xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึกเตะตัดขา “ฟ้าทะลายโจร” อุ้ม “ฟาวิพิราเวียร์” ได้ไปต่อ ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เบื้องหลังน่าเคลือบแคลง กรมการแพทย์ตัด “ฟ้าทะลายโจร” ออกจากแนวเวชปฏิบัติรักษาโควิด แต่ยังให้ใช้ “ฟาวิพิราเวียร์” ต่อ ทั้งที่ผลทดลองฟ้าทะลายโจรให้ผลดีกว่า และช่วยให้คนไทยจำนวนมากรอดตายในช่วงระบาดใหญ่มาแล้ว แถมต้นทุนถูกกว่า แค่ 180 บาทต่อคน เทียบกับฟาวิฯ 4,800 บาทต่อคน ทั้งที่ลดเชื้อโควิดไม่ได้ จนต่างประเทศเลิกใช้ไปแล้ว



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีกรมการแพทย์ประกาศแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ตัดฟ้าทะลายโจรออกจากการรักษาโควิด-19 ทั้งที่เคยระบุให้ใช้ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่วนยา“ฟาวิพิราเวียร์” ที่นำเข้าจากต่างประเทศ แม้การทดลองพิสูจน์ว่าใช้ไม่ได้ผลกลับยังให้ใช้ต่อไป


ทั้งนี้ ฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรไทยที่ผ่านการวิจัยในหลอดทดลอง ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อ Journal of Natural Productsเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยของกลุ่มนักวิจัยของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า

1.สามารถต้านไวรัสที่เป็นโรคระบาดในเวลานั้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างชัดเจนมาก

2.ทำให้รู้ว่าฟ้าทะลายโจรมีกลไกลในการยับยั้งเยื้อหลายกลไกที่ทำให้ไวรัสทำงานไม่ได้ ยับยั้งทำให้ไวรัสขยายตัวไม่ได้

3.ทำให้รู้ว่าฟ้าทะลายโจรมีความปลอดภัยต่อเซลล์ของมนุษย์ทั้ง เซลล์ปอด เซลล์ตับ เซลล์สมอง เซลล์หัวใจ เซลล์ไต เซลล์ลำไส้


ต่อมา ดร.สุภาภรณ์ ภูมิอมร จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้รายงานผลการวิจัยเพิ่มเติมด้วยว่า “สมุนไพรเต็มส่วนของฟ้าทะลายโจร” มีประสิทธิภาพมากกว่า “สารสกัดเดี่ยวจากฟ้าทะลายโจร” ที่ชื่อแอนโดรกราโฟไลต์ถึง 15 เท่าตัว

นี่เป็นเรื่องเหมือนฟ้าประทานยาวิเศษมาให้ เพราะนอกจากจะมีกลไกการทำงานชัดเจนในหลอดทดลอง ว่าต้านไวรัสที่กำลังระบาดได้ ปลอดภัยสูง แถมยังไม่ต้องเข้าโรงงานเพื่อสกัดสารแอนโดรกราโฟลต์ด้วย ทำให้เป็นยาที่มีต้นทุนถูกเข้าไปอีก

ดร.สุภาภรณ์ ภูมิอมร
และโชคดีไปกว่านั้นคือฟ้าทะลายโจร เป็นที่คุ้นเคยกับคนไทยมาอย่างยาวนานนับร้อยๆปี ในการใช้การลดไข้ แก้หวัด บำรุงน้ำดี ฯลฯ

ฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้ผลในหลอดทดลอง

ในขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ได้มีการทดสอบในหลอดทดลอง ตีพิมพ์ในวารสารยาต้านจุลชีพและเคโมบำบัด หรือ Antimicrobial Agents and Chemotherapy เผยแพร่เมื่อ วันที่ 17 เมษายน 2564 พบว่า“ยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่สามารถต้านเชื้อไวรัสที่ระบาดในเวลานั้นได้” เมื่อเทียบกับยาอื่นๆ

แปลว่าในความเป็นจริงกลไกในหลอดทดลองฟ้าทะลายโจรเหนือกว่ายาฟาวิพิราเวียร์อย่างแน่นอน และยาฟาวิพิราเวียร์ แพ้ไปตั้งแต่ยกแรกแล้ว คือ ไม่ลดเชื้อ และไม่มีกลไกที่แน่ชัดว่าลดเชื้อที่ระบาดนั้นอย่างไร


ต่อมายาฟ้าทะลายโจร ได้ถูกนำมาทดสอบในผู้ป่วยจริง “ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด” โดยมีการตีพิมพ์รายงานใน วารสารกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ฉบับเดือนมกราคม - เมษายน 2564 ซึ่งวิจัยโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

ซึ่งในช่วงปี 2564 ถือได้ว่า เป็นห้วงเวลาสถานการณ์ของโควิด-19 ที่เลวร้ายที่สุดคือ
เป็นสายพันธุ์เดลต้า มีความรุนแรงสูง ที่มีอัตราปอดอักเสบสูงถึง 14% ขณะที่คนไทยเกือบทั้งหมดยังไม่ได้รับวัคซีน และยังไม่เคยติดเชื้อนี้มาก่อน จึงยังไม่มีภูมิคุ้มกัน

จึงเป็นการต่อสู้ระหว่างฟ้าทะลายโจรกับเชื้อโรคระบาดในเวลานั้นตรงที่สุด ต่างจากการวิจัยในช่วงอื่น

แต่เราโชคดีมากเพราะผลการทดสอบในการเผยแพร่ในการวิจัยในครั้งนั้นในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ พบว่า

- ฟ้าทะลายโจรช่วยลดความเสี่ยงปอดอักเสบ จาก 14.64% เหลือ 0.97%

- แปลว่ายาฟ้าทะลายโจรช่วยลดปอดอักเสบได้สูงถึง 94.3%

- และแปลว่ามันก็ต้องลดการเข้าห้องไอซียู ลดอัตราการตายไปโดยปริยาย


แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดสำหรับวงการสาธารณสุขที่ตกอยู่ในเงื้อมมือของบริษัทยาตะวันตก ก็คือฟ้าทะลายโจรหาง่ายเกินไป และ ราคาถูกเกินไป !

วารสารของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ยังเปรียบเทียบให้เห็นข้อมูลต้นทุนการรักษาต่อ 1 คนว่า

-ยาพาราเซตตามอล ไม่ได้ลดเชื้อ ไม่ได้ลดการอักเสบจึง มีต้นทุนต่อคน 60 บาท

-ในขณะที่ฟ้าทะลายโจรฆ่าเชื้อได้ ลดไข้ได้ ลดการอักเสบได้มีต้นทุนต่อคน 180 บาท

-ขณะที่ฟาวิพิราเวียร์ที่เชื่อกันว่าฆ่าเชื้อได้(หมายถึงเชื้อไวรัสอื่นๆ แต่ไม่ใช่การทดลองไวรัสในหลอดทดลองที่เป็นโรคระบาดในเวลานั้น) แต่ไม่ได้ลดการอักเสบ และไม่ได้ลดไข้มีต้นทุนต่อคนที่ 4,800 บาท


อย่างไรก็ตามคณะกรรมการโควิด-19 โดยกรมการแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดวิธีการรักษาของหมอทั่วประเทศ กลับพยายามขัดขวางการใช้ฟ้าทะลายโจรในทุกหนทาง

โดยในช่วงแรกดูเหมือนไม่มีพื้นที่ของฟ้าทะลายโจร เห็นฟ้าทะลายโจรเป็นยากระจอก แต่ผลการวิจัยกลับพบว่าผู้ใช้ฟ้าทะลายโจรลดปอดอักเสบลง จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่

ในขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ในเวลานั้นถูกเชิดชูว่าเป็นยารักษาหลัก เป็นยาไฮโซ ใช้กับผู้ป่วยอาการหนัก แต่กลับไม่ได้ผล

โดยมีการรักษาไปเรื่อย ๆ เริ่มรู้แล้วว่าฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในผู้ป่วยอาการหนักไม่ได้ผล ก็เลยเริ่มมาแย่งพื้นที่ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ

แต่เวชปฏิบัติกรมการแพทย์จะระบุว่า“ไม่ให้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกันกับยาต้านไวรัสร่วมกัน เพราะอาจมีผลข้างเคียง”

นี่คือจุดเริ่มต้นของ “ยาคู่เทียบ” ไม้เบื่อไม้เมาระหว่าง ฟ้าทะลายโจร กับ ฟาวิพิราเวียร์ ในพื้นที่ผู้ป่วยอาการน้อย หรือไม่มีอาการ ระหว่างฟ้าทะลายโจรต้นทุน 180 บาทต่อคน กับฟาวิพิราเวียร์ 4,800 บาทต่อคน

หรือคำนวณง่าย ๆ ฟาวิฯ แพงกว่าฟ้าทะลายโจร 27 เท่า !

ห้ามไม่อยู่ คนไทยไม่สนใจหมอ รอดเพราะใช้ฟ้าทะลายโจรที่บ้าน

วันที่ 22 เมษายน 2564 หรือเมื่อ 3 ปีกว่าที่แล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าวการทดสอบฟ้าทะลายโจรได้ผลดี และทำพิธีแจกฟ้าทะลายโจรด้วย และโรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็จะปฏิบัติตามคู่มือเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์อยู่ดี ที่ให้โรงพยาบาลจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์แล้วไม่ต้องจ่ายฟ้าทะลายโจร


แถมหมอบางคนรำคาญไปขู่คนไข้มั่ว ๆ ว่าระวังกินฟ้าทะลายโจรแล้วจะทำให้ตับอักเสบและตับพัง ทั้ง ๆ ที่ไม่มีงานวิจัยระบุแบบนั้นเลย ในทางตรงกันข้ามยาพาราเซตตามอล และฟาวิพิราเวียร์ซึ่งกินจำนวนมาก ทำให้ตับอักเสบ หมอกลับไม่บอกประชาชนเลย

ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงฟ้าทะลายโจรจะถูกขัดขวางด้วยการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในโรงพยาบาล แต่ในความเป็นจริง ปรากฏว่ามีประชาชนรอดชีวิตได้เพราะใช้ฟ้าทะลายโจรในระหว่างกักตัวเองอยู่ที่บ้าน และการที่คนไทยดูแลตัวเองที่บ้านได้ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่รอดพ้นจากวิกฤตคนล้นโรงพยาบาลได้เร็วกว่าชาติอื่นๆ


“ผมร่วมกับมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน และพี่น้องประชาชน ได้จ่ายฟ้าทะลายโจรไปทั่วประเทศ จนเกิดปรากฏการณ์ว่า ฟ้าทะลายโจรขาดแคลนทั่วประเทศ แต่โชคดีที่ต้นฟ้าทะลายโจรขึ้นเร็วมาก เพียง 4 เดือนเท่านั้น ฟ้าทะลายโจรเกิดขึ้นทั่วแผ่นดินไทย ไม่มีขาดแคลนอีกเลย กลายเป็นความมั่นคงทางยาที่ทุกครัวเรือนที่ทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ และอยู่กับโรคระบาดได้” นายสนธิ กล่าว

แม้แต่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ยังได้แสงข้ามกระทรวงไปด้วย เพราะให้เรือนจำปลูกและผลิตฟ้าทะลายโจรพึ่งพาตัวเอง


แถมยังให้สัมภาษณ์กับนักข่าวด้วยว่าเรือนจำที่เชียงใหม่ เรือนจำกลางบางขวาง และเรือนจำจังหวัดนนทบุรี ผู้ป่วยในเรือนจำหายป่วยได้ด้วยฟ้าทะลายโจร

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 เป็นวันประวัติศาสตร์ เพราะราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศให้ฟ้าทะลายโจรเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งในรูปแบบผงหยาบ และสารสกัด

และการที่ยาหายไม่ทัน ผู้ป่วยมีมากขึ้น ในยามที่ยาขาดแคลน ก็มีบางโรงพยาบาลเลือกจ่ายฟ้าทะลายโจรให้กับผู้ป่วยด้วย สร้างความรำคาญ และไม่พอใจในกลุ่มผู้เสียประโยชน์ในธุรกิจยาอย่างมาก


ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข่าวเลวร้ายของ “ฟาวิพิราเวียร์” ซ้ำเติมเข้าไปอีก โดยมีคำเตือนจากหนังสือของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ว่าการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในกลุ่มสีเขียว (คือผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย) เพราะอาจทำให้เกิดอาการดื้อยา จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ในกลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย


แต่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขก็ยังไม่ฟัง ยังคงให้มีเวชปฏิบัติจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ต่อไป ทั้งๆ ที่ในหลายประเทศเริ่มไม่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว

ต่อมาเมื่อ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในประเทศไทย รายงานว่ายาฟาวิพิราเวียร์สามารถช่วยลดอาการ ทางคลินิกได้เฉพาะใน 7 วันแรก

แต่ “ไม่มีผลแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องสำคัญยิ่งกว่าอื่นๆ” เช่น อาการใน 14 วัน, อัตราการเสียชีวิต,อัตราความต้องการใช้ออกซิเจน, อัตราการใช้ห้อง ICU,ปริมาณไวรัส และแนะให้ปรับแนวทางเวชปฏิบัติใช้ยาอื่นแทน

เอาจริงๆ แล้วในเรื่องนี้มีความหมายว่า ไม่ได้ลดภาวะเรื่องสำคัญ หรือปอดอักเสบ หรือการใช้ห้องไอซียู รวมถึงการลดอัตราการตายแย่กว่าฟ้าทะลายโจรอีก ถึงขนาดระบุว่า “ให้ใช้ยาอย่างอื่นแทน”

แต่กรมการแพทย์ฯ ก็ยังไม่ฟัง ยังคงให้มีเวชปฏิบัติจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ต่อไป

ใช้งานวิจัยที่ยังไม่สมบูรณ์มาอ้างตัดฟ้าทะลายโจรออก

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า งานวิจัยนั้นขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ในช่วงแรกวิกฤตที่ เชื้อรุนแรง คนไทยยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ฟ้าทะลายโจรก็ได้เป็นสมุนไพรที่ฝ่าวิกฤติได้แล้ว


แต่พอเวลาผ่านไป เมื่อเชื้อรุนแรงน้อยลงตั้งแต่ปี 2565 เป็นโอไมครอนเป็นต้นมา เชื้อเบาบางลงไปมาก ถึงขนาดมีโอกาสเชื้อลงปอดเหลือไม่ถึง 3% เมื่อผนวกกับคนไทยป่วยอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือฉีดวัคซีนมาด้วย ก็มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น

ดังนั้นการวิจัยใน“ผู้ป่วยในกลุ่มเดิมคือมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ”ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรง ในช่วงหลังโอไมครอน การให้ยาอะไรก็ตาม อาจจะแทบไม่แตกต่างกันเลย เพราะคนส่วนใหญ่อาจจะหายเองได้ โดยที่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อด้วยซ้ำไป

โดยเฉพาะหากวิจัยในกลุ่มคนไข้กลุ่มเล็กหลักไม่ถึงพัน อาจจะมีผลไม่แตกต่างกันเลย

ตัวอย่างเช่นมีงานวิจัยที่พิมพ์ใน วารสารกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ฉบับเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ได้เผยแพร่งานวิจัยที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ช่วงหลังโอไมครอน

ได้เผยแพร่งานวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มเปรียบเทียบผลของฟ้าทะลายโจร กับฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษาโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ แบ่งเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 77 คน(ซึ่งเมื่อเชื้อโอไมครอนลงปอดแค่ 3% จึงถือเป็นกลุ่มตัวอย่างที่เล็กเกินไปเพราะอาจไม่พบคนที่ปอดอักเสบเลย)ผลปรากฎกว่าคนที่ได้ฟ้าทะลายโจรแบบเต็มส่วน หรือฟ้าทะลายโจรแบบใบ หรือยาฟาวิพิราเวียร์ไม่แตกต่างกันเลย


แต่ถึงกระนั้นงานวิจัยชิ้นนี้ก็ได้สรุปในช่วงโอไมครอน ว่า“ผงบดสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ทั้งจากส่วนเหนือดินและจากเฉพาะส่วนของใบให้ผลในการรักษาโควิด-19 ไม่แตกต่างจากยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ฟ้าทะลายโจรหาง่ายและมีราคาถูกกว่า งานวิจัยนี้ จึงเสนอแนะในการรักษาโควิด-19 ที่มีอาการน้อยควรเลือกใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยาลำดับแรกเมื่อเทียบกับฟาวิพิราเวียร์”

“จริง ๆ เบื้องลึกเบื้องหลังเรื่องนี้ ผมได้ข่าวมาว่ามี “บริษัทยาต่างชาติแห่งหนึ่ง” ที่หวังจะขาย“ยาฟาวิพิราเวียร์” ได้วิ่งเต้นให้ล้ม“ฟ้าทะลายโจร” โดยนักวิชาการคนนี้อ้างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ยังทำไม่สมบูรณ์ เพราะเสนอทำวิจัยตั้งแต่สายพันธุ์เดลต้า แต่มาเริ่มเก็บวิจัยเป็นโอไมครอนและมีการฉีดวัคซีนไปเยอะแล้ว ทำให้กลุ่มตัวอย่างเล็กเกินไป เช่นกัน

“โดย นักวิจัยคนนี้ที่รับงานมาไปอ้างว่ายาฟ้าทะลายโจร กับผู้ป่วยโรคระบาดไม่แตกต่างกับยาหลอก (ยาปลอม) จึงเสนอต่อคณะกรรมการโควิด เสนอให้อธิบดีกรมการแพทย์ ตัดฟ้าทะลายโจรออกจากคู่มือเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ตั้งแต่ วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นต้นมา ข้อสำคัญคือเวชปฏิบัติตัดฟ้าทะลายโจรออก แต่กลับยังคงให้มียาฟาวิพิราเวียร์ต่อไป

“โชคดีมากการตัดฟ้าทะลายโจรออกจากเวชปฏิบัติครั้งนี้ มีผมและอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ได้ออกมาเปิดประเด็น และทำให้หลายคนแสดงความไม่พอใจต่อกรมการแพทย์ว่าเกิดอะไรขึ้น



“โดยเฉพาะ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ประกาศเวชปฏิบัติให้ตัดฟ้าทะลายโจรออกนั้น คือคนเดียวกันที่สมัยดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ร่วมวิจัยว่าฟ้าทะลายโจรใช้ได้ผลในโรคระบาด และยังเป็นผู้เดินเรื่องให้ฟ้าทะลายโจรขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติให้รักษาโรคระบาดที่ผ่านมาได้ด้วย” นายสนธิ กล่าว

การทำแบบนี้ก็เท่ากับ หมออัมพร เขียนด้วยมือและลบด้วยเท้า ถ่มน้ำลายรดฟ้าลงบนหน้าตัวเองหรือไม่ ?

อีกทั้งยังเกิดขึ้นในสมัย รัฐมนตรีสาธารณสุข ที่ชื่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ปลูกฟ้าทะลายโจรในเรือนจำช่วยนักโทษทั่วประเทศ

ทำแบบนี้คนจะเขาอาจจะตั้งข้อสงสัยเอาได้ว่า หมออัมพร กับ นายสมศักดิ์ เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจยาฟาวิพิราเวียร์ใช่หรือไม่ ?

“ผมเดาเอาว่า หมออัมพร คงจะอ้างว่ามันเป็นมติคณะกรรมการโควิด อธิบดีกรมการแพทย์ก็ต้องทำตามด้วยการประกาศเวชปฏิบัติ

“แต่ ถ้าจะตอบอย่างนี้แสดงว่า หมออัมพร ไม่ใช่มืออาชีพ ไม่รู้จักโต้แย้ง ไม่รู้จักหาความจริง เติบโตขึ้นมาได้ ก็เพราะมีความสนิทสนมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกุล จึงไขว่คว้าทำตามนโยบายรัฐมนตรีทุกคน เพื่อจะได้เป็นปลัดกระทรวงให้ได้ ใช่หรือเปล่า? ... ผมแค่ตั้งคำถาม

“แต่ผมถามว่าคนที่ไม่มีจุดยืน กลับไปกลับมา แบบนี้จะขึ้นเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้วประชาชนคนไทยจะพึ่งพาได้อย่างไร” นายสนธิ กล่าว

แต่ในที่สุดนักวิจัยในงานวิจัยที่ถูกแอบอ้างในการตัดฟ้าทะลายโจรออก ได้มาเปิดเผยความจริงในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 โดย หนึ่งในนักวิจัย ได้ออกมาสรุปว่างานวิจัยดังกล่าวยังเก็บตัวอย่างไม่เพียงพอ เพราะเชื้อเบาบางเป็นโอไมครอนแล้ว งานวิจัยจึงยังไม่แล้วเสร็จ แต่การที่มีการแอบอ้างงานวิจัยชิ้นนี้ไปสรุปให้ฟ้าทะลายโจรเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เสียดายที่มีการลบการถ่ายทอดในเวทีนั้นออกไปแล้ว เพื่อลดข้อขัดแย้งในกระทรวง

เว็บกรมการแพทย์เผยแพร่เวชปฏิบัติฉบับเก่าแทน

“นอกจากนี้ พอผมกับ อ.ปานเทพ ทักท้วงไป ปรากฏว่าวันนี้เว็บไซต์หน้าแรก ขึ้นหัวข้อแนวทางการรักษาโควิด-19 ของกรมการแพทย์ ไม่ได้นำเวชปฏิบัติฉบับ วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ขึ้นเป็นหน้าหนึ่งอีกต่อไปแล้ว แต่เปลี่ยนเป็นเวชปฏิบัติวันที่ 18 เมษายน 2567 แทน ซึ่งมีฟ้าทะลายโจรอยู่” นายสนธิ กล่าว

คำถามมีอยู่ว่าถ้าการประกาศ เวชปฏิบัติ วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหตุใดจึงเปลี่ยนใช้เวชปฏิบัติเก่าขึ้นมาแทน ?


แต่ความจริงยังไม่มีการประกาศยกเลิกเวชปฏิบัติ วันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ตัดฟ้าทะลายโจรออก ซึ่งแปลว่ายังไม่ยกเลิก แต่ไม่เผยแพร่ให้ประชาชนทราบหรือไม่ ?

“ความแปลกประหลาดนี้ ผมทราบว่าในสัปดาห์หน้าอาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ในนามมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน กับคุณรสนา โตสิตระกูลซึ่งมีประวัติตรวจสอบจับนักการเมืองข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขติดคุกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เปิดเผยและตรวจสอบความจริงในเรื่องนี้ต่อไป” นายสนธิ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น