xs
xsm
sm
md
lg

ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำบิมสเทค ก.ย.นี้ ถกจัดตั้งกลไกรับมือวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.ต่างประเทศประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทค (BIMSTEC) อย่างไม่เป็นทางการที่อินเดีย ย้ำความพร้อมไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ก.ย.นี้ พร้อมหารือถึงการจัดตั้งกลไกประสานงานเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ในอนาคต

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทค (BIMSTEC) หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 2 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏาน บังกลาเทศ และเมียนมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเนปาล และเลขาธิการบิมสเทค เข้าร่วมการประชุมด้วย

รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวย้ำถึงความพร้อมของไทย ในฐานะประธานบิมสเทค ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ ในเดือนกันยายนปีนี้ อีกทั้งได้เน้นว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการเป็นข้อริเริ่มของไทย ที่หวังให้มีการหารือระหว่างประเทศสมาชิกบิมสเทคอย่างตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ย้ำถึงความสำคัญเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงพลังงาน และความมั่นคงมนุษย์ และความสำคัญของการมีส่วนร่วมของเยาวชน อีกทั้งที่ประชุมได้หารือถึงการจัดตั้งกลไกประสานงานระหว่างสมาชิกเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะโรคระบาด ภัยธรรมชาติ และวิกฤตเศรษฐกิจ ความคืบหน้าของการเจรจาความตกลงการค้าเสรีบิมสเทค การส่งเสริมการท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล รวมไปถึงแนวทางการปรับปรุงสำนักเลขาธิการบิมสเทคให้มีประสิทธิภาพ

อนึ่ง บิมสเทค เป็นองค์กรระหว่างประเทศของ 7 ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ไทย เนปาล บังกลาเทศ พม่า ภูฏาน ศรีลังกา และอินเดีย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2540 เป็นกลไกหนึ่งที่ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับภูมิภาคเอเชียใต้ โดยมีความร่วมมือใน 14 สาขาหลัก ได้แก่ การค้า ลงทุน คมนาคม สื่อสาร พลังงาน ท่องเที่ยว เทคโนโลยี ประมง เกษตร สาธารณสุข ยากจน ต่อต้านภัยพิบัติ วัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์ และอากาศ






กำลังโหลดความคิดเห็น