในปี 2014 เปิดเผยว่าโครงการลงทุนเพียงโครงการเดียว ตั้งแต่จัดหาที่ดินจนถึงเสร็จสิ้นกระบวนการขออนุมัติทั้งหมด ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลมากกว่า 30 ครั้ง และตราประทับนับร้อยดวง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาอย่างต่ำ 272 วันทำการ

สีจิ้นผิงไม่เห็นด้วยกับการขออนุมัติจากรัฐบาลอันยุ่งยากนี้อย่างมาก โดยตอนปฏิบัติงานอยู่ที่นครฝูโจวของมณฑลฝูเจี้ยน สีจิ้นผิงได้บุกเบิกกลไกที่ช่วยให้กระบวนการทั้งหมดของการขออนุมัติโครงการลงทุนเสร็จสิ้นภายในจุดเดียว

ในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศ สีจิ้นผิงสนับสนุนว่า "ตลาดมีบทบาทชี้ขาดในการจัดสรรทรัพยากร และรัฐบาลจะดำเนินบทบาทได้ดียิ่งขึ้น"

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีนได้ยกเลิกหรือมอบอำนาจให้หน่วยงานทางการระดับต่ำกว่าทำการอนุมัติได้มากกว่า 100 รายการ และตัดลดจำนวนรายการการลงทุนที่ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลกลางลงมากกว่าร้อยละ 90

"ปล่อยให้พลังความมีชีวิตชีวาที่สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยและพลังของตลาดพรั่งพรูออกมาอย่างเต็มที่" สีจิ้นผิงกล่าว

ผลลัพธ์ของการปฏิรูปนั้นโดดเด่นเห็นได้ชัด โดยจีนได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลกให้เป็นหนึ่งในสิบเศรษฐกิจชั้นนำที่มีพัฒนาการด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดดเด่นมากที่สุดติดต่อกัน 2 ปี

โครงการโรงงานเซี่ยงไฮ้ กิกะแฟคทอรี ของเทสลา (Tesla) เริ่มต้นก่อสร้างเดือนมกราคม 2019 และเทสลาเริ่มต้นส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า รุ่นโมเดล 3 ที่ผลิตจากโรงงานข้างต้นชุดแรกในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ซึ่งเป็นย่างก้าวการพัฒนาที่อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลากล่าวชื่นชม ขณะที่เดือนพฤษภาคมปีนี้ โครงการโรงงานเมกะแพคในต่างประเทศเพียงแห่งเดียวของเทสลาเริ่มต้นก่อสร้างในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ "ความเร็วของจีน"

สีจิ้นผิงเข้าใจสถานการณ์ความยากลำบากที่บรรดาผู้ประกอบการเอกชนต้องพานพบเป็นอย่างดี จึงสั่งจัดตั้งสำนักการพัฒนาเศรษฐกิจเอกชนภายใต้หน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจระดับสูงสุดของประเทศ เพื่อมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเอกชนที่เผชิญอุปสรรคความยากลำบาก

นอกจากนั้นสีจิ้นผิงเน้นย้ำความจำเป็นของการส่งเสริมการปฏิรูปทางการเงินเพื่อเกื้อหนุนการจัดหาเงินทุนแก่ผู้ประกอบการเอกชน พร้อมสำทับถึงความสำคัญของการส่งเสริมเงินทุนเอกชนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับอย่างชัดเจน

ภายใต้การชี้แนะของสีจิ้นผิง มีการดำเนินงานตามระบบบัญชีรายการต้องห้ามเพื่อการเข้าถึงตลาดอย่างรอบด้าน ช่วยให้เงินทุนเอกชนเข้าถึงภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยบัญชีรายการดังกล่าวอย่างชัดเจน ส่งผลให้จำนวนองค์กรธุรกิจจดทะเบียนทั่วประเทศสูงแตะ 184 ล้านราย เมื่อนับถึงสิ้นปี 2023 ซึ่งสูงกว่าในปี 2012 ถึงสามเท่า

ช่วงปี 2012-2023 จำนวนผู้ประกอบการเอกชนในจีนเพิ่มขึ้นมากกว่าสี่เท่า และสัดส่วนผู้ประกอบการเอกชนเพิ่มขึ้นจากไม่ถึงร้อยละ 80 เป็นมากกว่าร้อยละ 92 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด

ขณะเดียวกันมีการอนุมัติจัดตั้งธนาคารเอกชนหลายแห่ง เริ่มต้นดำเนินงานทางรถไฟความเร็วสูงที่กำกับควบคุมโดยเงินทุนเอกชน อนุญาตภาคเอกชนเข้าลงทุนในภาคธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซ และบริษัทจรวดเอกชนประสบความสำเร็จในการยิงจรวดจากกลางทะเล

สีจิ้นผิงยังริเริ่มการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจแบบมุ่งเน้นตลาด โดยปี 2017 ไชน่า ยูนิคอม (China Unicom) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่บริหารงานโดยส่วนกลางแห่งแรกในอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมที่เปิดรับเงินทุนเอกชน ได้เปิดตัวนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ 14 ราย อาทิ เทนเซ็นต์ (Tencent) ไป่ตู้ (Baidu) เจดี.คอม (JD.com) และอาลีบาบา (Alibaba) ที่เป็นกลุ่มยักษ์ใหญ่แห่งวงการอินเทอร์เน็ต ใน "การปฏิรูปแบบร่วมเป็นเจ้าของ"

แผนปฏิบัติการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ระยะ 3 ปี ได้แปรเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจสู่บริษัทจำกัดหรือบริษัทจำกัดโดยหุ้น ทำให้รัฐวิสาหกิจราว 38,000 แห่ง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร

สื่อต่างประเทศรายงานว่าการปฏิรูปของจีนก้าวหน้าตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ โดยสงครามการค้าที่มีต้นตอจากสหรัฐฯ โรคระบาดใหญ่ทั่วโลก และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ได้ทดสอบความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน ขณะที่จีนกำลังเปลี่ยนผ่านรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองด้วย

สีจิ้นผิงชี้นำให้จีนเร่งสร้างการพัฒนารูปแบบใหม่ ซึ่งจัดวางตลาดภายในประเทศเป็นแกนหลัก พร้อมเกื้อหนุนตลาดภายในประเทศและตลาดระหว่างประเทศส่งเสริมซึ่งกันและกัน

การสนับสนุนหลักสำหรับยุทธศาสตร์นี้คือการจัดตั้งตลาดระดับชาติแบบรวมศูนย์ ซึ่งนำสู่การดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อกำจัดการกีดกันทางการค้าในระดับท้องถิ่นและทลายกำแพงทางการค้าในระดับภูมิภาค

หลี่จวินหรู นักทฤษฎีของพรรคฯ ผู้มากประสบการณ์ กล่าวว่าสีจิ้นผิงวาด "จุด" "วงกลม" และ "เส้น" ใหม่บนแผนที่ของจีน ขณะเดินหน้าประสานงานระหว่างภูมิภาคและกระตุ้นการพัฒนาของเขตใหม่สยงอัน เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และเขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า

สีจิ้นผิงทวีคูณความพยายามเปิดกว้างเพื่อผลักดันการปฏิรูปและให้ความสำคัญสูงสุดกับ "การเปิดกว้างเชิงระบบ" ตัวอย่างเช่นจีนยกเลิกข้อจำกัดต่างชาติเข้าเป็นเจ้าของบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนรวม บริษัทสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และบริษัทประกันชีวิต

จีนกำลังผลักดันการภาคยานุวัติความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (CPTPP) ขณะรัฐบาลมุ่งปฏิบัติตามมาตรฐานระดับสูงของข้อตกลงดังกล่าวและแนวทางที่อยู่นอกเหนือนโยบายการเข้าถึงตลาดในปัจจุบัน

ปี 2013 สีจิ้นผิงจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องแห่งแรกของจีนในนครเซี่ยงไฮ้ โดยปัจจุบันจำนวนเขตการค้าเสรีนำร่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 22 แห่ง พร้อมกับมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของประเทศกลายเป็นท่าเรือการค้าเสรี

การปฏิรูปที่สำคัญอีกหนึ่งประการของสีจิ้นผิงคือการจัดงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าระดับชาติงานแรกของโลกที่เน้นการขยายการนำเข้า

นอกจากนั้นสีจิ้นผิงยังริเริ่มการจัดงานแสดงสินค้าที่เกื้อหนุนการค้าภาคบริการและงานมหกรรมที่เน้นแสดงสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลก ซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์ของสีจิ้นผิงในการเปิดเสรีทางการค้าและโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าหลักของประเทศและภูมิภาคต่างๆ มากกว่า 140 แห่ง และยังคงครองตำแหน่งจุดหมายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก

ขณะเดียวกันสีจิ้นผิงเฝ้าระวังการขยายตัวอย่างไม่เป็นระเบียบของเงินทุน การปั่นป่วนตลาด และการแสวงหากำไรเกินควรในบางภาคธุรกิจ เพื่อสกัดกั้นความเสี่ยงที่คล้ายคลึงกับวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ของสหรัฐฯ

สีจิ้นผิงนำเสนอการติดตั้ง "สัญญาณไฟจราจร" ของการหมุนเวียนเงินทุน เพื่อรับรองว่าเหล่า "ผู้มีอิทธิพลทางการเงิน" (financial magnate) จะไม่กระทำการอันไร้ความซื่อสัตย์ และช่วยให้เงินทุนทำหน้าที่ของมันอย่างถูกต้องเหมาะสมในฐานะปัจจัยการผลิตต่อไป

สิ่งนี้บ่งชี้ว่าการปฏิรูปของจีนไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโตเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังคำนึงถึงแนวทางการเติบโตอันสมดุลยิ่งขึ้นอีกด้วย

การประสานการพัฒนาและความมั่นคงเป็นจุดโดดเด่นในความพยายามปฏิรูปรอบด้านอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นของสีจิ้นผิง โดยจีนยังคงเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เพียงแห่งเดียวของโลกที่ปลอดวิกฤตการเงินตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา

(แฟ้มภาพซินหัว : สีจิ้นผิงพูดคุยกับคณะผู้แทนจากกลุ่มธุรกิจและวิชาการที่เข้าร่วมการประชุมในเมืองจี่หนาน มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน วันที่ 23 พ.ค. 2024)
เอาใจใส่ความต้องการของประชาชนเป็นลำดับแรก

สีจิ้นผิงเน้นย้ำว่าเป้าหมายสูงสุดของการปฏิรูปคือเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยสีจิ้นผิงเอาใจใส่กับสิ่งที่ประชาชนต้องการเป็นลำดับแรกและทำตามความปรารถนาของพวกเขา ซึ่งแตกต่างจากแนวทาง "เงินทุนมาก่อน" ที่มักพบในประเทศเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง

ปี 2017 สีจิ้นผิงชี้ว่าหลังจากผ่านการปฏิรูปและเปิดกว้างมานานเกือบ 40 ปี ปัญหาที่สังคมจีนเผชิญได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน โดยสีจิ้นผิงอธิบายว่า "สิ่งที่เราเผชิญตอนนี้คือความย้อนแย้งระหว่างการพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่เพียงพอกับความต้องการมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชน"

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ สีจิ้นผิงสนับสนุนการพัฒนาเชิงประสานและแบ่งปัน และมุ่งมั่นบรรลุวิสัยทัศน์ "ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน" ของเติ้งเสี่ยวผิง

เมื่อครั้งสีจิ้นผิงเข้าดำรงตำแหน่งสูงสุดในปี 2012 ภูมิภาคตะวันออกและตะวันตกของจีนเกิดความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก รวมถึงเกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านความมั่งคั่งร่ำรวยในระดับรุนแรง

สีจิ้นผิงได้เปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การบรรเทาความยากจน และดำเนินการตามแนวทางใหม่ที่เรียกว่า "การขจัดความยากจนแบบมุ่งเป้า"

มีการขึ้นทะเบียนบุคคลและหมู่บ้านที่ได้รับการยืนยันว่ามีฐานะยากจน และสร้างแฟ้มข้อมูลในระบบข้อมูลการบรรเทาความยากจนระดับชาติ ขณะเดียวกันมีการโยกย้ายผู้ยากไร้ออกจากพื้นที่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ ตามสภาพการณ์ท้องถิ่นและจัดการฝึกอบรมผู้ด้อยโอกาสเพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงกระจายกำลังเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 3 ล้านคน เข้าประจำการตามหมู่บ้านที่กำหนดเพื่อดำเนินมาตรการบรรเทาความยากจน

ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง จีนสามารถขจัดความยากสัมบูรณ์ในพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายพันปี

การปฏิรูปของจีนเริ่มต้นในพื้นที่ชนบทในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และแผนริเริ่มการปฏิรูปของสีจิ้นผิงเกี่ยวข้องกับการเกษตร พื้นที่ชนบท และเกษตรกร ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น

สีจิ้นผิงได้จัดตั้งกลไกการผลิตธัญพืชอันมีเสถียรภาพเพื่อรับรองว่า "อุปทานด้านอาหารของจีนยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างมั่นคง" ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของหมู่บ้าน และส่งเสริมการฟื้นฟูชนบทอย่างรอบด้าน

ช่วงต้นทศวรรษ 2000 สีจิ้นผิงนำเสนอบทความวิชาการหัวข้อการปฏิรูประบบทะเบียนบ้านเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการแบ่งแยกตลาดแรงงานในเมืองและชนบทที่มีต้นเหตุจากระบบทะเบียนบ้าน โดยตอนนั้นมีข้อถกเถียงอย่างมากว่าควรยกเลิกข้อจำกัดด้านทะเบียนบ้านหรือไม่

ปี 2016 รัฐบาลกลางออกแผนการมอบถิ่นที่อยู่อาศัยในเมืองแก่ประชาชนจากพื้นที่ชนบทและผู้อยู่อาศัยถาวรอื่นๆ ซึ่งไม่มีทะเบียนบ้านในท้องถิ่นประมาณ 100 ล้านคน โดยแผนการดังกล่าวดำเนินงานเสร็จสิ้นก่อนกำหนด

ขณะตรวจเยี่ยมนครเซี่ยงไฮ้ในปี 2023 สีจิ้นผิงเยือนอะพาร์ตเมนต์ที่แรงงานต่างถิ่นพำนักอาศัยอยู่ และยินดีที่ทราบว่าเหล่าแรงงานต่างถิ่นกำลังเข้ามาตั้งรกรากในเมืองใหญ่

"เยี่ยมมาก! อยู่ที่นี่ ลงหลักปักฐาน และพยายามเพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้น" สีจิ้นผิงกล่าว

ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง จีนได้ยกเลิกระบบอบรมการศึกษาใหม่ผ่านการใช้แรงงาน ซึ่งคงอยู่มานานกว่าครึ่งศตวรรษ เพิ่มเกณฑ์ยกเว้นภาษีเงินรายได้บุคคลธรรมดาจาก 3,500 หยวน (ราว 17,000 บาท) เป็น 5,000 หยวน (ราว 24,000 บาท) ต่อเดือน และวางหลักการประชาชนเป็นศูนย์กลางในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ "บ้านไว้อยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร"

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากร จีนได้ปรับเปลี่ยนนโยบายประชากรและการวางแผนครอบครัว มีการปฏิรูปเพื่อรับรองการศึกษาที่ดียิ่งขึ้นและเท่าเทียมกัน นอกจากนั้นสีจิ้นผิงยังเป็นผู้นำการจัดตั้งระบบประกันสังคมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและริเริ่มการปฏิรูปการบริการดูแลผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน ทำให้ปัจจุบันจำนวนประชาชนที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของประกันผู้สูงอายุขั้นพื้นฐานและประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานในจีนสูงเกิน 1 พันล้าน และ 1.3 พันล้านคนแล้ว

ด้วยความเชื่อมั่นว่า "สุขภาพที่ดีของประชาชนเป็นตัวบ่งชี้พื้นฐานของความทันสมัย" สีจิ้นผิงเรียกร้องการศึกษาและส่งเสริมแนวทางในเมืองซานหมิงของมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อผลักดันการปฏิรูปการดูแลสุขภาพ

สีจิ้นผิงสนับสนุนให้ยกเลิกการบวกราคาของยาและวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ทางการแพทย์ ซึ่งบังคับใช้มานานกว่า 60 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย โดยหน่วยงานรัฐบาลดำเนินงานตามข้อเรียกร้องของสีจิ้นผิงและจัดตั้งทีมงานขึ้นมาเจรจาราคายาและวัสดุสิ้นเปลืองกับกลุ่มบริษัทเภสัชภัณฑ์

คลิปวิดีโอการเจรจาราคาที่แพร่กระจายบนโลกออนไลน์ในปี 2021 แสดงภาพคณะผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจีนยืนกรานว่า "ไม่ควรมีผู้ป่วยถูกทอดทิ้งแม้เป็นส่วนน้อย" และสามารถตัดลดราคายารักษาโรคหายากจากราว 7 แสนหยวน (ราว 3.5 ล้านบาท) ต่อหลอด เหลือ 33,000 หยวน (ราว 1.65 แสนบาท) ต่อหลอด หลังจากเจรจากันอย่างเข้มข้นถึง 8 รอบ

ยารักษาโรคหายากนี้ถูกบรรจุเข้าบัญชีรายชื่อยาตามประกันสุขภาพของจีนในเวลาต่อมา จุดประกายความหวังแก่ผู้ป่วยทั่วประเทศมากกว่า 30,000 ราย โดยการตัดลดราคายาหลายร้อยรายการในลักษณะเดียวกันได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประชาชนสะสมราว 5 แสนล้านหยวน (ราว 2.5 ล้านล้านบาท) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

สีจิ้นผิงเดินหน้าการปฏิรูประบบดูแลสุขภาพในชนบทเพื่อรับรองว่าประชาชนในพื้นที่ชนบทอันกว้างใหญ่ของจีนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลราคาย่อมเยา โดยการปฏิรูปดังกล่าวช่วยลดกรณีเจ็บป่วยอันเกิดจากความยากจนอย่างมาก ทำให้ปัจจุบันประชาชนที่มีรายได้ต่ำและที่เพิ่งหลุดพ้นจากความยากจนในพื้นที่ชนบทมีประกันสุขภาพเกือบทั้งหมดแล้ว

ขณะการปฏิรูปของสีจิ้นผิงในภาควัฒนธรรมตอกย้ำการส่งเสริม "โลกแห่งจิตวิญญาณ" ของประชาชนในฐานะข้อกำหนดสำคัญของการสร้างความทันสมัยของจีน สิ่งนี้เชื่อมโยงกับการขัดเกลาแผนงานและนโยบายอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และเกื้อหนุนธุรกิจและการบริโภคทางวัฒนธรรมรูปแบบใหม่

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนจอฉายภาพยนตร์ในจีนเพิ่มขึ้นจากราว 13,000 จอในปี 2012 เป็นมากกว่า 86,000 จอในปี 2023 ซึ่งมากที่สุดในโลก โดยเมื่อต้นปีนี้ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนกำลังผลิตภาพยนตร์คุณภาพสูงที่ตรงกับความสนใจของผู้ชมภายในประเทศเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นสีจิ้นผิงยังปรับปรุงระบบการศึกษา ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับการเพิ่มพูนผู้มีความรู้ความสามารถและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี

สีจิ้นผิงส่งเสริมการพัฒนาอันสมดุลของการศึกษาภาคบังคับ ลดปริมาณการบ้านของนักเรียนเพื่อรับประกันการพัฒนาอย่างรอบด้าน และสร้างระบบอาชีวศึกษาและระบบมหาวิทยาลัยอันทันสมัย

สัดส่วนรายจ่ายทางการคลังเพื่อการศึกษาของจีนยังคงสูงเกินร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ติดต่อกันหลายปี ซึ่งถือเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ที่สุดของการใช้จ่ายงบประมาณสาธารณะของจีน

การปฏิรูปอันโดดเด่นที่นำโดยสีจิ้นผิงอีกหนึ่งประการคือระบบนิเวศ

เมื่อครั้งสีจิ้นผิงเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคฯ ในปี 2012 มลพิษทางสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัญหาร้องเรียนบ่อยที่สุดในหมู่สาธารณชน โดยช่วงต้นปีนั้น แม่น้ำในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีนตรวจพบมลพิษจากสารแคดเมียมอันเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของน้ำดื่มของประชาชนกว่าล้านคน และเกิดปรากฏการณ์ "ไม่ใช่ในสวนหลังบ้านของฉัน" (Not in My Back Yard) ที่สำคัญหลายครั้งทั่วประเทศในปีดังกล่าว ซึ่งมีต้นตอจากความกังวลด้านมลพิษทางอุตสาหกรรม

สีจิ้นผิง ซึ่งเป็นที่รู้จักจากแผนริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อมอันเด็ดขาดเข้มงวดในนครเซี่ยเหมินเพื่อทำความสะอาดทะเลสาบอวิ๋นตังและในนครหางโจวเพื่อปกป้องทะเลสาบซีหู ได้จัดตั้งกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้การคุ้มครองทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมเป็น "เส้นแดง" ที่ห้ามล่วงล้ำ ริเริ่มการตรวจสอบการคุ้มครองทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานกลาง และกระตุ้นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรับผิดชอบการคุ้มครองแม่น้ำ ทะเลสาบ และป่าไม้ในฐานะ "หัวหน้าการจัดการ"

ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง จีนกลายเป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านคุณภาพอากาศดีขึ้นรวดเร็วที่สุด ทรัพยากรป่าไม้เพิ่มขึ้นมากที่สุด และพื้นที่ปลูกป่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะเดียวกันจีนยังครองตำแหน่งผู้นำโลกด้านกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และชีวมวล ท่ามกลางความพยายามปฏิวัติทางพลังงานของสีจิ้นผิง

จีนได้พัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมุ่งมั่นจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนหลังจากปล่อยคาร์บอนแตะระดับสูงสุดภายในระยะเวลาอันสั้นกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยสีจิ้นผิงกล่าวว่า "การพัฒนาอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำเป็นวาระแห่งยุค และผู้ดำเนินการพัฒนาดังกล่าวจะประสบความเจริญรุ่งเรือง"

สีจิ้นผิงเชื่อว่าการปรับแก้วิธีการเติบโตที่ไม่ยั่งยืนมีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของชาติจีนและการปกป้องโลก ซึ่งเป็น "บ้านเพียงหลังเดียวของเรา"

(แฟ้มภาพซินหัว : สีจิ้นผิงชมเมืองจากสวนสาธารณะเหลียนฮวาซานในนครเซินเจิ้น มณฑลกว่างตงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 14 ต.ค. 2020)
ก้าวไปข้างหน้าด้วยความกล้าหาญ

"ไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถเดินหน้าการปฏิรูปอย่างครอบคลุมรอบด้านแบบเดียวกับที่จีนทำตามคำมั่นสัญญาและตระหนักถึงความเร่งด่วนในวันนี้" เหลียนเหอ จ่าวเป้า หนังสือพิมพ์ของสิงคโปร์รายงาน

รายงานเอเดลแมน ทรัสต์ บาโรมิเตอร์ ปี 2023 ซึ่งเป็นผลสำรวจจากบริษัทที่ปรึกษาเอเดลแมน (Edelman) ระบุว่าระดับความไว้วางใจโดยรวมของจีนอยู่ที่ 83 ซึ่งครองอันดับหนึ่งในประเทศกลุ่มสำรวจทั้งหมด และจีนเป็นประเทศเดียวในประเทศกลุ่มสำรวจที่แสดงมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับโอกาสทางเศรษฐกิจ

เหล่านักสังเกตการณ์เชื่อว่าด้วยสีจิ้นผิงเป็นผู้นำการปฏิรูปในยุคใหม่ เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมที่เกริ่นนำโดยเติ้งเสี่ยวผิงจะเจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างไม่ต้องสงสัย โดยสีจิ้นผิงได้ติดเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนจีนบนการเดินทางสู่การสร้างความทันสมัยที่มิอาจหวนกลับคืน

การปฏิรูปของเติ้งเสี่ยวผิงและคำประกาศ "การพัฒนาคือหลักการโดยสมบูรณ์" ที่ปลดปล่อยและพัฒนาพลังการผลิตทางสังคมของจีน ช่วยผลักดันจีนสู่การเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจของโลก

สีจิ้นผิงถือว่าการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงเป็นหลักการอันสลักสำคัญในยุคใหม่ และริเริ่มมการเปลี่ยนผ่านอย่างรอบด้านและเป็นระบบในจีน ซึ่งมีส่วนส่งเสริมการปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจจีนเติบโตร้อยละ 5.2 ในปี 2023 และมีส่วนส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกราวหนึ่งในสาม โดยจีนยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง

ณ การประชุมกับคณะผู้นำรัฐบาลและธุรกิจของต่างชาติในปีนี้ สารจากสีจิ้นผิงยังคงเน้นย้ำว่าจีนมุ่งมั่นดำเนินการปฏิรูปยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำพาโอกาสมาสู่โลก

ขณะเยือนฝรั่งเศสเมื่อเดือนพฤษภาคม สีจิ้นผิงบอกกับกลุ่มธุรกิจว่าการปฏิรูปของจีนจะเพิ่มโอกาสทางการตลาดแก่ทุกประเทศ และขณะเยือนโรงงานเหล็กในเซอร์เบีย ที่ซึ่งสีจิ้นผิงช่วยฟื้นฟูด้วยการลงทุนจากจีนเมื่อราวแปดปีก่อน ได้รักษาตำแหน่งงานของคนงานท้องถิ่นกว่า 5,000 คน

โรงงานเหล็กแห่งดังกล่าวเป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อันโดดเด่นของสีจิ้นผิง โดยสีจิ้นผิงนำเสนอแผนริเริ่มนี้ด้วยแรงบันดาลใจจากเส้นทางสายไหมโบราณในปี 2013 เพื่อปฏิรูปความร่วมมือด้านการพัฒนาทั่วโลก และออกแบบแผนริเริ่มนี้ให้เป็นเครือข่ายอันทันสมัยที่เชื่อมโยงนานาประเทศผ่านการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน

ช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษ นานาประเทศราวสามในสี่ของโลกได้เข้าร่วมแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งช่วยสร้างตำแหน่งงาน 4.2 แสนอัตรา และช่วยเหลือประชาชนในประเทศเหล่านั้นหลุดพ้นจากความยากจนหลายสิบล้านคน

อนึ่ง ความคาดหวังต่อการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 เพิ่มพูนขึ้นมาตั้งแต่ปีก่อน โดยประชาชนจำนวนมากในจีนและทั่วโลกต่างเฝ้ารอดูการเปิดตัวมาตรการปฏิรูปครั้งใหญ่และประเมินผลลัพธ์ของมาตรการเหล่านั้น

ก่อนการประชุมครั้งปัจจุบัน สีจิ้นผิงเผยคำมั่นสัญญาของ "การปฏิรูปชี้นำเชิงยุทธศาสตร์ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่" เพื่อบรรลุความก้าวหน้าใหม่ในมิติและภาคส่วนที่สำคัญ

เศรษฐกิจและตลาดขนาดใหญ่มหึมาของจีน กอปรกับภาวะผู้นำแบบองค์รวมของพรรคฯ ที่มีสีจิ้นผิงเป็นแกนกลาง ก่อให้เกิดมุมมองเชิงบวก โดยพรรคฯ กล้าหาญจะปฏิรูปตนเองและสามารถเปลี่ยนพิมพ์เขียวเป็นการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะประชาชนในต่างประเทศบางส่วนตั้งแง่สงสัยหรือหวาดกลัวเกี่ยวกับการปฏิรูป การพัฒนา และนัยยะของจีน สีจิ้นผิงมักกล่าวว่าจีนไม่ได้มีเจตนาเปลี่ยนแปลงหรือท้าทายระเบียบโลกที่มีอยู่ แต่จีนเพียงกำลังมีส่วนร่วมในธรรมาภิบาลโลกอย่างแข็งขันเพิ่มขึ้น ผลักดันระเบียบโลกที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น

โจเซ ริคาร์โด ดอส ซานโตส ลูซ จูเนียร์ ซีอีโอของบริษัทในนครเซาเปาลู ซึ่งเชื่อมโยงผู้ประกอบการของจีนกับบราซิล กล่าวว่าการสร้างความทันสมัยของจีนเพิ่มตัวเลือกใหม่และมีนัยยะสำคัญมากต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ช่วงแรกของยุคการปฏิรูปโดยเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนที่ล่วงลับกล่าวว่าเป้าหมายในการปฏิรูปและเปิดกว้างของจีนคือ "การตามทันยุคสมัย"

เมื่อพิจารณาความก้าวหน้าตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สีจิ้นผิงกล่าวว่าการปฏิรูปและเปิดกว้างของจีนมิเพียงเดินหน้าการพัฒนาของตัวเอง แต่ยังมีส่วนส่งเสริมสันติภาพและความก้าวหน้าของโลกอย่างมีนัยสำคัญ

สีจิ้นผิงได้สานต่อความมุ่งมาดปรารถนาและความรับผิดชอบของเติ้งเสี่ยวผิง โดยการสร้างความทันสมัยของจีนที่สีจิ้นผิงกำลังเป็นผู้นำนั้นมิเพียงสร้างปาฏิหาริย์และโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นความเจริญรุ่งเรืองรูปแบบใหม่ของมนุษย์ด้วย

"การสร้างความทันสมัยของจีนนั้นทั้งท้าทายและยิ่งใหญ่มากที่สุด" สีจิ้นผิงกล่าว "นี่เป็นวิถีทางที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่เราจะเดินหน้าบุกเบิกการปฏิรูปและก้าวไปข้างหน้าด้วยความกล้าหาญ"

(แฟ้มภาพซินหัว : สีจิ้นผิงวางพวงดอกไม้ที่ด้านหน้ารูปปั้นสัมฤทธิ์ของเติ้งเสี่ยวผิงในสวนสาธารณะเหลียนฮวาซาน นครเสิ่นเจิ้น มณฑลกว่างตงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 8 ธ.ค. 2012)


กำลังโหลดความคิดเห็น