xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นตา! โลมาหลังโหนก 6 ตัว โชว์ตัวว่ายน้ำหาอาหาร อช.หมู่เกาะอ่างทอง สะท้อนความสมบูรณ์ทางทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ "กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" เผยภาพโลมาหลังโหนก 6 ตัวโชว์ตัวว่ายน้ำหาอาหารใกล้เกาะวัวตาหลับ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง นอกจากนี้ยังพบ​โลมาสีชมพู ​ซึ่งบ่งบอก​ได้ถึงความอุดมสมบูรณ์​ของท้องทะเล​ไทย

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. เพจ "กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" โพสต์ภาพโลมาหลังโหนก 6 ตัวกำลังโชว์ตัวว่ายน้ำหาอาหาร ใกล้เกาะวัวตาหลับ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี โดยทางเพจรายงานว่า "นายชัยณรงค์ เรืองทอง หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 5 จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ตามที่เจ้าหน้าที่ฯ ได้ออกสำรวจ ติดตามและประเมินสถานภาพโลมาและสัตว์ทะเลหายาก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองและพื้นที่เชื่อมโยง โดยทำการสำรวจทางเรือด้วยวิธี line intersect ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร ระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

จากการสำรวจพบโลมา 1 ชนิด คือ โลมาหลังโหนก (Sousa chinensis) จำนวน 6 ตัว เป็นคู่แม่-ลูก 1 คู่ ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ บริเวณเกาะวัวตาหลับด้านทิศใต้ และบริเวณอ่าวท้องโหนด โดยโลมาที่พบว่ายน้ำโผล่ขึ้นมาหายใจปกติ มีพฤติกรรมที่กำลังดูแลลูก และมีพฤติกรรมหาอาหาร ไม่มีร่องรอยบาดแผลจากเครื่องมือประมง เจ้าหน้าที่จึงได้เฝ้าสังเกตการณ์เป็นระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งโลมาได้ว่ายน้ำห่างออกไป ซึ่งการพบเห็น​โลมาสีชมพู​ยังบ่งบอก​ถึงความอุดมสมบูรณ์​ของท้องทะเล​ไทย

ทั้งนี้ ปัจจัยคุณภาพน้ำทะเลจุดที่สำรวจพบโลมา เบื้องต้นตรวจวัดมีค่าความลึกน้ำอยู่ในช่วง 4-7 เมตร อุณหภูมิน้ำอยู่ในช่วง 32 องศาเซลเซียล ความเค็มอยู่ในช่วง 33 ppt ความโปร่งใสน้ำทะเล 1.5-2.5 เมตร และระยะห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 0.26-36.74 กิโลเมตร โดยทางศูนย์ฯ ได้มีการเก็บรวบรวมภาพถ่ายของโลมาไว้เพื่อวิเคราะห์ Photo ID ต่อไป

สำหรับโลมาหลังโหนก หรือ​อีกชื่อเรียกว่า โลมาขาวเทา/โลมาเผือก หรือโลมาสีชมพู เป็นโลมาชนิดหนึ่งในวงศ์โลมามหาสมุทร ซึ่ง​สีชมพูของโลมานั้นมาจากเมื่อโลมามีอายุมากจะมีสีสว่างขึ้นจนถึงเป็นสีชมพู สีชมพูนี้ไม่ได้มาจากเซลล์​เม็ดสี แต่มาจากสีของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป โลมาจัดอยู่ในสถานะอนุรักษ์ ประเภทมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ (NT) จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562"










กำลังโหลดความคิดเห็น