xs
xsm
sm
md
lg

ประสบการณ์ล้ำค่าของ ‘วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง’ กับการเดินทางบนถนนสายนักเขียนสารคดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง’ นักเขียนสารคดีที่มีผลงานมากมายได้รับการยอมรับ
…ในฐานะนักเขียนที่ใหม่มากในตอนนั้น เขายอมรับว่ามีความพองฟูในใจ มีกำลังใจในการทำงาน จึงตั้งใจทำสารคดีเรื่องต่อไปอีก…

นับจากวันนั้น วันที่งานเขียนของเขาได้รับการตีพิมพ์ลงนิตยสารคดีเป็นครั้งแรก
ในประเด็นว่าด้วยการรณรงค์ให้เก็บกู้ระเบิดตามแนวชายแดน กระทั่งวันนี้ เป็นระยะเวลายาวนานถึง 21 ปีแล้ว ผลงานสารคดีของเขา มีไม่น้อยกว่า 111 เรื่อง

ไม่เพียงในบทบาทนักเขียน แต่เขายังรับหน้าที่เป็นครู วิทยากร กระบวนกร แนะแนว ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการเขียน การเล่าเรื่องให้แก่เยาวชนที่สนใจเข้าร่วมอบรมกับค่ายนักเขียนสารคดี และทำหน้าที่นี้มายาวนานจนมองเห็นความแปรเปลี่ยนของยุคสมัย ที่ยุคทองของสื่อสิ่งพิมพ์โรยราไป และถูกแทนที่ด้วยสื่อออนไลน์

เกียรติประวัติที่เขาได้รับ จากการเขียนและการทำงาน มีเกินนิ้วมือนับ ยกตัวอย่างบางส่วน อาทิ
2560 : ได้รับรางวัล “วรรณกรรมแม่น้ำโขง” (MERLA) ของกองทุนวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ
2561 : ได้รับรางวัล “ผู้อุทิศตนเพื่อสิ่งแวดล้อม” สาขาศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม จากมูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษา
2564 : ได้รับรางวัล “ศิลปาธร” สาขาวรรณศิลป์ ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
หากจะนับผลงานที่ตีพิมพ์เป็นเล่มนั้นเล่า ก็มีมากกว่า 30 เล่ม ยกตัวอย่าง อาทิ ให้ทะเลไกวเปลในหัวใจฉัน (2547) ถามแดนอาทิตย์อุทัย เมื่อไหร่ซากุระจะบาน (2548) ตามรอยพุทธทาสภิกขุ เล่าใหม่หลังวัยสนธยา (2549) แสงใต้ในมรสุม (2550) แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา (2554) ทิเบตที่เป็น-ไป (2554) เรื่องมหัศจรรย์ธรรมดาของสามัญชน (2556)

-3 อริยสงฆ์แห่งสยามประเทศ พระอาจารย์มั่น สมเด็จพระพุฒาจารย์โต หลวงพ่อทวด (2558)
-สติสู่สมัย พระไพศาล วิสาโล (2560)
-สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ศรีอริยสงฆ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (2563)

‘วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง’ นักเขียนสารคดีที่มีผลงานมากมายได้รับการยอมรับ
‘วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง’ คือผู้เขียนผลงานทั้งหมดที่ว่ามานั้นและอีกมากมายหลายเล่ม

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สนทนากับเขาในหลากหลายประเด็นอันเกี่ยวเนื่องและส่งผลต่อชีวิตการทำงาน หล่อหลอมและขัดเกลาให้เขาก้าวย่าว เดินทาง และเติบโตขึ้นเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอีก ‘มือดีที่สุด’ คนหนึ่ง ของวงการงานเขียนสารคดีของไทย ในตลอดช่วงระยะเวลาที่เขาดำรงอยู่ในวิชาชีพนี้ จวบจนปัจจุบัน

ค้นพบความรื่นรมย์แห่งสวนอักษร


เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงความเป็นมา ว่าทำไมจึงเลือกเดินบนเส้นทางของการเขียนสารคดี
วีระศักดิ์ตอบว่า จุดเริ่มต้นคือเมื่อประมาณอายุ 16 ปี เป็นช่วงวัยที่คนเราอาจจะรู้สึกว่าเราต้องเป็นอะไรสักอย่างที่มากกว่าที่ครูถามว่า ‘โตขึ้นจะเป็นอะไร’ ตัวเขารู้สึกว่ามันมีอะไรที่มากกว่านั้น

“สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเป็นวัยรุ่น ต้องเป็นอะไรสักอย่างแต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรดี ต้องหาต้นแบบ แล้วก็เป็นช่วงที่เราเลิกเรียนหนังสือ เพราะไม่มีความสุขที่โรงเรียน ยังไม่ทันจบมัธยมต้นก็เลิกเรียน แต่เมื่อไม่เรียนหนังสือแล้ว เราจะเป็นอะไร ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน คิดแค่ว่าเราไม่เรียนหนังสือแล้ว จะไปใช้ชีวิตอย่างชาวบ้าน

“กระทั่งวันหนึ่ง ได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า ‘มหาวิทยาลัยชีวิต’ ( หมายเหตุ : เขียนโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล )
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นอัตชีวประวัติ ผู้เขียนเขาก็เขียนเล่าเรื่องตัวเอง แต่ว่ามันเชื่อมโยงกับสังคม บ้านเมืองด้วย ไม่ได้เล่าชีวิตตัวเองเท่านั้น แต่เล่าเชื่อมโยงกับความเป็นไปของสังคม ในตอนนั้นเราไม่รู้จักว่าผู้เขียนคือใคร รู้ว่าผู้เขียนชื่อนี้ แต่ไม่รู้จักเขา แต่เป็นเพราะชื่อหนังสือและเนื้อหาของหนังสือเท่านั้นที่ส่งผลสะเทือนเรา”

“ผู้เขียนเขาเล่าชีวิตตัวเองที่เป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่งแล้วมาเรียนมหาวิทยาลัย แล้วก็ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น ได้เป็นผู้นำนักศึกษา ได้ต่อสู้เพื่อคนอื่น เมื่อคนอายุประมาณ 16 ปีอย่างเราได้อ่านก็รู้สึกว่า ‘โอ้โห การได้เรียนหนังสือมันทำให้ได้เห็นโลกกว้างนะ’ แล้วก็ได้เห็นสารสาระที่มันอยู่ในหนังสือนั้น เรารับสารนี้ผ่านพลังของตัวหนังสือ ผ่านการเล่าด้วยตัวหนังสือ ถ้าเราฟังเขามาเล่าเหมือนเล่านิทานก็จะไม่ได้สัมผัสรสแบบนี้นะ เพราะว่าภาษาเขียนกับภาษาพูดไม่เหมือนกัน เราก็รู้สึกตอนนั้นแหละ ว่า ‘การเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียน มันมีพลังอย่างนี้ มันรื่นรมย์อย่างนี้เลยหรือ’ จึงรู้สึกในตอนนั้น ว่าการเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียนมันน่าจะดี"

“สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ส่งผลต่อเราคือ มันทำให้เราอยากกลับไปสู่ระบบการศึกษาแล้วก็อยากเป็นคนเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือ ซึ่งเรายังไม่รู้จักคำว่านักเขียนด้วยซ้ำในตอนนั้น แต่เรารู้สึกว่า การเขียนเรื่องเล่าให้คนอื่นอ่านมันดูเท่ห์"

“ดังนั้น นี่แหละ ‘สิ่งที่ฉันอยากเป็น’ ในวัยที่เราแสวงหา เราก็พบหนังสือเล่มนี้ และพบความรู้สึกนี้ เป็นเหมือนอิฐก้อนแรกของการเป็นนักเขียน”

เมื่อตัดสินใจเรียนหนังสือต่อ ก็ก้าวเข้าสู่ชีวิตนักเรียนมัธยมปลาย วีระศักดิ์ในช่วงวัยนั้น เริ่มเขียนเรื่องเล่าและเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะอยากรู้ว่านักเขียนเขาเล่ากันอย่างไร ก็เล่าตามแบบนั้น

“วัยมัธยมปลายก็มีงานเขียนเป็นของตัวเอง เขียนในสมุดนะ (หัวเราะ) เป็นคนเดียวในโรงเรียนที่ทำแบบนี้ เราชอบเขียนให้เพื่อนอ่าน เพื่อน ม.ปลายนี่แหละ”


ชีวิตในมหาวิทยาลัย อีกก้าวย่างแห่งการแสวงหา

กระทั่งก้าวเข้าสู่ชีวิตในมหาวิทยาลัย โดยวีระศักดิ์เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาได้พบเจอกลุ่มเพื่อนอยู่ 2-3 กลุ่ม คือกลุ่มชมรมวรรณศิลป์ กับชมรมศิลปวรรณกรรม รวมถึงกลุ่มที่รวมตัวกันในนาม ‘กวีหน้าราม’

“ในรามฯ มีชมรมที่เกี่ยวกับการเขียนหนังสืออยู่ คือสองชมรมนี้ที่อยู่ในมหา’ลัย แล้วก็มีรุ่นพี่ที่เขาตั้งเป็นกลุ่มหลวมๆ ชื่อ ‘กวีหน้าราม’ เราก็เข้าไปนั่งกับเขาด้วย รวมแล้วเราอยู่ทั้งสามกลุ่มนี้"

“ในสามกลุ่มที่เราไปอยู่ก็มีสมาชิกรวมประมาณ 50-60 คน ซึ่งมันก็ซ้ำกันอยู่ บางคนก็อยู่ทั้งสามกลุ่ม วนเวียนกันอยู่แถวนั้นล่ะ ซึ่งเมื่อมาเจอกลุ่มเพื่อนเป็นกลุ่มก้อน การเขียนก็หลากหลายมากขึ้น เวลาเราเขียนเราก็เปลี่ยนกันอ่าน แล้วมีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งที่ชมรมวรรณศิลป์ เขาบอกเราว่าสไตล์งานของเรา เรียกว่างานสารคดี”


‘สารคดี’ คำนี้ที่เปิดโลกทัศน์

วีระศักดิ์เล่าว่า “เดิมทีเราไม่เคยรู้เลย ว่าสิ่งที่เราเขียนเรียกว่าอะไร แต่เราเขียนตามตัวอย่างที่อ่าน เช่น งานร้อยแก้วอย่างของอาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) หรือว่าส่วนใหญ่ที่เราอ่านมักเป็นงานนักเขียนใต้ เพราะว่ามีฉาก พื้นเพเหมือนบ้านเรา เช่นงานของไพฑูรย์ ธัญญา, จำลอง ฝั่งชลจิตร รวมถึง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เราศึกษางานของท่านเหล่านี้ แต่เพื่อนๆ อ่านแล้ว เขาบอกว่างานที่เราเขียน สไตล์นี้ไม่ได้เรียกว่าเรื่องสั้น เรียกว่า ‘สารคดี’ เพราะว่าเขามีพื้นฐานการอ่านการเขียนมากกว่าเรา สำหรับรุ่นพี่คนนี้ เขาแยกได้ 
"เขาชี้นำให้อย่างนั้นและเขาก็บอกเราว่า คุณเขียนเป็นสารคดีเลยก็ได้นะ ไม่ต้องเป็นเรื่องแต่งหรอก คุณเขียนตามจริงเลย”


จากโลกกว้าง เรียนรู้ชีวิตบนดอยสูง สู่งานเขียนชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์

วีระศักดิ์เล่าว่า นอกจากคบกับเพื่อนฝูงสายวรรณศิลป์แล้ว เขาก็คบหากับเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นนักกิจกรรม
คือ ‘ชมรมค่ายอาสาพัฒนา’ นั่นเอง
เพื่อนชมรมค่ายอาสาฯ นี่เอง ที่พาวีระศักดิ์ไปออกค่ายบนดอย ซึ่งเป็นที่ที่เขาไม่เคยรู้จัก เพราะเขามาจากภาคใต้คือจังหวัดกระบี่ ไม่เคยพบเห็นดอยสูงสลับซับซ้อนสุดสายตามาก่อน

“เราได้ไปเห็นดอยแล้วรู้สึกมหัศจรรย์มากๆ เลย (หัวเราะ ) เราไม่รู้ว่าในหมู่บ้านนี้ เขาไม่ต้องพึ่งอะไรจากข้างนอก เขากินเอง อยู่เอง แล้วก็อยู่กลางความหนาวขนาดนั้นที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน"

“เราได้เห็นว่าภูเขานั้นใหญ่มาก กว้างใหญ่อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ผู้คนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแบบไม่พึ่งอะไรจากข้างนอกเลย นอกจากผงชูรส เกลือ แล้วก็ยาพาราเซตามอล
รู้สึกว่ามีอยู่สามอย่างนี่แหละที่เขาต้องขวนขวายมาจากข้างนอก ( หัวเราะ ) นอกนั้นแล้วเขาพึ่งพาตัวเองได้หมด ทั้งเชื้อเพลิง ผักปลาอาหาร ความเป็นอยู่ เหล่านี้คือความมหัศจรรย์มากสำหรับเรา"

“เมื่อเราได้ไปอยู่กับเขา ไปกินกับเขา ไปอยู่ข้างเตาไฟเขา จึงรู้ว่าชาวปกากะญอและหมู่บ้านที่เราไปถึงนั้นยังไม่เคยมีรถยนตร์ไปถึงเลยนะ สิ่งเหล่านี้เป็นความมหัศจรรย์สำหรับเราทั้งหมดเลย เราก็คิดว่าจะเล่าเรื่องเหล่านี้ให้คนกระบี่และที่อื่นได้รับรู้ แล้วก็เขียนแบบที่เราเคยฝึกมา แบบที่เราเขียนเรื่องสั้นนั่นแหละ แต่เราใช้มาเล่าเรื่องจริงแล้วก็ส่งไปลงตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์"

“นั่นเป็นครั้งแรก ที่งานสารคดีของเราได้ตีพิมพ์ ในปี พ.ศ.2539 จึงนับตรงจุดนั้นแหละ เป็นหลักหมายแรกของการเริ่มต้นการเป็นนักเขียนสารคดี เมื่อมีงานชิ้นแรกตีพิมพ์ในปี 2539 เป็นเรื่องเล่าชีวิตปกากะญอในขุนเขาว่ายังมีหมู่บ้านแบบนี้อยู่ในเมืองไทยนะ หมู่บ้านที่ไม่พึ่งอะไรจากข้างนอกเลย”

วีระศักดิ์ยังเล่าถึงที่มาของการลงพื้นที่ในครานั้นด้วยว่า
จริงๆ แล้วยังไม่ใช่การออกค่ายฯ เสียทีเดียว แต่เป็นการลงพื้นที่เพื่อสำรวจ เรียนรู้ศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้านก่อนการทำค่ายฯ จริง
แนวคิดคือ ก่อนที่จะไปออกค่ายในเดือนธันวาคมของปีนั้น นักศึกษาจะไปทำความรู้จักพื้นที่จริงก่อน เพื่อเป็นการปูพื้น เรียกว่าเป็นการ ‘ให้การศึกษากับคนที่จะไปออกค่ายฯ’ เพราะไม่เช่นนั้น หากไปถึงในวันที่ทำค่ายฯ จริง อาจจะช็อค จากสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยและแตกต่างกันอย่างมาก

ถามว่า เมื่องานเขียนชิ้นแรกได้ตีพิมพ์ลงเนชั่นสุดสัปดาห์ รู้สึกอย่างไร

วีระศักดิ์ตอบว่า “ความรู้สึกนี่เรียกว่าดีใจกว่าสอบเอ็นทรานซ์ (Entrance) ได้นะ เพระว่าก่อนหน้านั้น ก่อนที่จะเรียนรามฯ เราเอ็นทรานซ์ได้ ที่ มอ.(มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) แล้วก็ที่มหาวิทยาลัยทักษิณด้วย แต่ตอนนั้น ยังชื่อ มศว. อยู่ ( หมายเหตุ
: วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรม ในทบวงมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 2539 )
ทั้งสองแห่งอยู่ที่ภาคใต้ แต่ด้วยความที่อยากเขียนหนังสือ เราจึงคิดว่าเราต้องมาหาเพื่อน จึงมาเรียนรามฯ และเข้าชมรมวรรณศิลป์ราม
ซึ่งก่อนนั้นรู้ว่ามี พี่วัฒน์ วรรลยางกูร, ศิลา โคมฉาย, วิสา คัญทัพ ก็อยู่กลุ่มนี้แหละ ยงค์ ยโสธร ด้วย มีหลายคนเลย แต่เมื่อเรามาถึง เราได้รู้ความจริงว่า พี่ๆ เหล่านั้น เค้าอยู่กันตั้งแต่ยุคเดือนตุลา (หมายเหตุ : หมายถึงเหตุการณ์ทางการเมืองช่วง 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519) แล้วขาดช่วงไป คือช่วงเข้าป่า หมายความว่าชมรมวรรณศิลป์ยุคนั้น กับวรรณศิลป์ยุคใหม่มันไม่ได้มีความต่อเนื่อง แต่ว่าก็ไม่เป็นไร เราก็ได้เจอเพื่อนหลากหลาย”

“กระทั่งเมื่องานได้ลงตีพิมพ์แล้ว เราก็เริ่มคิดว่าเราจะอยู่ด้วยการเขียนงานนี้ได้ไหม ก็พยายาม โดยช่วงนั้นก็เอาอีกแล้ว เลิกเข้าห้องเรียนอีกแล้ว แต่ยังลงทะเบียนเรียนอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงหลัง เมื่อมีงานเขียนเริ่มตีพิมพ์ เราก็ไปลงพื้นที่จริงจัง ไปหัดเขียนหนังสือจริงจัง เราให้ความสำคัญกับการเรียนในห้องเรียนน้อยลง แต่ยังลงทะเบียนเรียนอยู่ ก็ต้องอ่านหนังสือเพื่อไปสอบ เราเรียนคณะรัฐศาสตร์ พอมีความรู้ความเข้าใจเรื่องพื้นฐานของการเมืองการปกครอง เพราะฉะนั้น เราจึงตอบข้อสอบได้ ก็เลยเรียนจบ"

“โดยหลักๆ เราให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่และศึกษา ในแง่ของนักกิจกรรมและนักเขียน ในแง่หนึ่ง ที่ค่ายอาสาฯ ก็มักพูดกันว่า ‘เราศึกษาสังคม เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม’ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องศึกษาจริงจัง เพื่อที่ว่าหากมีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ไหน เราจะไปร่วม ไปเป็นพวกด้วย แล้วก็ไปศึกษาด้วย ไม่ได้ไปเป็นผู้นำชาวบ้านหรอก (หัวเราะ ) แต่เราไปใช้ชีวิตร่วมกับเขา ต่อสู้ร่วมกับเขาเป็นการศึกษาเพื่อเรียนรู้ชีวิตจริง อะไรประมาณนี้ ซึ่งเนื้อหาจากชีวิตจริงเหล่านี้แหละ ที่เราเอามาเขียนหนังสือด้วย เป็นการศึกษาจากสภาพจริง จากความเป็นจริง จากชีวิตจริง”
วีระศักดิ์ถ่ายทอดความทรงจำในช่วงวัยแห่งการเริ่มต้นบนถนนนักเขียน ก่อนเล่าเพิ่มเติมว่า
เขายังคงแสวงหาความเป็นจริงในแง่มุมแห่งอุดมคติ ยังคิดถึงถ้อยคำที่รุ่นพี่เน้นย้ำว่า ‘เราจะศึกษาสังคม เพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม’

‘วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง’ นักเขียนสารคดีที่มีผลงานมากมายได้รับการยอมรับ
บนหนทางแห่งอุดมคติและความเป็นจริง

ด้วยเหตุนั้น วีระศักดิ์จึงทุ่มเทให้กับการลงพื้นที่ แล้วแปรวัตถุดิบเหล่านั้นให้เป็นงานเขียนแล้วส่งไปตีพิมพ์ตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ
“สมัยนั้น กว่าจะได้ตีพิมพ์ผลงาน ต้องผ่านบรรณาธิการ (บ.ก.) ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีสื่อออนไลน์ ซึ่งบทบาทของ บ.ก. อาจดูเหมือนถูกลดความสำคัญลง เพราะทุกคนมีสำนักพิมพ์ของตัวเองแล้ว นั่นก็คือ สำนักพิมพ์ที่มีชื่อว่า Facebook"

“ในยุคนั้น สิ่งพิมพ์มีหลายฉบับ ทั้งที่เป็นรายวัน, ฉบับเสาร์-อาทิตย์, รายสัปดาห์, รายปักษ์, รายเดือน เราก็ส่งไปตามหนังสือเหล่านี้ โดยได้ค่าเรื่อง เฉลี่ยประมาณเรื่องละ 1,500-2,000 บาท เป็นงานเขียนสารคดีที่มีทั้งเรื่องและรูป ซึ่งเราก็มาคิดว่าหากสนามที่เป็นสิ่งพิมพ์มีสัก 10 แห่ง แล้วได้ค่าต้นฉบับ แห่งละ 1,500 บาท เฉลี่ยเดือนหนึ่งเราต้องมีงานที่ได้ลงตีพิมพ์สักสองชิ้น หากเป็นเช่นนั้น ชีวิตนักศึกษาก็พออยู่ได้ แม้ว่าในช่วงที่เป็นนักศึกษาจริงๆ แล้ว เราจะมีเงินอุดหนุนจากทางบ้านด้วยก็ตาม (หัวเราะ )
“เราเริ่มคิดว่า ถ้าเรียนจบแล้ว เราจะมีรายได้ที่พออยู่ได้ไหมกับการทำงานเขียน ก็ยังเขียนอยู่เรื่อยๆ กระทั่งหลังจากเรียนจบ เราก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้ 1 ปี จึงพบว่ามันไม่พอนะ ในความเป็นจริง”

วีระศักดิ์พบว่า รายได้จากค่าต้นฉบับงานเขียนนั้นไม่แน่นอน แม้จะผลิตงานได้แน่นอนก็ตาม แต่เนื่องด้วยการตีพิมพ์นั้นไม่ได้อยู่ในมือเรา แต่อยู่ในมือบ.ก.
ในที่สุด เขาจึงตัดสินใจทำงานประจำ ในองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO : Non–Governmental Organization ) โดยทำงานด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นงานที่ต้องลงพื้นที่และงานด้านข้อมูล

“เราก็แปรข้อมูลเหล่านั้น แปรวัตถุดิบจากการทำงานมาเป็นงานเขียน เพราะว่า สิ่งนี้มันเป็นชีวิตจิตใจ น่าจะเหมือนคนที่ติดการดื่มกาแฟ ถ้าไม่ดื่มก็อยู่ไม่ได้ (หัวเราะ ) ไม่มีใครบังคับ แต่เรารู้สึกว่าถ้าไม่ได้เขียน ไม่ได้เล่า เราอยู่ไม่ได้”
แม้ว่าจะทำงานประจำในองค์กรพัฒนาเอกชนแล้วก็ตาม วีระศักดิ์ก็ยังคงเขียนงานและส่งต้นฉบับไปยังสิ่งพิมพ์ต่างๆ อยู่เสมอ

เริ่มก้าวสู่โลกของ นิตยสาร ‘สารคดี’


วีระศักดิ์เล่าว่า หากเป็นงานเขียนขนาดยาว ก็ไม่สามารถส่งไปสิ่งพิมพ์รายวันหรือรายสัปดาห์ เนื่องจากสิ่งพิมพ์เหล่านั้นมีจำนวนหน้าไม่พอ ซึ่งในบางประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่ หากย่อใจความให้สั้นลง เรื่องนั้นก็ย่อมเสียของ

“เราก็ต้องเขียนให้มันเต็มแม็กซ์ เมื่อเขียนเต็มแม็กซ์ไป 10 หน้า 20 หน้า เราก็ต้องมองหาสนามใหญ่ๆ ซึ่งในเวลานั้นเรานึกถึงและมองเห็นนิตยสาร ‘สารคดี’ ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือน เพราะเราเห็นจากที่เขาตีพิมพ์แต่ละเรื่องไม่ต่ำกว่า 10-20 หน้า เราจึงส่งต้นฉบับไปแล้วก็ได้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2545"

“ดังนั้น จากจุดเริ่มต้นที่มีงานตีพิมพ์ในปี 2539 กระทั่งได้ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ก็เรียกว่าดีใจยกกำลังสอง เพราะว่านิตยสารสารคดีเป็นสนามใหญ่มาก ในงานสายสารคดี เป็นสนามที่เราดีใจ และค่าเรื่องในตอนนั้น ได้ประมาณเฉียดๆ หมื่นบาท เพราะเป็นเรื่องใหญ่พร้อมภาพถ่ายและการจะได้ลงสารคดีก็ยาก เมื่อต้นฉบับผ่านแล้วเขาก็จ่ายสมราคา"

“อีกเหตุผลที่เราดีใจมากก็เนื่องจากนิตยสารสารคดีเป็นสนามใหญ่ เราก็คิดไว้เลยว่าถ้ามีโอกาสก็จะเขียนงานชิ้นใหญ่ๆ ส่งไปอีก ซึ่งในเวลานั้น ในแง่ของการเผยแพร่งานที่เป็นตัวหนังสือ ไม่มีสื่อออนไลน์ สนามสิ่งพิมพ์จึงสำคัญมาก สิ่งพิมพ์มีอิทธิพลสูงมาก”

อดถามไม่ได้ว่า งานเขียนที่คุณส่งไปนิตยสารสารคดีครั้งแรก แล้วได้ตีพิมพ์นั้น เป็นเรื่องอะไร
วีระศักดิ์ตอบว่า “เรื่องแรกที่เขียนลงในสารคดีเป็นเรื่องของการรณรงค์ให้เก็บกู้ระเบิดตามแนวชายแดน เนื่องจากเป็นประเด็นขององค์กรที่เราทำงานด้วยในตอนนั้น เขาทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน แล้วก็มองว่ากับระเบิดที่มันฝังอยู่ตั้งแต่สมัยสงครามนั้นมันละเมิดชาวบ้านในทุกวันนี้ ดังนั้น เขาจึงเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเก็บกู้ตามอนุสัญญาออตตาวา”
( จุดมุ่งหมายของอนุสัญญาออตตาวา คือการรณรงค์เรียกร้องให้ทั่วโลกห้ามใช้ สะสม ผลิต และถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและการทำลายทุ่นระเบิด : ข้อมูลจาก ICRC )

วีระศักดิ์เล่าว่า บริเวณพื้นที่ที่เก็บข้อมูล คือบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสระแก้ว เมื่อสำรวจหมู่บ้านตามแนวชายแดนเหล่านี้ จะเจอผู้พิการและมีผู้ตายในทุกหมู่บ้าน โดยทุกหมู่บ้านมีคนตายจากกับระเบิดและทุกหมู่บ้านต่างก็มีคนแขนขาด ขาขาด ตาบอด อยู่ทุกหมู่บ้าน แต่ว่าคนในเมืองไม่รับรู้ปัญหานี้

องค์กรที่วีระศักดิ์ทำงานอยู่ ขับเคลื่อนประเด็นปัญหาดังกล่าว โดยนำคนเหล่านี้มาปั่นจักรยานเป็นระยะทางยาวไกลเพื่อไปยื่นหนังสือถึงคนในรัฐบาล เพื่อให้รับรู้ว่าพวกเขายังอยู่กับกับระเบิดทุกเมื่อเชื่อวัน ช่วยพวกเขาด้วย เรื่องที่วีระศักดิ์เขียนไปลงนิตยสารสารคดีเป็นครั้งแรก ก็คือเรื่องราวเหล่านี้เอง

ในฐานะนักเขียนที่ใหม่มากในตอนนั้น เขายอมรับว่ามีความพองฟูในใจ มีกำลังใจในการทำงาน จึงตั้งใจทำสารคดีเรื่องต่อไปอีก โดยมีประเด็นที่สนใจคือ จังหวัดกระบี่เป็นสนามปีนเขาที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง เป็นสนามสำคัญทั้งของไทยและของโลก ซึ่งวีระศักดิ์มีเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนมัธยมด้วยกัน เป็นไกด์ปีนเขาอยู่ที่กระบี่ วีระศักดิ์จึงไปหาเพื่อนคนนี้เพื่อสัมภาษณ์ และให้เพื่อนพาไปรู้จักกับโลกแห่งการปีนเขา เมื่อเขียนสารคดีเรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์จึงส่งกลับมานิตสารสารคดีอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ได้ตีพิมพ์อีกเป็นครั้งที่สอง

“พอดีว่าในช่วงนั้น กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี เขาขาดคน ผู้ช่วยกองบรรณาธิการคือพี่ประวิทย์ สุวณิชย์ ก็ชวนให้มาสมัคร ตอนนั้นรู้สึกมั่นใจ ประมาณ 50-50 % เพราะเป็นการชวนให้สมัคร ยังไม่ได้รับเลย ยังต้องผ่านการสัมภาษณ์เช่นเดียวกับผู้สมัครคนอื่นๆ ต่อเมื่อสมัครและสัมภาษณ์ผ่าน ก็ได้ร่วมงานกับสารคดีนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมาครับ ปัจจุบันก็ 21 ปีแล้ว” วีระศักดิ์ระบุ

ถามว่า เมื่อได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานสารคดี ความประทับใจในครั้งนั้นเป็นความรู้สึกแบบใด
วีระศักดิ์เล่าอย่างเห็นภาพว่า “เดินแทบจะลอยเลยนะ ( หัวเราะ ) ตอนเดินเข้าประตูมา มันเป็นอาการที่ว่า เราใฝ่ฝันถึงอะไรแล้วเราไปถึง เราได้เป็นแบบนั้น หมายปองอะไรไว้แล้วไปถึง เป็นความปลาบปลื้ม นั่นเป็นความรู้สึกส่วนตัวในเวลานั้น”
เมื่อได้มาทำงานที่นิตยสารสารคดี วีระศักดิ์ได้นั่งใกล้กับ 'วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์' (อดีตบรรณาธิการ และบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ) ซึ่งวีระศักดิ์เรียกว่า ‘พี่จอบ’

“พี่จอบไม่ได้สอนตรงๆ แต่สอนผ่านบทบาทบรรณาธิการเมื่อตรวจงานต้นฉบับ เราคิดเอานะ ไม่ได้ถามเขาตรงๆ แต่เข้าใจว่าเขาคงคิดว่าเรามีพื้นฐาน จึงไม่ได้แก้อะไรมาก แค่บอกว่า ‘ตรงนี้ จะดีขึ้นถ้าปรับแบบนี้’ , ‘ตรงนี้ ไม่ควร เพราะจะทำให้คนอ่านไม่ชอบ’ ซึ่งพี่จอบจะสอนแบบนี้ สอนจากการตรวจงาน ซึ่งก็นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้เราเขียนสารคดีเป็นจริงๆ จากที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงการหัดเอง หัดจากตัวอย่าง ไม่มีใครบอกว่าผิดหรือถูก”


เรียนรู้ ‘ประเด็น’ แห่งการเขียน

อีกสิ่งหนึ่งที่วีระศักดิ์ได้เรียนรู้จากการทำงานที่นิตยสารสารคดี ก็คือ การเสนอ‘ประเด็น’ ว่าเรื่องใดน่าสนใจ เพราะเหตุใด

“สิ่งแรกที่ได้เรียนรู้จากการคิดประเด็น คือ เมื่อ 20 ปีที่แล้วเราเป็นคนหนุ่มแน่น ไฟแรง และมาจากการเป็นนักกิจกรรมสังคม เป็นนักเขียนที่คลุกคลีอยู่ในวงการนักเขียน มีเพื่อนและพี่ๆ ที่มีชื่อเสียงแล้ว เพราะฉะนั้น ลักษณะตัวพอง หรือการมีอัตตาก็ส่วนหนึ่ง"

“ซึ่งสิ่งหนึ่งที่พี่จอบสอนตรงๆ ก็คือ ‘วี อย่าคิดว่าตัวเองเก่งคนเดียวสิ’ (หัวเราะ ) เป็นการพูดแบบพี่กับน้องพูดกันจริงๆ ไม่ได้ดุอะไรเลยนะ พี่จอบพูดด้วยน้ำเสียงเย็นๆ ไม่ดุด่า ไม่กดข่ม แต่นั่นหมายความว่า เมื่อเราคิดว่าเรื่องนี้มันน่าทำ
‘เพื่อผู้คน เพื่อสังคม เราต้องทำ’ แนวๆ เพื่อชีวิตน่ะนะ ถ้าพี่จอบ หรือ กองบ.ก. ไม่เอา เราก็จะว่าเขาว่า ‘ไม่ก้าวหน้า’ บ้าง ‘มองไม่เห็นความสำคัญ’ บ้าง

“ทั้งที่จริงๆ แล้ว เขาก็สอนเราว่าแต่ละประเด็นมันมีหลายด้าน หลายมิติ โลกของสารคดีไม่ได้มีแค่มุมนั้น มันยังมีมุมอื่นๆ และที่สำคัญคือเราต้องป้อนในสิ่งที่คิดว่าคนอ่านอยากอ่าน และเราต้องมองว่าเป็นประโยชน์กับเขาด้วย
น้ำหนักของข้อมูลจึงไม่ใช่แค่ว่าอยู่ที่เราอยากทำ แต่ต้องเป็นประโยชน์กับผู้อ่านด้วย คนอ่านต้องพร้อมที่จะรับ เขาต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงจากการอ่านเรื่องของเรา ถ้าเขาเห็นเรื่องแล้วเขาไม่อ่านตั้งแต่ต้น มันก็ไม่เกิดประโยชน์ พี่จอบว่าไว้ประมาณนี้ นี่จึงเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้และเป็นสิ่งใหม่ คือประเด็นที่เสนอมานอกจากลึกแล้ว ต้องกลมและรอบด้าน”

วีระศักดิ์เล่าว่า ยังมีสิ่งที่สำคัญต่อตัวเขาเองและอาจจะสำคัญกับนักเขียนรุ่นใหม่ด้วย นั่นก็คือในช่วงที่เขาเริ่มหัดเขียน งานที่เขาศึกษาและยึดเป็นตัวอย่าง เช่น งานของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลนั้น เป็นงานที่ออกมาจากผู้เขียนเป็นหลัก ซึ่งนั่นเป็น ‘ทาง’ หรือ ‘สไตล์’ ของเสกสรรค์ที่มีความลุ่มลึก และใช้จุดแข็งนี้เล่าผ่านมุมมองของผู้เขียนเองเป็นหลัก งานที่วีระศักดิ์ศึกษามามักเป็นไปในแนวทางนี้ ซึ่งเขาก็ทำตามในสไตล์นั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วตนเองก็เป็นนักเขียนใหม่ที่ไม่ได้มีความลุ่มลึกอะไรมากมาย แต่กลับเลือกวิธีการดังกล่าวในการเล่าเรื่อง คือการเล่าจาก ‘ฉัน’ เป็นหลัก

“เราก็เดินมาตามทางนั้น ประกอบกับเป็นนักเขียนใหม่ด้วย การที่อยากจะอวดตัวก็มี เพราะฉะนั้น เราก็จะเล่าจากตัวเองเป็นหลัก ต่อเมื่อเข้ามาอยู่ที่สารคดี พี่จอบก็สอนในเรื่องที่ว่า สารคดีที่แข็งแรงนั้น มันเล่าจากตัวเองส่วนหนึ่งเท่านั้น มันยังมีอีกสองส่วน นั่นคือส่วนที่คุณไปค้นคว้ามา ส่วนที่คุณไปฟังจากผู้รู้มา เพราะฉะนั้น ที่คุณทำมา มันเป็นเพียง 1 ใน 3

“งานสารคดีที่กลมจริงๆ ต้องมีส่วนที่คุณไปศึกษาจากที่คุณไม่รู้ คือไปค้นคว้า แล้วก็เป็นส่วนที่คุณไปฟังคนที่เขารู้จริง ตอนนั้น ทำให้เราประเมินว่า มันทำให้งานของตัวเองกลมขึ้นกว่าเดิม ต่างจากที่เราเคยเล่าในมุมมองของผู้เขียนเป็นหลัก”


21 ปีแห่งการสร้างสรรค์ผลงานเขียนที่นิตยสาร 'สารคดี'

ถามว่าจากวันนั้น ถึงวันนี้ คุณเขียนสารคดีให้นิตยสารแห่งนี้มาแล้วกี่เรื่อง
วีระศักดิ์ตอบว่า ช่วงครบรอบ 40 ปี สารคดีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นับผลงานของตนเองได้ 111 เรื่อง

และนับแต่ทำงานเขียนสารคดีมา 21 ปี ประทับใจสารคดีเรื่องไหนมากที่สุด

วีระศักดิ์ตอบว่า “มีหลายเรื่อง ถ้าพูดถึงความประทับใจในตัวเรื่อง ก็หมุนๆ ไป คือมีเรื่องใหม่ มาทำลายสถิติเรื่องเก่าไปเรื่อยๆ
แต่เรื่องหนึ่งที่เป็นความประทับใจ คือนอกจากให้สาระประโยชน์เพื่อคนอ่านแล้ว คนเขียนก็ได้รับประโยชน์ด้วย นั่นคือเรื่องของการทำงานเก็บข้อมูลเขียนสารคดีชีวิต ‘พระไพศาล วิสาโล’

“เราก็เขียนเรื่องพระมาหลายเรื่อง แต่ส่วนใหญ่เขียนเรื่องพระที่ดับขันธ์ไปแล้ว แต่พระไพศาลเป็นพระที่ท่านยังอยู่ และช่วงที่เก็บข้อมูลก็ได้ไปอยู่กับท่านด้วย ได้ไปปฏิบัติธรรม ได้เดินตามหลังท่านเวลาท่านบิณฑบาต ไปอยู่ที่วัดกับท่านด้วย ในช่วงเก็บข้อมูล ทำให้เราซึ่งเป็นผู้เขียนก็ได้รับประโยชน์กับตัวเองไปด้วย นอกจากที่ตั้งใจจะเก็บเรื่องมาเล่าเพื่อคนอ่าน
ในช่วงที่เก็บข้อมูล จึงเหมือนเราได้บวชไปด้วย บวชโดยที่ไม่ต้องห่มจีวร”

“หัวใจคำสอนของท่าน ท่านสอนเรื่องความรู้สึกตัว การไม่เป็นอะไรกับอะไร เป็นสายของวัดป่าสุคะโต เป็นสายของหลวงพ่อเทียน (หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ) คือ ความรู้สึกตัวและไม่เข้าไปเป็นอะไรกับอะไร เพราะฉะนั้น เวลาที่เรานั่งเขียน นั่งปั่นต้นฉบับ ปกติเราจะร้อนจี๋มากเลยนะ (หัวเราะ ) แต่เรื่องนี้ เราได้นำหัวใจคำสอนท่านมาใช้ในการทำงานด้วย คือจะรีบไปทำไม มันไม่มีอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัวในเวลานี้ เดี๋ยวนี้หรอก จึงรู้สึกว่าเป็นชิ้นที่เขียนด้วยความเย็นจริงๆ”


ส่องสะท้อน เปลี่ยนแปลงสังคม

นอกจากสารคดีชีวิตพระไพศาลแล้ว วีระศักดิ์เล่าว่ายังมีอีกเรื่องที่ภูมิใจอย่างมาก เป็นเรื่องของแม่น้ำสงครามที่จังหวัดสกลนครกับนครพนม เขาเขียนเรื่องนี้ด้วยแง่มุมที่ว่า เป็นแม่น้ำสายเดียวในเมืองไทยที่ยังไม่มีเขื่อนและมีระบบนิเวศที่แปลก มหัศจรรย์กว่าที่อื่น นี่คือข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับมา

เมื่อลงพื้นที่จริงเพื่อเก็บข้อมูลเขียนสารคดี จึงพบว่า หากไปในเวลาปกติ บริเวณนั้นจะเป็นระบบนิเวศที่คนอิสานเรียกว่า ‘ป่าบุ่ง ป่าทาม’ (พื้นที่ที่เป็นกระทะมีน้ำขังเกือบตลอดปี เรียกว่าบุ่ง ส่วนพื้นที่ดอนที่มีน้ำขังเฉพาะในฤดูน้ำหลาก มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นปกคลุม เรียกว่าทาม ‘ป่าบุงป่าทาม’ ชื่อทางการคือ ป่าบึงน้ำจืด (Freshwater Swamp Forest) เป็นระบบนิเวศที่หาได้ยากในปัจจุบัน : ข้อมูลจาก www.seub.or.th )

ระบบนิเวศดังกล่าวนี้ อยู่ในทุ่งราบริมแม่น้ำที่จะพบเห็นชาวบ้านตกปลา หาหน่อไม้ เก็บผักตามวิถีชีวิตปกติ กระทั่งเมื่อกลับไปอีกครั้งในหน้าน้ำหลาก คือช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม ปรากฏว่าบริเวณโคนต้นไม้ที่วีระศักดิ์เคยเดินกับชาวบ้านนั้น มีน้ำท่วมขึ้นไปถึงยอดไม้ น้ำลึกประมาณ 20-30 เมตร

“ชาวบ้านก็พายเรือ พาเราล่องไปตามคุ้งน้ำ แล้วเขาก็สอยงู สอยหนูมากินกันตามวิถีชาวบ้านเขา ถ้าเป็นหน้าแล้งเขาก็จับตามพื้น แต่ถ้าหน้าน้ำ เขาก็ไปสอยตามพุ่มไม้ที่มันหนีไปอยู่กันตามเกาะต่างๆ กลางน้ำ"

“แม่น้ำสงครามจากเวลาปกติ กว้าง 50-60 เมตร แต่ในหน้าน้ำ มันขยายจนเขาบอกว่ากลายเป็นบึงน้ำขนาด 5 แสนไร่ เว้าโค้งเข้าไปตามซอกห้วยต่างๆ ด้วย
แล้วมันก็เป็นบึงอยู่อย่างนั้น ตลอดช่วง 2-3 เดือนของหน้าน้ำหลาก ซึ่งบางคนบอกว่าที่นี่เหมือนระบบนิเวศของแม่น้ำแอมะซอน ( Amazon River ) คนที่เขามีความรู้เขาบอกอย่างนั้น แต่เมื่อเราได้ไปเห็นด้วยตัวเองแล้ว ต้องยอมรับว่ามัน amazing จริงๆ เราไม่ต้องไปถึงแอมะซอน เราก็ได้เห็น เรื่องราวของสารคดีนี้เล่าถึงวิถีชีวิตที่นั่น ว่าคนอยู่กันแบบสะเทินน้ำสะเทินบก”

วีระศักดิ์ยังบอกเล่าถึงอีกเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาเขียนสารคดีเรื่องนี้ด้วยว่า เขาได้ข้อมูลมาว่ามีโครงการที่จะทำการพัฒนาบางอย่างที่แม่น้ำสงคราม เช่น สร้างเขื่อน หรือสร้างสิ่งที่ต้องใช้คอนกรีต เช่น อาจปิดเขื่อน ทำแนวตลิ่ง ทำประตูน้ำ จากการวิเคราะห์ของทีมวิจัยแม่น้ำสงครามซึ่งเป็นอีกแหล่งข้อมูลของวีระศักดิ์ มีการประเมินว่าความพยายามดังกล่าวเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่ทำงานรับเหมาก่อสร้าง

ต่างจากชาวบ้านที่วิถีชีวิตผูกพันอยู่กับระบบนิเวศของแม่น้ำสงคราม ล้วนเข้าใจธรรมชาติและไม่มีใครอยากให้เกิดการก่อสร้างที่ทำลายระบบนิเวศ

“มีการศึกษาวิจัยว่าแม่น้ำสงครามที่มีอยู่แล้วนั้นดียังไง และงานวิจัยนี้เองเป็นความบันดาลใจแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องนี้น่าทำเป็นสารคดี"

“เมื่อเกิดหัวข้อขึ้น ด้วยความเป็นนักเขียนสารคดีก็สืบเสาะไปเรื่อยว่าเราควรไปคุยกับใคร ก็พบว่ามีเด็กหนุ่มในหมู่บ้านที่เป็นทีมวิจัยนี้ เราจึงไปหาเด็กหนุ่มคนนี้เพื่อสอบถามถึงเรื่องที่เขาวิจัย แล้วเด็กหนุ่มก็พาไปเจอปราชญ์คนสำคัญของชุมชน เราก็แกะรอยไปแบบนี้” วีระศักดิ์ย้อนความทรงจำ

ค่ายสารคดี

บรรยายแก่นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ค่ายสารคดี
บ่มเพาะคนรุ่นใหม่

เมื่อถามถึงบทบาทหน้าที่ในปัจจุบัน
วีระศักดิ์กล่าวว่า ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเขาคือ ‘ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร นิตยสารสารคดี’ โดยบทบาทหน้าที่นั้นก็เป็นเหมือนหัวหน้ากองบรรณาธิการ เป็นนักเขียนที่อาวุโสที่สุดในกองฯ จึงเหมือนหัวหน้าของทีมนักเขียนไปโดยปริยายและหน้าที่ที่ยังมีเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยนคือเป็นนักเขียนผลิตต้นฉบับ

นอกจากนี้ ยังมีส่วนในการสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ ผ่านบทบาทของการทำค่ายสารคดีด้วย
วีระศักดิ์เล่าว่านิตยสารสารคดี สร้างค่ายนักเขียนฯ ขึ้นมา รวม 18 รุ่นแล้ว
ทั้งอธิบายให้เห็นภาพว่า ในช่วงรุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 10 ค่ายนักเขียนสารคดีได้รับความนิยมอย่างมากและราวรุ่นที่ 12 ได้รับความนิยมสูงที่สุด ซึ่งห้วงเวลานั้น ก็ผ่านมานับสิบปีแล้ว

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ค่ายนักเขียนฯ ในช่วงนั้นได้รับความนิยม วีระศักดิ์มองว่าเนื่องจากเป็นยุคที่กระแสสิ่งพิมพ์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เคียงคู่กับการเติบโตของสื่อออนไลน์ จึงทำให้คนหนุ่มสาวในช่วงรอยต่อของยุคสื่อออนไลน์กับสื่อสิ่งพิมพ์ มีความสนใจในค่ายนักเขียนฯ และค่ายฯ ก็ได้รับการบอกต่อ

ในช่วงที่มีคนสนใจมากที่สุดนั้น มีการสมัครเข้ามาถึง 500 คน แต่รับได้เพียง 50 คนต่อรุ่นเท่านั้น ซึ่งหากใครสมัครไม่ผ่านค่ายฯ ครั้งนี้ เขาก็สมัครมาค่ายฯ ครั้งหน้า จนกว่าเขาจะมีอายุครบ 25 ปี เนื่องจากมีการรับสมัครช่วงอายุ 17-25 ปีเท่านั้น

กระทั่ง ยุคแห่งความเฟื่องฟูของสื่อออนไลน์มาถึง ยุคของกระดาษแผ่วลง Platform ต่างๆ จึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่กระดาษอีกต่อไปแล้ว แต่ถูกเล่าโดยภาพเคลื่อนไหวและถูกเล่าโดยตัวเจ้าของภาพเคลื่อนไหวนั้นเอง ในแบบที่เรียกว่า Influencer

“เมื่อก่อน ค่ายนักเขียนสารคดีสอนเพื่อการตีพิมพ์บนสื่อกระดาษ สอน TEXT แต่เมื่อกระแสสังคมเปลี่ยนไป ก็ขยายไปสู่ภาพถ่าย ขยายไปสู่ Influencer”

บรรยายที่มหาวิทยาลัยมหิดล

ให้คำปรึกษาเรื่องการเขียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

เวิร์คช็อปงานสารคดีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

ล้อมวงคุยเรื่อง หมอลำ-รถแห่ นิตยสารสารคดี ฉบับเมษายน 2567
“ช่วงสิบปีหลังมานี้ คำว่า ‘นักเขียน’ หายไปจากปากคนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ บางทีก็เรียกว่าคนทำคอนเทนต์, Content Creator, Influencer คำเหล่านี้จะเป็นคำที่ติดปากเขามากกว่า”

วีระศักดิ์สะท้อนว่า ทุกครั้งที่รับสมัครค่ายนักเขียนสารคดี เมื่อถามผู้สมัครแต่ละรุ่น แต่ละคนว่าทำไมถึงอยากมาค่ายฯ นี้ ในช่วงแห่งความรุ่งเรืองของสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้สมัครเกือบ 100% ตอบว่าฝันอยากเป็นนักเขียน จึงมาสมัคร

“ในช่วงหลังมานี้ เมื่อมีคำแปลกๆ เกิดขึ้น พวกเราที่เป็นผู้สัมภาษณ์ ก็ต้องเป็นฝ่ายถามเขาว่า Content Creator คืออะไร เขาก็บอกว่าเขาต้องทำเองคนเดียวทุกอย่างทั้งเขียนเรื่อง ถ่ายภาพ อัดวิดีโอด้วย คำตอบของคนรุ่นใหม่ที่สมัครมาค่ายฯ ในช่วงหลังๆ จึงอยากเป็น Influencer มากขึ้น มีความเป็น Superstar ได้ยืนเล่าหน้ากล้อง มีความเป็นผู้ประกาศข่าว แต่ Content Creator เขามองว่าอาจจะยังอยู่หลังกล้อง”

“แต่ถึงแม้ว่า ย้อนไปครั้งที่ผ่านมา คำว่า ‘นักเขียน’ ไม่อยู่ในปากคนรุ่นใหม่แล้วก็ตาม แต่ค่ายฯ ก็ยังสอนอยู่ เพราะเราเห็นว่าพื้นฐานของการเล่าเรื่อง การสร้าง Content นั่นแหละที่ยังสำคัญและจำเป็น ไม่ว่าคุณจะเล่าด้วยอะไรก็ตาม แต่โครงสร้างของการเล่าเรื่องก็ยังมี ‘ไวยากรณ์’ อยู่”

“เปรียบเสมือนว่า ครูขายวัตถุโบราณที่ล้ำค่าสักหน่อย ขายความคลาสสิค ซึ่งความคลาสสิคนั้นยังไม่ตาย เพราะก็ขายกันมาตั้งแต่ยุคอีสป (Aesop) มาถึงยุคนี้ เพียงแต่ว่าต้องเรียนรู้เรื่องการใช้เครื่องมือที่ครูอาจไม่ชำนาญ แต่ที่ครูมีให้ คือ ‘การส่งต่ออารยธรรม’ เพราะทักษะนี้ยังจำเป็น แต่สำหรับเครื่องมือที่มันมาเร็วไปเร็ว เราก็ต้องมาขบคิดด้วยกันทั้งคนเรียนคนสอน และหากถามว่าค่ายนักเขียนฯ รุ่นที่ 19 จะมีไหม ตอบว่ามีแน่นอน แต่จะมีตลอดไปหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย”


ความหมายของ ‘สารคดีที่ดี’

บทสนทนาดำเนินมาถึงปลายทาง ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่อยากรู้ 
คุณคิดว่า ‘สารคดีที่ดี’ ต้องเป็นอย่างไร

วีระศักดิ์ตอบว่า “งานที่ดี ประการแรกสุด โดยตัวงานเองต้องกลม ต้องรอบด้าน
แต่ถ้าเป็นงานเขียนที่ได้รางวัลหรือติดดาว ควรมีความ ‘ใหม่’ ที่คนอ่านรู้สึกว่าเขาไม่เคยรู้มาก่อน หรือเมื่อเขาอ่านแล้ว เขาได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น"

“แต่ถ้าเป้าหมายใหญ่ที่สุดคือ ต้องเป็นงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างความสั่นสะเทือนอะไรบางอย่าง ซึ่งงานแบบนี้อาจไม่ได้มีบ่อยๆ อาจจะนานๆ จึงมีสักเรื่อง เช่น บางเรื่องที่เขียนออกมาแล้ว ทำให้เกิดการต้านเขื่อน ยุติการสร้างเขื่อน งานชิ้นนี้ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนคือเขื่อนไม่เกิดขึ้น นี่คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ และมากไปกว่านั้น คือสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ใครสักคนก็ได้"

บรรยากาศบนโต๊ะทำงานที่บ้านสวน จังหวัดกระบี่
“จึงเป็นงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าในภาพเล็กหรือในภาพใหญ่ หากทำแบบนั้นได้ก็นับเป็นงานที่ดีแล้ว”
คือคำตอบของนักเดินทางผ่านตัวอักษร ผู้จารึกเรื่องราวความจริงในหลากหลายประเด็นอันเข้มข้น ทั้งเฝ้ามองสังคมที่เคลื่อนผ่าน ด้วยสายตาแห่งอุดมคติอยู่เรื่อยมา…

………………..
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง, ประเวช ตันตราภิรมย์, สัจจะ รัมมะทรง, เบญจมาศ พันพู, ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์