xs
xsm
sm
md
lg

“เพกา” ผักยืนต้น สมุนไพรสุดมหัศจรรย์ ต้านเบาหวาน ต้านมะเร็ง ชะลอวัย...เพกาทั้ง ๕ รักษาสารพัดโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“เพกา” หรือ “ลิ้นฟ้า” เป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง ใช้ยอดและฝักอ่อนเป็นอาหาร ตามตำรับยาสมุนไพรถือว่าเพกามีสรรพคุณเป็นยา โดยใช้ส่วนต่างๆของเพกาตั้งแต่ ใบ ฝัก ราก เปลือกของต้น จนถึงเมล็ดแก่ในฝัก เรียกว่า “เพกาทั้ง ๕” ใช้รักษาโรคได้หลายชนิด

แต่เนื่องจากเพกามีรสขมนิดๆ จึงไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ใช้เป็นผักสำหรับคนบางกลุ่มที่ไม่ปฏิเสธรสขมและรู้ค่าของเพกา ผู้เขียนเองก็ไม่เคยสนใจเพกามาก่อน มีผู้ให้ต้นมาก็ยังทิ้งอยู่ในกระถางไม่ได้เอาลงดินเสียที จนกระทั่งได้ไปพบท่านเจ้าอาวาสวัดองสิต ที่ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งท่านเคยอาพาทด้วยโรคเบาหวานจนถูกตัดขาไปข้างหนึ่ง ท่านเล่าว่า

“อาตมาเสียใจที่ไม่ได้เชื่อหมอแต่แรก จนต้องถูกตัดขาเหนือเข่าไปข้างหนึ่ง จึงเริ่มสำนึกทำตามหมอแนะนำทุกอย่าง ที่สำคัญยังได้ไอ้นี่มาช่วยได้มาก” ท่านชี้ไปที่ฝักเพกา รูปร่างเหมือนดาบวางอยู่ใกล้ๆ ที่ชาวบ้านนำมาถวาย

“อาตมาใช้เมล็ดแก่ชงน้ำฉันเป็นประจำ ตอนนี้น้ำตาลอาตมาเหลือไม่ถึงร้อยแล้ว ปอด ตับ ลำไส้รู้สึกว่าถูกล้างจนสะอาด ทำงานได้ราบรื่น ร่างกายแข็งแรงดี ขาที่เหลือข้างเดียวก็มีแรงประคองตัวให้เดินได้”

เมื่อผู้เขียนได้มาค้นคว้าต่อในออนไลน์ ก็พบเพจ “สาระน่ารู้” ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า เพกาเป็นผักพื้นบ้านสุดมหัศจรรย์ กินชะลอวัย ต้านมะเร็ง และมีสรรพคุณมากมาย อย่างเช่น

-ช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆในร่างกาย
-ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย และช่วยชะลอวัย
-ช่วยบำรุงและรักษาสายตา
-ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้
-เป็นยาบำรุงธาตุ
-ช่วยทำให้เจริญอาหาร
-เป็นส่วนประกอบยาช่วยรักษาโรคเบาหวาน
-การรับประทานฝักเพกาหรือยอดอ่อนเพกา จะช่วยลดระดับคอเรสเตอรอลในการแสเลือดได้
-ช่วยบำรุงโลหิต ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยขับเลือด ดับพิษในโลหิต
-การกินฝักอ่อนของเพกาจะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น แก้ร้อนใน
-ช่วยบรรเทาอาการปวดไข้ ด้วยการใช้ใบเพกาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้ไข้เฝือลม ช่วยแก้ละอองไข้ หรือโรคเยื่อเมือกในช่องจมูกอักเสบ
-ช่วยแก้และบรรเทาอาการไอ ช่วยขับเสมหะ ด้วยการใช้เมล็ดแก่เพกาครึ่งกำมือถึงหนึ่งกำมือ (๑.๕-๓ กรัม) ใส่ในหม้อที่เติมน้ำ ๓๐๐ มิลลิลิตร แล้วต้มไฟอ่อนๆจนเดือดประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วนำมาดื่มครั้งละ ๑ แก้ว เช้า กลางวัน เย็น จนกว่าอาการจะดีขึ้น (ฝักอ่อน เมล็ด)
-ช่วยเรียกน้ำย่อย (ราก) ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก
-ช่วยบำรุงกระเพาะ ตับ และปอด
-ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้ใบเพกาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง (เปลือกต้น) ช่วยแก้โรคบิด (เปลือกต้น,ราก) ช่วยรักษาท้องร่วง
-ช่วยขับลมในลำไส้ เป็นยาขับถ่าย ช่วยระบายท้อง ช่วยในการขับผายลม
-ช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เปลือกต้นเพการวมกับสมุนไพรชนิดอื่น (เปลือกต้น) ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย ทำให้น้ำเหลืองเป็นปกติ
-ใช้เป็นยาแก้พิษหมาบ้ากัด ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกานำมาตำพอกบริเวณที่ถูกกัด
-ช่วยรักษาโรคงูสวัด ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกา เปลือกคูณ รากต้นหมูหนุน นำมาฝนใส่น้ำทาบริเวณที่เป็น จะช่วยให้หายเร็วขึ้น
-เปลือกต้นเพกามีสารสกัดฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อ
-แก้โรคไส้เลื่อน ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกา รากเขยตายยาก หญ้าตีนนก นำมาตำรวมกันให้ละเอียด แล้วไปละลายกับน้ำข้าว ใช้ขนไก่ชุบนำมาทาลูกอัณฑะ ให้ทาขึ้นอย่าทาลง
-ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว
-เปลือกและลำต้นใช้ทำสีย้อมผ้าได้ มีสีเขียวอ่อน

สิ่งที่ควรระวังก็คือ หญิงมีครรภ์ไม่ควรรับประทานฝักอ่อนเพกา เพราะจะทำแท้งบุตรได้ เนื่องจากฝักของเพกามีฤทธิ์ร้อนมาก และคนทั่วไปก็ไม่ควรรับประทานสด อาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ควรทำให้สุกเสียก่อนไม่ว่าเมนูใด โดยนำฝักเพกาไปย่างไฟให้เปลือกนอกมีสีดำ จากนั้นจึงลอกเปลือกออก หรือหั่นขวางแล้วนำไปผัดน้ำมันจนสุก เมื่อทำจนสุกแล้วจึงนำไปขยำน้ำเกลือเพื่อลดความขมของเพกาออก ก่อนที่จะนำไปทำเมนูอื่นต่อไป โดยรับประทานเป็นผัก หรือผัดกับเนื้อสัตว์ หรือใส่แกงเผ็ดก็ได้

การปลูกเพกาไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งพันธุ์ต้นเตี้ย พันธุ์ต้นสูง มีจำหน่ายในออนไลน์มากมาย หรือจะใช้วิธีเพาะเมล็ดก็ได้ แต่ถ้าจะให้ได้ผลผลิตรวดเร็วก็ตัดรากมาปักชำ โดยขุดรากจากต้นที่ออกฝักแล้ว มีขนาดใหญ่ ๕-๖ เซนติเมตร แล้วมาทอนเป็นท่อนๆ ท่อนละ ๒.๕-๓ เซนติเมตร ปักลงดินในกระถาง รดน้ำให้ชุ่ม จะแตกเป็นต้นใหม่ใน ๓ สัปดาห์ เลี้ยงไปให้โตขึ้นหน่อยจึงเอาลงดิน จะออกฝักในปีที่ ๒ หรือมีต้นสูงอยู่แล้วเก็บลำบาก ก็ตัดลงมาให้เหลือโคนประมาณ ๑ เมตร รดน้ำให้ชุ่ม หรือหน้าฝนอย่างนี้ก็จะแตกใบอ่อนได้ง่าย และออกฝักทันที เก็บได้สบายไม่ต้องสอย

เพกามีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายเช่นนี้ ผู้เขียนจึงไม่รอช้าที่จะเอาต้นในกระถางลงดิน และหามาปลูกเสริมอีก ๒-๓ ต้น ตอนนี้ก็เข้าวัยผู้สูงอายุในระดับที่ได้เบี้ยยังชีพเต็มอัตราเดือนละ ๑.๐๐๐ บาทแล้ว จะต้องมาทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บในวัยนี้คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ทั้งยังทำให้คนรอบตัวพลอยลำบากไปด้วย เรื่องอาหารการกินจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด แต่ก่อนเลือกแต่ความอร่อย ตอนนี้ต้องดูให้ดีว่าอาหารแต่ละมื้อที่กินเข้าไปนั้นมีอะไรบ้าง พบายามหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นภัยต่อสุขภาพ หาแต่อาหารที่ส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกาย ไม่เคยกินมาก่อนก็ต้องลองกิน พิถีพิถันหน่อยในเรื่องนี้ ก็จะได้ลาภอันประเสริฐที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาให้ต้องทุกข์ทรมาน




กำลังโหลดความคิดเห็น